Cities Reviews

INTERDEPENDENT CITIES (ความร่วมมือระหว่างเมือง)

 

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ(International Relation) ก่อให้เกิดองค์กรระหว่างประเทศมากมาย เช่น UN WTO IMF เป็นต้น แต่องค์กรเหล่านั้นมักจะมีชื่อเสีย(ง)และเป็นที่รู้จักมากกว่าการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเพราะองค์กรดังกล่าวมีพื้นฐานจากรัฐ-ชาติสมัยใหม่ที่มีเงื่อนไข ข้อจำกัด และอุปสรรคในการทำงานอย่างที่เห็นในปัจจุบันอยู่เสมอ ดังนั้นจึงควรให้ความสนใจกับหน่วยที่เล็กกว่ารัฐ-ชาติ นั่นก็คือ “เมือง” ซึ่งมีความคล่องตัวกว่าและมีประวัติศาสตร์ของความร่วมมือระหว่างกันที่ยาวนาน ตลอดจนได้สร้างองค์กรระหว่างเมืองที่ประสบความสำเร็จมากมาย โดยสรุปจากหนังสือ If Mayors Ruled The World ในบทที่ว่าด้วย Interdependent Cities

ความเป็นเมืองไม่เคยถูกปิดล้อม หรือจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะในเส้นแบ่งเขตแดน เพราะโดยธรรมชาติของเมืองคือการประสาน เชื่อมต่อ และสร้างเครือข่ายระหว่างเมืองต่างๆ เพื่อพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างเมืองนั้นมีความเป็นมาที่ยาวนานมาแล้ว เช่น ในปี ค.ศ.1909 ความร่วมมือในด้านการรักษาความปลอดภัย ซึ่ง NYPD(New York Police Department) ได้ส่งนายตำรวจชื่อ Guiseppe “Joe” Petrosino (เป็นชาวอิตาลีที่เติบโตใน New York และได้เป็นตำรวจมือดีในสังกัด NYPD) ไปยังอิตาลีเพื่อสืบข้อมูลเกี่ยวกับมาเฟีย แต่เคราะห์ร้ายที่เขาต้องเสียชีวิตก่อนที่จะได้ข้อมูลสำคัญ อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนสินค้าและบริการที่จำเป็นสำหรับชีวิตในเมืองได้หลั่งไหลข้ามมหาสมุทร ข้ามเส้นพรมแดนของรัฐ เข้าสู่เมืองต่างๆ มาเป็นเวลานาน

มากไปกว่านั้น หากย้อนกลับไป 600 ปีก่อนที่ Petrosino จะถูกส่งไปยังอิตาลี การเดินเรือข้ามทะเล หรือแม่น้ำลำคลองของเมืองต่างๆ ในทะเลเหนือและทะเลบอลติก ก่อให้เกิดสันนิบาตฮันซ่า(Hanseatic League) ที่เป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสร้างเส้นทางการค้าเชื่อมต่อกับเมืองสำคัญต่างๆ มากกว่า 40 เมือง เช่น เมืองฮัมบูร์ก(Hamburg) ลูเบ็ค(Lubeck) โคโลญ(Cologne) บรู้จ(Brugge) เป็นต้น ไม่เพียงแต่เป็นการปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่นวัตกรรมของการพึ่งพาอาศัยระหว่างเมืองชองสันนิบาตฮันซ่ายังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอิสระของเมืองแถบนั้นผ่านการต่อต้านขัดขืนอำนาจจากจักรวรรดิใหญ่ๆ อีกด้วย แต่เมื่อรัฐ-ชาติสมัยใหม่ และจักรวรรดิสวีเดน(the Swedish Empire) ได้ผงาดขึ้นมาในทะเลเหนือและทะเลบอลติก ในศตวรรษที่ 17 ส่งผลให้อำนาจของสันนิบาตฮันซ่าต้องถึงจุดจบ อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.1980 สันนิบาตฮันซ่าใหม่(the New Hanseatic League) ก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้นอีกครั้ง แต่ไม่ครอบคุลมพื้นที่และจำนวนเมืองมากเท่าอดีต โดยอยู่ภายใต้องค์กรความร่วมมือระหว่างเมืองของประชาคมยุโรป(European community)

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น จะย้อนไปก่อนการเกิดสันนิบาตฮันซ่า 1000 ปี บริเวณทะเลเมดิเตอเรเนียนที่มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองของนครรัฐโบราณ เช่น เอเธนส์(Athens) สปาร์ตา(Sparta) โรม(Rome) อเล็กซานเดรีย(Alexandria) เป็นต้น ที่แห่งนี้เองที่เป็นบ่อเกิดแห่งรัฐธรรมนูญ การเมือง และระบบเศรษฐกิจ ผ่านการเป็นพันธมิตร สันนิบาต หรือสมาคมของเมืองอิสระเหล่านั้น และยังมีความร่วมมือระหว่างเมืองอีกมากมายก่อนยุคคริสเตียน(the Christian era) เช่น Ionion League(7-6 ศตวรรษ ก่อน ค.ศ.) Delian League(477 ก่อน ค.ศ.) เป็นต้น

เหล่านี้ล้วนอธิบายให้เห็นถึงความเป็นมาที่ยาวนาน ตลอดจนประโยชน์ที่เมืองจะได้จากความร่วมมือที่ข้ามพรมแดน และเป็นที่ชัดเจนว่าการสร้างความร่วมมืออย่างในอดีตนั้น หากเกิดขึ้นในปัจจุบันแล้ว ประโยชน์ที่ได้รับคงไม่ต่างกัน หรือมากกว่าอดีตด้วยซ้ำ ดังนั้นในปี 2004 ที่เมืองปารีส จึงได้มีการก่อตั้ง the United Cities and Local Governments(UCLG) ซึ่งเป็นการรวบรวมสมัชชานายกเทศมนตรีของเมืองต่างๆ ที่ถูกเลือกอย่างเป็นทางการทั่วโลก และได้กลายเป็นหนึ่งในองค์กรที่ใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดองค์กรหนึ่งของโลก ด้วยการเป็นตัวแทนของประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลกผ่านผู้แทนของ 300 เมือง จาก 100 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมใน World Congress ในปี 2010 แต่ UCLG กลับไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนเท่าที่ควร

ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่างเมืองนั้น มีทั้งความร่วมมือในภาพกว้าง ที่เป็นเรื่องสำคัญ(Major Urban Networks) ดังนี้

 

ตารางที่ 1 แสดงเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเมืองในภาพกว้าง ที่เป็นเรื่องสำคัญ(Major Urban Networks)

ที่มา : http://www.ifmayorsruledtheworld.com/major-urban-networks/

 

และความร่วมมือเฉพาะประเด็น คือ ประเด็นความมั่นคง (security) ดังนี้

 

ตารางที่ 2 แสดงเครือข่ายความมั่นคงระหว่างเมือง(Urban Security Networks)

ที่มา : http://www.ifmayorsruledtheworld.com/urban-security-networks/

 

และ ประเด็นสิ่งแวดล้อม(environment) ดังนี้

 

ตารางที่ 3 แสดงเครือข่ายสิ่งแวดล้อมระหว่างเมือง(ENVIRONMENTAL INTERCITY NETWORKS)

ที่มา : http://www.ifmayorsruledtheworld.com/environmental-intercity-networks/

 

ความร่วมมือระหว่างเมืองเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งซึ่งกันและกัน หรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างเมืองในประเทศไทยยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก เพราะเห็นจะมีองค์กรเดียวเท่านั้นที่เป็นองค์กรกลางในการเชื่อมประสานเทศบาลในประเทศไทย คือ “สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย” แต่ก็ยังมีบทบาทในการสร้างความร่วมมือระหว่างเมืองในไทยมากพอสมควร เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกันเท่านั้น ดังนั้นแต่ละเมือง แต่ละเทศบาลควรริเริ่มสร้างเครือข่ายระหว่างเมืองในระดับที่เป็นความใกล้ชิดในเชิงพื้นที่ หรือการมีส่วนแบ่งทางผลประโยชน์ระหว่างกัน/ใกล้เคียงกัน เช่น เครือข่ายความร่วมมือระหว่างเมืองชายแดน เครือข่ายความร่วมมือระหว่างเมืองบริเวณลุ่มแม่น้ำ เป็นต้น ความร่วมมือในระดับเล็กและมีจุดร่วมนั้นจะช่วยเสริมสร้างและสั่งสมประสบการณ์การทำงานระหว่างเมืองในประเทศไทยได้มากขึ้น และในอนาคตจะได้มีการขยายความร่วมมือระหว่างเมืองที่ข้ามพรมแดนรัฐ-ชาติต่อไป

 

 

• AUTHOR

 


ฮากิม ผูหาดา

 

รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเนห์รู Jawaharlal Nehru University (JNU) ประเทศอินเดีย 

Related Posts