Cities Reviews

UCLG กับการเดินหน้าสร้างท้องถิ่นที่เข้มแข็งในระดับสากล

 

จุฑามาศ  พูลสวัสดิ์

 

ในสภาวะปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนให้สังคมมีความก้าวหน้าในทุกด้าน ผลที่ตามมาประการหนึ่งย่อมเป็นการขยายตัวของชุมชนและการพัฒนาท้องถิ่นสู่ความทันสมัย ซึ่งเป็นการปรับตัวที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องเผชิญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาประเด็นดังกล่าวได้กลายเป็นวาระที่ประชาคมระหว่างประเทศให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยได้มีการริเริ่มก่อตั้งองค์การ United Cities and Local Government (UCLG) เพื่อสนับสนุนให้ท้องถิ่นทุกระดับมีศักยภาพในการจัดการตนเอง นอกจากนี้ UCLG ยังเป็นเสมือนตัวกลางเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้นำท้องถิ่นต่างๆ ทั่วโลกให้เป็นประชาคมที่เข้มแข็ง ด้วยเหตุดังกล่าว จึงถือได้ว่า UCLG มีความน่าสนใจในฐานะที่เป็นองค์การระหว่างประเทศระดับโลกแห่งแรกที่มีพันธกิจเพื่อสนับสนุนการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วโลกโดยตรงและควรแก่การที่ประเทศไทยจะสร้างความร่วมมือเพื่อยกระดับให้ท้องถิ่นไทยมีความก้าวหน้าและเข้มแข็ง

 

 

รู้จัก UCLG

United Cities and Local Government หรือ UCLG เป็นองค์การระหว่างประเทศระดับโลกที่ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 2004 มีสำนักงานใหญ่อยู่ ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดย UCLG มีเป้าหมายหลักใน 3 ด้าน ได้แก่

  1. ส่งเสริมให้รัฐบาลส่วนท้องถิ่นตลอดจนตัวแทนท้องถิ่นมีบทบาทและอำนาจมากขึ้นในระดับระหว่างประเทศ
  2. เป็นแหล่งข้อมูลหลักเพื่อผลักดันให้เกิดประชาธิปไตย ประสิทธิภาพและนวัตกรรมที่ริเริ่มโดยท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนมีความใกล้ชิดกับการบริหารส่วนท้องถิ่นมากขึ้น
  3. เสริมสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นในมาตรฐานของท้องถิ่นในระดับสากล

คณะทำงานของ UCLG ซึ่งมีหน้าที่ผลักดันให้ภารกิจต่างๆ ขององค์การให้บรรลุเป้าหมาย ประกอบไปด้วย สำนักงานฝ่ายบริหาร มีบทบาทหลักในการดูแลภารกิจทั่วไปและแต่งตั้งคณะกรรมาธิการด้านต่างๆ ซึ่งคณะกรรมาธิการดังกล่าวจะมีบทบาทกำหนดและนำนโยบายของ UCLG ไปสู่การปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้คณะกรรมาธิการแต่ละชุดยังมีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงาน(Working Groups) ขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่สร้างความร่วมมือระหว่าง UCLG กับรัฐบาลท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ ให้แน่นแฟ้นผ่านการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย

ทั้งนี้ภารกิจของ UCLG ที่ดำเนินการมาต่อเนื่องตั้งแต่ปีค.ศ. 2004  เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่นทั่วโลกจะครอบคลุมใน 4 มิติ ได้แก่

 

  1. International Agenda : เน้นการให้ความช่วยเหลือและสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาที่ท้องถิ่นทั่วโลกเผชิญร่วมกัน เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย เป็นต้น
  2. Local Governance : เสริมสร้างการบริหารจัดการท้องถิ่นที่ดีโดยเน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง จัดตั้งกองทุนท้องถิ่น ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจและความเท่าเทียมทางเพศระหว่างประชาชน
  3. Cooperation : ประสานความร่วมมือทั้งในด้านการเรียนรู้และการพัฒนาร่วมกัน
  4. Sustainable Urban Development : ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนผ่านการวางแผนเชิงกลยุทธ์ล่วงหน้าเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติต่างๆ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวทางสังคมและวัฒนธรรม

 

 

ความก้าวหน้าในการสร้างความร่วมมือที่ผ่านมาของ UCLG

หน้าที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ UCLG ต้องดำเนินการเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาท้องถิ่นของประเทศต่างๆ คือการจัดประชุมประจำปีอย่างต่อเนื่อง โดยการประชุมจะแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ Executive Bureau เป็นการประชุมระดับฝ่ายบริหารองค์การเพื่อริเริ่มและเตรียมการสำหรับการจัดประชุม World Council ประจำปี ซึ่งการประชุมอีกระดับที่ว่าก็คือ World Council ถือเป็นการหารือที่สำคัญที่สุด เพราะนอกจากจะมีการประมวลข้อมูลข่าวสารด้านการพัฒนาท้องถิ่นให้สมาชิกได้ทราบแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ทำให้สมาชิกของ UCLG ได้มาพบปะและประสานความร่วมมือผ่านกิจกรรมต่างๆ ตามจุดเน้นในการประชุมแต่ละครั้ง นอกจากนี้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในที่ประชุมยังก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างผู้แทนและรัฐบาลท้องถิ่นจากประเทศทั่วโลกอีกด้วย โดยการประชุม World Council แต่ละครั้งที่ผ่านมามีรายละเอียดดังนี้

 

  • Dakar 2012 - World Council

การประชุมระดับโลกประจำปี ค.ศ.2012 ของ UCLG จัดขึ้นในวันที่ 4 – 6 ธันวาคม ณ กรุงดาการ์ เมืองหลวงของประเทศเซเนกัลซึ่งอยู่ในทวีปแอฟริกา โดยมีรัฐบาลและผู้แทนจากท้องถิ่นต่างๆ เข้าร่วมมากถึง 500 แห่ง วัตถุประสงค์หลักที่ UCLG จัดให้มีการประชุมประจำปีอย่างต่อเนื่องก็เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกได้มาพบปะและสร้างความร่วมมือเป็นประชาคมระหว่างประเทศที่มีความเข้มแข็งและพร้อมต่อการพัฒนา

วาระสำคัญสำหรับการประชุมในปี ค.ศ.2012 คือ 6th Africities Summit ว่าด้วยการรวมตัวที่เป็นเอกภาพของรัฐบาลท้องถิ่นในภูมิภาคแอฟริกา โดยข้อสรุปหลักที่ได้จากการประชุมคือ “Building Africa starting from its territories” หรือการสร้างแอฟริกาโดยเริ่มต้นจากดินแดนของแอฟริกาเอง ซึ่งการจัดประชุมของ UCLG เป็นเสมือนช่องทางที่ช่วยเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาดังกล่าว

 

  • Rabat 2013 – World Council

การประชุมระดับโลกประจำปี ค.ศ.2013 ของ UCLG จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 4 ตุลาคม ณ กรุงราบัต เมืองหลวงของประเทศโมร็อกโก โดย 2 ปีที่ผ่านมาประเทศในทวีบแอฟริกายังได้รับมอบหมายให้เป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 3,000 คนจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ วาระสำคัญที่ถูกหยิบยกมาหารือในการประชุมดังกล่าวได้แก่เรื่อง “Imagine Society, Build Democracy” หรือการสร้างสังคมในอุดมคติและการสร้างประชาธิปไตยผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านต่างๆ เช่น การเสริมสร้างความกินดีอยู่ดี การจัดการความแตกต่างหลากหลาย การสร้างธรรมาภิบาลใหม่ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน นอกจาก UCLG แล้ว ประชาคมระหว่างประเทศอื่นๆ รวมทั้งสหประชาชาติ (United Nations) ต่างก็ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสู่เป้าหมายของการเป็นสังคมแห่งประชาธิปไตยที่ดีเช่นเดียวกัน โดยได้กำหนด Agenda for the 21st Century เพื่อตั้งเป้าให้ส่วนท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลกมีบทบาทจัดการตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแผนปฏิบัติการสำหรับศตวรรษที่ 21 นี้ก็มีความสอดคล้องกับหลักการ “Imagine Society, Build Democracy” ด้วยเช่นกัน

แนวทางสำหรับการพัฒนาที่ได้จากการประชุมครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ได้แก่

  1. กระตุ้นให้ผู้นำหรือผู้มีอำนาจในท้องถิ่นสร้างผลงานที่พัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมหลังปีค.ศ.2015
  2. เข้าใจถึงความท้าทายใหม่ๆ และแสวงหาวิธีการรับมือกับการเพิ่มจำนวนของประชากรในเขตเมืองที่มาพร้อมกับปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย

 

  • Haikou 2014 - World Council

การประชุมระดับโลกประจำปี ค.ศ.2014 ของ UCLG จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 26 พฤศจิกายน ณ เมืองไหโขว่ ของประเทศจีน ปีนี้ยังถือเป็นโอกาสสำคัญที่ UCLG ก่อตั้งครบรอบ 10 ปีอีกด้วย โดยหัวข้อสำคัญสำหรับการประชุมคือการสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ซึ่งหุ้นส่วนและสมาชิกของ UCLG ต้องร่วมกันแสวงหาแนวทางที่ชัดเจนเพื่อให้พลเมืองในทุกพื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดหาและการใช้บริการพื้นฐานอย่างทั่วถึง รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำไม่ว่าจะเป็นในประเด็นเรื่องเพศและโอกาสทางสังคมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างมั่นคงและยั่งยืนซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่สมาชิก UCLG ต่างก็ยึดถือร่วมกัน ตลอดการประชุมทั้ง 4 วันได้มีการหารือถึงรายละเอียดที่ต่อเนื่องกันใน 3 ประเด็น คือ การจัดบริการสาธารณะให้แก่เมืองอย่างทั่วถึง การเข้าถึงน้ำเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน และประเด็นสุดท้ายคือนวัตกรรมการบริหารจัดการที่ดีเพื่อลดความไม่เท่าเทียม ผลการประชุมก่อให้เกิดวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ที่ช่วยกระตุ้นส่งเสริมให้รัฐบาลท้องถิ่นมีบทบาทเพิ่มขึ้นทั้งด้านการสร้างสรรค์และพัฒนา

นอกจากการประชุมประจำปีแล้ว ในปีค.ศ.2014 ยังมีการจัดพิธีมอบรางวัล 2014 International Award for Urban Innovation ระหว่างวันที่ 27 – 29 พฤศจิกายน ณ เมืองกว่างโจว ซึ่งมีทั้งการมอบรางวัลและการประชุมหารือในประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมของเมืองอีกด้วย

 

 

ความสำเร็จของ UCLG และโอกาสสำหรับประเทศไทย

ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า UCLG เป็นองค์การที่มีสมาชิกที่เป็นรัฐบาลท้องถิ่นจากประเทศต่างๆ ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก และยังเดินหน้าประสานความร่วมมือของสมาชิกผ่านการจัดประชุมในระดับต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดประชุมสำนักงานฝ่ายบริหาร การประชุมนายกเทศมนตรีจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นสมาชิก ตลอดจนการประชุมเพื่อหารือในประเด็นต่างๆ ที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ในปัจจุบันโดยล่าสุดในเดือนเมษายนปีค.ศ.2015 ได้มีการจัดประชุม World Water Forum ครั้งที่ 7 ซึ่งเป็นการหารือปัญหาเรื่องน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคในระดับโลก จึงนับได้ว่าการดำเนินงานของ UCLG ที่ผ่านมาค่อนข้างประสบความสำเร็จ เนื่องจากได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาคมท้องถิ่นทั่วโลกและมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสมาชิกที่ UCLG เปิดรับมิได้มีเพียงแต่ส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหน่วยงานและปัจเจกบุคคลจากทุกภาคส่วนที่สนใจด้วย ทั้งนี้ องค์ความรู้ ตลอดจนข้อสรุปอันเป็นผลมาจากการประชุมและความร่วมมือระหว่าง UCLG กับสมาชิกได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ สู่ความทันสมัย และในขณะเดียวก็ยังส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วย

ปัจจุบันทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีศักยภาพในการจัดการตนเองโดยผ่านการให้ความรู้และการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานที่เชี่ยวชาญ อาทิ UCLG รวมทั้งยังส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของท้องถิ่นที่หลากหลาย สำหรับประเทศไทยเอง กระแสเรื่องการพัฒนาเมืองและท้องถิ่นก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าของประเทศมากเช่นกัน แต่ที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายเรื่องดังกล่าวก็ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนเท่าใดนัก เมื่อมีการก่อตั้ง UCLG ขึ้น จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับท้องถิ่นในภาคส่วนอื่นๆ จากทั่วโลก ตลอดจนนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาให้ท้องถิ่นไทยก้าวหน้าสู่ความเข้มแข็ง ทันสมัย และมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

 

 

อ้างอิง

 

ข้อมูลจาก United Cities and Local Government (UCLG) http://www.uclg.org

 

• AUTHOR

 


จุฑามาศ  พูลสวัสดิ์

รัฐศาสตร์บัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต จาก NIDA

Related Posts