Cities Reviews

ทำความเข้าใจ "พื้นที่ที่สาม" (Third Place) การสร้างความหมายให้กับสถานที่

อภิชญา โออินทร์

 

 

 

ในการทำความเข้าใจ “กระบวนการสร้างความหมายให้กับสถานที่”หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Placemaking” นั้น ผู้เขียนขออธิบายความแตกต่างระหว่าง “พื้นที่ (Space)” และ “สถานที่ (Place)” ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ (Human) และภูมิทัศน์ (Landscape) ที่มีความหมาย ลักษณะ และฟังก์ชั่นเฉพาะกล่าวคือ เราอาจพิจารณาพื้นที่ในทางกายภาพ(Physical space) และประเมินลักษณะตามที่ปรากฏต่อสายตา แล้วตัดสินว่าพื้นที่นั้นสวยงามและเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างไร น่าเข้าไปใช้หรือไม่ แต่หากมีผู้คนมาใช้พื้นที่นั้นในรูปแบบต่าง ๆ พื้นที่นั้นก็จะถูกกำหนดความหมาย อาจจะเป็นความหมายในทางเศรษฐกิจ ทางสังคม หรือทางการเมือง ขึ้นอยู่กับว่า ใครเข้ามามีส่วนในการใช้พื้นที่และผู้คนเหล่านั้นมีประสบการณ์กับที่นั้น ๆ (หรือเรียกว่า Landscape experience) ในลักษณะใด (Hunziker, Buchecker, & Hartig, 2007)

หากในพื้นที่ทางกายภาพดังกล่าวมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนเกิดขึ้นผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การค้าขาย การบริโภค การจ้างงาน การจับจ่ายใช้สอย การซื้อสินค้าและบริการ ก็ถือว่าพื้นที่นั้นทำหน้าที่ในทางเศรษฐกิจ (Economic space) ทั้งนี้ หากมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้พื้นที่เดียวกันนั้นมีปฏิสัมพันธ์อื่นที่นอกเหนือไปจากการแลกเปลี่ยนในทางเศรษฐกิจด้วยก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านการออกแบบ ปัจจัยด้านคน และปัจจัยด้านวัฒนธรรม ที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองผ่านการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเกิดเป็นชุมชนตามความสนใจเฉพาะขึ้นที่นั่น

ดังนั้น มิติของปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่ที่สามนั้นอาจสามารถแบ่งย่อยได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ หนึ่ง พื้นที่เพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยตรง ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือมีน้อย เช่น ท่ารถ โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ตลาดบางแห่ง สอง พื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้ด้วยกัน เช่น ร้านกาแฟ ตลาดบางแห่ง และสาม พื้นที่ที่ไม่ได้เน้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจใด ๆ แต่มีผลในการสร้างคุณค่าทางด้านวัฒนธรรมและการผูกพันระหว่างสมาชิก เช่น สนามกีฬา หอศิลป์ สวนสาธารณะ ร้านกาแฟบางแห่ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงมิติของปฏิสัมพันธ์ทั้งสามระดับนี้มักจะไม่คงที่ ปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่แต่ละแห่งอาจจะเพิ่มหรือลดได้ตามกาลเวลา ตามลักษณะสังคมที่เปลี่ยนไป และตามการโยกย้ายของสมาชิกชุมชน ยกตัวอย่าง พื้นที่ลานรูปวงกลมหน้าบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด เคยเป็นจุดรวมตัวกันของวัยรุ่นที่สนใจวัฒนธรรมและการเต้น B-Boy เมื่อปี 2553 มีการจัดแข่งขัน B-Boy Battle มีสมาชิกเข้าร่วมจำนวนมากรวมทั้งมีผู้ปกครองมาชมการแสดงด้วย[1] เป็นภาพบรรยากาศของพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่ามีกิจกรรมเช่นนั้นอีกในปีถัดมา สันนิษฐานว่าเป็นเพราะสมาชิกที่เป็นแกนต้องโยกย้ายถิ่นฐานทำให้ไม่มีการสานต่อ พื้นที่ตรงนั้นก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของการเป็นชุมชนทางวัฒนธรรมอีกเลย เมื่อเปรียบเทียบกับโรงยิมในสนามกีฬาเทศบาลนครตรัง ซึ่งเป็นจุดรวมตัวของนักบาสเกตบอลหลากหลายรุ่น แม้ว่าผู้เล่นรุ่นใหญ่จะวางมือไปแล้ว แต่ด้วยความเป็นพื้นที่ที่มีฟังก์ชั่นเฉพาะทำให้มีการรวมตัวกันของผู้ที่สนใจกีฬาบาสเกตบอลมาอย่างต่อเนื่อง

การเปลี่ยนจากพื้นที่ว่างอาจจะไม่มีความหมายเฉพาะกับคนมาสู่สถานที่ที่มีความหมาย จะเกิดขึ้นจากผู้คนที่มามีส่วนร่วมในการกำหนดและสร้างสรรค์ ผ่านการวาดฝัน จดจำ และรักษาความดีงามของคน ณ ที่แห่งนั้นโดยมีความรู้สึกต่อสถานที่ (Sense of Place) เป็นจุดร่วม ในขณะเดียวกันความรู้สึกของสถานที่ก็จะเป็นปัจจัยกำหนดลักษณะเฉพาะของพื้นที่หนึ่ง ๆ ด้วย (Hunziker et al., 2007)ทั้งนี้ “ที่ที่สาม” จึงเป็นพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่เอกชนที่มีความหมายต่อผู้คนที่มาใช้ สร้างความหมายโดยผู้คนที่มาใช้ รวมถึงกำหนดผลลัพธ์และความสำเร็จของสถานที่นั้นด้วย

โดยพื้นฐาน พื้นที่สาธารณะ หมายถึง พื้นที่ที่ครอบครองโดยสาธารณชน เปิดกว้างและเข้าถึงได้สำหรับคนทุกคนในชุมชน ไม่เกี่ยงเพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ อายุ หรือฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม United Nations Human Settlements Programme (UN-Habitat) ใช้นิยามและคำอธิบายของพื้นที่สาธารณะที่รับรองโดยthe Charter of Public Spaceดังนี้

“พื้นที่สาธารณะ คือ สถานที่ทั้งหมดที่เป็นของสาธารณะ หรือถูกใช้โดยสาธารณชน เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ทุกคน ไม่ต้องจ่ายค่าบริการและไม่แสวงกำไร พื้นที่สาธารณะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของชีวิตความเป็นอยู่ของปัจเจกชนและสังคม เป็นสถานที่ของการรวมตัวกันของชุมชน แสดงออกของถึงความหลากหลายของชุมชน ความรุ่มรวยทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม และเป็นรากฐานของอัตลักษณ์ … ชุมชนที่เห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันในพื้นที่สาธารณะจะพยายามปรับปรุงคุณภาพของพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น”[2](United Nations Human Settlements Programme (UN-Habitat), 2014)การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะและบริการพื้นฐานอย่างเพียงพอ ถือเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอย่างหนึ่ง การปกป้องพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่แล้วควรเป็นภารกิจสำคัญอันดับต้น ๆ ของผู้นำเมืองในการสร้างเมืองให้ผู้อยู่อาศัยมีชีวิตที่ดีขึ้น

สถานที่ (Place) เป็นสภาพแวดล้อมที่ผู้คนได้สร้างความหมายผ่านกาลเวลามาด้วยกัน สถานที่มีประวัติศาสตร์ของมันเอง อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและสังคมที่มีความเฉพาะซึ่งถูกกำหนดโดยลักษณะการใช้พื้นที่และผู้คนที่ใช้พื้นที่นั้น อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าพื้นที่สาธารณะทุกแห่งจะเป็นสถานที่ที่มีประสิทธิภาพ ถนนที่อันตรายและผ่านไม่ได้ ลานจอดรถทิ้งร้าง หรือสถานีขนส่งหรือสวนที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา ซึ่งไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและเด็ก นับเป็นพื้นที่สาธารณะได้ก็จริง แต่สถานที่เหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ความรู้สึกเป็นกลุ่ม หรือความสมบูรณ์ทางวัฒนธรรม แต่กลับส่งผลในทางตรงข้าม เพราะพื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาหรือเข้าถึงไม่ได้ จะกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นผู้คนกับสถานที่เสียเอง ด้วยลักษณะที่ไม่ปลอดภัย ปิดกั้นการเข้าถึง หรือมีบรรยากาศคุกคามในทุกระดับ (MacKenzie, 2015)

ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่สาธารณะจึงไม่สิ้นสุดลงที่การตรวจรับพื้นที่จากผู้รับเหมาก่อสร้างที่ถูกว่าจ้างให้ทำพื้นที่ แต่ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะการก่ออิฐ หิน ปูน ทราย อย่างประณีตสวยงามไม่ได้รับประกันความมีชีวิตชีวาของสิ่งก่อสร้างเหล่านั้น แต่เป็นผู้คนต่าง ๆ ที่จะตัดสินใจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดความหมาย นอกจากนี้งานศึกษาเชิงประจักษ์ของ Mehta & Bosson (2009) พบว่า ที่ที่สามจะมีลักษณะเฉพาะตัวสูง (personalisation) ในแง่ความโดดเด่นและความน่าจดจำ รวมทั้งยังเป็นที่ที่ผ่านไปยังถนนได้ง่าย (permeability to the street) ทั้งนี้ทั้งนั้น การจัดให้มีที่นั่งและที่พัก น่าจะเป็นคุณลักษณะของการออกแบบผังเมืองซึ่งทำให้เกิดความสามารถในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Sociability) ในบริเวณถนนหลักมากที่สุด

กว่าพื้นที่ว่างหรืออาคารเก่าในเมืองจะกลายเป็นที่ที่สาม จะต้องผ่านกาลเวลาและกระบวนการสร้างความหมายให้กับพื้นที่ หรือ Placemaking ซึ่งเกิดขึ้นจากกิจกรรมที่ผู้คนทำในพื้นที่นั้น ๆ อาจจะเป็นกิจกรรมที่องค์กรจัดขึ้นหรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เป็นกิจกรรมประจำ ชั่วคราว หรือถาวร ทั้งนี้ คำอธิบายคุณลักษณะของที่ที่สาม 8 ประการ ของ Oldenburgได้แก่

 

o ที่ที่สามมีความเป็นกลาง (Neutral ground) คือสถานที่ที่คนจะมาหรือไปได้ตามใจชอบ ทั้งนี้ ความสำเร็จของที่ที่สามส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบการสัญจร หากสถานที่ดังกล่าวมีความเป็นกลางแล้ว จะมีจำนวนผู้คนสัญจรไปมาอย่างน้อยที่สุดก็ในระดับที่สะท้อนให้เห็นว่า ผู้มาเยือนมีอิสระในการเข้าและออกสถานที่ดังกล่าวได้เท่าที่ต้องการ
o ที่ที่สามสร้างความเท่าเทียมและการผสมผสาน (Leveller and mixer) กล่าวคือ ไม่ได้เป็นเพียงที่ที่เอื้ออำนวยให้มีการเข้าออกอย่างเสรีเท่านั้น แต่ที่ที่สามยังทำหน้าที่ในการลบเลือนความแตกต่างอย่างชัดแจ้งของผู้มาเยือนอีกด้วย ดังที่ Oldenburg กล่าวไว้ว่า ที่ที่สามไม่ได้ตั้งเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่ได้เข้าเป็นหรือไม่ได้เป็นสมาชิกเอาไว้ว่าจะต้องมีรายได้เท่าใด ชาติพันุธ์อะไร พูดภาษาอะไร
o บทสนทนาที่สนุกสนานเป็นกิจกรรมหลักที่เกิดขึ้นในที่ที่สาม (Conversation is the main activity) กล่าวคือ สถานที่ใดจะถูกนิยามว่าเป็นที่ที่สามนั้น จะต้องเกิดการพูดคุยที่มีชีวิตชีวา จุดประกายความคิด มีสีสัน และปะทะสังสรรค์ของผู้มาเยือน
o ที่ที่สามมักมีขาประจำ (The regulars) เพราะขาประจำที่มาเยือนและใช้เวลาอยู่ที่นั่นจะเป็นตัวกำหนดบุคลิกลักษณะ บรรยากาศ และโทนของการพบปะสังสรรค์ของสถานที่นั้น ๆ
o ที่ที่สามจะต้องเข้าถึงได้ง่ายและเปิดรับผู้คนที่เข้ามาเป็นประจำ (Accessibility & Accommodation)
o ผู้มาเยือนจะไม่เป็นที่สนใจมากนัก (A low profile) เป็นที่ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนบ้านและปราศจากการเรียกร้องใด ๆ
o อารมณ์ของสถานที่จะสนุกสนาน (The mood is playful) กล่าวคือ อารมณ์โดยทั่วไปของสถานที่นั้น ๆ จะสนุกสนาน และไม่เป็นจริงเป็นจังมาก
o บ้านหลังที่สอง (A home away from home) คือ ให้บรรยากาศเสมือนอยู่บ้าน รู้สึกเป็นเจ้าของ มีชีวิตชีวา อบอุ่น สัมพันธ์แน่นแฟ้นกับคนอื่น

 

จากนิยามและคุณลักษณะของ “ที่ที่สาม” จะเห็นได้ว่า ใจกลางสำคัญอยู่ที่คนว่าไปในที่แห่งนั้นเพราะเหตุใด ไปทำกิจกรรมอะไร มากกว่าการกำหนดลักษณะทางกายภาพและเงื่อนไขในการเข้าถึงเป็นสำคัญ ดังนั้น นิยามดังกล่าวจึงนับรวมสถานที่ของเอกชนที่การจับจ่ายใช้สอยและดื่มกิน เป็นกิจกรรมหลักอย่างหนึ่งซึ่งมีต้นทุนต่อผู้เข้าใช้ ในขณะเดียวกัน “ที่ที่สาม” ก็ยังนับรวมพื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้โดยไม่ต้องจ่ายเป็นตัวเงิน (ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) ในความเป็นจริง แม้ว่าพื้นที่เหล่านี้จะไม่มีต้นทุนในการเข้าถึงเลยก็ตาม ใช่ว่าทุกแห่งจะประสบความสำเร็จในการเป็นที่ที่สาม คำถามที่น่าสนใจคือ ปัจจัยอะไรที่ทำให้พื้นที่สาธารณะบางแห่งไม่สามารถดึงดูดคนให้เข้ามาใช้ได้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย? ทำไมคนบางกลุ่มจึงยอมจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อเข้าไปใช้เวลาในที่ที่สามบางประเภท?

การทำความเข้าใจ “ที่ที่สาม” เป็นจุดเริ่มต้นของการอธิบายคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองหนึ่ง ๆ ที่นอกเหนือจากการอธิบายด้วยการจ้างงานและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หากเราลองทบทวนฟังก์ชั่นอรรถประโยชน์ที่ใช้วิเคราะห์โดยนักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาเมืองก็จะพบว่า อรรถประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยในเมือง[3] ขึ้นอยู่กับ คุณภาพชีวิต ค่าจ้างที่แท้จริง และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทั้งนี้ งานศึกษาเชิงเศรษฐมิติหลายชิ้นได้ให้ข้อสรุปในแนวทางเดียวกันว่า สิ่งอำนวยความสะดวกแบบเมือง (urban amenities) และ ความน่าดึงดูดของธรรมชาติ (natural amenities) มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิต(Albouy, 2008; Glaeser, Kolko, & Saiz, 2001) ในแง่นี้ แนวคิดเรื่อง “ที่ที่สาม” จึงมีความเกี่ยวโยงกับคุณภาพชีวิตในเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย Oldenburg (1996) ได้ขยายความเกี่ยวกับความสำคัญของ “ที่ที่สาม” ต่อปัจเจกบุคคลและชุมชนไว้ในวารสารว่า แท้จริงแล้ว “ที่ที่สาม” มีฟังก์ชั่นหลายอย่าง ได้แก่

 

1. ที่ที่สามช่วยทำให้ผู้คนในละแวกนั้นมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน(Unifying neighbourhoods)
2. ที่ที่สามเป็นเสมือนประตูแรกเข้าสำหรับผู้มาเยือนและผู้มาอยู่ใหม่ในชุมชนหนึ่ง(Ports of entry) เพราะที่ที่สามมักเป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารของชุมชน
3. ที่ที่สามเป็นพื้นที่คัดสรรค์ (Sorting areas) เพราะเป็นที่ที่คนซึ่งมีความสนใจพิเศษตามหากันและกัน และเป็นพื้นฐานของการเกิดวัฒนธรรมท้องถิ่นในย่านหรือบริเวณนั้น
4. ที่ที่สามทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าได้ปฏิสัมพันธ์กัน(Association of youth and adults)
5. ที่ที่สามช่วยดูแลชุมชน (Caring for the neighbourhood) เพราะคนที่เป็นเจ้าของที่ที่สามโดยส่วนใหญ่จะมีบุคลิกที่ใส่ใจต่อสาธารณะ(Public characters ตามคำเรียกของ Jane Jacobs) รู้จักทุกคนในละแวก และคอยสอดส่องดูแลเยาวชน รวมทั้งให้ข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ กับขาประจำด้วย
6. ที่ที่สามส่งเสริมให้เกิดการอภิปรายถกเถียงทางการเมือง (Fostering political debate)
7. ที่ที่สามช่วยลดค่าครองชีพ (Reducing the cost of living) เพราะเมื่อผู้คนเข้าหาและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันก็จะมีแนวโน้มช่วยเหลือกันในเรื่องต่าง ๆ
8. ที่ที่สามให้ความสนุกสนาน (Entertaining)
9. ที่ที่สามให้มิตรภาพที่ดี (Giving the gift of friendship) เพราะลักษณะของความเป็นกลาง (Neutral ground) ของที่ที่สามทำให้ความรับผิดชอบในการจัดการและความกดดันไม่ได้ตกอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง
10.ที่ที่สามมีความสำคัญต่อคนวัยเกษียณ (Important for retired people)

 

Jeffres, Bracken, Jian, & Casey (2009)ใช้ข้อมูลสำรวจระดับชาติของสหรัฐอเมริกาเพื่อตอบคำถามว่า คุณลักษณะของที่ที่สามซึ่งสาธารณชนจะไปเพื่อสังสรรค์พบปะผู้คนมีอะไรบ้าง? และตรวจสอบสมมติฐานเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “ที่ที่สาม”และ “มุมมองที่มีต่อคุณภาพชีวิต” ซึ่งข้อมูลเปิดเผยว่า ไม่ว่าคนจะเลือกไปที่ไหนเพื่อพบปะสังสรรค์ การที่พวกเขารู้สึกและเชื่อว่าสามารถเข้าถึงที่ที่สามได้ ช่วยเพิ่มมุมมองที่ดีต่อคุณภาพชีวิตในชุมชนของพวกเขา

ก่อนอื่น ผู้เขียนขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนทางกายภาพและชุมชนทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการค้นคว้างานศึกษาเกี่ยวกับเยาวชนที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองในมิติวัฒนธรรมนั้น โดยจะอ้างอิงงานศึกษาวิเคราะห์ความต้องการของเด็กเยาวชน : ศึกษาเปรียบเทียบแนวทางการทำงานองค์กรด้านเยาวชนและพัฒนาแนวทางสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ซึ่งให้ข้อสรุปไว้ว่า ในขณะที่แหล่งทุนเน้นการสนับสนุนพื้นที่เชิงกายภาพ เช่น ชุมชนในตำบล อำเภอ หมู่บ้าน ฯลฯ ความสนใจของเยาวชนคนรุ่นใหม่นั้นอยู่ที่ชุมชนทางวัฒนธรรม คือชุมชนที่มีลักษณะของความสนใจร่วมกัน เช่น ชุมชนของเกมส์ ชุมชนของนักวาดภาพประกอบ ชุมชนของนักอ่านวรรณกรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ ความสนใจลำดับแรกของแหล่งทุนก็คือ การพัฒนาชุมชนทางกายภาพ (16.88%) การสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ชุมชนทางกายภาพของแหล่งทุนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชุมชนนั้น ๆ เติบโตหรือมีความแข็งแกร่งขึ้น ความแข็งแกร่งขึ้นนั้นเป็นไปในทิศทางเฉพาะของแต่ละชุมชน ซึ่งไม่สามารถจัดประเภทได้ บ้างเป็นการสนับสนุนวัฒนธรรมท้องถิ่น บ้างเป็นการสนับสนุนให้เยาวชนกลับมาพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนของตนเอง การพัฒนาพื้นที่ชุมชนทางกายภาพอาจให้ผลในทางประจักษ์ที่ชุมชนนั้น ๆ มีชีวิตชีวามากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เพียงการแข็งแกร่งขึ้นของชุมชนนั้นยังไม่แสดงให้เห็นทิศทางของการเติบโตที่นอกเหนือไปจากคุณภาพชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น กล่าวคือ ไม่เกิดการสนับสนุนการเติบโตในเชิงวัฒนธรรมทางสังคมที่อยู่เหนือพื้นที่ เช่น การเติบโตของแวดวงนักวาดภาพประกอบ การเติบโตในวัฒนธรรมทางการอ่าน เป็นต้น กลุ่มสังคมที่เยาวชนให้คุณค่ามากยึดโยงอยู่กับพื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรมตามความสนใจ มากกว่าสถาบันหลักอย่างครอบครัว (ที่บ้าน) หรือสถาบันการศึกษา (ที่ทำงานหรือเรียน)[i](เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์, วริศ ลิขิตอนุสรณ์, & วิภาพรรณ วงษ์สว่าง, 2560)แม้การทบทวนงานเพียงชิ้นเดียวนี้ไม่อาจนำไปสู่ข้อสรุปที่หนักแน่นได้ แต่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับความสำคัญของชุมชนกายภาพและชุมชนทางวัฒนธรรมในเยาวชนคนรุ่นใหม่ ถือเป็นประเด็นที่มีความเชื่อมโยงกับแนวคิด “ที่ที่สาม”ในยุคสื่อใหม่ที่ควรศึกษาทำความเข้าใจต่อไป

ทั้งนี้งานวิจัยจะเลือกนิยามคนรุ่นใหม่ด้วยช่วงอายุและศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของเขาผ่านแบบสอบถาม โดยกำหนดช่วงอายุผู้ตอบที่ 15–35 ปี ส่วนผู้ประกอบการที่เป็นส่วนหนึ่งของการสัมภาษณ์ผู้เขียนเลือกจากช่วงวัยที่ไม่เกินอายุ50 ปีและเพิ่งเริ่มประกอบการได้ไม่นานนัก เพื่อให้เห็นมิติของพื้นที่ใหม่ ๆ ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ นิยามของชุมชนทางวัฒนธรรมที่กล่าวถึงในเล่มนี้ เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมทุกรูปแบบ ไม่จำกัดอยู่แค่วัฒนธรรมประเพณีโบราณเท่านั้น นั่นคือ ชุมชนใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นจากความสนใจเฉพาะอย่างและยึดถือคุณค่าบางอย่างร่วมกัน


[1]ดูภาพเพิ่มเติมที่ http://www.trangzone.com/webboard_show.php?page=3&ID=30654

[2]State of the World’s Cities 2012/2013: Prosperity of Cities (http://www.unhabitat.org/pmss/listItemDetails.aspx?publica- tionID=3387).

[3]เป็นตัวแปรที่กำหนดว่า คนจะเลือกอยู่ในเมืองไหนและตัดสินใจเรื่องการย้ายถิ่นที่อยู่


[i]จากผลสำรวจคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 27 ปี ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในเครือข่ายพัฒนาสังคมจำนวน 71 คน เกี่ยวกับกลุ่มสังคมที่ให้คุณค่าในงานชิ้นเดียวกัน พบว่า กลุ่มที่รู้สึกว่าสำคัญต่อตนเองมาก ได้แก่ กลุ่มที่ยึดโยงด้วยความเป็นมนุษย์ (8.6) กลุ่มตามความสนใจที่ตัวเองทำอะไรในนั้น (6.7) และกลุ่มที่สนใจแลกเปลี่ยนในประเด็นกว้าง ๆ (6.5) ในขณะที่กลุ่มที่ยึดโยงตนเองน้อย ได้แก่ กลุ่มที่ยึดโยงด้วยชาติไทย (5.1) กลุ่มตามสถาบัน การศึกษา และกลุ่มที่ยึดโยงด้วยพื้นที่ที่อยู่อาศัย (5.1) (เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ et al., 2560)

Hunziker, M., Buchecker, M., & Hartig, T. (2007). Space and Place — Two Aspects of the Human-landscape Relationship. In F. Kienast, O. Wildi & S. Ghosh (Ed.), A Changing World. Challenges for Landscape Research(pp. 47–62). Springer.

MacKenzie, A. (2015). Placemaking and Place-Led Development: A New Paradigm for Cities of the Future. Retrieved 12 November 2017, from https://www.pps.org/reference/placemaking-and-place-led-development-a-new-paradigm-for-cities-of-the-future/

เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์, วริศ ลิขิตอนุสรณ์, & วิภาพรรณ วงษ์สว่าง. (2560). โครงการวิเคราะห์ความต้องการของเด็กเยาวชน : ศึกษาเปรียบเทียบแนวทางการทํางานองค์กรด้านเยาวชนและพัฒนาแนวทางสนับสนุนคนรุ่นใหม่. Newground Thailand.

 

 

• AUTHOR

 


อภิชญา โออินทร์

นักวิชาการอิสระ

เศรษฐศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาบัณฑิต Regional and Urban Planning Studies จาก LSE ประเทศอังกฤษ

Related Posts