Cities Reviews

เรียบง่าย เร็ว ถูก แนวคิดบันดาลใจของการทำ Placemaking

 

จุฑามาศ  พูลสวัสดิ์

 

พื้นที่สาธารณะที่ดีไม่ใช่ที่ที่ออกแบบซับซ้อน ไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ใจกลางเมืองที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ในความเป็นจริงแล้วพื้นที่สาธารณะที่ประสบความสำเร็จอาจสร้างขึ้นมาอย่างเรียบง่าย ใช้ต้นทุนต่ำ และตั้งอยู่ในสถานที่แปลกใหม่ซึ่งคาดไม่ถึง

 

“ง่ายกว่า เร็วกว่า ถูกกว่า” (Lighter, Quicker, Cheaper : LQC) ได้กลายมาเป็นแนวคิดใหม่สำหรับการทำ Placemaking ด้วยการปฏิวัติระบบการวางแผนและการดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะซึ่งเคยซับซ้อน ล่าช้า มีการตัดสินใจแบบ Top – Down และนำวิธีการที่ยืดหยุ่นต่อกฎระเบียบมาใช้แทน กระบวนการใหม่ที่เกิดขึ้นจึงไม่ยึดติดกับวิธีการ แต่ให้ความสำคัญอย่างสูงต่อเป้าหมายที่มุ่งหวังให้คนในเมืองได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะมากที่สุด

 

เว็บไซต์ Project for Public Spaces ได้นำเสนอตัวอย่างโครงการ Placemaking ที่ใช้แนวคิด LQC ไว้จำนวน 5 โครงการ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผลสำเร็จที่พิสูจน์ให้เห็นว่าของการบริหารจัดการพื้นที่อย่างไม่เป็นทางการซึ่งมีความรวดเร็วและใช้ต้นทุนต่ำสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกในพื้นที่สาธารณะให้เกิดขึ้นตลอดทั้งยังกระตุ้นให้เรื่องการศึกษา การเข้าถึงบริการสาธารณะ ความปลอดภัย บริการสาธารณสุขและการมีสุขภาวะกลายมาเป็นวาระสำคัญของชุมชน

 

1. Think Micro เมืองอิซเมียร์ ตุรกี โครงการ Think Micro เริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 2014 โดยการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งอิซเมียร์ (Izmir University of Economics) หัวใจสำคัญของโครงการนี้คือการคิดนอกกรอบ จึงนำมาสู่การริเริ่มสร้างสวนสาธารณะลอยน้ำขนาดเล็กซึ่งมีลักษณะเป็นท่าเทียบเรือที่ทำมาจากวัสดุที่หาได้ทั่วไป มีน้ำหนักเบา ง่ายต่อการประกอบ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้คนในเมืองได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ริมน้ำมากขึ้น

 

2. Intersection Repair เมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน สหรัฐอเมริกา ในช่วงฤดูร้อนของทุกปีตั้งแต่ ค.ศ. 2011 เป็นต้นมา ทั่วทั้งถนนคนเดินเส้นสั้นๆ ของเมืองอากุยดาจะถูกประดับประดาด้วยร่มหลากสีไว้แทนหลังคาสำหรับให้ร่มเงากับผู้คนที่เดินผ่านไปมา การนำร่มมาใช้ประโยชน์ในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะช่วยเพิ่มสีสันและร่มเงาแล้ว ยังเปลี่ยนให้ถนนโล่งๆ กลายมาเป็นลานเอนกประสงค์ที่ดึงดูดให้คนในเมืองมาออกกำลังกายกลางแจ้ง และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันมากขึ้น ปัจจุบัน โครงการนี้ประสบความสำเร็จและได้รับการขยายผลไปสู่เมืองอื่นๆ ของโปรตุเกส และอีกหลายเมืองทั่วโลก

 

3. Umbrella Sky Project เมืองอากุยดา โปรตุเกส ปัจจุบัน พอร์ตแลนด์ได้ริเริ่มโครงการฟื้นฟูเมืองให้มีชีวิตชีวาด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนและอาสาสมัครในการสร้างสรรค์งานศิลปะตามเส้นทางจราจรของเมือง เช่น การวาดจิตรกรรมขนาดใหญ่บริเวณทางแยกถนน และการเปลี่ยนวงเวียนกลับรถธรรมดาด้วยการตกแต่งให้ดูน่ารักขึ้น กระบวนการปรับปรุงพื้นที่นี้เป็นเสมือนสื่อกลางที่เชื้อเชิญให้คนทุกเพศทุกวัยเข้ามาใช้เวลาช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์สร้างงานศิลปะร่วมกัน ซึ่งผลงานที่ออกมานอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนในชุมชนผู้เป็นเจ้าของแล้ว ยังช่วยเพิ่มสีสัน รวมทั้งสร้างความผ่อนคลายและความปลอดภัยให้แก่ผู้สัญจรบนท้องถนนอีกด้วย

 

4. Mmofra Place เมืองอักกรา กานา เมืองอักกราเป็นตัวอย่างของการใช้แนวคิด LQC มาสร้างการประสานงานข้ามภาคส่วน สร้างการเรียนรู้และการลองผิดลองถูกร่วมกันระหว่างคนในชุมชน ผลงานที่เกิดคือ การปรับปรุงพื้นที่สีเขียวของเมือง มี the Ghana-based Mmofra Foundation เป็นแกนนำ โดยร่วมมือกับเครือข่ายสถาปนิก นักวางแผน วิศวกร ศิลปิน ผู้เชี่ยวชาญด้านท้องถิ่น ไปจนถึงผู้นำชุมชนและคนหนุ่มสาวในพื้นที่จัดประชุมระดมสมองเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์และแผนปฏิบัติในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในเมืองให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่เอื้อต่อการเรียนรู้ มีความปลอดภัย และสามารถรองรับประชากรเด็กของเมืองที่เพิ่มขึ้นได้

 

5. Jewell of Brunswick เมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย สำหรับเมลเบิร์น LQC นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชุมชนและรัฐบาลท้องถิ่นหันมาร่วมมือกันพัฒนาเมืองอย่างจริงจัง ผลที่เป็นรูปธรรมก็คือโครงการ Jewell of Brunswick ที่เกิดขึ้นในค.ศ. 2014 โดยเริ่มจากการปิดลานจอดรถเป็นการชั่วคราวเพื่อพัฒนาพื้นที่ลานกิจกรรม คนในชุมชนได้ร่วมกันสร้างงานศิลปะ ทั้งการทำที่นั่งแบบ DIY การสร้างสรรค์ศิลปะบนฝาผนังแบบ Street Art พร้อมวางแผนจัดกิจกรรม การแสดง ไปจนถึงการเวิร์คชอปต่างๆ จนพื้นที่ดังกล่าวได้กลายมาเป็นสถานที่นัดรวมตัวที่มีคนทุกเพศทุกวัยหมุนเวียนเข้ามาตลอดเวลา กระทั่งสภาเทศบาลเมืองได้อนุมัติให้ลานจอดรถเดิมกลายเป็นพื้นที่เพื่อกิจกรรมสาธารณะถาวรในที่สุด

 

ไม่ว่ามากหรือน้อยเพียงใด โครงการ Placemaking ของทุกเมืองซึ่งใช้แนวคิด LQC ต่างก็ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้เกิดขึ้นทั้งในแง่ประโยชน์ใช้สอยและการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งยังเป็นการพัฒนาที่เป็นแบบอย่างให้แก่เมืองอื่นๆ ได้เรียนรู้และนำไปต่อยอด ซึ่งศูนย์ศึกษามหานครและเมืองเห็นว่า LQC ถือเป็นความหวังใหม่ที่จะจุดประกายให้การทำ Placemaking ในเมืองไทยเริ่มต้นได้ง่ายและแพร่หลายมากขึ้นอันจะนำมาสู่การเพิ่มจำนวนพื้นที่สาธารณะที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาวะทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้แก่คนไทยในทุกเมือง ท้ายที่สุด ตัวอย่างเหล่านี้เป็นบทเรียนที่แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า การจัดการหรือการพัฒนาพื้นที่สาธารณะนั้น แม้จะใช้ทรัพยากรน้อย แต่ก็ประสบความสำเร็จได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์และการร่วมแรงร่วมใจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของเมือง

 

 

อ้างอิง

 
Project for Public Spaces. (2016). Light, Quick, and Cheap: 5 Placemaking Projects That Inspire Us. ออนไลน์ https://www.pps.org/blog/light-quick-and-cheap-5-placemaking-projects-that-inspire-us/
 
 
 
 
 
 
 

• AUTHOR

 


จุฑามาศ  พูลสวัสดิ์

รัฐศาสตร์บัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต จาก NIDA

Related Posts