Cities Reviews

เมืองเชียงราย : บทบาทท้องถิ่นในการพัฒนาเมืองสุขภาวะ

 

ทีมวิจัยศูนย์ศึกษามหานคร ได้ลงพื้นที่เมืองเชียงราย ไปที่เทศบาลนครเชียงราย  เนื่องจากเมืองเชียงรายเป็นหนึ่งในเมืองที่ทางเราได้เลือกถอดบทเรียน จากโครงการการถอดบทเรียนเมืองสุขภาวะ เพื่อเป็นแนวทางให้กับเมืองอื่นๆ ของไทย เราเดินทางไป วันที่ 21-22 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เป็นเวลา 2 วัน ทีมวิจัยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนหลายภาคส่วนที่เข้ามามีบทบาทพัฒนาเมืองเชียงราย โดยเฉพาะกับนายกเทศมนตรีนครเชียงราย และเจ้าหน้าที่ที่มีบทบาทนำการพัฒนาเมือง รวมไปถึงได้คุยกับคนในชุมชนเมืองเชียงราย ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเมือง การเรียนรู้ตลอด 2 วันของเรา ทำให้เห็นว่าบทบาทของท้องถิ่นในการพัฒนาเมืองเชียงราย ที่มีทั้งความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานเป็นเครือข่ายหลายภาคส่วน ดังนี้  

 

เชียงราย เมืองแห่งอาหารปลอดภัย 
 
Urban Food System หรือระบบอาหารในเมือง เป็นทิศทางใหญ่ของการพัฒนาเมืองที่ทั่วโลกกำลังขับเคลื่อนและทำอยู่ เรื่องอาหารในเมือง มีความสำคัญเพราะสัมพันธ์กับสุขภาพคน ช่วยเรื่องเศรษฐกิจท้องถิ่น และการกระจายรายได้ ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมยั่งยืนในเมือง ในประเทศไทยเอง ก็มีความพยายามที่จะขับเคลื่อนเรื่องอาหารในเมือง ไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบการส่งเสริม "การทำเกษตรในเมือง"
 
เทศบาลนครเชียงราย อาจจะเป็นหนึ่งในท้องถิ่นที่มีการขับเคลื่อนและทำสิ่งที่เรียกว่า "ระบบอาหารในเมือง" ก้าวหน้าไปมากแห่งหนึ่งของไทย กระบวนการที่น่าสนใจของเชียงรายเริ่มตั้งแต่การพัฒนาต้นน้ำ การพัฒนาเกษตรกรให้หันมาปลูกผักปลอดสารพิษ และแปลงปลูกที่ได้มาตรฐาน โดยมีอาจารย์มหาวิทยาลัยคอยเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ มีเครือข่ายเกษตรกรไม่น้อยกว่า 20 รายเข้าร่วมปลูกเกษตรปลอดภัย การพัฒนากลางน้ำ หลังจากได้ผักจากเกษตรกรแล้ว เทศบาลฯ สนับสนุนให้ภาคประชาชนได้จัดตั้งสหกรณ์นครเชียงราย ตัวกลางรับซื้อและจำหน่ายสินค้าเกษตร มีการพัฒนาห้อง Lab และเจ้าหน้าที่เทศบาลที่สามารถตรวจสารพิษในผัก เพื่อยืนยันความปลอดภัยของผักได้ รวมไปถึงสร้างอาคารจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยและตลาดนัดอินทรีย์ทุกวันศุกร์ เพื่อให้ผู้บริโภคในเมืองสามารถเข้าถึงอาหารปลอดสารพิษได้ การพัฒนาปลายน้ำ เทศบาลฯ ได้จัดหา "ผู้บริโภค" โดยเชื่อมโยงให้โรงเรียนในสังกัดเทศบาลฯ กว่า 8 แห่ง ได้รับซื้อผักปลอดสารพิษจากเกษตรกรเพื่อจัดทำเมนูอาหารกลางวันที่ดีให้เด็กนักเรียน โดยมีนักโภชนาการคิดเมนูอาหารร่วมกับคุณครูในโรงเรียน เป็นเมนูอาหารกลางวันล่วงหน้า 3 เดือน ที่ระบุความจำนวนผักที่ต้องการชัดเจน และส่งจำนวนผักที่ต้องการให้เกษตรกรได้ทำการปลูกล่วงหน้า
 
ในอีกด้านหนึ่ง ก็ได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการร้านอาหารในเชียงรายราว 5 ร้าน (กำลังขยายต่อ) รับซื้อผักปลอดภัยจากเกษตรกร เพื่อให้เกิด demand ผักที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง พยายามทำให้สินค้าจากเกษตรกรและผู้บริโภคมีปริมาณที่สมดุลกัน ไม่เกิดผักที่ล้นเกินในตลาดนั่นเอง
สิ่งหนึ่งที่สามารถสรุปได้เบื้องต้นเกี่ยวกับการทำงานระบบอาหารปลอดภัยในเมือง คือ เทศบาลนครเชียงราย เป็น "ตัวเชื่อม" "ตัวกลาง"
กับภาคส่วนต่างๆ ให้ทำงานด้วยกัน เพราะทุกหน่วยงาน ทุกกลุ่ม ทำงานของตนเองอยู่แล้ว แต่เชื่อมให้เกิด "ระบบ" โดยสร้างคน สร้างการเรียนรู้ สร้างการมีส่วน่วม สร้างภาคีเครือข่าย ถือว่าเป็นเมืองที่ก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งในเรื่องอาหารปลอดภัย
 
 
 
 
 เชียงรายกับสวนสาธารณะล้อมเมือง 
 
เรื่อง Public Space หรือพื้นที่สาธารณะในเมือง ตลอดจนพื้นที่สีเขียว หลายเมืองในไทยตอนนี้กำลังแข่งขันกัน ไปเมืองใดก็เริ่มมีสวนหรือพื้นที่สาธารณะสวยๆ หลายแห่งแล้ว เชียงรายก็เช่นกัน เรียกได้ว่า เป็นเมืองที่มีสวนสาธารณะสวยๆ มากที่สุดเมืองหนึ่งของภาคเหนือ เมืองเชียงรายภายใต้ขอบเขตการดูแลของเทศบาลนครเชียงราย มีพื้นที่การดูแลถึง 60 ตารางกิโลเมตร ถือว่าเป็นเมืองที่มีพื้นที่ใหญ่มาก แต่ความใหญ่โตของพื้นที่ ก็ไม่ใช่อุปสรรคนัก เพราะในเมืองเชียงรายมีสวนสาธารณะกระจายอยู่ทั่วเมืองกว่า 12 สวน ทางศูนย์ศึกษามหานครและเมือง และทีมวิจัย ได้เดินทางไปสัมผัสสวนสาธารณะในเชียงราย 3 แห่ง จาก 12 แห่ง ได้แก่ สวนสาธารณะฝั่งหมิ่น สวนสาธารณะเกาะลอย ริมแม่น้ำกก สวนสาธารณะหาดเชียงราย แต่ละสวนมีจุดร่วมและจุดเด่น แตกต่างกันไป จุดร่วมหนึ่งคือการเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนเข้ามาออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ ใช้เวลาร่วมกัน จุดต่า บางสวน เช่น สวนหาดเชียงรายก็ถูกสร้างขึ้นโดยกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับเล่นสเก็ตบอร์ต หรือจัดงานขนาดใหญ่ สวนเกาะลอยเป็นสนามเล่นกีฬา เพราะมีสนามหลากหลายเช่น เทนนิส บาสเกตบอล เปตอง หรือการเต้นของกลุ่มต่างๆ เป็นต้น เชียงรายเป็นเมืองที่เข้าใจว่าคุณภาพชีวิตของคนเมืองต้องเป็นอย่างไร และใช้ต้นทุนทรัพยากรที่่มีมาออกแบบสวนที่ตอบโจทย์คนในเมือง และผสานกับวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของเมือง ทำให้สวนบางแห่งจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่อย่างแน่น
 
 
 
การพัฒนาชุมชนในเขตเมือง : พื้นที่แห่งการเรียนรู้ธรรมชาติคีรีชัยยามะ
 
ทีมของเรา ได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนกับ คุณณรงค์ศักดิ์ เตือนสกุล รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงราย และตัวแทนชุมชนดอยสะเก็น อันเป็นชุมชนที่ดูแลป่าดอยสะเก็น หรือ “คีรีชัยยามะ” ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ ความน่าสนใจของการพัฒนาครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่เทศบาลนครเชียงราย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) หรือ ไจก้า เพื่อพัฒนาพื้นที่ชุมชนดอยสะเก็น หรือ คีรีชัย ยามะ ให้เป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ด้านธรรมชาติ และการท่องเที่ยวชุมชนกระบวนการพัฒนาทำมาอย่างต่อเนื่อง ท้องถิ่น องค์กรระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย และชุมชน ทำงานร่วมกัน โดยดึงจุดเด่นของพื้นที่ ที่มี "องค์พระธาตุดอยสะเก็น" และป่าสมบูรณ์กลางเมืองที่หาได้ยากกว่า 70 ไร่ พัฒนาในฐานะป่าเปิด ที่ต้อนรับผู้คนที่ต้องการเรียนรู้ธรรมชาติ สร้างการเรียนรู้และรายได้ให้แก่ชุมชน สร้างแรงจูงใจให้ชุมชนรักและดูแลผืนป่า จวบจนวันนี้ ป่าคีรีชัย ยามะ ค่อยๆ เปิดรับผู้มาเยือน และมีการพัฒนาเป็นลำดับ ทั้งการทำแผนที่ท่องเที่ยว การทำ sky walk ชมเมือง การทำเส้นทางท่องเที่ยว ปัจจุบันยังเน้นไปศูนย์การเรียนรู้ที่นักเรียน นักศึกษา ได้มาทำกิจกรรม และเริ่มทยอยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาบ้างแล้ว อีกหนึ่งต้นแบบของการพัฒนาชุมชนในเขตเมือง
 
 
 
 
 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

 

Related Posts