
การมีส่วนร่วมอนุรักษ์ย่านเก่า บทเรียนจากเมืองย่างกุ้งและเมืองอัสเตอร์ดัม
ณัฐธิดา เย็นบำรุง
การเจริญเติบโตของความเป็นเมือง ทำให้บ้าน อาคาร และชุมชนเก่าหลายแห่งได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วจนทำลายคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของตนเองไป บ้านและอาคารเก่าเริ่มถูกรื้อ และสร้างใหม่ เนื่องจากใช้งบประมาณจำนวนมากในการปรับปรุง การทุบแล้วสร้างใหม่ จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ซึ่งทำให้หลายย่าน หลายเมืองถูกแทนที่ด้วยตึกสมัยใหม่
ในขณะนี้หลายเมืองทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์เมืองมากขึ้น พวกเขาเห็นความสำคัญว่าการอนุรักษ์บ้านและอาคารเก่า นอกจากจะรักษาคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมแล้ว ยังช่วยก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของเมือง ดังนั้น เมืองเก่าหลายเมืองในโลก จึงเริ่มหันมาฟื้นฟู ย่านเก่าของเมือง ไม่เพียงแค่เน้นอนุรักษ์ในอาคารใหญ่เท่านั้น แต่ยังเน้นอนุรักษ์สถานที่อยู่อาศัยของผู้คนด้วย เนื่องจากเป็นองค์ประกอบของการอนุรักษ์ และทำให้เมืองมีชีวิตชีวา ทั้งนี้ การอนุรักษ์เมืองเก่าผู้คนอาจจะตั้งความคาดหวังกับภาครัฐที่มีงบประมาณและกำลังคนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมืองเก่า แต่บทเรียนใน เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ที่ผู้เขียนได้รับฟังจากการบรรยายเรื่อง “Heritage led regeneration pilot project in Yangon” โดย Dr.Ester Van Steekelenburg และการบรรยายเรื่อง “Urban solutions stadsherstel the company for city restorations” โดย Mr. Cor Dijkgraaf ในโครงการฝึกอบรมการจัดทำนครลำปางให้เป็นเมืองน่าอยู่โดยการปกป้องรักษามรดกอันมีคุณค่าของเมือง สนับสนุนโดยการเคหะแห่งชาติ และมูลนิธิปัทมะเสวี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 ณ บ้านบริบูรณ์ เทศบาลเมืองลำปางเป็นตัวอย่าง 2 เมืองที่ทำให้เห็นว่ากระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนและประชาชนก็สามารถอนุรักษ์เมืองเก่าได้ เป็นรูปแบบหรือโมเดลหนึ่งที่เป็นทางเลือกในการอนุรักษ์เมืองได้
การอนุรักษ์ย่านเก่า ในเมืองอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์
เมืองอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) มีต้นกำเนิดเมืองตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 13 เป็นเมืองที่มีการขุดคลองล้อมเมืองตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ความยาวคลองกว่า 100 กิโลเมตร ใช้เป็นเส้นทางสัญจรและขนสินค้า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองอัมสเตอร์ดัมมีการพัฒนาเมืองคล้ายทั่วโลก คือ ทุบตึกเก่า บ้านเก่า และสร้างตึกและบ้านแบบใหม่ เป็นช่วงที่ทำให้บ้านและอาคารเก่าหายไปค่อนข้างมาก อีกทั้งรัฐมีแผนการจะเปลี่ยนคลองให้เป็นถนน เนื่องจากไม่เห็นประโยชน์ของคลอง แต่นักวิชาการ ศิลปิน และคนในเมือง ได้ร่วมกันต่อต้านอย่างหนัก มีการเขียนการ์ตูนล้อเลียนที่สะท้อนการทำลายเมืองของรัฐเต็มเมือง ทั้งนี้กลุ่มคนในเมืองมองเห็นว่าคลองนี้เป็นเอกลักษณ์ของเมือง และรายได้จากการท่องเที่ยวทางเรือ เป็นรายได้อันดับ 1 ของเมืองด้วย การต่อต้านครั้งนี้แสดงถึงการเคลื่อนไหวและความห่วงใยต่อเมืองของผู้คนที่มีต่อการอนุรักษ์ในเมืองอัมสเตอร์ดัม
การเขียนการ์ตูนต่อต้านการเปลี่ยนคลอง
ที่มา : Cor Dijkgraaf (2559)
- Stadsherstel บริษัทพัฒนาบ้านและอาคารเก่า
ปลายศตวรรษที่ 1960 มีนักธุรกิจของเมืองได้รวมกลุ่ม ใช้ชื่อว่า “Stadsherstel” มีเป้าหมายอนุรักษ์บ้านและอาคารเก่าในเมืองอัมสเตอร์ดัม วิธีการของกลุ่มนี้คือ ค้นหาบ้านเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมือง ตึกเก่าที่รัฐต้องการจะทุบทิ้ง หรืออาคารและบ้านเก่าตามหัวมุมถนน นำมาปรับปรุง ฟื้นฟู ใหม่ จากนั้นได้ขายให้กับผู้ที่สนใจ และเปิดให้เช่า กำไรที่ได้นำมาซื้อตึกเก่าและปรับปรุงฟื้นฟูต่อ โดยมีแหล่งทุนเริ่มต้นจากเงินของสมาชิกในกลุ่ม และเงินจากสถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทประกันภัย กองทุนบำเหน็จบำนาญ โดยกลุ่ม Stadsherstel ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่ทำประโยชน์ให้กับเมือง จึงได้รับการยกเว้นภาษีรายได้ 35% และยกเว้นภาษีค่าโอน 6%
วิธีการอนุรักษ์ของกลุ่ม Stadsherstel
ที่มา : Cor Dijkgraaf (2559)
แหล่งเงินทุนของกลุ่ม Stadsherstel
ที่มา : Cor Dijkgraaf (2559)
กลุ่ม Stadsherstel ได้ทำปรับปรุง ฟื้นฟูบ้านและอาคารเก่า ให้เช่าและขายได้จำนวนมาก ในช่วงปี ค.ศ. 1970 เทศบาลฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานเคยมีแผนทุบอาคารหลายหลังทิ้ง เห็นถึงความสำเร็จของการอนุรักษ์บ้านเก่าที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล จึงได้หันมาเข้าร่วมหุ้น โดยมีหุ้นในกลุ่ม Stadsherstel ทั้งหมด 13% และกลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมในการร่วมอนุรักษ์บ้านเก่า ปัจจุบันทางกลุ่มได้เริ่มขยายพื้นที่อนุรักษ์ไปต่างเมือง และปรับปรุงสถาปัตยกรรมอื่น เช่น โบสถ์ กลุ่ม Stadsherstel ได้ดำเนินการกว่า 50 ปี ปัจจุบันมีบ้านเก่าอยู่ในครอบครองกว่า 1,000 หลัง สำนักงานเก่าอีก 200 แห่ง
เทศบาลฯ ร่วมลงทุนอนุรักษ์อาคารเก่าในเมือง
ที่มา : Cor Dijkgraaf (2559)
การอนุรักษ์โบสถ์ของกลุ่ม Stadsherstel
ที่มา : Cor Dijkgraaf (2559)
บทเรียนการอนุรักษ์เมืองในอัมสเตอร์ดัม ชี้ให้เห็นว่า การอนุรักษ์เมืองนั้น ภาคเอกชนสามารถลงมือ บริหารจัดการ ได้ด้วยตนเอง แม้ว่าการอนุรักษ์ที่เมืองอัมสเตอร์ดัมอาจเกิดจากภาคเอกชนที่มีฐานะดี แต่แนวคิดและวิธีการดังกล่าวภาคประชาชนในเมืองต่างๆ สามารถเรียนรู้และเริ่มต้นด้วยตนเอง สามารถรวมกลุ่ม มองหาแหล่งทุน ดำเนินการ โดยที่ไม่ต้องรอภาครัฐ หากการอนุรักษ์ก่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ หรือการสร้างมูลค่าที่เพิ่มขึ้นสูงได้จริง จะสามารถดึงการมีส่วนร่วมจากภาครัฐได้เอง และสามารถยกระดับการอนุรักษ์และการมีส่วนร่วมให้มากขึ้นได้
การอนุรักษ์ย่านเก่าในเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า
ในช่วงที่พม่าอยู่ภายใต้อังกฤษ ขณะนั้นเมืองย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงของพม่า เป็นเมืองที่ถือได้ว่าเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของเอเชีย มีศูนย์กลางการบริหารของรัฐบาลตั้งอยู่ มีท่าเรือ เป็นเมืองแห่งการค้า อีกทั้งเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาค้าขาย ทำให้เมืองย่างกุ้งเต็มไปด้วยบ้าน อาคาร สถาปัตยกรรมที่ใหญ่และสวยงาม แต่เมื่อท่าเรือถูกย้ายและเมืองหลวงของพม่าได้ย้ายไปตั้งที่กรุงเนปิดอว์ (Naypyidaw) ทำให้ศูนย์การบริหารถูกย้ายตามไปด้วย ทำให้เมืองย่างกุ้งที่เคยคึกคักและมีความสำคัญทางการบริหาร กลายเป็นเมืองที่มีแต่ความวุ่นวายของจราจร อาคารสำนักงานเก่ามากมายที่ไม่มีใครใช้งาน บ้านและอาคารบางส่วนเริ่มถูกปรับเปลี่ยนเป็นตึกสมัยใหม่ตามการพัฒนาเมือง อีกทั้งพม่ามีกฎหมายควบคุมค่าเช่า ทำให้เจ้าของเห็นว่าอาคารเก่าไม่คุ้มที่จะเรียกค่าเช่าสูงๆ จึงมีการทุบทิ้งและสร้างใหม่หลายหลัง
ย่างกุ้งในฐานะเมืองแห่งการค้า
ที่มา : Ester Van Steekelenburg (2559)
ความหลากหลายของผู้คนในเมืองย่างกุ้ง
ที่มา : Ester Van Steekelenburg (2559)
สภาพเมืองย่างกุ้งหลังจากย้ายเมืองหลวง
ที่มา : Ester Van Steekelenburg (2559)
สถานการณ์ในเมืองย่างกุ้งขณะนี้ เริ่มมีนักลงทุนต่างชาติ เช่น สิงคโปร์ อินเดีย มองหาตึกและอาคารเก่า เพื่อลงทุน โดยนักลงทุนเข้ามาทำสัญญากับเจ้าของตึก เพื่อจูงใจให้ปรับปรุงและเพิ่มความสูงตึกเก่า โดยยังคงรูปแบบตึกบางส่วนอยู่ เมื่อปรับปรุงเสร็จ จะแบ่งอาคารออกเป็น 3 ส่วน คือ แบ่งผู้เช่าสามารถอยู่และเปิดร้านขายของได้ แบ่งให้เจ้าของตึก และแบ่งให้เป็นของนักลงทุน ที่จะเปิดให้เช่าหรือทำธุรกิจ หรือให้ผู้อาศัยรายใหม่เข้ามาอยู่
ลักษณะความร่วมมือปรับปรุงอาคารเก่าเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นจำนวนมากในย่างกุ้ง ซึ่งหากพิจารณาเบื้องต้น อาจเห็นว่าได้ประโยชน์ทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งเจ้าของตึก ผู้เช่า และนักลงทุน และสร้างมูลค่าได้คุ้มค่า แต่การปรับปรุงอาคารเช่นนี้ มีข้อเสียและผลที่ตามมาคือ ในย่านนั้นจะเพิ่มความหนาแน่นของผู้คน นำไปสู่ความติดขัดในย่าน เพราะขยับขยายไม่ได้ ที่สำคัญ อัตลักษณ์ ตัวตน และความทรงจำในอาคารเก่าจะหายไปในที่สุด
รูปแบบการปรับปรุงตึกเก่าและปัญหาที่เกิดขึ้นในย่างกุ้ง
ที่มา : Ester Van Steekelenburg (2559)
- ประชาสังคม Yangon Heritage Trust
เมื่ออัตลักษณ์เมืองบางส่วนได้หายไป ทำให้ประชาสังคมในเมืองย่างกุ้ง ภายใต้ชื่อ Yangon Heritage Trust ซึ่งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์เมืองเก่า จึงร่วมกับเทศบาลเมืองย่างกุ้ง ภายใต้การสนับสนุนขององค์กร Cities Development Initiative Asia หรือ CDIA จัดทำแผนอนุรักษ์ย่านเก่าในเมือง ใช้ทีมงานผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 10 คน เป็นชาวต่างชาติ 5 คน ชาวพม่า 5 คน ร่วมวิเคราะห์ และประเมินแผนการอนุรักษ์เมืองรอบด้าน ใช้เวลาการทำแผนทั้งหมด 6 เดือนโดยมีเป้าหมายของแผนอนุรักษ์คือ การสร้างเมืองย่างกุ้งให้เป็นเมืองน่าอยู่ระดับโลก ที่มีความสมดุลทั้งด้านการทำงาน การอยู่อาศัย และการพักผ่อน กำหนดวัตถุประสงค์ของแผน 3 ข้อคือ
- ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสมและมีมาตรฐานให้กับผู้คนในเมือง
- รักษาบรรยากาศ และวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองเก่าให้ดำเนินต่อไป
- ปรับปรุง ฟื้นฟู สถาปัตยกรรมเก่าในเมือง เพื่อคงรักษาอัตลักษณ์ของเมืองไว้
สำหรับรูปแบบการฟื้นฟู สถาปัตยกรรมเก่าในเมืองย่างกุ้ง กำหนดไว้ 3 แบบ คือ
- บ้านและตึกแถว มีทั้งหมด 70% ของเมือง แม้กระมีกระบวนการอนุรักษ์อาคารเก่าอยู่ แต่เกือบทุกย่าน ทุกเมืองมักประสบปัญหาคล้ายๆ กัน คือ ขาดผู้นำ 2. ขาดเงินลงทุน 3. ขาดความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4. ขาดความรู้ทางเทคนิค การเลือกบริษัทผู้รับเหมา ในการจัดการงานอนุรักษ์ แผนอนุรักษ์ครั้งนี้เน้นเป้าหมายให้คนที่อยู่ดั้งเดิมอยู่ให้มากที่สุด พยายามไม่ให้คนนอกเข้ามาเปลี่ยนแปลงอาคาร วางแผนด้านการเงินสำหรับการอนุรักษ์ คือ สร้าง Micro credit housing หรือการสร้างกองทุนอนุรักษ์บ้านเก่า ให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเก็บออมเงินร่วมกัน การสร้างกองทุนนี้เป็นการช่วยแก้ปัญหาเงินทุน สร้างการมีส่วนร่วมของคนได้
รูปปัญหาในกระบวนการอนุรักษ์อาคารเก่า
ที่มา : Ester Van Steekelenburg (2559)
- อาคาร สำนักงาน ซึ่งมีเอกชนเป็นเจ้าของ มี 5% ของเมือง แผนการอนุรักษ์คือ การเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของอาคารให้เกิดความหลากหลายในการใช้งาน ตัวอย่างอาคารที่ออกแบบแล้ว คือ การเปลี่ยนสำนักงานเก่าๆ ให้เป็นโรงแรม โดยที่ด้านบนจะเป็นโบสถ์ การเปลี่ยนการใช้ประโยชน์จะสามารถเรียกทุนคืนภายใน 7 ปี
- สำนักงานใหญ่ รวมถึงวัด ที่รัฐเป็นเจ้าของ ในย่างกุ้งมีหลายตึกมากที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ เป็นตึกที่ล้วนแล้วมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แผนการอนุรักษ์ คือ ต้องปรับปรุงให้มีการใช้ประโยชน์ เช่น ปรับเป็นห้องสมุด เป็นศูนย์ศิลปะ เป็นต้น รวมถึงสร้างถนนคนเดินเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจเล็กๆ ให้เกิดขึ้นด้วย การจะปรับฟื้นฟูอาคารใหญ่นี้จะต้องเสนอแผนเพื่อหาผู้ลงทุนให้ได้
การปรับปรุงการใช้ประโยชน์อาคารและสำนักงาน
ที่มา : Ester Van Steekelenburg (2559)
การปรับปรุงอาคารสำนักงานใหญ่
ที่มา : Ester Van Steekelenburg (2559)
- รูปแบบการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คน
จากแผนอนุรักษ์ที่ผ่านการวางแผน วิเคราะห์ และประเมินความเป็นไปได้อย่างรอบด้าน แผนอนุรักษ์ที่สวยงามเช่นนี้ จะสามารถทำให้เป็นจริงได้อย่างไร จะดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนได้อย่างไร โดยเฉพาะรัฐ เจ้าของที่ และคนในเมืองได้ ทางทีมงานจึงมีการกระตุ้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น
- การประชุมโต๊ะกลม
- การจัดนิทรรศการเมืองเก่าและนำเสนออาคารที่ออกแบบแล้ว นำเสนอบทสัมภาษณ์เจ้าของบ้านที่ปรับปรุงบ้านเก่า ให้เป็นตัวอย่างที่ดี เชิญชวนผู้คนเข้ามาเยี่ยมชม จูงใจเจ้าของบ้านที่สนใจเข้ามาพูดคุยได้
- การจัด workshop เรื่องการอนุรักษ์เมือง โดยเชิญนักสถาปนิก นักศึกษาด้านสถาปัตยกรรม เข้าร่วมโครงการ เพื่อเชิญชวนกลุ่มอาชีพดังกล่าวให้เห็นคุณค่าของเมือง ชี้ให้เห็นความท้าทายในการออกแบบเพื่อการอนุรักษ์ โดยมีบริษัทสถาปนิกเข้าร่วมกว่า 20 คน จัดงานวาดรูป ที่เชิญเด็กๆ เข้าร่วม เพื่อให้พวกเขาได้วาดรูปความทรงจำที่สำคัญของตัวเอง ซึ่งผลปรากฏว่า มีเด็กเพียงคนเดียวเท่านั้นที่วาดรูปตึกสมัยใหม่ โดยเด็กที่เหลือวาดรูปบ้านและอาคารเก่าทั้งสิ้น
- การประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น Facebook Instagram สื่อกระแสหลัก
การจัดนิทรรศการเมืองเก่าในย่างกุ้ง
ที่มา : Yangon Heritage Trust (2558)
การ workshop เรื่องการอนุรักษ์เมือง
ที่มา : Yangon Heritage Trust (2558)
การสร้างการมีส่วนร่วมเหล่านี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนในเมืองเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์เมืองเก่า และจะช่วยให้แผนการอนุรักษ์เมืองเก่าของย่างกุ้งที่ถูกออกแบบไว้ได้อย่างดี มีความคืบหน้าและกำลังก้าวไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ บทเรียนหนึ่งของการทำงานอนุรักษ์ในย่างกุ้ง การที่ผู้คนเริ่มหันมาสนใจการอนุรักษ์เมืองเก่ามากขึ้น มีปัจจัยหนึ่งคือการกลัวการเข้ามาลงทุนของคนอินเดีย คนจีน ที่รุกคืบเข้ามาในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งปัจจัยเช่นนี้เป็นแรงผลักดันที่ช่วยดึงการมีส่วนร่วมของผู้คนได้ หากเมืองใดที่สนใจการอนุรักษ์ ควรจะหาแรงผลักดันทั้งทางบวกและหรือทางลบให้เจอ จะช่วยให้กระตุ้นผู้คนในเมืองได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การจัดงานเพื่อดึงการมีส่วนร่วมนั้น หากเมืองใดไม่รู้ว่าจะเริ่มได้อย่างไร ควรเริ่มจากการจัดงานกับเด็ก หากสามารถดึงเด็กมาเข้าร่วมได้ ผู้ปกครองก็จะตามมาเข้าร่วมด้วย
จากตัวอย่างการอนุรักษ์เมืองที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นว่า การอนุรักษ์อาคารเก่า บ้านเก่า เมืองเก่าอาจต้องทำควบคู่กับการสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ให้เจ้าของและคนเมืองมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้พวกเขาเห็นรูปธรรมที่จับต้องได้ในการอนุรักษ์ ก่อนจะนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องอัตลักษณ์และความภูมิใจ เรื่องเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในแรงจูงใจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ หากต้องการสร้างการมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม บทเรียนจากทั้ง 2 ที่ชี้ให้เห็นว่า ควรมองหาแรงจูงใจร่วมกันให้เจอ ทั้งแรงจูงใจทางบวก มองเห็นโอกาสร่วมกัน หรือแรงจูงใจทางลบที่เกิดจากความกลัวร่วมกัน ก็จะยิ่งดึงการมีส่วนร่วมคนได้มากยิ่งขึ้น
กระแสการพัฒนาที่เชื่อมโยงกันทำให้ทุกเมืองมีการพัฒนาที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งทำให้ผู้คนเริ่มแสวงหาความเป็นดั้งเดิม ความแปลกใหม่ การไม่ซ้ำแบบเดิมได้ หลายเมืองทั่วโลกที่กำลังค้นหาทิศทางในการพัฒนาเมืองของตัวเอง ควรลองใช้รูปแบบการพัฒนาแบบอนุรักษ์ฟื้นฟูคุณค่ามรดกเมือง เพราะมรดกของเมืองเป็นรูปธรรมและนามธรรมที่สะท้อนความแตกต่างได้อย่างมีรสนิยม ช่วยให้เมืองมีชีวิตชีวา เป็นการรักษารากเหง้าของเมือง อันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่ทำให้ช่วยแต่ละเมืองนั้นมีอัตลักษณ์ของตนเอง เมืองที่มีการอนุรักษ์จึงเป็นจุดหมายของผู้คนทั่วโลก และในอนาคตก็นำพารายได้ที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับเป็นหนทางที่ยิ่งทำให้คนในเมืองได้มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ให้เกิดความภูมิใจและรักในเมืองของตนเองมากยิ่งขึ้น
• AUTHOR |
|
|
นักวิจัย ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com |