Cities Reviews

ผู้นำการบริหารจัดการเมืองรุ่นใหม่: กรณีศึกษา คลองชองเกชอน เกาหลีใต้

ดารณี เสือเย๊ะ

 

โครงการฟื้นฟูคลองชองเกชอนถือเป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญมากของโซล จากภาพตึกคอนกรีตสีเทา เปลี่ยนเป็นภาพเมืองสีเขียวที่มีสายน้ำใสสะอาดไหลผ่าน จากเมืองที่มุ่งเน้นผลผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไปสู่การให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนในเมือง การเป็นเมืองใหญ่ที่ใส่ใจต่อสภาพแวดล้อม และการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของเมืองที่เคยถูกปกคลุมไว้ด้วยกับกระแสการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์และความสามารถของผู้นำเมือง นายกเทศมนตรี ลีเมียงบัค และการสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นจากภาคประชาชน

 

สายน้ำ กับความสำคัญทางประวัติศาสตร์

ชองเกชอน เป็นคลองที่ไหลผ่านใจกลางของกรุงโซลทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 600 ปีของกรุงโซล เริ่มต้นเมื่อพระเจ้าแทโจ ผู้สถาปนาราชวงศ์โชซอน ย้ายเมืองหลวงมายังฮันยาง (กรุงโซลในปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. 1394 คลองชองเกชอนก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ของกรุงโซลนับแต่นั้นเป็นต้นมา

น้ำในคลองชองเกชอนจะเอ่อล้นทุกครั้งที่มีฝนตกหนัก และจะสกปรกมากในช่วงหน้าแล้ง นำไปสู่การเสนอวิธีการแก้ปัญหาในช่วงต้นของราชวงศ์โชซอนโดยการถมคลอง แต่วิธีการดังกล่าวก็ตกไป เพราะตามความเชื่อของกษัตริย์ถือว่าเป็นการกระทำที่ฝืนกฎของธรรมชาติ

ในรัชสมัยของพระเจ้าเซจอง ได้มีการขุดลอกคลอง สร้างสะพาน และติดตั้งเครื่องวัดระดับน้ำเพื่อคาดคะเนปริมาณน้ำว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะเกิดน้ำท่วม

 ปี ค.ศ. 1760 ผู้คนกว่า 200,000 คน ถูกกวาดต้อนมาตั้งรกรากบริเวณริมฝั่งคลอง และมีการสร้างทำนบหินตลอดทั้งสองฝั่งคลอง ทำให้น้ำในคลองไหลเป็นทางตรงเช่นทุกวันนี้ แควน้ำ 14 สายไหลมาลงที่คลองชองเกชอน ในสมัยราชวงศ์โชซอนมีการบันทึกไว้ว่า มีการก่อสร้างสะพานข้ามคลองชองเกชอนมากถึง 86 สะพาน แต่ในปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง

ภาพเขียนเซรามิกกษัตริย์ราชวงศ์โชซอน

ที่มา: http://deltaskymag.delta.com/Destinations/Seoul/Destination-Posts/Cheonggyecheon--An-Urban-Renewal.aspx

 

คลองชองเกชอนถือเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของผู้คนโดยทั่วไป ที่ซักเสื้อผ้า สนามเด็กเล่น หรือสถานที่จัดเทศกาลต่าง ๆ เป็นที่พักอาศัยของคนเร่ร่อนตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์โชซอน รวมทั้งชาวนาที่ถูกลิดรอนที่ดินทำกินช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ต่างอพยพเข้ามาในโซล และอาศัยก้อนหินจากทำนบริมสองฝั่งคลองมาสร้างที่พักอย่างผิดกฎหมาย

ด้วยกับการเพิ่มขึ้นของคนจนในเมืองทำให้คลองสกปรกมากขึ้น เป็นที่โจษจันกันว่า คลองชองเกชอนเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคและเต็มไปด้วยปัญหาอาชญากรรม ประกอบกับน้ำท่วมหนักเป็นประจำทุกปีได้คร่าชีวิตและสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจใช้คลองชองเกชอนเป็นที่ทิ้งน้ำเสีย

 มีการขุดลอกคลองชองเกชอนและลำน้ำสายอื่น ๆ ที่ไหลมารวมกัน ในราวปี ค.ศ. 1913 เพื่อปกป้องไม่ให้ชาวญี่ปุ่นที่พักอาศัยอยู่ทางใต้ของคลองได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

ในปี ค.ศ. 1926 มีการวางแผนถมคลองชองเกชอน แต่ก็ถูกยกเลิกไป เพราะการระบายน้ำไม่สามารถจัดการกับน้ำท่วมได้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1935 ได้มีการประกาศว่า จะสร้างถนนและทางด่วนยกระดับทับคลองชองเกชอน แต่ก็ถูกเลื่อนออกไปอีกเนื่องจากปัญหาความไม่สงบในสังคมหลังสงครามเกาหลีและการขาดแคลนเงินทุน

 การพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในช่วงปี ค.ศ. 1960-1990 ทำให้ความเป็นเมืองของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉลี่ย 15.6% ในทุก ๆ 10 ปี 60% ของประชากรอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ (ประชากรมากกว่า 1 ล้านคน) และสัดส่วนของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองก็เพิ่มสูงขึ้นจาก 21% ในปี ค.ศ. 1960 เป็น 43% ในปี ค.ศ. 1990[1]

 โครงการก่อสร้างถนนทับคลองชองเกชอนถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1958 ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการยาวนานถึง 20 ปีกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ ส่วนโครงการสร้างทางด่วนยกระดับเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1967 ก่อนจะแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1976

        ภาพ  การแสดงทางวัฒนธรรม       

                                            
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ http://deltaskymag.delta.com/Destinations/Seoul/Destination-Posts/Cheonggyecheon--An-Urban-Renewal.aspx

ที่มา: http://deltaskymag.delta.com/Destinations/Seoul/Destination-Posts/Cheonggyecheon--An-Urban-Renewal.aspx

 

 โครงการฟื้นฟูคลองชองเกชอนจึงถือเป็นนัยยะสำคัญทางประวัติศาสตร์ของโซล เป็นการค้นพบอีกครั้งหนึ่ง (rediscovery) ของรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมไปเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ยกตัวอย่างเช่นสะพานกวางโจว (Gwanggyo Bridge) มรดกทางประวัติศาสตร์ในสมัยราชวงศ์โชซอนที่ถูกฝังอยู่ใต้พื้นถนน นอกจากนี้ ยังพบก้อนหินจากทำนบริมสองฝั่งคลองชองเกชอนบริเวณสะพานต่าง ๆ อีกด้วย

การค้นพบศิลปวัตถุต่าง ๆ จากการสำรวจทรัพยากรทางวัฒนธรรมในสมัยราชวงศ์โชซอน ต้นกำเนิดกรุงโซล ถือเป็นการฟื้นความภาคภูมิใจของคนเกาหลีใต้ที่มีต่อต้นกำเนิดของกรุงโซล เมืองแห่งวัฒนธรรมที่มีอายุยาวนานกว่า 600 ปี

ไม่เพียงแต่กรุงโซลเท่านั้น เมืองอื่น ๆ ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานเป็นของตัวเอง หรือมีความเป็นมาในการตั้งถิ่นฐานในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ก็สามารถใช้วิธี “การสำรวจทรัพยากรทางวัฒนธรรม” เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตัวเอง อันจะนำไปสู่ความร่วมมือและการสนับสนุนจากคนในท้องถิ่นนั้น ๆ

 

ความสำเร็จของโครงการ

บริเวณโดยรอบถนนและทางด่วนยกระดับชองเกถูกจัดว่า เป็นย่านที่แออัดและจอแจมากที่สุดในโซล ทรุดโทรมมากถึงขั้นต้องได้รับการฟื้นฟู ผู้คนในเมืองต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ในพื้นที่ดังกล่าว ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วนมากเท่าถนนและทางด่วนยกระดับ

ย่านใกล้เคียงที่อยู่บริเวณรอบ ๆ คลองชองเกชอนล้วนเป็นอาคารทรุดโทรมอายุการก่อสร้างประมาณ 40-50 ปี ผู้พักอาศัยต่างทยอยย้ายออกไปอยู่ที่อื่น เช่น เขตกังนัม ศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ของกรุงโซล ทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็นชุมชนแออัดและไม่ดึงดูดการลงทุนหรือผู้พักอาศัยกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามา

วัสดุก่อสร้างที่ใช้ในการฟื้นฟูคลองชองเกชอนส่วนใหญ่ได้มาจากซากของเสาคอนกรีตและทางด่วนที่รื้อถอนไป เศษเหล็กทั้งหมดและ 95% ของเศษคอนกรีตและยางมะตอยก็นำของเก่ากลับมาใช้ใหม่ทั้งสิ้น

การฟื้นฟูคลองชองเกชอนทำให้บริเวณนี้กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากการรับรู้ได้ถึงศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ มากมายหลายสาขา เช่น การเงินระหว่างประเทศ แฟชั่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ถือเป็นการสร้างสมดุลการพัฒนาของบริเวณตอนเหนือและตอนใต้ของโซลที่ถูกแบ่งโดยคลองชองเกชอน และเป็นปัจจัยที่ทำให้โซลกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญของศูนย์กลางการเงินและธุรกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

 โครงการฟื้นฟูคลองชองเกชอนเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2005 ความหลากหลายทางชีวภาพในบริเวณดังกล่าวเพิ่มสูงถึง 639%[2] ระหว่างช่วงก่อนการฟื้นฟูในปี ค.ศ. 2003 ถึงปี ค.ศ. 2008 ด้วยกับจำนวนของพืชที่เพิ่มจาก 62 ชนิด เป็น 308 ชนิด จำนวนชนิดของปลาที่เพิ่มจาก 4 ชนิด เป็น 25 ชนิด จำนวนของนกที่เพิ่มจาก 6 ชนิด เป็น 36 ชนิด หรือจำนวนแมลงที่เพิ่มจาก 15 ชนิด ไปเป็น 192 ชนิด เป็นต้น ผลจากการรื้อถอนทางด่วนออกไปแล้ว ทำให้อุณหภูมิบริเวณคลองชองเกชอนลดลง 3.3 ถึง 5.9 องศาเซลเซียส และเย็นกว่าถนนคู่ขนานที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ดึงดูดนักท่องเที่ยวเฉลี่ยวันละ 64,000 คน โดยที่ 1,408 คน เป็นชาวต่างชาติที่มีมูลค่าการใช้จ่ายในพื้นที่สูงถึง 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน[3]

 

แนวทางการดำเนินงาน

                                                 ภาพ แนวทางการดำเนินโครงการฟื้นฟูคลองชองเกชอน

                                                                     ที่มา ดารณี (2557) 

 โครงการฟื้นฟูคลองชองเกชอน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ มีระยะทาง 5.8 กิโลเมตร ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากงบประมาณของรัฐบาลกรุงโซล (Seoul Metropolitan Government) และพันธมิตรที่ทำเรื่องการฟื้นฟูเมืองอีกหลายส่วน[4] ทั้งฝ่ายราชการและฝ่ายการเมือง ดำเนินงานผ่านองค์กรหลัก ๆ ดังต่อไปนี้ คือ สถาบันพัฒนาโซล ศูนย์ฟื้นฟูคลองชองเกชอน และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการฟื้นฟูคลองชองเกชอน โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการวิจัยและการพัฒนา รวมไปถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน

รัฐบาลกรุงโซล (Seoul Metropolitan Government) ได้จัดตั้งองค์กรต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาโซลในกระบวนทัศน์การบริหารจัดการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

สถาบันพัฒนาโซล (Seoul Development Institute: SDI) เป็นสถาบันวิจัยอิสระและไม่แสวงหาผลกำไร ที่จัดตั้งและได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลกรุงโซล งานหลักของสถาบันพัฒนาโซล คือ การศึกษา การวิจัย และการสำรวจอย่างเป็นระบบ เกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการขยายตัวของความเป็นเมืองที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปสู่​​การพัฒนานโยบายและการบริหารงานในกรุงโซลโดยเฉพาะ

ศูนย์ฟื้นฟูคลองชองเกชอน (The Cheonggyecheon Restoration Centre) มุ่งเน้นการวิจัย การพัฒนาด้านการวางแผนและการปฏิบัติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาโซล

คณะกรรมการประชาชนเพื่อการฟื้นฟูคลองชองเกชอน (The Cheonggyecheon Restoration Citizens Committee) ประกอบไปด้วย นักวิชาการ และกลุ่มประชาชน ทำหน้าที่ประเมินความคิดเห็นของสาธารณะ โดยการจัดประชุมเพื่อให้ข้อมูลและสื่อสารเป้าหมายของโครงการออกไปสู่ประชาชน  เนื่องจากฉันทามติหรือความเห็นที่สอดคล้องต้องกันเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ที่มีผู้วางแผน ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่มีส่วนได้เสีย เป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีความขัดแย้งเกิดขึ้นตลอดโครงการ การปรึกษาหารือกับประชาชนจึงเป็นแนวทางหลักที่ถูกนำมาใช้ ซึ่งกว่าโครงการจะแล้วเสร็จได้จัดการประชุมหารือร่วมกันกว่า 4,200 ครั้ง[5]

 ยกตัวอย่าง กรณีของภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการจำนวนมากมองว่า การฟื้นฟูคลองชองเกชอนทำให้เกิดการชะงักงันทางเศรษฐกิจและถือเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา คณะกรรมการประชาชนฯ ได้ออกสำรวจตามตลาดและย่านธุรกิจ เพื่อสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการ และจัดประชุมเพื่อให้คำปรึกษากับกลุ่มคนเหล่านี้เป็นประจำ เครื่องมือต่าง ๆ ในการส่งเสริมย่านธุรกิจชองเกชอนถูกนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินอุดหนุนและเงินช่วยเหลือเพื่อการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ หรือเพิ่มมาตรการจูงใจแบบพิเศษกับผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มจะย้ายของจากพื้นที่ดังกล่าว

            ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ http://webarchive.nationalarchives.gov.uk/20110118095356/http:/www.cabe.org.uk/case-studies/cheonggyecheon-restoration-project

ที่มา: http://webarchive.nationalarchives.gov.uk/20110118095356/http:/www.cabe.org.uk/case-studies/cheonggyecheon-restoration-project

 

แนวทางในการแก้ไขปัญหาจราจร

โครงสร้างของถนนและทางด่วนยกระดับชองเกถูกสร้างในปลายทศวรรษที่ 50 และ 60 เมื่อพิจารณาถึงเทคโนโลยีและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างขณะนั้นก็ถือว่าเกินอายุการใช้งานตามที่ได้คาดหวังเอาไว้แล้ว และโครงสร้างก็เก่าและอันตรายเกินกว่าจะซ่อมแซม

จะเห็นได้จาก ในปี ค.ศ. 1997 เฉพาะรถยนต์ขนาดเล็กเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทางด่วนได้ รวมทั้งต้นทุนค่าบำรุงรักษาในช่วงปี ค.ศ. 1994-1999 ที่สูงถึง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ [6] ซึ่งทางแก้ของปัญหานี้มีอยู่ 2 ทาง คือ การซ่อมแซมหรือการรื้อทิ้ง

หากทางด่วนยกระดับยังคงอยู่จะต้องสูญเสียงบประมาณในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเป็นเงินประมาณ 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องใช้ระยะเวลาถึง 3 ปีในการซ่อมแซมโครงสร้างทั้งหมด[7]

ภายใต้แรงกดดันจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการคมนาคมที่ออกมาแสดงความกังวลต่อปัญหาการจราจรที่คับคั่งหากมีการรื้อทางยกระดับทิ้งไป เนื่องจากในแต่ละวันมีรถยนต์กว่า 170,000 คันที่ใช้ถนนเส้นนี้[8] เพื่อเป็นการลดความไม่สะดวกให้เหลือน้อยที่สุด และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ รัฐบาลกรุงโซลได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ มากมาย เช่น เพิ่มพื้นที่จอดรถ ลดค่าธรรมเนียมที่จอดรถ ปรับปรุงระบบการขนถ่ายสินค้า

เพื่อที่จะลดปัญหาความไม่สะดวกของประชาชนในระหว่างการฟื้นฟูคลองชองเกชอน ได้มีการนำเสนอวิธีการต่าง ๆ หลายวิธี เช่น การติดตั้งฉาก (Screen) เพื่อป้องกันความเสียหายต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระหว่างการก่อสร้าง ใช้พื้นที่สนามกีฬาทงแดมุน (Dongdaemun Stadium) เป็นพื้นที่จอดรถชั่วคราว จัดพื้นที่พิเศษสำหรับผู้ค้า เป็นต้น

มีการขยายพื้นที่ริมฝั่งคลองทั้งสองด้านให้กว้างขึ้นอย่างน้อย 13.5 เมตร เพื่อรองรับถนนวิ่งทางเดียว (one-way) สองช่องทาง ทางเท้า และเพิ่มพื้นที่ในการขนถ่ายสินค้าให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องด้วยความใส่ใจเรื่องจราจร เครื่องหมาย “เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด” ถูกจำกัดให้มีน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และ “จุดกลับรถ” (U-turn) ก็มีเพียง 3 จุด เพื่อป้องกันปัญหาการจราจรคับคั่ง มีการสร้างสะพานข้ามคลองเฉพาะคนเดินทั้งหมด 5 สะพาน และอีก 17 สะพานสำหรับรถจักรยานยนต์

 

บทบาทของ “ลีเมียงบัค” ในฐานะผู้นำของเมือง

      ภาพ ลีเมียงบัค

               à¸£à¸¹à¸›à¸ à¸²à¸žà¸—ี่เกี่ยวข้อง

        ที่มา: http://www.myhero.com/go/hero.asp?hero=Lee_Myung_Bak_PSU_07

เมื่อพูดถึงโครงการฟื้นฟูคลองชองเกชอน คงหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึง ลีเมียงบัค นายกเทศมนตรีโซลที่ริเริ่ม ผลักดัน และควบคุมการดำเนินงานมาตั้งแต่ต้นจนโครงการเสร็จสิ้นไม่ได้

ความสำเร็จของโครงการฟื้นฟูคลองชองเกชอนทำให้ลีเมียงบัคได้รับฉายาว่า “รถแทรกเตอร์” (Bulldozer) ซึ่งเป็นวิธีการดำเนินงานแบบถึงลูกถึงคนมาตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นนักการเมือง ด้วยรูปแบบการทำงานและความสามารถของเขา ส่งผลให้ลีเมียงบัคกลายมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญในการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ และชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2007 ด้วยคะแนนเสียง 48.7% ทิ้งห่างคู่แข่งที่ได้อันดับสองซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนที่ 26.1% ถือเป็นการชนะคะแนนที่ทิ้งห่างคู่แข่งมากที่สุดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ทุกครั้งที่ผ่านมา[9]

เมื่อย้อนกลับไปดูช่วงชีวิตในวัยเด็กจะพบว่า ลีเมียงบัคเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ต้องดิ้นรนเพื่อส่งตัวเองเรียน เริ่มชีวิตทำงานในฐานะนักธุรกิจ แต่เป็นพนักงานระดับล่างของบริษัทฮุนได ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้ ก่อนจะใช้ความสามารถไต่เต้าจนขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับ CEO ของประธานบริหารกลุ่มฮุนไดในด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภายในระยะเวลาเพียง 12 ปี

ลีเมียงบัคเริ่มเล่นการเมืองหลังจากที่ลาออกจากบริษัทฮุนไดในปี ค.ศ. 1992 โดยเริ่มจากการเมืองระดับชาติ แต่ในปี ค.ศ. 1998 เขาก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. หลังจากมีข่าวพัวพันเรื่องการใช้งบประมาณในการหาเสียงสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ก่อนจะกลับเข้าสู่สนามการเมืองอีกครั้ง แต่เป็นการเมืองในระดับท้องถิ่น คือ ชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีของกรุงโซลในปี ค.ศ. 2002 พร้อมกับดำเนินโครงการฟื้นฟูคลองชองเกชอน

กว่าโครงการฟื้นฟูคลองชองเกชอนจะประสบความสำเร็จอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ลีเมียงบัคต้องทำหนังสือขออนุญาตปรับปรุงคลองชองเกชอนไปยังรัฐสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนับพันครั้ง เพราะต้องรื้อทางด่วน ถนน สะพานและตึกอื่น ๆ ที่สร้างทับพื้นที่เดิม ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล

เมื่อโครงการฟื้นฟูคลองได้รับการอนุมัติ เขาก็ต้องทนต่อเสียงตำหนิและเสียงต่อต้านจากประชาชนว่า โครงการของเขาไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม เป็นเพียงการผลาญเงินงบประมาณเล่น ๆ ของรัฐบาลกรุงโซลเท่านั้น

 

ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของโครงการ

  1. ภูมิศาสตร์

 คลองชองเกชอนมีขนาดเล็กกว่าแม่น้ำแต่ใหญ่กว่าลำธาร ไหลจากแม่น้ำฮัน ซึ่งกว้างและยาวกว่า ผ่านใจกลางของกรุงโซล ความยาวของคลอง 6.3 กิโลเมตร แต่ในโครงการฟื้นฟูคลองครอบคลุมพื้นที่เพียง 5.8 กิโลเมตรเท่านั้น

  1. ความพร้อมทางเศรษฐกิจ

การรื้อถนนและทางด่วน (หรือการริเริ่มทำโครงการใด ๆ ก็ตาม ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง) อาจต้องใช้ความระมัดระวังในการตัดสินใจหรือการประเมินผลดี-ผลเสียเป็นพิเศษ หากทำในช่วงที่เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ยังไม่มีเสถียรภาพ แต่ขณะนี้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้อยู่ในระดับที่มีความมั่งคั่งเป็นอย่างมาก

ปี ค.ศ. 1998 GDP อยู่ที่ 6.9% ต่อมาในระหว่างปี ค.ศ. 1999-2000 GDP สูงถึง 9% และในปี ค.ศ. 2003 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งกรุงโซลและประเทศเกาหลีใต้คงที่อยู่ที่ 4-5%[10]

 ส่งผลให้นักวางแผนเมืองสามารถให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการปรับปรุงเมืองในท้องถิ่นได้มากขึ้น ทำให้เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและการสร้างสมดุลให้แก่ระบบนิเวศกลายมาเป็นประเด็นหลักที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ และสามารถผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จได้โดยไม่ยากเย็นนัก

  1. ความสามารถของผู้นำเมือง

 นายกเทศมนตรีลีเมียงบัคสามารถที่จะระดมเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ ทั้งจากฝ่ายการเมืองและทรัพยากรจากรัฐบาลกรุงโซลเอง นอกจากความสามารถในการระดมทุนแล้ว การให้ความสำคัญกับการวางแผนที่เป็นระบบพร้อมกับวางแนวทางในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก็เป็นความสำคัญลำดับต้น ๆ ของผู้นำ

เขาเริ่มดำเนินการปฏิรูปเมืองผ่านโครงการขนาดใหญ่ที่น่าทึ่งนี้โดยรื้อทางด่วนออก แทนที่ด้วยการสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่มีเส้นทางเดินรถเฉพาะ เพื่อป้องกันปัญหาการจราจรคับคั่งตามปริมาณความต้องการใช้บริการของประชาชน พร้อมกับการจำกัดปริมาณการใช้รถยนต์ลงครึ่งหนึ่ง โดยการให้แรงจูงใจเพื่อสร้าง “ความร่วมมือ” มากกว่าการใช้อำนาจ “บังคับ” เป็นกฎหมาย

  1. การสนับสนุนจากภาคเอกชนและภาคประชาชน

 แม้จะมีปัญหาได้รับการต่อต้านจากผู้เชี่ยวชาญ นักธุรกิจผู้ประกอบการ หรือประชาชนในพื้นที่ แต่หากพิจารณาในภาพรวมแล้วถือว่า โครงการฟื้นฟูคลองชองเกชอนได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างล้นหลาม

 จากการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยินดีปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องของวิถีชีวิตประจำวัน การค้าขาย และการจราจร

79.1% ของผู้พักอาศัยในโซลมีความพึงพอใจต่อโครงการดังกล่าว[11] สาเหตุเนื่องมาจากการจัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการแก่ประชาชนตลอดการดำเนินงาน

 แนวโน้ม (Trend) ในการบริหารจัดการเมืองสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นจากกรณีศึกษา คลองชองเกซอน ของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ การฟื้นฟูชีวิตชีวาของเมืองหลาย ๆ แห่งในเมืองไทย หรือแม้กระทั่งเมืองอื่น ๆ ในโลกก็ตาม คงหนีไม่พ้นประเด็นหลัก ๆ 3 ประเด็น คือ

 หนึ่ง การกลับไปหาของเก่าที่เป็นรากเหง้าของตนเอง โหยหาอดีตและสร้างภาพความเป็นมาของเมืองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในมิตินี้ ประวัติศาสตร์กับการสร้างเมืองจึงเป็นของคู่กัน

 สอง ให้ความสนใจกับความเป็นอยู่ที่ดีของคนในเมือง (Well being) ชูประเด็นเรื่องวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ไม่เร่งรีบ ไม่แข่งขัน เพื่อตอบโจทย์ความสุขของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้น ๆ รวมทั้งสร้างเป็นทรัพยากรทางการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว นักลงทุน รวมถึงคนในเมืองที่ออกไปทำงานหรือใช้ชีวิตที่อื่นให้ “กลับบ้าน”

 สาม สนใจประเด็นเรื่องเมืองสีเขียว (Green City) ยิ่งเมืองเติบโตมากขึ้น ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ หรือความสะดวกสบายในการสัญจรไปมา ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมยิ่งเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นตามลำดับ เพราะการพัฒนา (ทางวัตถุ) ยิ่งมากเท่าไร ความเสื่อมถอย (ทางสิ่งแวดล้อม) ย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น

กรณีศึกษา คลองชองเกชอน เกาหลีใต้ ไม่เพียงแต่เป็นตัวอย่างความสำเร็จของนโยบายขนาดใหญ่ที่ริเริ่มจากรัฐบาลท้องถิ่น ที่ต้องอาศัยความเก่งกาจของผู้นำเมือง และการตอบสนองนโยบายอย่างกระตือรือร้นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเท่านั้น กรณีศึกษานี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการบริหารจัดการเมือง (Urban Management) ในปัจจุบันอีกด้วย

 

[1] The World Bank. (2013). Planning, connecting and financing cities now. p 105.

[2] Andrew C. Revkin. (2009). Peeling Back Pavement to Expose Watery Havens [online], 15 May 2014. แหล่งที่มา http://www.nytimes.com/2009/07/17/world/asia/17daylight.html?_r=1

[3] Landscape Architecture Foundation. Cheonggyecheon Stream Restorstion Project [online], 13 May 2014. แหล่งที่มา http://www.lafoundation.org/research/landscape-performance-series/case-studies/case-study/382/

[4] RESTORE. (2013). River by Design [online], 22 May 2014. Retrieved: http://www.restorerivers.eu/Portals/27/Cheonggyecheon%20case%20study.pdf.

[5] Landscape Architecture Foundation. Cheonggyecheon Stream Restorstion Project [online], 13 May 2014. Retrieved: http://www.lafoundation.org/research/landscape-performance-series/case-studies/case-study/382/

[6] Dr In-Keun LEE. (2006). Cheong Gye Cheon Restoration Project - a revolution in Seoul -. P 19.

[7] Landscape Architecture Foundation. Cheonggyecheon Stream Restorstion Project [online], 13 May 2014. Retrieved: http://www.lafoundation.org/research/landscape-performance-series/case-studies/case-study/382/

[8] Dr In-Keun LEE. (2006). Cheong Gye Cheon Restoration Project - a revolution in Seoul -. [online], 13 May 2014. Retrieved: http://www.dsi.gov.tr/docs/sempozyumlar/a%C3%A7%C4%B1l%C4%B1%C5%9F-seul-sular-idaresi-necati-a%C4%9F%C4%B1ralio%C4%9Flu.pdf?sfvrsn=2

[9] The New York Times. Conservative Wins Vote in South Korea [online], 15 May 2557. Retrieved: http://www.nytimes.com/2007/12/20/world/asia/20korea.html?pagewanted=all&_r=0

[10] Forbs. (2013). South Korea [online], 1 June 2014. Retrieved: http://www.forbes.com/places/south-korea/.

[11] Katherine Lonsdorf. (2011). From Freeways to Waterways: What Los Angeles Can Learn From Seoul [online], 29 May 2014. Retrieved: http://www.kcet.org/socal/departures/columns/la-river/from-freeways-to-waterways-what-los-angeles-can-learn-from-seoul.html

 

• AUTHOR

 


ดารณี เสือเย๊ะ

รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

Related Posts