
มอนทรีออล : เมืองแห่งภาษา
อุกฤษฏ์ เฉลิมแสน
“กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ” หนึ่งในคำร้องของเพลงกราวกีฬา เพลงเชียร์กีฬาของคนไทย ที่ทุกคนล้วนต้องเคยร้องและเคยฟังมาไม่น้อยกว่าหนึ่งหน กีฬานั้นเป็นยาบำรุงให้ร่างกายแข็งแรง อีกทั้งเป็นยาสำหรับบำรุงใจให้ผู้เล่นและกองเชียร์ เรียนรู้แพ้ รู้ชนะ และรู้อภัย แต่จะมีใครรู้บ้างว่ากีฬาเป็นยารักษาโรคความขัดแย้งในสังคมได้ ดังกรณีเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา
ภาษาไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการสื่อสารด้วยถ้อยคำของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ภาษายังเป็นส่วนสำคัญในการแสดงถึงอัตลักษณ์ ที่แบ่งแยกความเป็น "เรา" หรือ "เขา" และบ่งบอกถึงความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของคนกลุ่มนั้นได้อีกด้วย ดังนั้นหากวันใดวันหนึ่งมีนโยบายของรัฐห้ามใช้ภาษาแม่ (mother tongue) และให้เปลี่ยนมาใช้ภาษาอื่นสื่อสารแทน ผลจะเป็นอย่างไร ? คำถามนี้ได้ถูกตอบไว้ในหนังสือ The Spirit of Cities: Why the Identity of a City Matters in a Global Age ในตอน "มอนทรีออล : เมืองแห่งภาษา" เมื่อพรมแดนของภาษาได้เปลี่ยนเป็นพรมแดนของการสู้รบระหว่างกลุ่มชน
Daniel A. Bell (ผู้เขียน) ได้พาผู้อ่านทำความเข้าใจพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของชาวเมืองมอนทรีออลในประเด็นเรื่องภาษา จากนั้นได้บอกเล่าถึงการคลี่คลายจนทำให้ชาวเมืองเกิดความภาคภูมิใจที่สามารถใช้สองภาษาได้ในที่สุด ผู้เขียนเห็นว่าตัวแบบเมืองมอนทรีออลน่าจะเป็นตัวแบบสำคัญให้แก่เมืองอื่นๆได้ศึกษาและเรียนรู้ถึงคุณค่าในการใช้ภาษามากกว่าหนึ่งภาษา ยิ่งไปกว่านั้นคือการอยู่ร่วมกับกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันได้
มอนทรีออลเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเขตการปกครองของรัฐควิเบก โดยชาวเมืองมอลทรีออลใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการ (ร้อยละ 57) ซึ่งในประเทศแคนาดามีเพียงรัฐควิเบกที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการ (ร้อยละ 83) อีกทั้งมอนทรีออลยังเป็นเมืองใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลกที่มีประชากรพูดภาษาฝรั่งเศสมากที่สุดรองจากปารีส หากกล่าวถึงเมืองมอนทรีออล ภาพความเป็นเมืองมีเสน่ห์ “เมืองน่าเที่ยว” “เมืองน่าอยู่” หรือกล่าวได้ว่าเป็นเมืองสุขภาวะที่ติดอันดับต้นๆของโลกก็ปรากฏตัวขึ้น แต่ใครเล่าจะทราบว่า เมืองมอนทรีออลเคยเป็นเมืองแห่งความขัดแย้งทางด้านภาษาของกลุ่มชนระหว่างกลุ่มผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส (Francophone) ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในเมือง กับกลุ่มผู้ปกครองที่พูดภาษาอังกฤษ (Anglophone) ที่เป็นคนส่วนน้อย แต่มีอำนาจสูงทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ในศตวรรษที่ 18 ยุคที่อังกฤษปกครองเมืองมอนทรีออล การพูดภาษาฝรั่งเศสต้องทำอย่างหลบๆซ่อนๆ ดังที่มีคำกล่าวว่า “ชาวแคนาเดี้ยนล้วนแต่ไม่มีการศึกษาและไร้ซึ่งประวัติศาสตร์” จึงต้องปฏิบัติตนเยี่ยงชาวอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสก็เติบโตขึ้นอย่างมากหลังทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการขยายตัวของคนชั้นกลางที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส คนกลุ่มนี้เรียกร้องเพื่อกอบกู้ตำแหน่งแห่งที่ให้กับ “ความเป็นฝรั่งเศส”เพื่อกลับสู่เมืองมอนทรีออล จำนวนประชากรที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสที่มากอยู่แล้ว เมื่อมีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้นกว่าเดิม อำนาจการต่อรองก็เพิ่มสูงมากขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันความหวาดหวั่นของรัฐบาลควิเบกถึงการสูญสลายของภาษาฝรั่งเศส ก็ส่งผลให้มีแนวนโยบายฟื้นฟูวัฒนธรรมฝรั่งเศสให้แก่ชาวเมือง
ในตอนท้ายผู้เขียนกล่าวถึงศูนย์รวมใจของชาวเมืองมอนทรีออลที่ทำให้ข้ามพ้นปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มผู้ใช้ภาษาสองกลุ่ม ที่ไม่ใช่ด้วยกำลังทหารหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ใดๆ แต่ด้วยกีฬาฮอกกี้ ที่มีชื่อทีมว่า “มอนทรีออล แคนาเดี้ยนส์” (Montreal Canadiens) ทีมฮอกกี้ทีมนี้คว้าแชมป์มากที่สุด 24 สมัย นับตั้งแต่มีการแข่งขันมา ชัยชนะที่ได้มาเกิดจากผู้เล่นทั้งกลุ่มผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส (Francophone) และกลุ่มผู้ใช้ภาษาอังกฤษ (Anglophone) ส่วนกองเชียร์ก็โบกสะบัดธงเพื่อร่วมเชียร์ทีมรัก ไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นธงของรัฐควิเบก (สนับสนุนฝรั่งเศส) หรือ ธงของสมาพันธรัฐแคนาดา (สนับสนุนอังกฤษ)
เส้นทางสายชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบฉันใด เส้นทางสายการปรองดองและสมานฉันท์ของคนในสังคมก็เต็มไปด้วยอุปสรรคและขวากหนามฉันนั้น ตัวอย่างของเมืองมอนทรีออลแสดงให้เห็นถึงบทเรียนการแบ่ง “เขา” กับ “เรา” ที่เข้มข้นจนยากจะหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันได้ แต่ในท้ายที่สุดเมืองมอนทรีออลก็สามารถผนวกรวมชาวเมืองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยไม่ได้ใช้หลักกลืนกลาย (assimilate) “พวกเขา” ให้เป็น “พวกเรา” จนหมดเค้าลางเดิมและทำลายความแตกต่างไปเสียสิ้น ปัจจุบันชาวเมืองมอนทรีออลภูมิใจในการมีสองภาษาหลัก ภูมิใจในทีมฮอกกี้ที่ชาติกำเนิดใดชาติกำเนิดหนึ่งไม่ได้มีผลต่อการคว้าแชมป์ แต่เกิดจากพลังของความหลากหลายของชาติกำเนิด อาจกล่าวได้ว่าจิตวิญญาณของเมืองมอนทรีออล “เมืองแห่งภาษา” สามารถก้าวพ้นกับดักความขัดแย้งด้วยแนวคิดที่ว่า ป่าจะสวยไม่ได้มีเพียงดอกไม้พันธุ์เดียว แต่ป่าจะสวยก็ด้วยดอกไม้นานาชนิดที่พร้อมจะอวดโอ่ให้ผู้ชมรับรู้ถึงความงามของความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง