Cities Reviews

เมืองโตรอนโต (Toronto) กับการทำเกษตรกรรมในเมือง

ปัจจุบันวิถีชีวิตคนในเมืองใหญ่ มักจะห่างเหินจากการมีสุขภาพที่ดี เพราะอาหารการกินที่เน้นความเร็วอย่างอาหารกล่องถูกจัดจำหน่ายขายดีมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งผักและผลไม้ที่ล้วนใช้แต่สารเคมีในการเร่งผลผลิต ในการรองรับการบริโภคของคนในปัจจุบันให้เพียงพอ และยิ่งในอนาคตที่ประชากรของโลกจะสูงขึ้นมากเรื่อยๆ สวนทางกับทรัพยากรทางอาหารที่จะน้อยลงเรื่อยๆ แน่นอนว่าจะส่งผลต่อความเพียงพอ ความปลอดภัย ของอาหารที่จะน้อยลงตามกัน

แนวคิดเกษตรกรรมในเมือง (Urban Agriculture) จึงเป็นแนวคิดใหม่ที่เมืองใหญ่หลายประเทศในโลกใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการเมือง เพราะแนวคิดนี้ได้เน้นให้คนในเมืองหันมาใช้พื้นที่ว่างทั้งในบ้านของตนเอง ที่แม้จะมีบริเวณเล็ก ได้สามารถทำเกษตรกรรม รวมไปถึงการใช้พื้นที่ว่างในเมืองที่อยากให้คนในชุมชนเมืองหันมาทำเกษตรกรรม ปลูกพืชผัก ได้บริโภคร่วมกัน ในบทความนี้จะขอพาผู้อ่านไปรู้จักกับตัวอย่างเมืองในหนังสือ food and the city ของผู้เขียน Jennifer Cockrall-King ที่มีประวัติศาสตร์ดั้งเดิมการทำเกษตรกรรมอย่างยาวนาน จนกระทั่งปัจจุบันคนในเมืองก็ยังรับเอาวัฒนธรรมการทำเกษตรกรรม ปฏิบัติเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของคนในเมือง นั่นก็คือ เมือง "Toronto" เมืองใหญ่ของประเทศ Canada

Toronto เมืองใหญ่ที่มีประชากรมากมาย มีชื่อเล่นของเมืองที่เป็นที่รู้จัก 2 ชื่อ คือ Hogtown เป็นชื่อที่มาจากอดีตของเมืองที่เป็นศูนย์กลางในการบรรจุเนื้อสัตว์ของ Canada และอีก 1 ชื่อ คือ Cabbage town ที่มีต้นกำเนิดจากปลายยุค 1840 ที่ชาวไอริชได้อพยพเข้าสู่เมือง Toronto ซึ่งเป็นชนชั้นแรงงานในยุคข้าวยากหมากแพง จึงต้องประทังชีวิตด้วยการปลูกกะหล่ำปลีที่หน้าบ้านของพวกเขา ซึ่งจากชื่อเล่นของเมือง แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันที่มีมาช้านานในเรื่องของเกษตรกรรม

Toronto เป็นหนึ่งเมืองใหญ่ที่ประสบปัญหาด้านอาหารที่เรียกว่า food desert ซึ่งเกี่ยวกับการที่คนในเมืองประสบปัญหาการเข้าถึงอาหาร ซึ่งอาจจะมาจากระยะห่างจากร้านขายของชำในเมือง Darcy Higgin ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับร้านขายของชำในพื้นที่ที่คนอาศัยอยู่ใน Toronto พบว่ามีเพียง 51% ของผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองที่อยู่ใกล้กับร้านขายของในระยะทาง 1 กิโลเมตร และมีผู้อาศัยกว่า 49% ที่อยู่ห่างจากร้านขายของชำมากกว่า 5 กิโลเมตร แต่ปัญหาเหล่านี้ถูกแก้ไขได้ไม่ยากเย็นจากแนวคิดการทำเกษตรกรรมในเมืองของคนใน Toronto ที่หันมาสนใจปลูกผักและผลไม้ในพื้นที่สวนหลังบ้าน และสร้างเป็นกิจกรรมของชุมชนในการร่วมมือกันทำเกษตรกรรมในพื้นที่ว่างของชุมชน เพื่อผลิตอาหารที่สดใหม่ ปลอดภัยจากสารเคมี และสร้างความสะดวกสบายในการบริโภค ประหยัดมากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียค่าขนส่งจากที่อื่น อีกทั้งช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยในเมืองให้สามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดสารพิษ ที่ส่วนใหญ่มักหายากและมีราคาแพง

สิ่งที่น่าสนใจในการทำเกษตรกรรมในเมือง Toronto คือ การมีกลไกขับเคลื่อนให้ความสำคัญสนับสนุนการมีสุขภาพที่ดีของคนในเมือง อย่างองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) ด้านเกษตรกรรมซึ่งมีอยู่มากมายใน Toronto มีการสร้างเครือข่ายเปิดพื้นที่ส่งเสริมให้คนในเมืองทำเกษตรกรรมครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรกรรม สอนทำอาหารโดยใช้วัตถุดิบที่มีประโยชน์ จัดจำหน่ายผักและผลไม้ที่ปลอดสารพิษให้กับคนในเมืองด้วยราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป

 “หากพูดถึงองค์กรที่สนับสนุนด้านการมีสุขภาพที่ดีของ Toronto ต้องพูดถึง “Foodshare” ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1985 มีวัตถุประสงค์แก้ปัญหาการเข้าถึงอาหารที่ดีของคนในเมือง ปรับอาหารและคนในเมืองให้มีความสมดุลซึ่งกันและกัน Foodshare มีผลผลิตผักและผลไม้ที่ปลอดภัย ราคาย่อมเยาว์ ให้ผู้คนในเมืองสามารถสั่งตรงจากเว็บไซต์ พร้อมบริการส่งให้ถึงบ้าน โดยผู้คนในเมืองไม่ต้องเสียเวลาหาซื้อวัตถุดิบในการทำอาหาร อีกทั้งยังเป็นองค์กรที่สร้างกิจกรรมมากมายเกี่ยวกับอาหารร่วมกับชุมชน เช่น การชักจูงให้คนในเมืองเปิดพื้นที่ร่วมกันทำอาหารในชุมชนของเขา หรือการสร้าง “Good food market” ตลาดอาหารสำหรับคนมีรายได้น้อยให้สามารถเข้ามาจับจ่ายอาหารที่ดีได้

และที่สำคัญ Foodshare ให้ความสนใจและมีกิจกรรมร่วมกับเยาวชนในเมือง ให้หันมาสนใจเกษตรกรรมและอาหาร สร้างแรงบันดาลใจเยาวชนรู้จักการทำเกษตรกรรม มีการจัดกิจกรรมที่เรียกว่า Eat-In Ontario Festival เป็นกิจกรรมสนุกสนานเฉลิมฉลองประจำปีตามโรงเรียนต่างๆ ในเมือง โดยในงานจะมีกิจกรรมให้ความรู้ด้านอาหารแก่เด็กนักเรียน และสอนให้เยาวชนทำอาหารร่วมกัน โดยการใช้วัตถุดิบที่สด สะอาดในการทำอาหาร ซึ่งกิจกรรมเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมและอาหารเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแค่ Foodshare แต่ใน Toronto มีองค์กรลักษณะเดียวกันกับ Foodshare มากมาย ที่เป็นกลไกสนับสนุนชุมชนด้านการทำเกษตรกรรมในเมือง

Not far from the tree เป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจใน Toronto ที่มีวัตถุประสงค์สร้างแรงบันดาลใจสร้างอาสาสมัครในการปลูกผลไม้ในเมือง แก้ปัญหาผู้หิวโหยในเมือง อีกทั้งให้คนในเมืองได้มีผลไม้ที่สด สะอาด มีประโยชน์ได้บริโภค โดยในปี 2010 โครงการ Not far from the tree สามารถสร้างอาสาสมัครกว่า 700 คน ที่สามารถปลูกผลไม้ได้ผลผลิตกว่า 19,695 ปอนด์

แม้เป็นเมืองใหญ่ แต่ Toronto ไม่ได้ละทิ้งให้คนในเมืองมีวิถีชีวิตแบบใดก็ได้ การทำเกษตรกรรมในเมือง โดยมีกลไกที่สนับสนุนการทำเกษตรกรรมในเมืองมากมาย ช่วยให้ Toronto เป็นเมืองที่มีความมั่นคงทางอาหารที่ดีเมืองหนึ่งของโลก สามารถมีอาหารที่สด สะอาดบริโภคตลอดทั้งปี ช่วยสำรองอาหารในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน สร้างรายได้ เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้คนที่มีรายได้น้อย ที่สำคัญสามารถสร้างเครือข่ายทางสังคม ให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ผ่านการทำเกษตรกรรมในชุมชน สร้างความเชื่อใจ และสามารถพึงพาอาศัยกันได้ ท่ามกลางวิถีชีวิตคนเมืองที่มักมีความห่างเหินกัน

จากกรณี Toronto หันกลับมามองยังประเทศไทย จริงๆ แล้วเมืองของเราไม่ได้มีปัญหาการเข้าถึงอาหารแบบเมืองของต่างชาติ เพราะเราเป็นเมืองเกษตรกรรม มีตลาด ร้านค้ามากมาย แต่ที่น่าสนใจคือ เรายังพึ่งพาวัตถุดิบอาหารจากนอกเมือง ที่มักใช้สารเคมีเร่งผลผลิต เป็นวัตถุดิบที่จะสร้างอันตรายให้ร่างกาย การทำเกษตรในเมืองเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจของเมืองในไทย แต่ปัจจุบันมีเพียง โครงการสวนผักคนเมือง ที่สนใจผลักดันการทำเกษตรในเมืองอย่างจริงจัง โดยมีศูนย์อบรมการทำเกษตรกรรมอยู่หลายแห่ง เปิดพื้นที่สนับสนุนให้คนทำเกษตรกรรมในชุมชน ในพื้นที่นำร่องอย่างหลักสี่ แต่ทั้งนี้การทำเกษตรกรรมในเมืองยังคงเป็นส่วนน้อยในเมืองใหญ่ แม้ว่าอาจจะมีหลายบ้านที่มีบริเวณปลูกผักสวนครัว แต่ในภาพรวมของเมืองใหญ่ เรายังไม่ได้ส่งเสริมด้านนี้เท่าที่ควร ซึ่งความเป็นเมืองกระแสทุนนิยมได้เปลี่ยนวิถีชีวิตคนในเมืองให้อยู่ห่างจากการทำเกษตรกรรม แต่จริงๆ แล้วเกษตรกรรมเป็นวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน และหากรัฐส่งเสริมมากขึ้น รวมทั้งมีองค์กรที่ก้าวเข้ามาสนับสนุน เปิดพื้นที่อย่างจริงจัง เชื่อได้ว่า อย่างน้อยสุขภาพของคนในเมืองจะดีขึ้น แม้อยู่ท่ามกลางกระแสทุนนิยมในเมืองใหญ่ ที่พยายามผลักผู้คนให้พึ่งอาหารกล่องใน Supermarket ก็ตาม

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

Related Posts