Cities Reviews

จีนเมืองแห่งการเรียนรู้ : สถาบันชุมชน Shequ

 

ณัฐธิดา  เย็นบำรุง

 

เป็นที่ยอมรับกันว่าประเทศจีนเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลก (Learning City) โดยการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของประเทศจีนได้เริ่มจากการปรับตัวสมัยอดีตของเมืองเซี่ยงไฮ้ ที่ปัจจุบันกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจระดับโลก ตามด้วยกรุงปักกิ่ง และขณะนี้จีนกำลังขยายการเป็นเมืองการเรียนรู้ให้มากขึ้น โดย 60 เมืองในจีนมีเป้าหมายในการสร้างเมืองของตนเองให้เข้าสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

ในประเทศจีน นโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลจีน ที่ใช้ในการจัดการและตอบสนองความเปลี่ยนแปลง ความผันผวนของทุกเรื่องในประเทศ โดยการคิดค้นวิธีการใหม่ๆ ในการช่วยให้ประชากรในประเทศสามารถปรับตัวและนำพาประเทศให้พัฒนายิ่งขึ้นได้ ซึ่งล่าสุดประเทศจีนกำลังคิดวิธีและปรับการปกครองระดับท้องถิ่น ที่เรียกว่า “Shequ” ซึ่งในภาษาจีนแปลว่า สังคมหรือชุมชน เป็นการสร้างสถาบันชุมชนของประเทศจีน ที่มีหลักคิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารงานมากยิ่งขึ้น

หากต้องการความเข้าใจและเห็นที่มาของการปรับตัวดังกล่าว ต้องมองย้อนกลับไปถึงประวัติศาสตร์ของประเทศจีน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 เมื่อประเทศจีนต้องเปิดเมืองท่ารับการลงทุนจากตะวันตก ทำให้ทุนต่างๆ ไหลเข้ามาจำนวนมาก ช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองชายฝั่งทะเลเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคม สร้างความแตกต่างและเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ชายฝั่งทะเล และพื้นที่ที่ไม่ติดกับชายฝั่งทะเล พื้นที่เมืองและชนบท แต่ผลกระทบเช่นนี้เกิดขึ้นเกิดขึ้นได้เสมอในเมืองใหญ่จากการบริหารงานแบบบนลงล่าง (Top-down socialist)

ต่อมาการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่ทำให้จีนเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม เป็นเครื่องมือสำคัญในการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Mobility) ทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของจีนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจึงเกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของการศึกษาขั้นพื้นฐาน และได้ขยายความต้องการของผู้คนให้เข้าถึงการศึกษาที่สูงมากขึ้น ทำให้หนังสือรับรองการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญมากในเข้าถึงการมีงานที่ดี ด้วยเหตุนี้ทำให้แต่ละโรงเรียนเริ่มปรับตัวเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันในการตลาดแรงงาน และส่งผลให้วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติสูงเกินกว่าความต้องการของตลาดแรงงาน (Overqualified)

จากข้างต้น ทำให้ประเทศจีนกำลังประสบปัญหาใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในด้านการศึกษา และเกิดการหลั่งไหลของประชากรเข้ามาในเมืองมากมาย ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดขยายตัวของประชากรแล้ว ความแตกต่างของประชากรทำให้ไม่สามารถรวมคนให้กลมกลืนเป็นวัฒนธรรมเดียวกันได้ ดังนั้นประเทศจีนจึงต้องหาวิธีหรือนวัตกรรมใหม่ในการจัดการสิ่งเหล่านี้ และสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างสังคมและเศรษฐกิจด้วย

 

สถาบันชุมชน Shequ

 

รัฐบาลจีนได้ดำเนินนโยบาย 2 นโยบาย เพื่อตอบสนองปัญหาสังคมที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ คือ 1. นโยบายชวนเชื่อ (Propagenda Policy) นโยบายการสร้างความศรัทธา และ 2. นโยบาย “การบริหารชุมชนแบบใหม่” (shequ) ขึ้น แนวคิด Shequ เป็นอีกหนึ่งการปรับตัวของนโยบาย “การบริหารชุมชนแบบใหม่” ของประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2000 Shequ เป็นสถาบันชุมชนขนาดกลางที่ทำหน้าที่ในการให้บริการประชาชนในพื้นที่นั้น มีอิสระในการบริหารด้วยตนเองมากขึ้น พร้อมสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนมากยิ่งขึ้น รูปแบบของ Shequ ได้ทำหน้าที่แทนระบบในการจัดการชุมชนก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นระบบที่การบริหารทั้งหมดจะขึ้นตรงเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นเท่านั้น

สถาบันชุมชน Shequ มีความน่าสนใจอยู่ 2 ประการ ประการแรก Shequ เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการชุมชนของรัฐบาลจีนที่เพิ่มการบูรณาการทางสังคม คือ การระดมคนที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชน มีความต้องการพัฒนาชุมชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงาน ประการที่สอง Shequ ทำให้ประชาชนมีโอกาสที่เข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพของคนในชุมชน ช่วยให้คนรู้สึกมีคุณค่า มีแรงจูงใจในการปรับปรุงคุณภาพชีวิต และทำให้คนมีรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชน

ภายใต้แนวคิดของ Shequ รัฐบาลท้องถิ่นจะเปลี่ยนแปลงสถานะและบทบาทจากการควบคุมดูแลจัดการทุกอย่าง ให้มีบทบาทของ “การบริการ” (Service unit) ที่ให้ความสำคัญกับการดำรงชีพของประชาชน และจะทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็น (Voice) และความต้องการ (desires) ของประชาชนมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดในการวัดความสำเร็จของการบริหารและการจัดการในเมือง คือ ระดับความพึงพอใจของประชาชน ดังนั้นการบริหารงานจึงต้องขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของประชาชน ดังนั้นรัฐบาลจะสนใจความคิดเห็นของประชาชนมากยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นถึง "ย้อนกลับ" (reversed) ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นและประชาชนที่จะมีบทบาทมากขึ้น ความสัมพันธ์ที่ตรงกันข้ามเช่นนี้จะช่วยให้ชุมชนเกิดความเป็นอิสระ (autonomy) มากขึ้น จากที่เคยอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลมาตลอด ซึ่งทำให้แนวคิด Shequ มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง สามารถระดมการมีส่วนร่วมของประชาชน ช่วยเสริมสร้างให้ชุมชนได้บริหารงานแบบอิสระ แม้ว่าชุมชนจะมีฐานะที่ค่อนข้างด้อยที่สุดในโครงสร้างการบริหารงานของการบริหารงานของท้องถิ่น หรือเมืองก็ตาม

 

ท้องถิ่นควรกำกับทิศทางด้วยตนเอง

 

จากคำอธิบายของสถาบันชุมชน shequ แสดงให้เห็นว่าชุมชนในประเทศจีนได้เริ่มที่จะปรับทิศทางของท้องถิ่นด้วยตัวเอง เมื่อเกิดการตัดสินใจจากสถาบันชุมชน ซึ่งเป็นสถาบันระดับฐานที่สุดของประเทศจะช่วยให้รับมือความกับความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ อันที่จริงประเทศจีนที่มีขนาดใหญ่มาก วิธีการแก้ไขและปรับตัวกับปัญหาต่างๆ ย่อมไม่สามารถทำวิธีเดียวกันได้ ซึ่งการบริหารงานด้วยวิธีแบบสถาบันชุมชน shequ จะช่วยเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงของการเป็นชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้

เมื่อชุมชนเป็นชุมชนที่พึ่งตนเองได้ จะช่วยมีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยระดมเงินจากบริษัทท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งทางหน่วยงานท้องถิ่นสนับสนุนเรื่องนี้มาก เพราะช่วยให้ลดภาระหน้าที่ของตนเอง อีกทั้งกลุ่ม NGOs และกลุ่ม NPOs จะมีส่วนร่วมในการบริหารงานชุมชนมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะยังคงเป็นผู้นำหลักของชุมชน แต่บทบาทจะค่อยๆ เปลี่ยนให้ประชาชน กลุ่ม NPOs และกลุ่ม NGOs ได้เข้ามีบทบาทพร้อมส่งเสริมให้ชุมชนมีอิสระมากยิ่งขึ้น

สถาบันชุมชน shequ มีลักษณะขององค์กรที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งจะช่วยให้ดึงผู้คนที่ว่างงาน รวมทั้งกลุ่มคนที่เกษียณอายุที่ต้องการพักผ่อน เพราะในกิจกรรมนี้ ผู้คนจะสามารถแบ่งปันความคิดด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์ใหม่ของชุมชน ด้วยแนวคิดของการสร้างสถาบันชุมชน shequ จะเป็น รูปแบบตัวอย่างที่ดี (Good Model) ของการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการปรับตัวอย่างรวดเร็วของประเทศจีนสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้เช่นนี้ จะเป็นเครื่องสำคัญในการบริหารเมืองและช่วยให้สร้างความมั่นคงทางสังคมด้วย

 

ย้อนมองประเทศไทย

 

สำหรับประเทศไทย แนวคิดที่คล้าย shequ หรือลักษณะของการบริหารงานตั้งแต่ชุมชน ซึ่งการทำงานแบบล่างขึ้นบน (Bottom up) เช่นนี้ มีมานานมากแล้ว มีองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของคนในชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ได้มีโอกาสเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น สวัสดิการชุมชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจ การฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น และวิสาหกิจชุมชน อีกทั้งรัฐบาลที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับชุมชนมากขึ้น มีนโยบายสนับสนุนมากมาย เช่น กองทุนหมู่บ้าน โครงการ SML เป็นต้น

การที่ประเทศไทยสนับสนุนให้เกิดการทำงานระดับชุมชนนั้น ไม่ได้หมายความว่า เราจะมีความล้ำหน้ากว่าประเทศจีน เพราะทั้งสองประเทศมีปัจจัยที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง ทั้งในระบบการปกครอง ประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตย แตกต่างจากประเทศจีน ซึ่งปกครองแบบระบบคอมมิวนิสต์ รวมทั้งขนาดพื้นที่ที่แตกต่างกันมากด้วย เมื่อประเทศจีน การมีนโยบายกระจายอำนาจให้ชุมชนมีบทบาทในการพัฒนาเช่นนี้ ย่อมเป็นเรื่องใหม่ และเป็นเรื่องท้าทายสำหรับประเทศจีนอย่างยิ่ง

แต่ทั้งนี้การทำงานสนับสนุนการทำงานระดับชุมชนของประเทศไทยนั้น ยังไม่มีแผนที่ชัดเจน นโยบายสนับสนุนที่ผ่านมา เป็นในลักษณะของประชานิยม คือโอบอุ้มชุมชนเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้จะเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ดำเนินการ แต่ขาดการให้ความรู้และติดตามประเมินผล อีกทั้งยังมีปัญหาการกระจายอำนาจจากรัฐบาลสู่รัฐบาลท้องถิ่น ยังไม่สามารถทำได้มากเท่าที่ควร ยังคงเป็นกำหนดจากส่วนกลางอยู่จำนวนมาก เช่นนี้ประเทศไทยอาจจะต้องมีการทบทวนการกระจายอำนาจใหม่ เพื่อให้เกิดการทำงานทุกระดับอย่างมีทิศทางมากกว่านี้ ต้องให้ความสำคัญในการปรับตัวการบริหารท้องถิ่นและชุมชนแบบใหม่ เพราะวิธีเดิมที่ใช้นั้นไม่สามารถประสบความสำเร็จและยังคงมีปัญหาอยู่มาก ซึ่งคล้ายกับประเทศจีนที่ปรับตัวเองให้ก้าวสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ที่ต้องปรับนโยบายการบริหารงาน เพื่อสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง และสร้างพื้นฐานให้แข็งแรง ซึ่งการปรับตัวเช่นนี้ จะทำให้ “เมือง” นั้นก้าวเข้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้

 

 

อ้างอิง


Han, SoongHee; Makino, Atsushi (2013). Learning cities in East Asia: Japan, the Republic of Korea and China. International Review of Education. 59(4), 443-468. 
Carlsen, A., & Yang, J. (2013). Lifelong learning for all in China: Progress, lessons learned and the way forward. Unpublished paper.Hamburg: UNESCO Institute for Lifelong Learning. 
 
 

สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
http://pie.pascalobservatory.org/pascalnow/pascal-activities/news/china-writes-new-chapter-history-learning-cities-asem-policy-brief

 

 

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

 

Related Posts