Cities Reviews

อูเจิ้น (乌镇) เมืองเรา ไม่เก่าเลย

 

จุฑามาศ  พูลสวัสดิ์

 

 

หลายคนอาจทราบดีว่าจีนนั้นได้ถูกขนานนามว่าเป็นแผ่นดินที่มีอารยธรรมยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จึงไม่แปลกหากทุกวันนี้ทั่วทั้งประเทศจะมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่มากมาย และเมืองโบราณอูเจิ้นอาจเป็นหนึ่งในนั้น แต่อะไรที่ทำให้เมืองโบราณแห่งนี้ยังคงเป็นแหล่งอารยธรรมดั้งเดิมที่ยังมีชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็สามารถก้าวทันการพัฒนาที่ทันสมัยได้ในเวลาเดียวกัน


อูเจิ้น เมืองศูนย์กลาง สมัยราชวงศ์หมิง - ชิง

อูเจิ้น (乌镇) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองถงเซียงในมณฑลเจ้อเจียง มีจุดเด่นคือการเป็นเมืองที่ถูกล้อมรอบไปด้วยสายน้ำ ทั่วทั้งเมืองเต็มไปด้วยบ้านและอาคารโบราณซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมเจียงหนานมีอายุกว่า 1,300 ปี เรียงรายอยู่ริมคลอง "ต้ายุ่นเหอ" (大运河) คลองขุดที่ยาวที่สุดของโลก ทั้งยังเป็นศูนย์รวมอารยธรรมและวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองในอดีต เมืองแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการประจำมณฑลใหญ่อย่างเจ้อเจียงและเจียงซูในยุคราชวงศ์หมิงจนถึงชิง นอกจากนี้ การมีทำเลที่ตั้งอันอุดมสมบูรณ์ยังทำให้อูเจิ้นกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของจีนและเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่มีชื่อเสียง จึงไม่แปลกที่ความสวยงาม ของทัศนียภาพและกลิ่นอายแห่งอดีตจะทำให้หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก จนได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 10 เมืองที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สุดของจีน และยังเป็นสถานที่ที่มีทิวทัศน์ที่งดงามระดับ 5A หรือระดับสูงสุด
 
 
ฟื้นฟูอูเจิ้น ด้วยมาตรการที่ชัดเจน

หากย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีก่อน เมืองโบราณอูเจิ้นซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ยุคต้นราชวงศ์หมิงเคยตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม คลองบริเวณรอบเมืองเต็มไปด้วยสิ่งสกปรก ทั้งยังขาดแคลนไฟฟ้าและระบบประปาที่ทันสมัย ทว่า การฟื้นฟูและปฏิรูประบบการจัดการพื้นที่ใหม่ที่เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1999 ที่รัฐบาลจีนได้ใช้มาตรการเด็ดขาดด้วยการย้ายคนทั้งหมดออกนอกเขตเมืองอูเจิ้นแล้วใช้เวลาและงบประมาณทุ่มไปกับการถอนรากถอนโคนปัญหาและจัดการพื้นที่ใหม่ทั้งด้านสถาปัตยกรรม สิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภคและวัฒนธรรม ภารกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีและได้ทำให้เมืองน้ำโบราณแห่งนี้กลับมางดงามอีกครั้ง จนใน ค.ศ. 2001 และ ค.ศ. 2006 อูเจิ้นได้รับการเสนอชื่อให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ทั้งยังได้รับการคัดเลือกจากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (The Pacific Asia Travel Association – PATA) ให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งแรกของประเทศจีน 
 
 
 
วัฒนธรรมสร้างสรรค์เศรษฐกิจ

พื้นฐานแล้ว การพลิกวิกฤตมาสู่โอกาสของอูเจิ้นนั้นเกิดขึ้นบนพื้นฐานของแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้องค์ความรู้ ความสร้างสรรค์ ตลอดจนการสั่งสมความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเชื่อมโยงเข้ากับพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่เมืองมีอยู่เพื่อสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งอนุรักษ์มรดกเมืองและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไปในเวลาเดียวกัน สิ่งที่อูเจิ้นทำคือฟื้นฟูและรักษามรดกทางวัฒนธรรม (Culture Heritage) ซึ่งเป็นของเดิมของดีที่เมืองมีอยู่ให้เป็นจุดเด่นซึ่งหาไม่ได้จากเมืองอื่นเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือนซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมดั้งเดิม สะพานหินทรงโค้งที่มีรูปทรงแตกต่างกันกว่า 100 แบบ วัฒนธรรมเครื่องแต่งกาย งานฝีมือ รวมไปถึงเรื่องราวของบุคคลสำคัญที่ครั้งหนึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านริมน้ำแห่งนี้ ทั้ง เหมา ตุ้น ปรมาจารย์ด้านวรรณคดี และ ซุน มู่ซิน จิตรกรที่มีชื่อเสียงของจีน ทั้งนี้ ได้มีการจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 เขตตลอดระยะทาง 2 กิโลเมตรเพื่อถ่ายทอดแง่มุมต่างๆ ของเมืองโบราณอูเจิ้น ดังนี้ 1. เขตวิถีปฏิบัติแบบดั้งเดิม 2. เขตบ้านเรือนท้องถิ่นแบบดั้งเดิม 3. เขตวัฒนธรรมโบราณ 4. เขตอาหารและเครื่องดื่มดั้งเดิม 5. เขตร้านค้า 6. เขตขนบธรรมเนียมและวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ
 
 
นอกเหนือจากการแบ่งพื้นที่ที่เอื้อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าใจวิถีของเมืองอูเจิ้นแล้ว ยังมีการจัดแสดงทางวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ประเพณีแต่งงาน การย้อมผ้า รวมถึงการก่อตั้งสถานที่รวบรวมมรดกทางประวัติศาสตร์ทั้งพิพิธภัณฑ์รองเท้าของสตรีสูงศักดิ์ โรงต้มเหล้า ร้านทำร่ม ให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมและเรียนรู้วัฒนธรรมของเมืองอย่างลึกซึ่งขึ้นอีกด้วย นอกจากนั้น เมืองอูเจิ้นยังมีการจัดการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ โดยได้รวบรวมเอาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ร้านอาหารเข้าไปไว้เขตในของเมืองพร้อมกำหนดให้นักท่องเที่ยวต้องจ่ายค่าธรรมเนียมก่อนจึงจะเข้ามาชมเมืองและใช้บริการที่พักต่างๆ ได้ การรวบสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดไว้ภายในเมืองและดึงคนที่เคยอยู่ในพื้นที่กลับเข้ามาทำงานนอกจากจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวแทบจะไม่รั่วไหลออกไปนอกเมืองและสร้างงานสร้างอาชีพที่มั่นคงให้คนอูเจิ้นได้แล้ว ยังทำให้เมืองสามารถควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมต่อศักยภาพในการรองรับของพื้นที่ เศรษฐกิจเมืองจึงเติบโตได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีดั้งเดิม ทั้งนี้ ปัจจุบันอูเจิ้นมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1.5 ล้านคนต่อปี
 
 
เมืองโบราณที่ทันสมัย
 
แม้อูเจิ้นจะเป็นเมืองโบราณที่มีอายุกว่า 7,000 ปี แต่กลับได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดการประชุม World Internet Conference 2014 – 2016 ต่อเนื่องกันถึง 3 ปีซ้อน ทั้งนี้ เป็นเพราะการมีเส้นทางขนส่งคมนาคมที่สะดวกสบาย ประกอบกับทำเลของเมืองที่ตั้งอยู่ห่างจากมหานครเซี่ยงไฮ้เพียง 130 กิโลเมตร และห่างจากเมืองใหญ่อย่างหางโจวเพียง 80 กิโลเมตร ที่สำคัญ อูเจิ้นยังมีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั่วทุกมุมเมืองมี Wi-Fi ติดตั้งอยู่ตามอาคารโบราณครอบคลุมทุกพื้นที่เพื่อให้ผู้ที่มาเยือนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสะดวกและรวดเร็ว การพัฒนาดังกล่าวสอดรับกับแนวคิดของรัฐบาลในเรื่อง A Smart Future for an Ancient Town ที่จะเป็นการประกาศให้ประชาคมโลกรับรู้ว่า แม้จีนจะเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายพันปี แต่ก็สามารถก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งอูเจิ้นก็เป็นตัวอย่างที่สะท้อนแนวคิดดังกล่าวออกมาได้เป็นอย่างดี


“อูเจิ้น ได้พิสูจน์แล้วว่ากาลเวลาที่ผ่านมานานนับพันปีไม่อาจทำให้การคงอยู่ของเมืองโบราณแห่งนี้เสื่อมลงไปได้ เส้นทางของแม่น้ำรอบเมืองยังคงหนาแน่นไปด้วยท่าเรือ ตลาด และบ้านเรือนของผู้คนที่ยังคงใช้ชีวิตและสัญจรไปมาไม่ต่างจากในยุคบรรพบุรุษ สะพานหินทรงโค้ง บันไดหินโบราณ ระเบียงริมน้ำ รวมถึงวัฒนธรรมทั้งหมดของเมืองยังคงได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ขณะที่ในเวลาเดียวกันมรดกเมืองเหล่านี้ก็ได้ทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตคอยถ่ายทอดเรื่องราวจากอดีตสู่ปัจจุบันให้แก่ผู้เยี่ยมชม สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นบนฐานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีวัฒนธรรมเป็นต้นทุนหลักและเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย” 

 

 

 

อ้างอิง

Jay Merrick. (2016). Wuzhen, China's extraordinary conservation project: a tale of two cities divided by past and present. ออนไลน์ http://www.independent.co.uk/travel/asia/wuzhen-china-s-extraordinary-conservation-project-a-tale-of-two-cities-divided-by-past-and-present-a6819361.html

Wuzhen Tourism Co., Ltd. (2014). Wuzhen China—A Historical Water Town of World Heritage. ออนไลน์ https://portal.imex-frankfurt.com/dynamic/exhib2017/pdf/133.pdf

Oknation. (2560). Wuzhen เมืองต้นแบบ Mice City. ออนไลน์ http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=1020576

 

 

 

 

• AUTHOR

 


จุฑามาศ  พูลสวัสดิ์

รัฐศาสตร์บัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต จาก NIDA

Related Posts