
เมืองแห่งนวัตกรรมเพื่อสุขภาวะ : บทเรียนจากเมืองจางเจียโคว่และเมืองต้าเหลียน
จุฑามาศ พูลสวัสดิ์
The Future of Urban Development (FUD) และการคัดเลือกเมืองต้นแบบการพัฒนา
The Future of Urban Development (FUD) เป็นคณะทำงานภายใต้ World Economic Forum (WEF) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนหุ้นส่วนที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาของเมืองทั่วโลกโดยผ่านการกระตุ้นให้เมืองต่างๆ เข้าใจถึงความท้าทายอันหลากหลายที่ต้องเผชิญ โดยเป้าหมายของ FUD คือการสร้างนวัตกรรมที่ทุกเมืองสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการได้
กิจกรรมหนึ่งของ FUD ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการพัฒนาเมืองต่างๆ คือการเฟ้นหาเมืองที่ดีที่สุดซึ่งเป็นต้นแบบเมืองที่ประสบความสำเร็จด้านการพัฒนา ซึ่งในปีค.ศ.2014 เมืองที่ชนะการคัดเลือกดังกล่าวได้แก่ เมืองต้าเหลียน และเมืองจางเจียโขว่ ของประเทศจีน เมืองทั้งสองต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นของตัวเอง แต่มีจุดร่วมเหมือนกันตรงที่เป็นตัวอย่างของเมืองที่สามารถริเริ่มสร้างนวัตกรรมเพื่อนำมาสู่ทางออกในการจัดการปัญหาที่เมืองของตนเองต้องเผชิญได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนยังสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการพัฒนาให้กับเมืองอื่นๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ข้อมูลพื้นฐานของเมืองที่ได้รับรางวัลเมืองต้นแบบการพัฒนา
เมืองต้าเหลียน
ต้าเหลียนเป็นเมืองซึ่งเป็นเสมือนประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนและยังเป็นเมืองที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจสูงอันดับต้นๆ ของภูมิภาค ด้วยข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของการเป็นระเบียงเชื่อมระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและประเทศอื่นทั่วโลกนี่เอง ทำให้เมืองต้าเหลียนกลายเป็นท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของจีนซึ่งมีการไหวเวียนของระบบขนส่งสินค้าในระดับสูง นอกจากนี้เมืองต้าเหลียนยังมีการตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรมอีก 5 แห่งเพื่อรองรับการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ ตลอดทั้งยังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และระบบข้อมูลข่าวสารไปในเวลาเดียวกันด้วย โดยยุทธศาตร์ที่เมืองต้าเหลียนยึดเป็นหลักในการพัฒนาคือ “all region urbanization” กล่าวคือ เป็นการทำให้ทั่วทุกภูมิภาคก้าวสู่ความเป็นเมืองที่ทันสมัยด้วยการประยุกต์ใช้แนวคิดแบบองค์รวมเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของพื้นที่เมือง ชนบท และพื้นที่อุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาเมืองที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการดูแลความเป็นอยู่และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
พื้นที่ (สุทธิ) |
12,574 ตารางกิโลเมตร |
พื้นที่ (ศูนย์กลางเมือง) |
2,415 ตารางกิโลเมตร |
ประชากร |
6.85 ล้านคน |
GDP (ปีค.ศ.2012) |
700.3 พันล้านหยวน |
GDP (ที่เพิ่มขึ้นระหว่างปีค.ศ.2011-2012) |
10.3% |
GDP (per capita ปีค.ศ.2012) |
102,000 หยวน |
Source: Dalian Bureau of Statistics
เมืองจางเจียโขว่
เมื่อเปรียบเทียบกัน แม้เมืองจางเจียโขว่จะมีพื้นมากกว่าเมืองต้าเหลียนถึง 3 เท่า แต่กลับมีประชากรเพียง 2 ใน 3 อีกทั้งยังมีผลผลิตมวลรวม(GDP) ในแต่ละปีเพียง 1 ใน 5 ของเมืองต้าเหลียนเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากจางเจียโขว่เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่เน้นเฉพาะการขุดเจาะทรัพยากรและอุตสาหกรรมหนักเป็นหลัก เช่น ถ่านหิน เหล็ก ซีเมนต์ กระดาษ ฯลฯ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังเผชิญความท้าทายเพราะทรัพยากรในเหมืองค่อยๆ หมดลงและอุตสาหกรรมหนักยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เมืองจางเจียโขว่จะต้องแสวงหาแนวทางใหม่ๆในการสร้างรายได้และพัฒนาเมืองเพื่อทดแทนอุตสาหกรรมแบบเดิม โดยทรัพยากรอีกชนิดหนึ่งที่เมืองจางเจียโขว่มีอยู่มหาศาลคือพลังงานลม ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นพลังงานได้จำนวนมาก โดยอุตสาหกรรมพลังงานลมดังกล่าวได้กลายมาเป็นภาคส่วนที่โดดเด่นมากในปีค.ศ.2013 และในขณะเดียวกันก็ยังเริ่มมีการพัฒนาภาคเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว ซึ่งเดิมเมืองจางเจียโขว่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามอยู่แล้วด้วย นอกจากนี้ ปลายปีค.ศ.2013 ที่ผ่านมา เมืองจางเจียโขว่ยังได้รับเลือกจากรัฐบาลให้เป็นเมืองสำหรับจัดแข่งขันกีฬากลางแจ้งในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ค.ศ.2022 อีกด้วย การสนับสนุนจากส่วนกลางนี้จะนำมาสู่โอกาสสำหรับเมืองจางเจียโขว่ที่จะยกระดับการพัฒนาเมืองไปสู่การเป็นเมืองต้นแบบของการเปลี่ยนผ่านที่มั่นคงและยั่งยืนสำหรับเมืองอื่นของจีนต่อไป
พื้นที่ (สุทธิ) |
36,680 ตารางกิโลเมตร |
ประชากร |
4.60 ล้านคน |
GDP (ปีค.ศ.2012) |
123 พันล้านหยวน |
GDP (per capita ปีค.ศ.2012) |
27,000 หยวน |
Source: Zhangjiakou Bureau of Statistics
แนวโน้มและลำดับความสำคัญของการพัฒนาเมืองในประเทศจีน
ปี ค.ศ.2013 ถือเป็นปีสำคัญสำหรับการพัฒนาเมืองในประเทศจีน เนื่องจากสิ้นปีค.ศ.2013 พบว่าประชากรจีนมากกว่า 50% หรือกว่า 730 ล้านคนอาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยทั่วทั้งประเทศจีนมีเมืองขนาดใหญ่ซึ่งมีประชากรมากกว่า 10 ล้านคนอยู่ด้วยกัน 6 เมือง และมีอีก 103 เมืองที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน ข้อมูลด้านประชากรดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเมืองในจีนกำลังขยายตัวสู่ความเป็นเมืองใหญ่อย่างต่อเนื่องประมาณ 1% ต่อปี ซึ่งผลที่ตามมาจากการเติบโตดังกล่าวนั้นมีหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นในแง่การนำมาซึ่งโอกาสในชีวิตของคนเมือง การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันก็นำมาสู่ความท้าทายในเรื่องการจัดการทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
การเติบโตที่ก้าวกระโดดในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีจนทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในปีค.ศ.2012 นับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เมืองต่างๆ พัฒนาสู่ความทันสมัยและดึงดูดประชากรเข้ามามากขึ้น แต่ผลกระทบที่ตามมาจากความเจริญของเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็มีอยู่หลายประการ อาทิ ความต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอและมีคุณภาพ ปัญหาการจราจร และราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นภารกิจสำคัญสำหรับรัฐบาลที่ต้องสร้างสมดุลให้การพัฒนาเมืองเกิดขึ้นควบคู่กับความยั่งยืนทั้งในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชน และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขอบข่ายที่เมืองซึ่งได้รับรางวัลทั้งสองเมือง รวมถึงเมืองอื่นๆ ต้องริเริ่มดำเนินการเพื่อรองรับการพัฒนา แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่
- การวางแผนและการจัดการระบบขนส่ง
- การจัดการพลังงานในเมือง
- การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การดำเนินการภายใต้ขอบข่ายดังกล่าวได้ถูกบรรจุไว้ในส่วนหนึ่งของ National New-type Urbanization Plan (2014 – 2020) ซึ่งเป็นแผนพัฒนาเมืองระดับชาติของจีน โดยในอนาคตเมืองต้าเหลียนและจางเจียโขว่จะถูกใช้เป็นเมืองต้นแบบที่พัฒนาตามแนวทางดังกล่าว
ขอบข่ายการพัฒนาเมืองสำหรับต้าเหลียนและจางเจียโขว่
เมือง |
การวางแผนและการจัดการระบบขนส่ง |
การจัดการพลังงานในเมือง
|
การพัฒนาอุตสาหกรรม อย่างยั่งยืน |
ต้าเหลียน |
1. จำกัดการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ขอบเขต 2. ปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ 3. ลดการพึ่งพารถยนต์ |
1. เพิ่มระดับการใช้ก๊าซธรรมชาติ 2. แสวงหาแนวทางการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล 3. สนับสนุนการแก้ปัญหาด้าน ปิโตรเคมี 4. ปรับปรุงให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ |
1. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีจุดแข็ง 2. ส่งเสริมภาคบริการและการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรม 3. สร้างห่วงโซ่คุณค่าในภาค อุตสาหกรรม |
จางเจียโขว่ |
1. แก้ปัญหาความแออัดของการ จราจรระหว่างเมืองโดยเฉพาะทางด่วนสู่ปักกิ่ง 2. แก้ปัญหาความแออัดของการ จราจรระหว่างเมืองโดยเฉพาะระหว่างศูนย์กลางของเมืองกับกลุ่มเมืองเกิดใหม่ 2 กลุ่ม 3. ปรับปรุงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ 4. แก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างการขนส่งกับการพัฒนาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ |
1. เพิ่มขีดความสามารถในการถ่ายทอดการสร้างพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานลม 2. วางแผนการใช้พลังงานในเมืองอย่างเหมาะสมทั้งด้านประสิทธิภาพและการหลีกเลี่ยงการใช้อย่างไม่เกิดประโยชน์
|
1. เพิ่มจำนวนอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นมูลค่าเพิ่ม อาหารที่มีคุณภาพสูง เกษตรกรรม และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ 2. สนับสนุนอุตสาหกรรมที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและการพัฒนาสังคม 3. ดึงดูดทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพเข้ามาทำงาน |
บนพื้นฐานของขอบข่ายสำหรับการพัฒนาเมืองทั้ง 3 ด้านที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เป็นที่ตระหนักดีว่ามีประเด็นต่างๆ มากมายที่ต้องจัดการภายใต้ขอบข่ายการพัฒนาเมืองด้วยเวลาและทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด จึงจำเป็นที่ฝ่ายบริหารจะต้องจัดลำดับความสำคัญของปัญหา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ FUD จึงได้กำหนดข้อเสนอแนะทางยุทธศาสตร์สำหรับทั้งเมืองต้าเหลียนและจางเจียโขว่เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
|
จุดเน้น (Key Issue) |
ข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์ |
ต้าเหลียน |
ความแออัดของการจราจร(ถนนอิ่มตัว) |
- พัฒนาการจัดการจราจรและระบบการขนส่งที่ชาญฉลาด(ITS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรภายในเมือง - สนับสนุนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะผ่านนโยบายการให้สิทธิพิเศษ - ไม่ส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วน - สร้างกลไกทางสถาบันที่เหมาะสม |
ความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงานถ่านหิน |
- ภาคอุปทาน: เพิ่มอัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทน - ภาคอุปสงค์: พัฒนาสมรรถนะการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในภาคส่วนปิโตรเคมี |
|
การขาดศักยภาพของภาคส่วนเทคโนโลยี เกิดใหม่ |
- สร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่าที่สมบูรณ์ผ่านโครงสร้างการตลาดที่มีประสิทธิภาพ - ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ผ่านการสร้างนวัตกรรม |
|
จางเจียโขว่ |
ความแออัดของการจราจร(การขนส่งระหว่างเมืองท่าเทียบเรือกับเมืองปักกิ่ง) |
- พัฒนาการจัดการจราจรและระบบการขนส่งที่ชาญฉลาด(ITS) เพื่อสร้างการจราจรบนทางหลวงที่มีประสิทธิภาพ - สร้างนวัตกรรมกลไกทางการเงินสำหรับการสร้างทางด่วน - พัฒนาระบบขนส่งหลากหลายช่องทาง - สร้างระบบขนส่งที่เหมาะสม - เพิ่มขีดความสามารถด้านการวิเคราะห์และการควบคุมระบบขนส่ง |
การบูรณาการการใช้พลังงานลมในระดับท้องถิ่นและระหว่างภูมิภาค |
- หลีกเลี่ยงการพัฒนาที่ผิดทิศทางโดยการออกแบบนโยบายเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสม - ร่วมมือกับเมืองต่างๆ เพื่อส่งผ่านกระแสไฟฟ้า - แสวงหาโอกาสเพื่อเพิ่มอัตราการใช้พลังงานลม |
|
การมุ่งสู่เป้าหมายที่ยั่งยืนสำหรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว |
- สร้างตราผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเมือง - ให้ความสำคัญกับภาคส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม - ให้ความรู้เรื่องความยั่งยืนแก่ประชาชนในชนบทผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารที่ง่ายต่อการเข้าถึง |
ข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์สำหรับเมืองต้าเหลียน
1. ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดของการจราจร(ถนนอิ่มตัว)
- พัฒนาการจัดการจราจรและระบบการขนส่งและการจราจรอัจฉริย(ITS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรภายในเมือง
เมืองต้าเหลียนมีระบบเครือข่ายถนนที่ค่อนข้างซับซ้อน การวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองที่เหมาะสมจึงควรถูกนำมาใช้เพื่อประเมินและหลีกเลี่ยงการขยายถนนในเมืองอย่างไร้ขอบเขตนอกจากนี้ยังควรใช้ Electronic Road Pricing (ERP) หรือระบบเก็บเงินอัตโนมัติบนท้องถนนโดยที่รถยนต์ไม่ต้องจอดจ่ายเงินเพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วให้แก่ผู้ใช้รถในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งรายได้จาก ERP จะถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีคุณภาพ และสร้างแรงจูงใจให้คนเปลี่ยนมาใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้นในอนาคต
- สนับสนุนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะผ่านนโยบายการให้สิทธิพิเศษ
ใช้วิธีเปลี่ยนจากรูปแบบการแข่งขันมาสู่ความร่วมมือและประสานผลประโยชน์กันระหว่างระบบขนส่งสาธารณะประเภทต่างๆ ตลอดทั้งต้องให้มีรูปแบบที่ยืดหยุ่นและเชื่อมโยงหลากหลายขึ้น อาทิ รถมินิบัสที่มีเส้นทางเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกในรถโดยสารสาธารณะ เช่น Wi-Fi ระบบการจ่ายเงินที่ทันสมัย ฯลฯ
- ไม่ส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วน
ควรมีการควบคุมจำนวนรถโดยเพิ่มราคาค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ส่วนตัว อาทิ การเก็บภาษีแก๊สโซลีน ภาษีที่จอดรถ เป็นต้น ในเวลาเดียวกันก็ควรส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถส่วนตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการเดินทางครั้งละหลายๆคนในเส้นทางเดียวกัน
- สร้างกลไกทางสถาบันที่เหมาะสม
ควรนำแนวคิดการจัดการแบบองค์รวมมาใช้ในการจัดการปัญหาการจราจรโดยอาศัยการประสานงานจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มิใช่จัดการแบบแยกส่วน
2. ข้อเสนอเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงานถ่านหิน
- ภาคอุปทาน: เพิ่มอัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทน
ต้าเหลียนเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการเข้าถึงก๊าซธรรมชาติผ่านท่อส่งจีน-รัสเซีย แต่การนำไปใช้ประโยชน์ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับจำกัดและยังไม่ทั่วถึงในระดับครัวเรือน ดังนั้นเครื่องมือด้านการตลาดจึงต้องถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น นอกจากนั้นยังต้องเริ่มแสวงหาแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม เช่น พลังงานลมบริเวณชายฝั่งทะเล เพื่อนำมาพัฒนาและรองรับความต้องการพลังงานของเมืองในระยะกลางและระยะยาว
- ภาคอุปสงค์: พัฒนาสมรรถนะการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในภาคส่วนปิโตรเคมี
ควรสร้างมาตรการการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าโดยคำนึงถึงต้นทุนและประสิทธิภาพสำหรับภาคอุตสาหกรรมและท้องถิ่นส่วนต่างๆ ในเมืองต้าเหลียน รวมทั้งการวางแผนแบบองค์รวมยังควรถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาสมรรถนะในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของเขตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดใหม่ด้วย
3. ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดศักยภาพของภาคส่วนเทคโนโลยีเกิดใหม่
- สร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่าที่สมบูรณ์ผ่านโครงสร้างการตลาดที่มีประสิทธิภาพ
ควรดำเนินการพัฒนาภาคส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีด้านข้อมูลสารสนเทศ และเพิ่มการจัดจ้างจากภายนอก(outsourcing) ในด้านบริการเพื่อสร้างอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าและมีศักยภาพแข่งขัน ตลอดจนต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบอันจะนำไปสู่ความเป็นเมืองศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
- ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ผ่านการสร้างนวัตกรรม
กำหนดนโยบายที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) รวมทั้งในการสนับสนุนด้านทรัพยากรการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการพัฒนา
ข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์สำหรับเมืองจางเจียโขว่
1. ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาความแออัดของการจราจร(การขนส่งระหว่างเมืองท่าเทียบเรือกับเมืองปักกิ่ง)
- พัฒนาการจัดการจราจรและระบบการขนส่งและการจราจรอัจฉริยะ(ITS) เพื่อสร้างการจราจรบนทางหลวงที่มีประสิทธิภาพ
ระบบ ITS ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์และการสื่อสารมาแก้ปัญหาการจราจรให้เกิดประสิทธิภาพควรได้รับการพิจารณานำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับของถนนตามโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่
- สร้างนวัตกรรมกลไกทางการเงินสำหรับการสร้างทางหลวง
เมืองจางเจียโขว่ควรใช้ข้อได้เปรียบในฐานะที่เป็นเมืองจุดหมายปลายทางเมืองหนึ่งของนักท่องเที่ยวสร้างภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวบนทางหลวงโดยอาศัยการลงทุนจากภาคเอกชน เช่น การสร้างจุดพักรถ ตลอดจนควรเพิ่มการเชื่อมโยงเส้นทางลัดต่างๆ กับทางหลวงที่สามารถเดินทางได้รวดเร็วเพื่อให้สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับนำไปใช้พัฒนาทางหลวงได้ในอัตราที่สูงขึ้น
- พัฒนาระบบขนส่งหลากหลายช่องทาง
ควรมีการสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองปักกิ่งและจางเจียโขว่เพื่อนำไปสู่เส้นทางการเดินทางที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้สถานีรถไฟแต่ละสถานีกับแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองยังควรต้องเชื่อมต่อกันด้วยระบบขนส่งบนท้องถนนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น รถโดยสารที่ไร้คนขับ ซึ่งในขณะเดียวกันก็ต้องระบบขนส่งสาธารณะระหว่างเมืองที่มีคุณภาพพร้อมกับสร้างมาตรการลดแรงจูงใจในการใช้รถส่วนตัวของประชาชนลง
- สร้างระบบขนส่งที่เหมาะสม
เน้นวางแผนระบบขนส่งที่ครอบคลุมทั่วทั้งเมืองโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและการลงทุนจากภาคเอกชน
- เพิ่มขีดความสามารถด้านการวิเคราะห์และการควบคุมระบบขนส่ง
เมืองจางเจียโขว่จำเป็นต้องพัฒนาระบบการวิเคราะห์ข้อมูลในระดับท้องถิ่นที่มีศักยภาพเพื่อให้สามารถนำระบบ ITS ไปใช้แก้ปัญหาจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพิ่มระบบการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้เข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาจนนำไปสู่การกำหนดทางออกที่ตรงกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่
2. ข้อเสนอเพื่อบูรณาการการใช้พลังงานลมในระดับท้องถิ่นและระหว่างภูมิภาค
- หลีกเลี่ยงการพัฒนาที่ผิดทิศทางโดยการออกแบบนโยบายเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสม
ในการจัดการภาคส่วนพลังงานลมที่ดีควรต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องรวมทั้งต้องกำหนดยุทธศาสตร์ที่ช่วยประสานภาคการผลิตและภาคการบริโภคให้สอดคล้องกันเพื่อให้มีการใช้พลังงานลมแพร่หลายขึ้น
- ร่วมมือกับเมืองต่างๆ เพื่อส่งผ่านกระแสไฟฟ้า
เน้นประสานความร่วมมือกับเมืองใกล้เคียงโดยเฉพาะ ปักกิ่ง ทั้งด้านการวางแผนและการนำแผนไปปฏิบัติ
- แสวงหาโอกาสเพื่อเพิ่มอัตราการใช้พลังงานลม
ควรพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อใช้จัดการพลังงานลม ตลอดจนส่งเสริมให้พลังงานลมถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมท้องถิ่นมากขึ้น
3. ข้อเสนอเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ยั่งยืนสำหรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวการมุ่งสู่เป้าหมายที่ยั่งยืนสำหรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว
- สร้างตราผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเมือง
ปัจจุบันเมืองจางเจียโขว่กำลังริเริ่มโครงการ “Wonder Land of Zhangjiakou” ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัวของเมืองให้เด่นชัด
- ให้ความสำคัญกับภาคส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
เมืองจางเจียโขว่ควรใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปีค.ศ.2022 พัฒนาภาคส่วนสีเขียว(Green Sector) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ต่างๆ และต้องหลีกเลี่ยงการพัฒนาอย่างเต็มกำลังทุกภาคส่วนในเวลาเดียวกัน เพราะอาจส่งผลกระทบด้านลบกับสิ่งแวดล้อมได้
- ให้ความรู้เรื่องความยั่งยืนแก่ประชาชนในชนบทผ่านทางเทคโนโลยีการสื่อสารที่ง่ายต่อการเข้าถึง
ควรใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างศักยภาพให้กับภาคส่วนสีเขียวที่เกิดใหม่ด้วยการให้ความรู้และเสริมสร้างจิตสำนึกด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท เช่น ผลิตภัณฑ์เกษตร การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เป็นต้น
บทส่งท้าย
อาจกล่าวได้ว่าเมืองที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการคัดเลือกของ FUD ทั้งเมืองต้าเหลียนและจางเจียโขว่ต่างก็มีจุดแข็งที่สามารถนำพาตนเองสู่การเป็นต้นแบบด้านการพัฒนาที่แตกต่างกันไป กล่าวคือเมืองต้าเหลียนมีจุดแข็งในด้านการเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางด้านการขนส่ง ส่วนเมืองจางเจียโขว่ก็มีจุดแข็งด้านการเป็นแหล่งพลังงานลมและมีทำเลที่อยู่ใกล้เมืองหลวง ทว่า สิ่งหนึ่งอันเป็นจุดร่วมที่จะช่วยให้การเติบโตของทั้งสองเมืองเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องคือการกำหนดแนวทางการพัฒนาที่เป็นทิศทางเดียวกัน โดยจุดร่วมของแนวทางการพัฒนาที่ทั้งสองเมืองควรยึดถือตามข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์ข้างต้นสามารถสรุปได้ดังนี้
- เน้นการพัฒนาแบบบูรณาการ ประสานงานกันระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
- เน้นการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
- มีการกำหนดเป้าหมายที่เมืองต้องบรรลุไว้ชัดเจน เช่น การเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ตลอดจนกำหนดแผนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และติดตามตรวจสอบการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
- ให้ความสำคัญกับการพัฒนาควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างกว้างขวาง
- เรียนรู้บทเรียนด้านการพัฒนาจากเมืองในต่างประเทศแล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของเมืองและประเทศจีน
ทั้งนี้ข้อเสนอแนะทางยุทธศาสตร์ของ FUD ถือเป็นบทเรียนมีประโยชน์อย่างยิ่งซึ่งเมืองต้าเหลียนและจางเจียโขว่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อต่อยอดการพัฒนาสู่การเป็นเมืองต้นแบบที่เมืองอื่นๆ สามารถเรียนรู้และนำไปเป็นแบบอย่างการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการสร้างอนาคตที่ดีของเมืองทั่วโลกต่อไป
อ้างอิง
World Economic Forum (2014). The Future of Urban Development Initiative: Dalian
and Zhangjiakou Champion City Strategy. World Economic Forum.
ภาพประกอบหน้าปก สืบค้นจาก - http://urbanplanet.info/
• AUTHOR |
|
![]()
|
รัฐศาสตร์บัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต จาก NIDA |