
การเฉลิมฉลองงานวันเกิดเมืองอย่างสร้างสรรค์ : กรณีเกียวโต
ฮากิม ผูหาดา
หลายคนคงคุ้นเคยกับการจัดงานฉลองวันเกิดให้กับญาติสนิทมิตรสหายต่างๆ โดยในงานจะมีการเป่าเทียน ตัดเค้ก ร้องเพลง หรือทำบุญ ซึ่งเป็นพิธีการปกติในงานวันเกิดที่จัดให้กับผู้คน แต่เชื่อเหลือเกินว่าน้อยคนนักที่เคยได้รับรู้ถึง “วันเกิดเมือง” เพราะไม่บ่อยนักที่จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองในวาระดังกล่าว ด้วยหลายๆ เมืองจะจัดเฉพาะในรอบร้อยปี หรือในช่วงปีที่มีตัวเลขคล้องจองกัน เช่น 111, 99 ปี เป็นต้น จนทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองไม่รู้ว่าพิธีการจัดงานวันเกิดสำหรับ “เมือง” ควรเป็นไปในลักษณะที่สร้างสรรค์อย่างไร หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันเกิดเมืองที่อาศัยอยู่คือวันที่เท่าไหร่
เมื่อปี พ.ศ. 2537 นครเกียวโต อดีตเมืองหลวงของญี่ปุ่น มีอายุครอบรอบ 1200 ปี และในวาระดังกล่าวจึงได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองวันเกิดเมืองเกียวโต ซึ่งในการจัดงานครั้งนั้นน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการจัดงานวันเกิดให้กับเมืองอื่นๆ ดังนั้น จึงขอสรุปและเรียบเรียงกระบวนการจัดงานเฉลิมฉลอง 1200 ปีของเมืองเกียวโต (The Kyoto 1200th Celebration) จากหนังสือ “เชียงใหม่ 700 ปี : การฉลองวันเกิดเมือง, การพัฒนาเมืองกับการปกครองท้องถิ่น”[1] เพื่อเป็นบทเรียนให้เกิดการจัดงานเฉลิมฉลองเมืองต่างๆ ของไทยอย่างสร้างสรรค์ต่อไป
ประวัติเมืองเกียวโต
นครเกียวโต เป็นเมืองเอกของจังหวัดเกียวโต และเป็นอดีตเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น โดยมีความเป็นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 จักรพรรดิคัมมุ ตัดสินพระทัยที่จะย้ายนครหลวงไปยังภูมิภาคที่ห่างไกลจากอิทธิพลของพุทธศาสนาและทรงเลือกชัยภูมิแห่งใหม่ ที่หมู่บ้านอุดะ นครหลวงแห่งใหม่นี้ได้รับนามว่า เฮอังเกียว (นครหลวงแห่งสันติและสงบสุข) ต่อมาใน ค.ศ. 794 ก็ได้กลายเป็นนครที่ตั้งของราชสำนัก ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเฮอังในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภายหลัง รัฐบาลทหารจะตั้งเมืองอื่นๆ เป็นศูนย์กลางทางอำนาจการปกครองที่ไม่ใช่เกียวโต แต่โดยทางนิตินัยแล้ว นครหลวงของญี่ปุ่นยังคงเป็นเกียวโตอันเป็นนครที่พระจักรพรรดิทรงประทับอยู่ จนถึง ค.ศ. 1869 ที่ราชสำนักได้ย้ายไปยังกรุงโตเกียว
ภายหลังเมืองเกียวโตต้องเผชิญภัยสงครามหลายครั้ง จนทำให้เมืองได้รับความเสียหายมาก แต่ก็ได้รับการซ่อมแซม ฟื้นฟู อยู่เสมอมาจนเป็นหนึ่งในสามเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น กระทั่งพัฒนาไปเป็นเมืองที่เจริญก้าวหน้าจนมีประชากรเกินหนึ่งล้านคนในปี 1932
ในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1889 มีการขุดสร้างคลองทะเลสาบบิวะในปี ค.ศ. 1890 นำน้ำมาหล่อเลี้ยงเมืองจนกระทั่งพัฒนาไปเป็นเมืองที่เจริญก้าวหน้าจนมีประชากรเกินหนึ่งล้านคนในปี ค.ศ. 1932 และมีสถานะเป็นเมืองอันตั้งขึ้นโดยข้อบังคับของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1956”[2]
การเตรียมงานเฉลิมฉลอง 1200 ปีของเมืองเกียวโต
งานวันเกิดเมืองเกียวโตมีการเตรียมงานล่วงหน้าถึง 5 ปี โดยในปี ค.ศ. 1989 ผู้บริหารจังหวัดและนครเกียวโต ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ร่วมมือกับนักธุรกิจและนักวิชาการจัดตั้ง “มูลนิธิรำลึกวาระครบรอบเมืองเกียวโต 1200 ปี” (Heiankyo 1200th Anniversary Memorial Foundation) และได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ ประกอบด้วยกรรมการ 6 คน คือประธานอำนวยการ เป็นนักวิชาการด้านเคมีที่ได้รางวัลโบลและเป็นผู้อำนวยการสถาบันเคมีพื้นฐานของเกียวโต และรองประธานอำนวยการ 4 คน คนที่หนึ่งคือผู้ว่าการจังหวัดเกียวโต(มาจากการเลือกตั้งโดยตรง) คนที่สองคือนายกเทศมนตรีนครเกียวโต(มาจากการเลือกตั้งโดยตรง) คนที่สามคือประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมของเกียวโต คนที่สี่คือนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกียวโต และประธานคือผู้นำด้านองค์กรวัฒนธรรมคนหนึ่ง ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้เสนอคำขวัญของงานในครั้งนี้ว่า “Tradition and Creation” หรือ “สืบสานประเพณี สรรค์สร้างปัญญาและจินตนาการ”[3]
จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการจัดงานวันเกิดเมืองเกียวโต ล้วนแล้วแต่เป็นคนท้องถิ่นทั้งหมด และมีส่วนหนึ่งก็มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเกียวโต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิด การทำงาน ตลอดจนลักษณะการเมืองการปกครองได้เป็นอย่างดีว่าต้องกระจายอำนาจให้เป็นเรื่องภายในของท้องถิ่น จะต้องให้คนภายในท้องถิ่นนั้นๆ จัดการเป็นหลัก เพราะคนในท้องถิ่นมีความเข้าใจในพื้นที่และมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่น(sense of belonging) มากกว่าผู้ที่มาจากการแต่งตั้งของส่วนกลาง
การเฉลิมฉลอง 1200 ปีของเมืองเกียวโต
การเฉลิมฉลองแบ่งงานออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านวัฒนธรรม – สันทนาการ และด้านวัตถุ
- ด้านวัฒนธรรม – สันทนาการ มีการจัดงานต่างๆ ตลอดปี เช่น การจุดดอกไม้ไฟ การร้องเพลง การแสดงพื้นเมือง ดนตรี ละคร ขบวนแห่ นิทรรศการ งานแสดงศิลปะ การแข่งขันวิ่งมาราธอนและครึ่งทางมาราธอน เทศกาลภาพยนตร์ การประชุมทางวิชาการ การแสดงผลงานทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนงานแสดงสินค้า ทั้งหมดนี้จัดงานในสถานที่ต่างๆ สลับกันไปตลอดปี รวมทั้งสิ้น 1200 กว่ารายการ[4]
- ด้านวัตถุ มีงานหลักที่เรียกว่าการปรับปรุงเมือง (Urban Renaissance) โดยโครงการต่างๆ จะครอบคลุมงาน 6 ประเภท คือ ซึ่งโครงการทั้งหมดมี 18 โครงการ ดังนี้[5] (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 แสดงโครงการ 18 โครงการ จาก 6 ประเภท และหน่วยงานรับผิดชอบ
ประเภทโครงการ |
ชื่อโครงการ |
หน่วยงานรับผิดชอบ |
1. งานประเภทโครงสร้างพื้นฐาน |
§ โครงการปรับปรุงสถานีรถไฟหลัก มีการเพิ่มทางรถไฟเข้าออก ปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มทางที่จะเชื่อมกับสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ และจะมีการตกแต่งสถานีด้วยการนำเอาบรรยากาศแบบเกียวโตในอดีตมาประกอบ § โครงการรื้อฟื้นสถานีรถไฟนิโจ เป็นการปรับปรุงพื้นที่ 40 กว่าไร่ เพื่อทำเป็นเขตที่พักอาศัย สถานีรถไฟแห่งใหม่ ที่จอดรถและถนนสายใหม่ § โครงการสร้างรถไฟใต้ดินสายใหม่
§ โครงการสร้างทางหลวงสายใหม่หลายสาย
§ โครงการปรับปรุงท่าเรือฟูชิมิ
|
สนับสนุนโดยบริษัทธุรกิจด้านก่อสร้าง
เทศบาลนครเกียวโต
เทศบาลนครเกียวโต
รัฐบาลกลางร่วมกับเทศบาลนครเกียวโต
จังหวัดเกียวโต
|
2. งานส่งเสริมการศึกษาและวัฒนธรรม |
§ โครงการสร้างสวนธารณะอูเมโคจิ เป็นสวนที่มีพื้นที่ขนาด 40 ไร่ มีอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อบริการประชาชนทุกฤดูกาล § โครงการสร้างสวนโอกาซากิ เพื่อการพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นศูนย์แสดงและนิทรรศการด้านศิลปะและวัฒนธรรม § โครงการสร้างศูนย์ชุมชนประชากรเกียวโต จัดสร้างศูนย์ที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ออกกำลังกาย การแสดงด้านวัฒนธรรมและการศึกษา § โครงการสร้างพิพิธภัณฑ์เกียวโตแห่งใหม่ เป็นสถาบันแสดงข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเกียวโตอย่างละเอียด § โครงการสร้างอาคารดนตรีของนครเกียวโต ให้เป็นห้องแสดงดนตรีจุผู้ฟังได้ 1800 ที่นั่ง และห้องที่จุคนได้ 500 ที่นั่ง § โครงการสร้างศูนย์วิจัยนานาชาติด้านญี่ปุ่นศึกษา เป็นสถาบันที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้นักวิจัยทั่วโลกมาศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับญี่ปุ่นและวัฒนธรรมญี่ปุ่น
|
เทศบาลนครเกียวโต
เทศบาลนครเกียวโต
จังหวัดเกียวโต
จังหวัดเกียวโต
เทศบาลนครเกียวโต
กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น |
3. งานประเภทปรับปรุงปัจจัยพื้นฐาน
|
§ โครงการศูนย์บ้านพักขนาดใหญ่ในเมือง |
เทศบาลนครเกียวโต |
4. งานประเภทปรับปรุงสิ่งแวดล้อม |
§ โครงการปรับปรุงแม่น้ำและลำคลอง มีการปรับพื้นที่ริมแม่น้ำบางแห่งให้เป็นพื้นที่โล่ง รวมทั้งการปลูกต้นไม้และดอกไม้ในบางพื้นที่
|
จังหวัดเกียวโต |
5. งานประเภทส่งเสริมธุรกิจ |
§ โครงการก่อสร้างเมืองวิทยาศาสตร์คันไซ โดยจะจัดเป็นศูนย์วิจัยขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตเมือง 3 เมืองคือเกียวโต นารา และโอซาก้า มุ่งที่จะให้ศูนย์วิจัยแห่งนี้กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โครงการนี้ § โครงการสร้างสวนวิจัยเกียวโต มุ่งให้เป็นศูนย์รวมสถาบันและหน่วยงานวิจัยเพื่อสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมวิจัยและพัฒนาของท้องถิ่น § โครงการสร้างศูนย์แสดงสินค้าเกียวโต ให้เป็นศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่
|
สนับสนุนโดยภาคอุตสาหกรรมร่วมกับภาควิชาการและภาคองค์กรสาธารณะ
บริษัทเอกชน
จังหวัดเกียวโต
|
6. งานประเภทส่งเสริมการท่องเที่ยวและความสัมพันธ์กับต่างประเทศ |
§ โครงการสร้างอาคารหอพักสำหรับชาวต่างประเทศ เป็นอาคารแบบญี่ปุ่นที่จะแสดงวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น § โครงการสร้างอาคารชุมชนนานาชาติแห่งเกียวโตสำหรับเป็นห้องสมุดสำหรับนักศึกษาและชาวต่างชาติ และเป็นที่พบปะสังสรรค์ระหว่างนักศึกษาและชาวต่างประเทศกับชาวเกียวโต
|
จังหวัดเกียวโต
เทศบาลนครเกียวโต |

การจัดงานเฉลิมฉลอง 1200 ปีของเมืองเกียวโต ผ่านงานต่างๆ ทั้งด้านวัฒนธรรม – สันทนาการ และด้านวัตถุ ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของท้องถิ่นทางความคิด และกระวนการปฏิบัติเท่านั้น หากยังสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือและการบูรณาการการทำงานของโครงสร้างการปกครองระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนในท้องถิ่นเอง ที่สามารถตระหนักได้ถึงหน้าที่/ความรับผิดชอบ และข้อจำกัดจากขนาดของโครงการที่ได้วางแผนไว้ จนปัจจุบันนี้แม้เมืองเกียวโตจะไม่ได้เป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่นอีกต่อไป แต่เมืองเกียวโตถือได้ว่าเป็นจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่น ในด้านศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งเปรียบได้เช่น เมืองมักกะห์ ของชาวมุสลิม หรือกรุงวาติกันของชาวคริสต์ แต่กระนั้นก็ยังมีการพัฒนาทางด้านวัตถุให้มีความทันสมัย เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย
สรุป
โดยกายภาพของเมืองแล้ว ก็เป็นดั่งเช่นมนุษย์ ที่เมื่อผ่านการใช้งานเป็นระยะเวลาที่ยาวนานแล้ว ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่อ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะต่างล้วนมีอายุการใช้งานที่จำกัด แขนขาที่เคยแข็งแรง เมื่อแก่ตัวลงก็เริ่มเสื่อมสภาพ ถนนหนทางตามเมืองก็เช่นกัน นานวันเข้าก็เกิดเป็นหลุมเป็นบ่อ จนเป็นอุปสรรคในการเดินทาง หูตาที่เคยได้ยิน ได้เห็นอย่างชัดเจน ก็เริ่มหย่อนยานและพร่ามัว อาคารบ้านเรือนและผังเมืองก็คงไม่ต่างกัน มีการทรุดโทรมแตกร้าวและเสื่อมทลายลงในที่สุด ไม่เพียงในแง่กายภาพเท่านั้น ในแง่จิตใจก็เช่นเดียวกัน มนุษย์อยู่ได้ด้วยการอยู่เป็นสังคมการเมืองที่ประกอบสร้างผ่านศาสนา และวัฒนธรรมที่ดีงาม ซึ่งหากไม่มีการสืบทอดส่งต่อแล้ว การมีชีวิตอยู่ของมนุษย์คงไร้ความหมาย เช่นเดียวกัน หากเมืองมีเพียงวัตถุที่เป็นเพียงคอนกรีตเสริมเหล็ก เมืองจะมีชีวิตได้อย่างไร ดังนั้นวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองผ่านกลไกต่างๆ จะเป็นส่วนเสริมให้เมืองมีชีวิตชีวามากขึ้น
เพราะฉะนั้นการเดินทางของชีวิตมนุษย์และเมืองที่เมื่อบรรจบครบขวบปี จึงเป็นโอกาสที่ดีในการทบทวนทั้งตัวมนุษย์ และเมืองว่า มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มีส่วนไหนที่ยังบกพร่อง ต้องซ่อมแซม ต้องพัฒนาต่อไป ซึ่งกรณีการจัดงานเฉลิมฉลอง 1200 ปีของเมืองเกียวโต จะเป็นแบบอย่างที่สามารถหล่อหลอมทั้งด้านวัตถุทางกายภาพ และวัฒนธรรม (จิตใจ) ได้อย่างลงตัว
สิ่งสำคัญที่สุดคือแบบแผนการบริหารอำนาจและการจัดการเมืองที่ต้องเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในท้องถิ่นตนเองรับผิดชอบเป็นหลัก ไม่สมควรที่งานวันเกิดจะให้ใครก็ตามที่ไม่รู้จักเจ้าของวันเกิดมาเป็นผู้จัดงาน เพราะแน่นอนว่าคนเหล่านั้นไม่รับรู้ว่าเจ้าของวันเกิดเป็นคนอย่างไร หรือชอบ/ไม่ชอบอะไร จนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเจ้าของวันเกิดได้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพโครงสร้างการปกครองจากล่างสู่บน (bottom-up) เป็นสำคัญ ซึ่งต้องครอบคลุมในทุกกิจการงานของเมือง ไม่เฉพาะเพียงงานวันเกิดเท่านั้น
[1]ธเนศวร์ เจริญเมือง.(2539).เชียงใหม่ 700 ปี : การฉลองวันเกิดเมือง, การพัฒนาเมืองกับการปกครองท้องถิ่น. เอกสารชุดปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ลำดับที่ 1 โครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่น คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
[2]http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B8%B0_(%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87)
[3]ธเนศวร์ เจริญเมือง.(2539).เชียงใหม่ 700 ปี : การฉลองวันเกิดเมือง, การพัฒนาเมืองกับการปกครองท้องถิ่น. หน้า 12
[4]เรื่องเดียวกัน. หน้า 12
[5]เรื่องเดียวกัน. หน้า 12-15
[6]http://www.wonderfulpackage.com/article/v/290/%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%95-Kyoto-Station
อ้างอิง
ธเนศวร์ เจริญเมือง.(2539).เชียงใหม่ 700 ปี : การฉลองวันเกิดเมือง, การพัฒนาเมืองกับการปกครองท้องถิ่น. เชียงใหม่ : โครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่น คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
T. R. Reid. (1994). Kyoto Celebrates Its 1,200Th Anniversary. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557, เว็บไซต์ : http://community.seattletimes.nwsource.com/archive/?date=19941211&slug=1946676
• AUTHOR |
|
|
รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |