Cities Reviews

KANAZAWA วัฒนธรรมคือเศรษฐกิจของเมือง

          การเป็นนครเก่าแก่สำคัญในสมัยเอโดะ อันมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของซามูไรที่เป็นเอกลักษณ์ อาคารปราสาทราชวังที่สวยงาม โดดเด่นด้วยงานหัตถกรรมพื้นเมืองเก่าแก่ มรดกที่ล้ำค่าจุดประกายให้ท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และคนเมืองคานาซาว่า พัฒนาจุดขายของเมือง ต่อยอดงานวัฒนธรรมผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างผลิตภัณฑ์พื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์ เมืองคานาซาว่าในวันนี้จึงกลายเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น และกำลังดึงดูดทุกความสนใจของคนรักความเก๋ ความเก่า และความสร้างสรรค์ ให้มาเยือน

 

ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม

          เมืองคานาซาวะเกิดขึ้นราว 500 ปีก่อน ในช่วง ค.ศ. 1583 โทชิอิเอะ มาเอดะ ขุนนางในสมัยนั้นเดินทางเข้าปกครองปราสาทคานาซาว่า และเริ่มสร้างเมือง ต่อมาเมืองคานาซาวะถูกรวมอยู่ในเมืองเอโดะ (ปัจจุบันคือกรุงโตเกียว) มีไดเมียวตระกูลโทะกุงะวะเป็นโชกุน ตั้งแต่สมัยเอโดะเมืองคานาซาวะเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจอันรุ่งเรืองและมีอารยธรรมอันล้ำค่า ทั้งโชกุนและขุนนางศักดินาชั้นสูงทั้งหลายต่างให้การสนับสนุนงานทางวัฒนธรรม ทั้งงานฝีมือและศิลปะการแสดง วรรณกรรม สร้างห้องสมุด Sonkeikaku Bunko ส่งเสริมงานหัตถกรรม ทำให้เกิดช่างฝีมือทั้งงานโลหะและงานเคลือบทองจำนวนมาก ประกอบกับเมืองรอดพ้นจากการทำลายล้างในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมาได้ ทำให้สภาพเมืองยังคงรักษาความเป็นเมืองในยุค เอโดะได้อย่างสมบูรณ์

 

 

 

ก้าวเข้าสู่เมืองสร้างสรรค์ (Creative City)

          เศรษฐกิจโลกกำลังดำเนินไปสู่ยุคใหม่ โลกกำลังหันเหเข้าสู่ความสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมวัฒนธรรมกำลังเบ่งบาน หลายเมืองกำลังสร้างสรรค์อัตลักษณ์ที่แตกต่าง เพื่อสร้างมูลค่าในทางเศรษฐกิจและสานต่อวัฒนธรรมที่มีค่าให้คงอยู่ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายใช้วัฒนธรรมเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ เมืองคานาซาว่าได้ตอบรับนโยบายดังกล่าว เริ่มประกาศเทศบัญญัติอนุรักษ์สภาพแวดล้อมเก่าแก่ของเมือง ตั้งแต่ ปี 2511 เพื่อเป็นการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมในเมือง หลังจากนั้นก็ได้มีการประกาศเทศบัญญัติและกฎบัตรอีกหลายฉบับที่สัมพันธ์กับด้านภูมิทัศน์ ประวัติศาสตร์ และอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของเมือง

          กลไกการทำงานสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของคานาซาว่า เป็นการผนึกกำลังการทำงานของรัฐบาล นักธุรกิจ ช่างฝีมือ และประชาชนของเมืองคานาซาว่า ที่มีจินตนาการของเมืองในทิศทางเดียวกัน ใช้ทุนและความถนัดของของแต่ละฝ่ายหล่อหลอมให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ที่รอบด้าน รูปแบบและวิธีการของการสร้างเมืองสร้างสรรค์ประกอบด้วย

 

        1. สร้างสิ่งแวดล้อมของการเป็นเมืองสร้างสรรค์

          คานาซาว่าสร้างระบบสิ่งแวดล้อมของเมืองเพื่อเอื้อให้เมืองเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์จากรากวัฒนธรรม สร้างสถานที่ด้านวัฒนธรรม รวมไปถึงสถาบันที่ส่งเสริมและให้การศึกษาเกี่ยวกับงานศิลปะ เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะ จังหวัด Ishikawa ศูนย์หัตถกรรม Kanazawa Yuwaku Sosaku no mori วิทยาลัยศิลปะคานาซาวะ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยศตวรรษที่ 21 ห้องสมุด Kanazawa Umimirai ที่น่าสนใจคือ สถาบัน Kanazawa Utatsuyama Craft Workshop เป็นสถาบันทางด้านการศึกษาวิชาช่างของเมือง เปิดสอนวิชาช่างใน 5 สาขา ได้แก่ สาขางานลงรักปิดทอง สาขางานมัดย้อม สาขาเครื่องปั้นดินเผา สาขาเครื่องทอง และสาขาเป่าแก้ว ในแต่ละปีมีนักเรียนต่อรุ่นเพียงแค่ 30 คนเท่านั้น เนื่องจากทางสถาบันต้องการให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาออกไปเป็นช่างที่มีคุณภาพของเมือง ผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เทศบาลเมืองคานาซาว่าสนับสนุนทั้งหมด หลังจากเรียนจบแล้ว นักเรียนจากที่นี่จะได้รับการสนับสนุนให้มีสตูดิโอ เพื่อสร้างงานศิลป์ ของตนเอง ไม่เพียงแค่นั้นคานาซาว่ายังได้ก่อตั้ง กองทุน The Fund for Training in Traditional Techniques and Arts เพื่อสร้างและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้สืบทอดงานช่างในเมืองด้วย

          ตลอดทั้งปีคานาซาว่ามีงานกิจกรรมและเทศกาลวัฒนธรรม เช่น เทศกาล Kanazawa Hyakuman Goku เทศกาลดนตรีคานาซาวะ เพื่อให้ผู้คนได้สนุกสนานดื่มด่ำกับวัฒนธรรมของเมือง ยิ่งทำให้สภาพแวดล้อมและบรรยากาศของเมืองเต็มไปด้วยจิตวิญญาณวัฒนธรรมอบอวลไปทั่วทั้งเมือง

 

 

       2. สร้างสรรค์งานหัตถกรรมดั้งเดิม

          คานาซาว่ามีต้นทุนความงดงามของหัตถกรรมดั้งเดิม ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบงานหัตถกรรมดั้งเดิมให้เป็นสินค้าที่ร่วมสมัย ดึงดูดใจ ทำให้สินค้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีปัจจุบัน เข้ากันได้ดีกับชีวิตประจำวันของผู้คน กอรปกับการมีบรรยากาศของการเป็นเมืองวัฒนธรรม ทำให้คนเมืองและนักท่องเที่ยวต่างตอบรับงานฝีมือโบราณแบบร่วมสมัย ตัวอย่างสินค้าวัฒนธรรมของคานาซาว่ามีดังนี้

        - การย้อมใยผ้าไหม (Kaga Yuzen)

          ประยุกต์ใช้กับสินค้าในปัจจุบันอย่างหลากหลาย เช่น กระเป๋าเงินขนาดเล็ก Kaga Yuzen, Kaga Yuzen เนคไท เสื้อคลุม Yuzen กิโมโน Kaga Yuzen แสดงให้เห็นถึงความงดงามในการด้านแฟชั่นของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มักจะใช้ผ้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

        - แผ่นทองคานาซาวะ (Kanazawa Gold Leaf)

          เดิมแผ่นทองคานาซาว่าจะใช้ในงานพิธี ปัจจุบันมีการประยุกต์แผ่นทองเข้ากับอาหาร ใส่ในกาแฟ ชา ขนม อีกทั้งประยุกต์เข้ากับเครื่องสำอาง และการตกแต่งอาคารด้วย

        - เครื่องลายคราม Kutani

          สามารถนำเป็นของเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเป็นได้ทั้งถ้วย Kutan จานรอง Kutani เป็นต้น รวมถึงสามารถทำเป็น USB Kutani ได้

 

 

         3. ยกระดับเมืองสู่สากล

          คานาซาว่าไม่ได้หยุดนิ่งความสร้างสรรค์เพียงแค่ระดับเมือง ในระดับโลกคานาซาว่าได้เชื่อมต่อเมืองเข้ากับนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการฝึกงานในต่างแดน การศึกษาดูงานเมืองในต่างประเทศ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับช่างฝีมือ ทำให้คนรุ่นใหม่มีปฏิสัมพันธ์และมีประสบการณ์แลกเปลี่ยนกับวัฒนธรรมต่างชาติ ขยายวิสัยทัศน์และนวัตกรรมศิลปะของเมืองได้ ในปี 2008 คานาซาว่าเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Creative City Forum และได้เชิญประเทศสมาชิกใน กลุ่มเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO มาเข้าร่วม และในปี 2009 เมืองคานาซาว่าได้รับเลือกจากองค์การ UNESCO ให้เป็นเมืองแห่ง “ทุนวัฒนธรรมทางหัตถศิลป์” (City of Crafts & Folk Arts) ยิ่งให้ภาพชัดว่าคานาซาว่ายกระดับและสร้างบทบาทของเมืองให้อยู่ในเมืองสร้างสรรค์ระดับสากลได้

 

 

การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจขายประสบการณ์คานาซาว่า

          คานาซาว่าเต็มไปด้วยร้านค้าที่ทันสมัย สินค้าวัฒนธรรมที่หลากหลาย อาคารดั้งเดิมสำหรับผลิตสินค้าวัฒนธรรม จัดกิจกรรมอย่างหลากหลายพร้อมเชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์วัฒนธรรม ศิลปะพื้นบ้าน เช่น พิธีชงชา จัดดอกไม้ พร้อมกันนี้เปิดโอกาสเต็มที่ให้ช่างหรือศิลปินได้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนกับลูกค้า เกิดการโต้ตอบทางวัฒนธรรม อีกทั้งอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าร่วมเทศกาลภายใต้บรรยากาศแห่งการเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ไม่เพียงประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้และเข้าใจถึงบริบททางประวัติศาสตร์และเสน่ห์วัฒนธรรมที่งดงามของคานาซาว่าด้วย

          เมื่อเมืองกลายเป็นพื้นที่ของความสร้างสรรค์ ผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ใหม่ๆ คานาซาว่าสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยือนเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า 8 ล้านคนต่อปี เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 2 แสนคนต่อปี สร้างมูลค่ากว่า 700 ล้านดอลล่าสหรัฐ รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่า 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ของเมืองเลยทีเดียว และมีแนวโน้มรายได้จากการท่องเที่ยวจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

          คานาซาว่าก้าวเดินมาถึงทุกวันนี้ กุญแจสำคัญ คือ การพร้อมใจมีส่วนร่วมของภาคส่วนในเมือง พวกเขาไม่เพียงแต่เห็นความสำคัญของวัฒนธรรม แต่ยังสร้างและยอมรับนวัตกรรมใหม่นำมาปรับใช้กับวัฒนธรรมดั้งเดิม เมื่อความร่ำรวยทางวัฒนธรรม ผสมเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ กลายเป็นอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ กลายเป็นเมืองที่สร้างประสบการณ์ที่ล้ำค่าแก่ผู้มาเยือน ในวันนี้วัฒนธรรมของคานาซาว่าจึงเป็นต้นทุนที่ดีงามของเมือง นำพาเมืองก้าวเข้าสู่ความเป็นเมืองสร้างสรรค์ที่มีความสมดุลระหว่างมรดกทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของท้องถิ่นได้อย่างลงตัว

อ้างอิง

Hsu, Hao-Long. 2015. “Culture is a Good Idea - A Study on the Creative City Development Methods and Construction Features of Kanazawa”, International Journal of Humanities and Management Sciences (IJHMS), Volume 3, (2015), Issue 6.

ฤตินันท์ โกมุทสกุณี. “Competitive Growth – เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อวันใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์”. สำนักงาน ก.พ. 2557

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

 

Related Posts