Cities Reviews

เมืองใดที่มีสุขภาวะที่ดีที่สุดในโลก: ตัวชี้วัดเมืองที่เหมาะกับการอยู่อาศัยปี 2018

 

ฐิติรัตน์  รู้เสงี่ยม

 

ในปัจจุบัน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า พฤติกรรมการดำรงชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ในมีความสนใจดูแลสุขภาพและคำนึงถึงสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะความสมดุลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้น สิ่งแวดล้อมรอบตัวในเมืองจึงเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเมืองมีสุขภาวะที่ดี ด้วยเหตุนี้เราจึงสรุปบทความเรื่อง The World’s Healthiest Cities, Which Cities Are the Best for Healthy Living? จากเว็บไซต์ spotahome ซึ่งชี้ว่านอกจากพฤติกรรมของผู้คนในแต่ละวันที่ล้วนมีผลกระทบต่อสุขภาพและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับประทานอาหาร การพักผ่อนนอนหลับ หรือการออกกำลังกาย ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันและมักถูกมองข้าม นั้นก็คือ สภาพแวดล้อมของเมือง

 

ชีวิตเราจะมีสุขภาวะที่ดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราได้อาศัยอยู่ในเมืองที่มาพร้อมกับกระแสสังคมที่ต้องการมีสุขภาพที่ดี ให้ความสำคัญกับอากาศบริสุทธิ์ อาหารที่สะอาด และมีสถานที่ออกกำลังกายที่มีคุณภาพสูง ในทางตรงกันข้าม หากเราอยู่อาศัยในเมืองที่มีมลพิษสูง มีร้านอาหารจานด่วนมากมาย และไม่มีพื้นที่สีเขียวมากพอ ก็คงเป็นการยากที่เราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นคำถามว่า เมืองสุขภาวะที่ดีต้องมีลักษณะอย่างไร ผู้เขียนบทความนี้จึงคำนวณดัชนีวัดค่าความเป็นเมืองสุขภาวะ ซึ่งจากการสำรวจมากกว่า 80เมืองทั่วโลกแล้วนำมาจัดอันดับคะแนนตามตัวชี้วัด 10 ตัว ใน 4 ด้าน อันได้แก่

 

ด้านสุขภาพ (Health):

ค่าเฉลี่ยคะแนนสถานที่ออกกำลังกาย (Average Gym Rating) – วัดจากคะแนนเฉลี่ยจากผู้ใช้บริการสถานที่บริเวณออกกำลังกายใจกลางเมืองที่สุ่มจำนวน 60 แห่ง ผ่านทาง Google Places API 

ค่าเฉลี่ยแสงอาทิตย์ต่อปี (Annual Sunshine Hours) – วัดจากช่วงเวลาที่มีแสงอาทิตย์ในแต่ละเมืองเฉลี่ยต่อปี โดยใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ท้องถิ่นและเว็บไซต์ตรวจสอบสภาพภูมิอากาศ

อายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy at Birth) – วัดจากการเปรียบเทียบอายุคาดเฉลี่ยของประชากร เมื่อกำหนดให้การตายคงที่ โดยใช้ข้อมูลจากสารสนเทศแบบกาลานุกรมเกี่ยวกับประเทศของโลก (Central Intelligence Agency World Factbook)
 
 
ด้านอาหาร (Food):

ร้านอาหารจานด่วน (Fast-Food Outlets) – วัดจากจำนวนร้านอาหารประเภทอาหารจานด่วน บนเว็บไซต์ TripAdvisor ต่อจำนวนประชากรเมือง 100,000 คนที่อาศัยอยู่ในแต่ละเมือง 

ภาวะโรคอ้วนในผู้ใหญ่ (Obesity in Adults) – วัดจากจำนวนประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีภาวะน้ำหนักเกิน โดยใช้ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organisation)


ด้านการทำงาน (Work):

จำนวนวันลาพักร้อนประจำปี (Annual Vacation Days) – วัดจากจำนวนวันลาพักร้อนแบบไม่ถูกหักเงินเดือนตามกฎหมาย (Paid Vacation) ไม่รวมถึงวันหยุดนักขัตฤกษ์ สำรวจจากการแบ่งตามอาชีพในแต่ละเมือง โดยใช้ข้อมูลจาก UBS Global Cities Ranking 2018

สมดุลยภาพระหว่างชีวิตกับงาน (Work-Life Balance) – วัดจากจำนวนพนักงานที่ทำงานเป็นเวลานานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยใช้ข้อมูลจาก OECD Better Life Index


ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment):

คุณภาพอากาศและน้ำ (Air and Water Quality) – วัดจากค่าเฉลี่ยมลพิษในแต่ละเมือง โดยเฉพาะเรื่องของอากาศและน้ำ โดยใช้ข้อมูลจาก Numbeo Pollution Index 2018

พื้นที่สีเขียว (Green Space) – วัดจากคุณภาพของพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะในเมือง โดยใช้ข้อมูลจาก Numbeo Pollution Index 2018

จุดชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ (Electric Car Charging Points) – วัดจากจำนวนจุดชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ในระยะทุก 5 ไมล์ ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง โดยใช้ข้อมูลจาก Open Charge Map
 
 
ส่วนวิธีคำนวณคะแนน จะใช้ข้อมูลล่าสุดจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ในการคำนวณ จากนั้นตัวชี้วัดแต่ละตัวจะถูกปรับเกณฑ์ให้คะแนนอยู่ระหว่าง 0 ถึง 10 เหมือนกันทุกตัวชี้วัด โดยใช้หลักการ Min-Max Normalisation ในการคำนวณ ยิ่งมีค่าสูง ยิ่งบ่งบอกถึงความเป็นเมืองสุขภาวะที่ดีของเมืองนั้น ๆ เขียนเป็นสมการได้ดังนี้
 
 
โดยที่:

Xi คือ ค่าของตัวชี้วัดของเมือง

Min(x) คือ ค่าต่ำสุดของตัวชี้วัด

Max(x) คือ ค่าสูงสุดของตัวชี้วัด
 
 
ทั้งนี้ ข้อมูลที่นำมาคำนวณอาจเป็นข้อมูลระดับเมืองหรือระดับประเทศก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามีข้อมูลระดับเมืองหรือไม่ หากไม่มี คะแนนระดับประเทศก็จะถูกนำมาใช้เป็นคะแนนเมือง ตัวอย่างเช่น หากประเทศฝรั่งเศสมีอายุคาดเฉลี่ยเท่ากับ 8.42 เมืองปารีส ลียง และมาร์กเซย์ก็จะมีค่าอายุคาดเฉลี่ยเท่ากับ 8.42 เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ หากเมืองใดขาดข้อมูลมากกว่า 1 ตัวชี้วัด ก็จะไม่ถูกนำมาจัดลำดับ
 
 
 

จากตารางดัชนีวัดค่าความเป็นเมืองสุขภาวะ ที่ได้จากการสำรวจ 89 เมืองทั่วโลก พบว่าเมืองที่มีสุขภาวะที่ดี 5 อันดับแรก ได้แก่ เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมืองมิวนิก และเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ตามลำดับ เมืองที่มีสุขภาวะที่ดีที่สุดในโลกอย่างอัมสเตอร์ดัมมีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 6.97 ทิ้งห่างเมืองออสโลที่มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 6.61 ในขณะที่เมืองรอตเทอร์ดาม เมืองมิวนิก และเมืองเบอร์ลินมีค่าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 6.60 6.60 และ 6.52 ตามลำดับ โดยภาพรวมแล้วเมืองที่ตั้งอยู่ในโลกซีกตะวันตกจะมีค่าสมดุลยภาพระหว่างชีวิตกับงาน ค่าคุณภาพอากาศและน้ำ และค่าคุณภาพพื้นที่สีเขียวสูง เมืองส่วนโลกซีกตะวันออกจะมีค่าเฉลี่ยแสงอาทิตย์ต่อปี จำนวนร้านอาหารจานด่วน และจำนวนผู้ใหญ่ที่มีภาวะโรคอ้วนเป็นจำนวนมาก

สำหรับกรุงเทพมหานครของเรานั้นถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 73 มีคะแนนเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.59 จากตารางแสดงข้อมูลชี้ให้เห็นว่าแม้ว่ากรุงเทพมหานครจะมีค่าเฉลี่ยคะแนนสถานที่ออกกำลังกายอยู่ที่ 6.88 และค่าเฉลี่ยแสงอาทิตย์ต่อปีอยู่ที่ 5.88 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ตัวชี้วัดอื่น ๆ มีค่าต่ำมากอยู่ระหว่าง 0-3.24 เท่านั้น โดยเฉพาะจุดชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ คุณภาพอากาศและน้ำ หรือพื้นที่สีเขียว ที่มีค่า 1.01 2.34 และ 3.24 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่ากรุงเทพมหานครยังมีหลายจุดที่ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาเพื่อให้คนกรุงเทพฯมีคุณภาพชีวิตและมีสุขภาวะที่ดีขึ้น ดังสโลแกน “กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว”

 

อ้างอิง 

เนื้อหาจาก: https://www.spotahome.com/healthiest-cities-world

ภาพจาก: https://www.aplhealth.com/2018/02/01/healthy-cities-urban-design-health-choices/

 

 

 

 

• AUTHOR

 


ฐิติรัตน์  รู้เสงี่ยม

รัฐศาสตร์บัณฑิต ภาคสังคมวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Related Posts