Cities Reviews

เซี่ยงไฮ้ x หางโจว เมืองสีเขียวของจีน

เรื่องโดย ดารณี เสือเย๊ะ 

 

โลกเราทุกวันนี้ กำลังกลายเป็นเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทศวรรษ 1800 ประชากรของโลกที่อาศัยอยู่ในเมืองมีเพียง 3% เท่านั้น แต่ในช่วงทศวรรษ 1950 ตัวเลขของคนเมืองพุ่งขึ้นไปถึง 30% ในปัจจุบัน ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองมีจำนวนมากกว่า 50% มีการคาดคะเนว่า ในปี ค.ศ. 2030 ประชากรโลกจำนวนมากถึง 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด จะอาศัยอยู่ในเมือง

จากการศึกษาขององค์กรมาตรวิทยาในกลุ่มยุโรปตะวันตก (EURAMET) เมื่อปี ค.ศ. 2013 พบว่า เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกครอบคลุมพื้นที่เพียง 2% ของพื้นผิวโลก แต่กลับมีปริมาณการบริโภคพลังงานสูงถึง 75% ดังนั้น พลังงานและสิ่งแวดล้อม (เช่น การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) จึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญและปรับตัวรับมือเป็นอันดับแรก ๆ โดยเฉพาะกับมหานคร (Mega Cities)

ภาพที่ 1 40 มหานครทั่วโลก

ที่มา: EURAMET. (2013). Mega Cities [online], 6 June 2014. Retrieved: http://www.emrponline.eu/call2013/docs/MegaCities.pdf

 

มหานคร (เมืองที่มีการกระจุกตัวของประชากรอย่างหนาแน่น มีประชากรที่อาศัย (inhabit) อยู่ในเมืองนั้น ๆ มากกว่า 10 ล้านคน[1]) กำลังเกิดขึ้นและกระจายตัวไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะทวีปเอเชีย (ดูภาพที่ 1) ที่มีการกระจุกตัวของมหานครอย่างหนาแน่น โดยที่ 40 มหานครนั้นเป็นตัวแทนของประชากรราว 300 ล้านคน ที่ทำให้เกิด GDP ของโลก 18% และเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 10% โดยมีประเทศจีนเป็นตัวแปรสำคัญของการปลดปล่อยก๊าซพิษดังกล่าวขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก

จากการเปิดเผยรายงานประจำปี ค.ศ. 2013 ของหน่วยงานการประเมินสิ่งแวดล้อมของประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherlands Environmental Assessment Agency)[2] พบว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ซึ่งเกิดจากกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ ของปี ค.ศ. 2011 สูงขึ้นถึง 3% แตะระดับ 34,000 ล้านตันเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ จีนกลายเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยกับปริมาณเฉลี่ย 6-19 ตัน/คน ในช่วงของการก้าวข้ามมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลก โดยปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่าร้อยละ 70 ของปี ค.ศ. 2012 เกิดจากประเทศจีน

แม้จีนจะเป็นประเทศที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลก เรื่องการบริโภคพลังงานจำนวนมหาศาล ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกก็ตาม แต่เมืองเซี่ยงไฮ้และเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ก็สามารถเป็นหนึ่งในต้นแบบเกี่ยวกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายใต้การเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของมหานครต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของคนเมือง

 

เซี่ยงไฮ้ มหานครต้นแบบด้านการรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของเมือง

ภาพที่ 2 สัดส่วนการใช้ประโยชน์จากที่ดินของเมืองเซี่ยงไฮ้

ที่มา:  Shanghai Meteorological Bureau . Climate Change in Mega-City Shanghai and its impacts [online], 6 June 2014. Retrieved: http://www.atse.org.au/Documents/International%20Colloboration/Workshops/Aust%20China%20Science%20and%20Tech/Climate%20Change/Zhan.pdf

 

“เซี่ยงไฮ้” แปลว่า “อยู่สูงจากทะเล” ชื่อเมืองถูกตั้งตามทำเลที่ตั้งเมื่อพันกว่าปีที่ผ่านมา ผู้บุกเบิกเมืองคงจินตนาการไม่ออก ถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่เมืองเซี่ยงไฮ้กำลังเผชิญอยู่ เมืองที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล

มหานครเซี่ยงไฮ้ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งด้านทิศตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ตอนกลางของประเทศจีน ใกล้กับปากแม่น้ำแยงซีเกียง บริหารงานแบบเทศบาลนครที่มีสถานะเทียบเท่ามณฑลหนึ่ง ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศจีน (รองจากเมืองกวางโจว) จำนวนประชากรที่มีมากถึง 25,300,000 คน[3] (มากเป็นอันดับ 5 ของโลก) ความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่อยู่ที่ 4,887 คนต่อตารางกิโลเมตร มีสัดส่วนความเป็นพื้นที่เมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก

จากภาพที่ 2 พบว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา พื้นที่ความเป็นเมือง (Urban land) ของเซี่ยงไฮ้เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สวนทางกับการลดลงของพื้นที่เพาะปลูก (Cropland) และสัดส่วนที่เป็นพื้นน้ำ (Water body)  กับพื้นที่สีเขียว (Green land) ที่ขยายออกอย่างช้า ๆ

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเมืองเซี่ยงไฮ้

สถานะของมหานครเซี่ยงไฮ้ที่มีต่อประเทศจีนก็เช่นเดียวกับที่มหานครนิวยอร์กมีต่อประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ สัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ หรือเป็นสัญญาณเตือนแห่งความเจ็บปวดที่กำลังคืบคลานเข้ามา ในอดีตนิวยอร์กเป็นเมืองศูนย์กลางของอุตสาหกรรม เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเกือบจะเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การล่มสลายของเมือง ภาวะโลกร้อนทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกันมหานครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1920-1930 เป็นต้นมา จมตัวลงกว่า 2.8 เมตร การเผชิญกับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม พายุไต้ฝุ่น และทอร์นาโด คือความผิดปกติที่ปรากฏขึ้นบ่อยครั้ง และสถานการณ์ที่เมืองกำลังจมลง หากไม่มีการวางแผนการเติบโตของเมืองในอนาคต เซี่ยงไฮ้จะจมลง 1.5 เซนติเมตร ทุก ๆ ปี เป็นสัญญาณเตือนที่เซี่ยงไฮ้ต้องเลือกระหว่างปรับตัวหรือหายนะ (Adapt or Die) เช่นที่นิวยอร์กเคยเลือกมาแล้ว

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เซี่ยงไฮ้จมน้ำทะเลก็คือ การสูบน้ำจากใต้ดินมาใช้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาการทรุดตัวของรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ คือ การติดตั้งท่อสูบน้ำจากทะเลสาบไท่หูมาใช้บริโภคในมหานครเซี่ยงไฮ้ แทนที่การสูบน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลขึ้นมา นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเขื่อนบริเวณชายฝั่งเพื่อป้องกันการกัดเซาะพื้นดิน และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในมหานครเซี่ยงไฮ้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

แนวทางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การก่อสร้างประตูระบายน้ำ

เมืองเซี่ยงไฮ้พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรก่อสร้างประตูระบายน้ำบริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง เนื่องจากสามารถเปิดหรือปิดประตูระบายน้ำได้ตามปริมาณของน้ำในแม่น้ำที่เปลี่ยนแปลงไปตามแต่ฤดูกาล สามารถควบคุมปริมาณน้ำที่ต้องการให้ไหลผ่าน ควบคุมความเร็วของน้ำ หรือใช้ในการกักเก็บน้ำได้ ในขณะเดียวกัน ประตูระบายน้ำยังช่วยป้องกันในกรณีที่เกิดพายุอีกด้วย

นอกจากเหตุผลเรื่องประสิทธิภาพของการควบคุมปริมาณน้ำ ประตูระบายน้ำยังมีต้นทุนในการก่อสร้างน้อยกว่าการปรับพื้นที่ของเขื่อนให้สูงขึ้น ซึ่งทางรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ใช้งบประมาณในการบริหารจัดการน้ำท่วมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การเพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำ

มหานครเซี่ยงไฮ้ยังคงใช้วิธีเสริมแนวกันน้ำท่วมบริเวณริมแม่น้ำ ซึ่งบางครั้งกลายเป็นตัวการที่สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ริมแม่น้ำมากกว่า อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและความพยายามในการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นในปริมาณเท่าตัวทุก ๆ ปี ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณชายฝั่งค่อย ๆ ลดลง และถูกแทนที่ด้วยกับโรงงานอุตสาหกรรมและอะพาร์ตเมนต์จำนวนมาก ซึ่งต้องการพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อการปลูกสร้างโรงงานและอะพาร์ตเมนต์แห่งใหม่ที่ไม่มีสิ้นสุด เนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเพียงที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์เท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นเกราะคุ้มกันอีกกว่า 22 ล้านคนในเมืองเซี่ยงไฮ้จากภัยธรรมชาติอีกด้วย

พื้นที่กิจกรรมเหล่านี้เป็นเสมือนเชื้อเพลิงที่ให้พลังงานแก่เศรษฐกิจของมหานคร แต่ในสมรภูมิของการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้สุขภาวะของเมืองอ่อนแอลง

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากคณะกรรมการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ (The Natural Resources Defense Council) กล่าวว่า ในขณะที่รถแทรกเตอร์กำลังจัดการขุดพืชชนิดต่าง ๆ ในพื้นที่ชุ่มน้ำออกไป เพื่อแทนที่ด้วยกับอาคารหลังใหม่ นั่นเท่ากับว่ามหานครเซี่ยงไฮ้กำลังสูญเสียแนวป้องกันตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถลดการกัดเซาะหน้าดินและช่วยลดการปะทะของคลื่นลมพายุ

ดังนั้น การแก้ปัญหานี้จึงอยู่ที่การหันกลับมาให้ความสำคัญกับพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อทดแทนในส่วนที่แผ้วถางไป หนึ่งในวิธีการที่เซี่ยงไฮ้กำลังดำเนินการอยู่ก็คือเปลี่ยนตัวเองไปสู่การใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจใหม่ โดยการคัดท้ายออกจากภาคอุตสาหกรรมที่หิวกระหายพื้นที่ในการก่อสร้างโรงงาน และมุ่งหัวเรือการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองไปสู่ภาคการเงินการธนาคารที่ต้องการเพียงแค่โต๊ะกับคอมพิวเตอร์ในการทำงานเท่านั้น[4]

นอกจากนี้ เมืองเซี่ยงไฮ้ยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา เซี่ยงไฮ้ได้ปรับปรุงระบบรางรถไฟให้มีความเชื่อมโยงกันทั่วทั้งเมือง จนในปัจจุบันถือว่าเป็นระบบที่มีความยาวมากที่สุดในโลก จูงใจให้ประชาชนจอดรถไว้ที่บ้าน และหันมาใช้ระบบรถโดยสารสาธารณะเพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่เซี่ยงไฮ้กำลังดำเนินการเรื่องพลังงานสะอาด ประเทศจีนได้แถลงโครงการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของจีนให้แก่กริด (Grid) หรือเครือข่ายพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกันและกระจายทรัพยากรให้แก่กัน ซึ่งต่อมา กลายเป็นฟาร์มกังหันลม (Wind Farm) นอกพื้นที่ยุโรปที่ใหญ่ที่สุดแห่งแรกของโลก และด้วยการช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย กระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำถูกส่งไปยังมหานครเซี่ยงไฮ้ด้วยกับระยะทางไกลกว่าพันไมล์ ส่งผลให้เซี่ยงไฮ้พัฒนามาเป็นเมืองพลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งใหม่ของโลก

อย่างไรก็ตาม กระแสไฟฟ้าครึ่งหนึ่งของเมืองก็ยังคงผลิตมาจากถ่านหิน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อที่จะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เซี่ยงไฮ้จำเป็นต้องลดการบริโภคพลังงานให้น้อยลง ผ่านการออกกฎบังคับให้อาคารต่าง ๆ ต้องมีเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Water Heaters) มาตรการขึ้นราคาค่าไฟฟ้ากับอุตสาหกรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพในการผลิต กล่าวคือ เป็นการผลิตที่มีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าสูง รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก ซีเมนต์ และโรงงานผลิตหนัง

รัฐบาลใช้วิธีการให้แรงจูงใจ (carrots) ร่วมกับการออกคำสั่งและการขอความร่วมมือตลอดระยะเวลาของการดำเนินงาน ทั้งในระดับภาคอุตสาหกรรมที่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือทางด้านการเงิน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และในระดับครัวเรือนต่างได้รับเงินส่วนลดจากรัฐบาลหากเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟและเครื่องปรับอากาศแบบประหยัดพลังงาน

ผลการดำเนินงานปรากฏว่า สามารถลดการใช้พลังงานในมหานครเซี่ยงไฮ้ได้มากถึง 20% โดยวัดจากหน่วยไฟฟ้าต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจ ระหว่างปี ค.ศ. 2007-2011 รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ไม่เพียงแต่ให้คำมั่นสัญญาว่า จะรักษาระดับการลดใช้พลังงานให้อยู่ที่ 20% ต่อไปในอนาคตเท่านั้น แต่ยังเป็นครั้งแรกที่มหานครสามารถควบคุมปริมาณการใช้พลังงานของเมืองได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมาตรการกระตุ้นการลดใช้พลังงานผ่านเครื่องมือทางการเงินหรือการออกกฎหมาย หากรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ยังคงอนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารเพิ่มอีกต่อไปเรื่อย ๆ พร้อมกับพื้นที่สีเขียว จำนวนต้นไม้ และผืนดินที่ลดลง ความสามารถของเมืองในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ยังคงลดลงอยู่ดี

ล่าสุด รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้ผลักดันเรื่องการทำสวนในอาคาร ซึ่งจะเป็นผลให้ในปี ค.ศ. 2015 อาคาร หลังคา และผนังของอาคารที่จะปลูกสร้างใหม่และอาคารที่มีอยู่เดิมจะต้องปลูกต้นไม้ พุ่มไม้ หรือดอกไม้ในบริเวณโดยรอบของอาคาร คาดว่า จะสามารถสร้างพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่แห่งใหม่ ซึ่งมีปริมาณการดูดซับก๊าซพิษประมาณครึ่งหนึ่งของขนาดสวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์ก (New York’s Central Park) ที่มีขนาดประมาณสนามฟุตบอล 460 สนามเรียงต่อกัน

 

ภาพที่ 3 เมืองเซี่ยงไฮ้

ที่มา: http://www.visitourchina.com/guide/peoples_square.htm

 

เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง เมืองโดดเด่นด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของเมือง

เราอาจจะสังเกตจากกรณีศึกษา ในหลาย ๆ เมืองที่หันมาปฏิรูปแนวทางการพัฒนาในอนาคตของแต่ละเมืองได้ว่า เมืองที่มีระบบการบริหารจัดกาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ดีนั้น ส่วนใหญ่ล้วนมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่มั่นคงเต็มที่จนสามารถหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความสุขของคนที่อาศัยอยู่ในเมือง เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ก็เช่นเดียวกัน

หางโจว เป็นเมืองหลวงของมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศจีน บนที่ราบน้ำท่วมถึงริมฝั่งแม่น้ำแยงซี เจริญรุ่งเรืองหลังจากที่มีการขุดคลองคลองต้ายวิ่นเหอ (The Grand Canal) ในสมัยราชวงศ์สุย (581-618) ถือเป็น 1 ใน 6 ของเมืองโบราณที่มีชื่อเสียงของจีน (อีก 5 เมืองที่เหลือ คือ ปักกิ่ง หนานจิง ซีอาน ลั่วหยาง และไคเฟิง) พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกล้อมรอบด้วยภูเขา มีเนื้อที่ประมาณ 1 ใน 5 ของประเทศไทย แต่มีจำนวนประชากรเท่ากับประเทศไทย ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องความหนาแน่นของประชากรและพื้นที่เกษตรกรรมมีน้อย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักของเมืองนี้คือ การท่องเที่ยว

เมืองหางโจวได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “สวรรค์บนดิน” (Paradise on Earth) ด้วยกับความสวยงามของทะเลสาบซีหู (ทะเลสาบตะวันตก) และสถานที่สำคัญอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ขึ้นชื่อว่ามีธรรมชาติอันวิจิตรงดงามราวกับจิตรกรฝีมือดีบรรจงรังสรรค์เอาไว้ก็มิปาน ตัวอาคารบ้านเรือนของเมืองหางโจวจะก่อสร้างไม่สูงมากนัก ตึกใหญ่จะสูงเพียงแค่ 7-8 ชั้นเท่านั้น เนื่องจากเกรงว่า จะบดบังทิวทัศน์ที่สวยงามโดยรอบของเมือง นอกจากนี้ หางโจวยังขึ้นชื่อเรื่องอุตสาหกรรมผ้าไหมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 [5] และยังคงความงดงามและได้รับการกล่าวถึงมาจนปัจจุบัน

 

ภาพที่ 4 ทะเลสาบซีหู (West Lake)

ที่มา: http://en.gotohz.com/whyhangzhou/wlh/wlhabout/201307/t20130716_86499.shtml#sthash.fl29eftD.dpbs

 

ทะเลสาบซีหู: มรดกโลกทางวัฒนธรรม

หนึ่งในตัวแบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่สำคัญหนึ่งของเมืองหางโจว คือ การฟื้นฟูทะเลสาบซีหู ที่อยู่ตรงใจกลางของเมืองหางโจว มีความยาวจากทิศเหนือถึงทิศใต้ 3.3 กิโลเมตร และความกว้างจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก 2.8 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นทะเลสาบตามธรรมชาติ ขณะที่พื้นที่บางส่วนก็ถูกขุดขึ้นมาทีหลัง

ซีหูเป็นทะเลสาบที่ทอดยาวทางด้านตะวันตกของเมืองหางโจว เกิดจากการที่อ่าวเล็ก ๆ บริเวณปากแม่น้ำเฉียนถัง (Qiantang) แยกตัวออกจากทะเลเนื่องมาจากตะกอนของแม่น้ำจนกลายเป็นทะเลสาบ มีเกาะขนาดประมาณ 6 ตารางกิโลเมตร ภูเขาล้อมรอบทั้งสามด้าน น้ำในทะเลสาบใสสะอาดงดงาม เขื่อนไป๋ (Bai) เขื่อนดินที่พาดยาวจากทิศตะวันออกไปจรดทิศตะวันตก และเขื่อนซู (Su) ที่ทอดตัวจากทิศเหนือจรดทิศใต้ เสมือนเข็มขัดเขียวสองเส้นที่ลอยอยู่ในทะเลสาบ นักท่องเที่ยวสามารถเดินบนเขื่อนดิน ชมดอกไม้หลากสีสันและต้นไม้สีเขียวหลากชนิดโดยรอบบริเวณ สามารถมองแสงสะท้อนของน้ำในทะเลสาบและภูเขาที่ห่างไกลออกไป 

ทะเลสาบซีหูมีพื้นที่หลายส่วนด้วยกัน แบ่งเป็นทะเลสาบใน (The Inner Lake) ทะเลสาบนอก (The Outer Lake) ซึ่งมีหมู่เกาะ 3 เกาะอยู่ในบริเวณนี้ ทะเลสาบยู (Yue Lake) ทะเลสาบในตะวันตก (West Inner Lake) และทะเลสาบใต้เล็ก (Small South Lake)

นอกจากความสวยงามที่เกิดจากธรรมชาติรอบ ๆ ทะเลสาบแล้ว บริเวณเนื้อที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตรรอบ ๆ ทะเลสาบยังเต็มไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ศาลา เสา เจดีย์ และถ้ำ รวมไปถึง น้ำพุ ไอน้ำ และสระน้ำ ต่างเรียงรายอยู่บนเนินเขาสีเขียวรอบทะเลสาบนับเป็นทะเลสาบที่งดงามมากในสุดจากบรรดาทะเลสาบที่มีชื่อเดียวกัน (West Lake)[6] ในประเทศจีน

หลายท่านอาจนึกภาพทะเลสาบซีหูตอนสกปรกไม่ได้ ครั้งหนึ่งทะเลสาบถูกปล่อยปละละเลยจนน้ำในทะเลสาบไม่ใสสะอาดและสวยงามเช่นในปัจจุบัน รัฐบาลท้องถิ่นเริ่มดำเนินการฟื้นฟูตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2002 แก้ปัญหาโดยการย้ายคนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบทะเลสาบซีหูออกไปอยู่ที่อื่น แล้วเริ่มสร้างสวนสาธารณะ 4 แห่ง บริเวณตอนใต้ของทะเลสาบ สร้างพื้นที่สีเขียวขึ้นมาเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากภายนอกเข้ามาเยี่ยมชม โดยไม่คิดค่าบริการตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์, ออกกฎห้ามก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่บริเวณทะเลสาบซีหู นอกจากนี้ รัฐบาลเมืองหางโจวยังยอมจ่ายเงินจำนวนมากให้แก่มณฑลอานฮุย ต้นน้ำของทะเลสาบเชียนเต่าหูที่มณฑลเจ้อเจียงใช้ในการอุปโภคบริโภค เพื่อให้มณฑลอานฮุยรักษาต้นน้ำให้ดี  

อันเนื่องมาจากคุณค่าทางวัฒนธรรมและความสวยงาม ทำให้ทะเลสาบซีหูได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยองค์การยูเนสโกใน ปี ค.ศ. 2011 โดยให้เหตุผลว่า ทะเลสาบซีหูแสดงให้เห็นถึงความสวยงามแบบจีน การออกแบบที่ผสมผสานแนวคิดระหว่างมนุษย์และธรรมชาติเข้าด้วยกันตามประเพณีของชาวจีน มีการใช้สิ่งก่อสร้างจากฝีมือของมนุษย์ เช่น วัด เจดีย์ สวน และเกาะเทียม ร่วมกับภูมิประเทศที่เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ จนได้งานศิลปะที่งดงามและกลมกลืน นับเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กวีและศิลปินรังสรรค์ผลงานมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายศตวรรษ และยังมีอิทธิพลต่อการออกแบบสวนในที่อื่น ๆ อีกด้วย

 

ภาพที่ 5 สถานีให้บริการเช่ารถจักรยาน

ที่มา: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/6/6a/Hangzhou_bike_sharing_station.jpg

 

เมืองจักรยาน

เมืองหางโจวในฐานะเมืองหลวงของมณฑลเจ้อเจียง ถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และการที่เป็นเมืองใหญ่ทำให้หางโจวต้องเผชิญกับปัญหารถติดเช่นที่เมืองใหญ่อื่น ๆ มักจะเผชิญ หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาของเมืองหางโจว คือ การจัดทำระบบรถจักรยานให้เช่า (Bike Sharing Programe) โดยมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนหลัก เริ่มดำเนินการมากว่า 5 ปีแล้ว ปัจจุบันมีจักรยานในโครงการให้เช่ากว่า 50,000 คัน และเป็นต้นแบบโครงการจักรยานให้เช่าในเมืองใหญ่อื่น ๆ ของประเทศจีน

เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2008 รัฐบาลหางโจวได้เปิดตัวโครงการระบบรถจักรยานให้เช่า (Bike Sharing System) แห่งแรกของประเทศจีน และเป็นระบบรถจักรยานให้เช่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย[7] เพื่อส่งเสริมระบบการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ขยายตัวออกไป ทั้งคนในเมืองหางโจวและนักท่องเที่ยวสามารถเช่ารถจักรยานและใช้ขี่บนเส้นทางจักรยานโดยเฉพาะ (Bike Lane) ที่มีระยะทางกว่าร้อยกิโลเมตร

ระบบรถจักรยานให้เช่าในเมืองหางโจวนั้นถูกออกแบบ ดำเนินการ และใช้งบประมาณจากรัฐบาลท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อให้ครอบคลุมกิโลเมตรสุดท้ายจากสถานีรถโดยสารสาธารณะไปยังจุดหมายปลายทางหรือการเดินทางไปยังสถานีรถโดยสารสาธารณะ งบประมาณหลายร้อยล้านหยวนถูกนำมาใช้ในการลงทุน

ระบบรถจักรยานให้เช่า

รัฐบาลหางโจวนำระบบบัตรอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการจัดการแทนแรงงานมนุษย์ กว่า 80% ของสถานีรถจักรยานให้เช่าในเมืองหางโจวไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำดูแล (ดูภาพที่ 5) ผู้ใช้ต้องบริการตนเอง เพียงแตะบัตรที่เครื่องล็อกรถ (ดูภาพที่ 6) เพื่อให้เครื่องปลดล็อกทำงาน เราจะเห็นสัญญาณไฟสีเขียวกระพริบ ระบบจะหักเงินจากบัตร 200 หยวน และเริ่มนับชั่วโมงการให้บริการ เมื่อใช้รถจักรยานเสร็จเรียบร้อยแล้ว วิธีการคืนรถจักรยานก็ไม่ยุ่งยาก ผู้ใช้เพียงแค่นำรถไปจอดบริเวณช่องจอดรถจักรยานที่ว่างอยู่ แตะบัตรที่เครื่อง ก็จะได้รับเงินคืน

 

ภาพที่ 6 วิธีการใช้บริการ

ที่มา: http://untappedcities.com/wp-content/uploads/2013/07/Bike-Sharing-Program-global-China-Untapped-Cities-Celeste-Zhou5.jpg

 

เนื่องจากการคำนวณค่าบริการรถจักรยานให้เช่าจะเริ่มคิดเงินเมื่อผู้ใช้ขี่จักรยานเกิน 1 ชั่วโมง ปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ระบบรถจักรยานให้เช่าเฉพาะในช่วงแรกหรือช่วงสุดท้ายของการเดินทางเท่านั้น ทำให้ 96% ของการใช้บริการมีระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง โดยมีอัตราการขี่จักรยานเฉลี่ยอยู่ที่ 23 นาที รัฐบาลเมืองหางโจวจึงได้กำไรจากค่าบริการไม่มากนัก การเปิดให้เช่าพื้นที่โฆษณาบนรถจักรยานจึงกลายมาเป็นแหล่งรายได้หลัก ซึ่งมากพอที่จะกำหนดราคาค่าเช่าบริการในอัตราที่ต่ำมาก ๆ ได้ กล่าวคือ ค่าบริการ 1 หยวน สำหรับ 1-2 ชั่วโมง 2 หยวน สำหรับ 2-3 ชั่วโมง และค่าบริการ 3 หยวน สำหรับการขี่ที่มากกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไป

 

ภาพที่ 7 ปริมาณการใช้บริการระบบรถจักรยานให้เช่า

ที่มา: ICLEI. (2011). Hangzhou, China The world’s largest bike sharing program [online], 8 July 2014. Retrieved: http://www.ecomobility.org/fileadmin/template/project_templates/ecomobility/files/Publications/Case_stories_EcoMobility_Hangzhau_PDF_print.pdf

 

          เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2008 เมืองหางโจวมีสถานีบริการให้เช่ารถจักรยาน 61 แห่ง รถจักรยานทั้งหมด 2,800 คัน  ก่อนที่ในปลายปี ค.ศ. 2009 จะมีการขยายสถานีบริการให้เช่ารถจักรยานเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 สถานี และรถจักรยานอีก 60,600 คัน คุณสามารถพบสถานีบริการทุก 100 เมตร ตั้งแต่เปิดให้บริการ ตัวเลขผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 240,000 เที่ยว/วัน ตัวเลขการใช้บริหารที่มากที่สุด คือ 320,000 เที่ยว/วัน

          สัดส่วนการใช้รถจักรยานในการเดินทางของเมืองหางโจวอยู่ที่ 43% ซึ่งระบบรถจักรยานให้เช่าก็รวมอยู่ในนั้นด้วย การเดินทางโดยรถจักรยานของเมืองหางโจวต่อวันคิดเป็นระยะทาง 1,123,200 กิโลเมตร ในระยะทางที่เท่ากัน หากเป็นการเดินทางโดยใช้รถจักรยานยนต์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ในปริมาณที่มากกว่า 200,000 กิโลกรัม อ้างอิงจากตัวเลขนี้ เป้าหมายของรัฐบาลหางโจวที่จะเพิ่มจำนวนรถจักรยานให้เช่าเป็น 175,000 คัน ในปี ค.ศ. 2020 เพื่อเพิ่มศักยภาพของเมืองหางโจวในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก จะสามารถกำจัดก๊าซพิษเหล่านี้ได้มากกว่าในปัจจุบันถึง 3 เท่าทีเดียว

 

ถอดบทเรียน

            จากกรณีศึกษาทั้งสองเมืองล้วนเป็นแนวทางในการนำมาประยุกต์ใช้กับกรุงเทพมหานครในฐานะมหานครและเมืองใหญ่อื่น ๆ ทั่วประเทศไทย มหานครฮ่องกงที่เผชิญหน้ากับปัญหาแผ่นดินทรุดและระดับน้ำทะเลหนุนสูงทำให้เสี่ยงต่อการที่เมืองจะจมลงทะเล ก็เช่นเดียวกับปัญหาที่มหานครกรุงเทพกำลังเผชิญ โดยมีสาเหตุหลักที่เหมือนกัน คือ ในอดีตมีการขุดเจาะน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลมาใช้เป็นจำนวนมาก ปัญหาหลายอย่างได้เกิดขึ้นไปแล้ว เช่น การพังทลายของอาคารสูง ภาพถ่ายทางดาวเทียวที่แสดงให้เห็นพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะเข้ามาเรื่อย ๆ หลายปัญหาสามารถจัดการได้ ในขณะที่อีกหลายปัญหายังเป็นเหมือนขยะที่ซุกอยู่ใต้พรม ยังไม่แสดงออกมาให้เราเห็น

          กรณีของเมืองหางโจว ที่มีต้นทุนทางธรรมชาติที่สวยงามอย่างทะเลสาบซีหู ตัวอย่างการบริหารจัดการของรัฐบาลท้องถิ่นที่ดี การร่วมมือกันระหว่างท้องถิ่นแต่ละแห่งดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่ต่างฝ่ายต่างใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือกรณีการจัดทำระบบจักรยานให้เช่า อาจหมายรวมไปถึงการจัดการระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพเข้ามาด้วย หากรัฐบาลท้องถิ่นวางแผนอย่างเป็นระบบ วิเคราะห์ความเป็นไปได้และความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ค่อย ๆ ดำเนินการไปทีละจุด ๆ กว่าจะครอบคลุมและเชื่อมต่อกันอาจต้องใช้ระยะเวลาในการเห็นผลลัพธ์และความเสียสละของประชาชนในเมืองมากพอสมควร แต่เชื่อเหลือเกินว่า หากรัฐบาลมีความโปร่งใสและชี้แจงข้อมูลแก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ การจะได้รับความร่วมมือคงเป็นสิ่งที่ไม่ยากจนเกินไป

 

 

[1] EURAMET. (2013). Mega Cities [online], 6 June 2014. Retrieved: http://www.emrponline.eu/call2013/docs/MegaCities.pdf

[2] Jos Olivier. (2013). Trends in global CO2 emissions; 2013 Report, 25 June 2014. p. 5-6.

[3] EURAMET. (2013). Mega Cities [online], 6 June 2014. Retrieved: http://www.emrponline.eu/call2013/docs/MegaCities.pdf

[4] Coco Liu of ClimateWire. (2011). Shanghai Struggles to Save Itself From the Sea [online], 6 June 2014. Retrieved: http://www.nytimes.com/cwire/2011/09/27/27climatewire-shanghai-struggles-to-save-itself-from-the-s-43368.html?pagewanted=all

[5] Hangzhou -- 'Paradise on Earth'. [online], 8 July 2014. Retrieved: http://www.china.org.cn/english/TR-c/41940.htm

[6] ซีหู หมายถึง ทะเลสาบตะวันตก ทั่วประเทศจีนมีทะเลสาบซีหูมากถึง 36 แห่ง แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือทะเลสาบซีหูแห่งเมืองหางโจว

[7] ICLEI. (2011). Hangzhou, China The world’s largest bike sharing program [online], 8 July 2014. Retrieved: http://www.ecomobility.org/fileadmin/template/project_templates/ecomobility/files/Publications/Case_stories_EcoMobility_Hangzhau_PDF_print.pdf

 

• AUTHOR



ดารณี เสือเย๊ะ

ผู้ช่วยนักวิจัย เรียนจบคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Related Posts