Cities Reviews

ฮังการีออกกฎหมายห้ามร้านค้าปลีกเปิดทำการในวันอาทิตย์: มุมมองต่อคุณภาพชีวิตคนเมือง

 

อรุณ  สถิตพงศ์สถาพร

 

แม้ประเทศฮังการีจะเป็นประเทศแนวสังคมนิยมที่นับถือศาสนาคริสต์แห่งหนึ่งของโลก แต่ด้วยเหตุที่ความเจริญเติบโตของเมืองจำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจจากทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น การที่รัฐบาลฮังการีออกกฎหมายให้ร้านค้าเปิดทำการเฉพาะเวลา 6.00 – 22.00 น. และปิดทำการทุกวันอาทิตย์ตามข้อบัญญัติกรณีวันหยุดศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาคริสต์และยูดาย (Sabbath Law) จึงส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการชาวต่างชาติและแรงงานที่ทำงานในห้างสรรพสินค้าบางส่วน จนก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตอบโต้กันไปมาระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านและฝ่ายประชาชนตามมาค่อนข้างมาก

ในเบื้องต้น ไนเจล โจนส์ (Nigel Jones) ประธานบริษัทเทสโก้ ประเทศฮังการีได้สั่งปิดร้านค้าจำนวน 13 แห่งและเลิกจ้างพนักงานกว่า 560 คน โดยอ้างว่าเป็นผลกระทบมาจากกฎหมายฉบับใหม่นี้ หลังจากนั้น มิไฮล์ วาร์กา (Mihály Varga) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจแห่งชาติ ประเทศฮังการี ออกมาตอบโต้ว่า บริษัทเทสโก้นั้นมีปัญหาทางธุรกิจทั่วยุโรปเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นการที่เทสโก้ต้องปิดตัวลงจึงเป็นปัญหาของทางบริษัทเอง และเขากล่าวเพิ่มเติมอีกว่าเมื่อปี พ.ศ. 2557 ร้านค้าปลีกในฮังการีเติบโตประมาณร้อยละ 5-10 และมีตำแหน่งงานว่างมากถึง 2,000 ตำแหน่ง ฉะนั้นธุรกิจร้านค้าปลีกจึงน่าจะมีความต้องการจ้างงานมากกว่าที่จะปลดพนักงานออก

ข้อกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้ร้านค้าเปิดทำการเฉพาะเวลา 6.00 – 22.00 น. และปิดทำการทุกวันอาทิตย์ โดยร้านค้าในที่นี้หมายถึงร้านขายของชำ ร้านเสื้อผ้า ร้านเฟอร์นิเจอร์ ร้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิค ตลอดจนร้านค้าที่มีลักษณะเป็นร้านค้าปลีก แต่มีข้อยกเว้นให้กับร้านค้าปลีกที่มีลักษณะเป็นธุรกิจส่วนตัวซึ่งเจ้าของธุรกิจลงทุนอย่างน้อยร้อยละ 20 ของเงินลงทุนทั้งหมด มีคนในครอบครัวเป็นผู้ประกอบการและมีพื้นที่น้อยกว่า 200 ตารางเมตร นอกจากนี้ยังมีร้านขายยา สถานีบริการน้ำมัน ร้านค้าที่สนามบินและสถานีรถไฟ ร้านค้าในโรงแรม และสถานที่บริการนักท่องเที่ยวเป็นข้อยกเว้นในกฎหมายฉบับนี้ด้วย ส่วนร้านที่ขายสินค้าเป็นรายวัน เช่น ร้านขนมปัง ร้านดอกไม้ ร้านหนังสือพิมพ์ เป็นต้น และร้านค้าในช่วงเทศกาลวันคริสต์มาสอีฟและนิวเยียร์อีฟ สามารถเปิดทำการได้ในวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 6.00 – 12.00 น. ยกเว้นร้านขนมปังที่สามารถเปิดทำการได้ตั้งแต่เวลา 5.00 – 12.00 น. ทั้งนี้ ร้านค้าที่ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้จะถูกลงโทษให้ปิดทำการเป็นเวลา 3 – 7 วัน และหากกระทำผิดเป็นครั้งที่สี่จะถูกสั่งปิดทำการเป็นเวลา 1 ปี

รัฐสภาได้ทำการลงคะแนนเสียงและอนุมัติผ่านกฎหมายนี้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558 หลังจากสิ้นสุดการลงมติเห็นชอบกฎหมายดังกล่าว ผู้นำตลาดห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้ออย่างเทสโก้ (Tesco) ได้ออกมาอ้างว่าวันอาทิตย์เป็นวันที่ประเทศจะได้รับผลประโยชน์จากการค้าอย่างมาก เพราะประชาชนมีทางเลือกในการตัดสินใจบริโภคสินค้าได้อย่างอิสระ ในทำนองเดียวกัน แอตติลา บาร์ตา (Attila Barta) นักเศรษฐศาสตร์ประจำศูนย์ศึกษานโยบาย มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลยูโรเปียน (Central European University) กล่าวว่าพฤติกรรมผู้บริโภคชาวฮังการีมักออกมาจับจ่ายใช้สอยในวันหยุด กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการขัดแย้งกับพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างมาก หากมีการบังคับใช้จะทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงต่อการจ้างงานและรายได้ของผู้ประกอบการ และส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการลงทุนจากชาวต่างชาติ

นโยบายดังกล่าว นอกจากจะมีไว้เพื่อเพิ่มสวัสดิการให้แก่แรงงาน ส่งเสริมสถาบันครอบครัวและการทำกิจกรรมทางศาสนาแล้ว นักวิจารณ์บางกลุ่มได้ตั้งข้อสังเกตว่านโยบายของรัฐบาลในยุคหลังนี้มักมีลักษณะกีดกันธุรกิจต่างชาติ แต่เป็นไปในทางส่งเสริมและให้การสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กภายในประเทศเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น การบังคับให้ร้านค้าปลีกเลิกกิจการ หากไม่มีผลกำไรภายในระยะเวลา 2 ปี ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เสี่ยงต่อการถูกปิดกิจการ เพราะห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่มักจะขาดทุนในระยะการลงทุนช่วงแรก ๆ ทำให้ชาวต่างชาติมีความเสี่ยงในการเข้ามาลงทุนเปิดห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่มากขึ้น

โดยทั่วไปแล้วการออกนโยบายหรือกฎหมายในแต่ละครั้งของรัฐบาลย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มากก็น้อย อีกทั้งความสำเร็จของการประกาศใช้นโยบายหรือการบังคับใช้กฎหมายนั้นขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายที่เห็นต่าง ฝ่ายใดที่มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลมากกว่ากัน ฉะนั้นแล้วจึงไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลฮังการีในกรณีนี้เหมาะสมหรือไม่ ก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน เพราะแต่ละเมืองมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไปทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แล้วถ้าหากประเทศไทยออกกฎหมายเช่นนี้บ้างล่ะ คุณจะมีความคิดเห็นอย่างไร ?

 

อ้างอิง

 

Andrew Byrne. 2014. “Hungary to force supermarkets to close on Sundays.” Financial Times. (http://www.ft.com/cms/s/0/9066c9f0-83b7-11e4-9a9a-00144feabdc0.html)

Kinga Hetényi. 2014. “Hungary: Shops Shall Close on Sunday – Against All International Trends.” Schoenherr. (http://www.schoenherr.eu/knowledge/knowledge-detail/hungary-shops-shall-close-on-sunday-against-all-international-trends/)

BT in Business. 2015. “Trouble in store.” The Budapest Times. (http://budapesttimes.hu/2015/01/24/trouble-in-store/)

 

• AUTHOR

 


อรุณ  สถิตพงศ์สถาพร

 

เศรษฐศาสตร์บัณฑิต และเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Related Posts