Workshops

หลักสูตรการสร้างสรรค์เมืองสุขภาวะ (Healthy Cities Initiative)

เปิดหลักสูตรการสร้างสรรค์เมืองสุขภาวะ ดึงศักยภาพพัฒนาคนท้องถิ่นทั่วประเทศ หวังเป็นพลังขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะของไทย

 

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า ประเทศไทย ณ เวลานี้เข้าสู่สังคมเมืองแล้วเฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในโลก สิ่งที่เป้าหมายของการพัฒนาเมืองคือ “คุณภาพชีวิตของคนเมือง” หรือการที่คนในเมืองมีสุขภาวะที่ดีทางกาย ทางใจ และทางสังคม การพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่หรือเมืองที่มีสุขภาวะดี (Healthy City) เป็นทิศทางสำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 มีความพยายามขับเคลื่อนปรากฏเป็นรูปธรรมในระดับนานาชาติ  ด้วยเหตุนี้สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (Thai Health Academy) ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับศูนย์ศึกษามหานครและเมือง จัดอบรมในหลักสูตร "การสร้างสรรค์เมืองสุขภาวะ" ณ อาคาร SM TOWER วันที่ 11 -12 กันยายน พ.ศ. 2566 พร้อมผู้เข้าร่วมจากผู้บริหารระดับสูง ระดับผู้อำนวยการฝ่าย หัวหน้าฝ่าย จากเทศบาลทั่วประเทศทั้งหมดกว่า 11 เทศบาล  

คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง กล่าวว่า “หลักสูตรการสร้างสรรค์เมืองสุขภาวะ (Healthy Cities Initiative) เป็นหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับกลางทั้งระดับผู้อำนวยการกองและหัวหน้าฝ่ายของเทศบาล นักวิชาการผู้ที่สนใจเรื่องการพัฒนาเมือง และภาคีเครือข่ายของสสส. ในระดับพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดมุมมองใหม่และเพิ่มพูนความรู้ในการสร้างเมืองสุขภาวะ ให้ผู้เรียนเข้าใจบทบาทและความสำคัญของเมือง สามารถอธิบายและเชื่อมโยงปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่อาจส่งผลต่อสุขภาวะคนเมือง และสามารถนำแนวคิดและมุมมองใหม่ ระบบการจัดการแบบใหม่ในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนมีโมเดลหรือทางเลือกใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์เมืองน่าอยู่ เมืองที่ประหยัดพลังงาน เมืองสีเขียว เมืองปลอดภัยและเมืองเกื้อกูลทุกกลุ่มวัย โดยเป็นแนวทางให้สามารถนำเข้าสู่การวางแผนงานและจัดทำโครงการพัฒนาเมืองสุขภาวะของเทศบาล ท้ายที่สุดแล้วคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลักสูตรอบรมในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานเรื่องเมือง สู่การเป็นเครือข่ายการพัฒนาเมืองสุขภาวะที่จะต่อยอดทำงานพัฒนาเมืองของไทยต่อไป” 

หลักสูตรการสร้างสรรค์เมืองสุขภาวะรุ่นที่ 1 นี้ มุ่งเป้าพัฒนาผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของไทยที่ปฏิบัติจริงในพื้นที่ จึงรวบรวมวิทยากรผู้มีประสบการณ์จริงถ่ายทอดความรู้ให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น คุณศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Start up Muvmi คุณนำชัย แสนสุภา นายกสมาคมภูมิสถาปนิกแห่งประเทศไทย โดยวางวิชาในการเรียนการสอนที่หลากหลาย กว่า 7 วิชา ได้แก่ เมืองในบริบทโลกและบริบทไทย , แนวคิดเมืองสุขภาวะ , โมเดลเมืองสุขภาวะของไทย , การขนส่งสาธารณะของคนเมืองยุคใหม่,พื้นที่สาธารณะและสุขภาพของเมือง , สปิริตของเมืองกับการชูอัตลักษณ์เมืองด้านสุขภาวะ และกลยุทธ์การขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะ 

ตลอดช่วงในการอบรมการพัฒนาเมืองสุขภาวะ สิ่งที่เป็นจุดเด่นของหลักสูตร คือ การที่ผู้เข้าร่วมได้ถ่ายทอดเรื่องราวความน่าภูมิใจของเมืองที่เป็นอัตลักษณ์ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์เมือง วิถีชีวิตของคนในเมือง รวมไปถึงบริการสาธารณะที่มีคุณภาพตอบสนองคนในเมือง เพื่อแสดงให้เห็นถึงแง่มุมที่หลากหลายของการพัฒนาเมืองของไทย และความก้าวหน้าของหลายท้องถิ่นไทยในการพัฒนาเมืองสุขภาวะที่ทุกคนควรได้เรียนรู้ อีกทั้งภายในหลักสูตรได้ออกแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) ให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้กรณีศึกษาการพัฒนาเมืองสุขภาวะของไทย 4 เมือง และสามารถซักถามและแลกเปลี่ยนกับผู้มีประสบการณ์การจริงที่มีไอเดีย รูปแบบแนวทางการใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะ และสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ของการทำงานท้องถิ่น สร้างบริการสาธารณะต่อสุขภาวะของคนในเมืองได้

การออกแบบการเรียนการสอนที่มีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการบรรยายและการเน้น “ผู้เรียน” เป็นศูนย์กลางในการเรียนการสอน ให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนและนำเสนอความคิดเห็นอยู่ทุกกิจกรรม จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี และที่สำคัญเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมอบรมในรุ่นแรกเป็นไปอย่างดีมาก ทุกคนเป็นเครือข่าย ได้เรียนรู้อย่างสนุก เห็นรูปธรรมและแนวทางใหม่ของการพัฒนาเมือง จึงคาดหวังให้มีการจัดอบรมการพัฒนาเมืองสุขภาวะในรุ่นถัดไป ในประเด็นใหม่ๆ เพื่อสร้างให้เครือข่ายการพัฒนาเมืองสุขภาวะของไทยเข้มแข็ง เต็มไปด้วยคนทำงานที่มีศักยภาพ และนำไปสู่การพัฒนาเมือง และการพัฒนาคนในเมืองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

Related Posts