Cities Reviews

นครนนทบุรี : เมืองเพื่อผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเทศบาลนครนนทบุรี

           ปัจจุบันประชากรกลุ่มสูงวัยของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้โครงสร้างอายุประชากรไทยโน้มเอียงไปในทางที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงขึ้น ซึ่งย่อมมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก หากอ้างอิงตามจำนวนประชากรคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 และจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2574[1]

          การเตรียมความพร้อมเข้าสู่เมืองผู้สูงอายุ จึงเป็นประเด็นท้าทายในศตวรรษที่ 21 ที่เทศบาลนครนนทบุรี ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก  เห็นได้จากโครงการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่สร้างขึ้นมาสอดรับกับนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการบริการผู้สูงอายุในชุมชนเขตเทศบาลนครนนทบุรี พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี จนอาจกล่าวได้ว่า เทศบาลนครนนทบุรีเป็นต้นแบบเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุแห่งหนึ่งของประเทศไทย

ความเป็นเมืองของเทศบาลนครนนทบุรี

             เทศบาลนครนนทบุรี ได้รับการยกฐานะจากสุขาภิบาลเมืองเป็นเทศบาลนคร เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 ครอบคลุมตำบลส่วนใหญ่ทั้งตำบล มีพื้นที่ทั้งสิ้น 2.5 ตารางกิโลเมตร[2] แต่ด้วยความเจริญจากสภาพพื้นที่อันเป็นเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร ทำให้เทศบาลนครนนทบุรีมีประเด็นปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเรื่องความเหมาะสมด้านผังเมือง ที่มีอาคารบ้านเรือนผุดขึ้นหนาแน่นเต็มพื้นที่ เรื่องสาธารณูปโภคที่มีไม่ทันกับความต้องการของประชาชน  ตลอดจนเรื่องความเหมาะสมด้านการเมืองการปกครอง งบประมาณและเศรษฐกิจจากการขยายตัวของชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทศบาลจึงได้รายงานกระทรวงมหาดไทยขอขยายเขตเทศบาลจากเดิมออกไปอีก 4 ตำบล คือ ตำบลตลาดขวัญ ตำบลบางเขน ตำบลบางกระสอ และตำบลท่าทราย[3] จนพัฒนาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ประกอบด้วยชุมชนรวม 93 แห่ง มีขนาดพื้นที่ทั้งหมด 38.9 ตารางกิโลเมตร สภาพสังคมไม่แตกต่างจากกรุงเทพมหานครมากนัก ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้าง และเป็นลูกจ้างของสถานประกอบการ

แผนภาพที่ 1 อาณาเขตเทศบาลนครนนทบุรี

  ที่มา : Google Map และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเทศบาลนครนนทบุรี กองวิชาการและแผนงานเทศบาลนครนนทบุรี

 

          ผลกระทบจากการเป็นเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้เทศบาลนครนนทบุรีได้กลายเป็นเมืองขนาดใหญ่และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง สังเกตได้จากการเติบโตของที่พักอาศัย ทั้งคอนโดมิเนียมและหมู่บ้านจัดสรรที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง อีกทั้งระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการเดินทาง เช่น รถโดยสารประจำทาง เรือด่วนเจ้าพระยา[4] รวมถึงท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล สิ่งเหล่านี้  เป็นเหตุให้ปัจจุบันเทศบาลนครนนทบุรีเป็นเขตการปกครองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย (ไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร) คือมีจำนวน 253,581 คน มีความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ยต่อพื้นที่สูงถึง 6,519 คนต่อตารางกิโลเมตร[5]

 

ตารงที่ 1 เทศบาลนครที่มีประชากรสูงสุด 10 อันดับแรก พ.ศ. 2560

ลำดับ

รายชื่อเทศบาล

พื้นที่
(ตารางกิโลเมตร)

ประชากร
(คน)

ความหนาแน่น
(คนต่อตารางกิโลเมตร)

1

 เทศบาลนครนนทบุรี

38.90

253,581

6,519

2

 เทศบาลนครปากเกร็ด

36.04

177,569

4,927

3

เทศบาลนครหาดใหญ่

21.00

157,608

7,505

4

 เทศบาลนครเชียงใหม่

40.22

136,717

3,399

5

 เทศบาลนครอุดรธานี

47.70

135,565

2,842

6

 เทศบาลนครนครราชสีมา

37.50

135,351

3,609

7

 เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี

68.97

125,270

1,816

8

เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์

306.44

110,517

361

9

 เทศบาลนครขอนแก่น

46.00

110,078

2,393

10

 เทศบาลนครนครศรีธรรมราช

22.56

107,581

4,769

ที่มา: สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง (2560)

 

          หากพิจารณาข้อมูลผู้สูงอายุ จะพบว่า ในปี 2560 เขตเทศบาลนครนนทบุรีมีจำนวนผู้สูงอายุสูงถึง 58,237 คน คิดเป็นร้อยละ 23.5 ของประชากรทั้งหมด[6] นับเป็นเทศบาลนครที่มีผู้สูงอายุเป็นอันดับสองของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น สัดส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปก็สูงถึงร้อยละ 17 ซึ่งมากที่สุดในบรรดาเทศบาลนครทั่วประเทศ ในขณะเดียวกัน อัตราพึ่งพิงของผู้สูงอายุเทศบาลนครนนทบุรีอยู่ที่ 1 : 2.72 นั่นหมายความว่า ประชากรวัยทำงานเกือบทุกทุก 3 คน ต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ด้วยเหตุนี้ จึงถือว่า เทศบาลนครนนทบุรีได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอาจกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) ในไม่ช้า ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาระบบและกลไกสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวมในเขตเทศบาลนครนนทบุรี จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่เมืองต้องตระหนักและให้ความสำคัญ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการกำหนดและดูแลสุขภาพของตัวเองด้วยตนเอง อันนำไปสู่การเจ็บป่วยและการพึ่งพิงที่น้อยลง[7]

 

ตารงที่ 2 เทศบาลนครที่ประชากรสูงอายุสูงสุด 10 อันดับแรก พ.ศ. 2560

ลำดับ

เทศบาลนคร

สัดส่วนประชากรเด็ก
(0-14 ปี)

สัดส่วนประชากรวัยทำงาน
(15-59 ปี)

สัดส่วนประชากรสูงอายุ

อัตราพึ่งพิงของผู้สูงอายุ

60 ปีขึ้นไป

65 ปีขึ้นไป

1

เทศบาลนครลำปาง

12.0%

64.1%

23.9%

16.0%

1 : 2.69

2

เทศบาลนครนนทบุรี

12.5%

64.0%

23.5%

17.0%

1 : 2.72

3

เทศบาลนครเชียงใหม่

11.5%

65.2%

23.3%

15.8%

1 : 2.80

4

เทศบาลนครพิษณุโลก

14.1%

64.2%

21.7%

15.1%

1 : 2.96

5

เทศบาลนครสมุทรปราการ

13.5%

66.0%

20.6%

14.3%

1 : 3.20

6

เทศบาลนครนครสวรรค์

14.7%

65.4%

19.9%

13.7%

1 : 3.29

7

เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา

18.7%

61.8%

19.5%

13.7%

1 : 3.17

8

เทศบาลนครนครราชสีมา

15.7%

65.9%

18.4%

12.6%

1 : 3.58

9

เทศบาลนครสมุทรสาคร

16.1%

65.5%

18.4%

12.5%

1 : 3.57

10

เทศบาลนครเชียงราย

16.2%

65.5%

18.2%

11.7%

1 : 3.60

ที่มา: สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง (2560)

 

จุดเริ่มต้นและแนวคิดการพัฒนาสุขภาวะคนเมือง

          ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้สูงอายุเป็นประเด็นที่สังคมโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ท่านปลัดพรศรี กิจธรรม อดีตปลัดเทศบาลนครนนทบุรี เป็นผู้ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เนื่องจากในขณะนั้นเทศบาลฯ มีชมรมผู้สูงอายุแต่ไม่มีสถานที่ให้พวกเขาทำกิจกรรม และด้วยเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่ยังไม่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้สูงอายุเฉกเช่นปัจจุบัน ทำให้การดำเนินงานและการทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกเป็นไปด้วยความยากลำบาก เช่น การนัดหมายหรือแจ้งกำหนดการกิจกรรมให้สมาชิกได้รับทราบ ผนวกกับเทศบาลเมืองนนทบุรีเป็นชุมชนเมือง พื้นที่ของเทศบาลส่วนมากเป็นที่พักอาศัย ไม่ใช่ชุมชนแออัด ในชุมชนมีการจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุอยู่แต่เดิมแล้ว และมีชมรมผู้สูงอายุจำนวนมาก ซึ่งในขณะนั้นมีจำนวนประมาณ 40 ชมรม ทางผู้บริหารเทศบาลเมืองนนทบุรีจึงเห็นสมควรให้มีการสร้างสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมให้แก่ผู้สูงอายุ ผนวกกับภารกิจในการดูแลส่งเสริมสุขภาพที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความจะเป็นที่จะต้องดูแลในด้านนี้อยู่แล้ว จึงเป็นการจุดประกายว่าต้องมีการสนับสนุนการสร้างศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุขึ้นมา

             ในระยะแรก เทศบาลเมืองนนทบุรียังไม่มีพื้นที่ที่สามารถใช้สำหรับสร้างศูนย์ได้ ผู้บริหารจึงได้จัดหาพื้นที่ 26 ไร่ เพื่อนำมาสร้างศูนย์ขึ้น โดยเล็งเห็นว่าเป็นการใช้พื้นที่เพื่อสร้างประโยชน์แก่ชุมชน เกิดเป็นโครงการ “ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ” ที่จะสร้างอาคารหลังใหม่ให้ผู้สูงอายุมีพื้นที่สำหรับประกอบกิจกรรมหรือใช้บริการของเทศบาลฯ โดยเน้นไปที่กิจกรรมด้านการส่งเสริมป้องกันมากกว่าด้านการรักษาแก้ไข

             ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555 เทศบาลเมืองนนทบุรีจึงได้เปิดศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งลักษณะของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุของเทศบาลนครนนทบุรีนี้มีลักษณะเป็นสโมสร โดยมีการเปิดรับสมัครสมาชิกในลักษณะต่าง ๆ แบ่งออกเป็นสมาชิกกิตติมาศักดิ์ ซึ่งเป็นคณะผู้บริหารของศูนย์ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยมีท่านนายกเทศมนตรีเป็นประธาน มีคณะบริหารจัดการ คณะดำเนินงานซึ่งมีท่านปลัดเทศบาลเป็นประธาน สมาชิกสามัญซึ่งเป็นผู้สูงอายุในชุมชนมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และสมาชิกวิสามัญซึ่งเป็นผู้สูงอายุในชุมชนมีอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยแรกเริ่มเปิดศูนย์มีจำนวนสมาชิกโดยประมาณ 500 คน

แผนภาพที่ 2  ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 

ที่มา เทศบาลนครนนทบุรี

 

ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ : รูปแบบและกิจกรรม

         ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอาในแต่ละชั้นจะแบ่งออกเป็นห้องกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์ของการสร้างเพื่อเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เมื่อเริ่มต้นโครงการ ทางเทศบาลฯได้ทำการสำรวจโดยการส่งแบบสอบถามไปให้ผู้สูงอายุในชุมชนและศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลฯ ระบุถึงกิจกรรมที่ผู้สูงอายุให้ความสนใจและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ จากนั้นเทศบาลได้ทำการคัดเลือกจิตอาสาที่จะมาเป็นครูผู้สอนในแต่ละกิจกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุในชุมชน ที่มีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้และนำกิจกรรมได้ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุในชุมชน อีกทั้งเป็นการประหยัดงบประมาณไปในตัวด้วย 

             กิจกรรมภายในศูนย์ฯ เทศบาลจะเน้นไปที่การส่งเสริมดูแลและฟื้นฟูสุขภาพ ที่มีความหลากหลายและเหมาะกับผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเกิดการรวมกลุ่ม แสดงความสามารถและใช้ศักยภาพของตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและคนรอบข้าง ในช่วงที่ทดลองเปิดศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ  กิจกรรมที่ดำเนินการในขณะนั้น ได้แก่ ฮูลาฮูป หมากรุก หมากฮอส การปฏิบัติธรรม การออกกำลังกาย การดูหนังฟังเพลง ซึ่งไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เก็บเพียงค่าธรรมเนียมแรกเข้าจากผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาลฯ และผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาลฯ เป็นจำนวนเงิน 100 บาท และ 200 บาท ตามลำดับ พร้อมทั้งได้เชิญชวนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมาทดลองใช้ด้วย

                หลังจากดำเนินการสร้างศูนย์พัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุเสร็จสิ้น ทางเทศบาลฯ ก็เขียนโครงการเสนอต่อกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ผลปรากฏว่า เทศบาลนครนนทบุรีได้รางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี พ.ศ. 2555 พร้อมเงินรางวัล 5 ล้านบาท นายกเทศมนตรีจึงนำเงินส่วนนี้จ้างนักวิชาการทำวิจัยเพื่อพัฒนาศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศาสตราจารย์ศศิพัฒน์ ยอดเพชร ผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการผู้สูงอายุคนแรกของประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาลัยวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นกรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย สุดท้ายแล้ว ผลการวิจัยพบว่า ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุในเขตส่วนใหญ่ คือ โรคอ้วน และปัญหาด้านการบริหารจัดการ คือ พนักงานมีจำนวนไม่เพียงพอกับคณะศึกษาดูงานที่มาเยี่ยมศูนย์ฯ อยู่เป็นประจำ จึงได้ข้อเสนอออกมาว่า เทศบาลนครนนทบุรีควรตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุสาขาย่อยกระจายไปยังตำบล 5 แห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลฯ[8]

             ในปี 2557 มีผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกของศูนย์ฯ กว่า 4,000 คน แต่ที่มาใช้บริการจริงกลับมีน้อยกว่าที่ลงทะเบียนไว้มาก  ศูนย์ฯ จึงออกระเบียบเทศบัญญัติเทศบาลนครนนทบุรี เรื่อง การต่ออายุสมาชิกศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยแบ่งออกเป็นสมาชิกสามัญและวิสามัญในเขตเทศบาลฯ จะเสียค่าสมาชิกปีละ 300 บาท และ 500 บาท ตามลำดับ ส่วนสมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญนอกเขตเทศบาลฯ จะเสียค่าสมาชิกปีละ 600 บาท และ 800 บาท ตามลำดับ เพื่อเป็นการคัดกรองจำนวนสมาชิกที่เข้ามาใช้บริการศูนย์ฯ ในแต่ละปี ส่วนการบริหารจัดการภายในนั้นเป็นไปตามระเบียบเทศบัญญัติเทศบาลนครนนทบุรี เรื่อง การบริหารการจัดการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเทศบาลนครนนทบุรี พ.ศ. 2556

             ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเทศบาลนครนนทบุรี ทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เช่น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี  คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โรงพยาบาลนนทเวช วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์  บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด เป็นต้น อีกทั้ง เทศบาลฯ ยังมีการสนับสนุนให้แต่ละชุมชน/หมู่บ้านจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 30 คน โดยฝ่ายสวัสดิการสังคมของศูนย์ฯ ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณและบุคลากร เพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมของชมรม ซึ่งมีข้อบังคับให้ชมรมแต่ละแห่งมีการจัดอบรมความรู้แก่สมาชิกอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ตามความสนใจของสมาชิก

แผนภาพที่ 3 กิจกรรมภายในศูนย์ 

ที่มา ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง (2561)

แผนภาพที่ 4 เครือข่ายขับเคลื่อนประเด็นผู้สูงอายุในพื้นที่เขตเทศบาลนครนนทบุรี

ที่มา : ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเทศบาลนครนนทบุรี

 

แหล่งที่มาของงบประมาณ

          เนื่องจากการบริหารจัดการงบประมาณเป็นการบริหารจัดการรวม ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เทศบาลนครนนทบุรี จึงจัดตั้งเป็นกองทุนของเทศบาลนครนนทบุรี ซึ่งมีแหล่งรายได้มาจาก 3 ช่องทางด้วยกัน คือ หนึ่ง งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ เทศบาลนครนนทบุรี  สอง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ สาม รายได้จากค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าสมาชิกรายปีจากสมาชิกผู้ใช้บริการศูนย์ฯ ในแต่ละเดือน ชมรมแต่ละแห่งจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ เทศบาลนครนนทบุรี ร้อยละ 60 และจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร้อยละ 40 ในส่วนของห้องสมุดชั้น 3 ของศูนย์ฯ จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักการศึกษา

 

ผลการดำเนินงาน / ความสำเร็จ

          ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เทศบาลนครนนทบุรี ได้รับความนิยมจากผู้สูงอายุทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาลฯ จนปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกกว่า 6,000 คน และมีผู้มาใช้บริการศูนย์ฯ เฉลี่ย 500 คนต่อวัน ภายในศูนย์ฯ มีชมรมทั้งหมด 33 ชมรม ประกอบด้วยกิจกรรมรองรับหลากหลายรูปแบบ เช่น  การเต้นแอโรบิค การใช้ไม้พลอง ศิลปะการรำมวยจีน การเรียนรู้ธรรมะ การเรียนภาษาอังกฤษ ห้องออกกำลังกาย การใช้สื่อสารสนเทศ กิจกรรมพื้นบ้าน การร้องเพลง คาราโอเกะ งานประดิษฐ์ การสร้างสรรค์งานศิลปะ เป็นต้น และมีครูฝึกสอนจิตอาสาทั้งหมด 158 คน  นอกจากนี้ โครงการนี้ยังสามารถดึงศักยภาพของผู้สูงอายุมาร่วมเป็นจิตอาสาในฐานะวิทยากรของกิจกรรมต่าง ๆ ได้อีกด้วย

           สังเกตได้ว่า ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่เป็นจิตอาสาในกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ประมาณ 65 คน ที่ล้วนเป็นผู้มีความรู้ มีทักษะการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง มีศักยภาพในการถ่ายทอดทักษะที่ตนถนัดให้แก่เพื่อนสมาชิก ทำให้ผู้สอนเกิดความตระหนักในคุณค่าของตนเอง ด้วยเหตุนี้ ศูนย์แห่งนี้จึงเป็นต้นแบบศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้แก่เมืองอื่นได้เป็นอย่างดี การันตีโดยรางวัลมากมาย เช่น รางวัลการจัดการการบริการสาธารณะดีเด่น ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ประจำปี 2560 รางวัลพระปกเกล้าทองคำ ด้านการเสริมสร้างเครือข่าย รัฐ เอกชน และประชาสังคม 2 ปีซ้อน (ปี 2557 และปี 2559)  รางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี 2555 เป็นต้น

            ภายหลังจากการดำเนินการ ทางเทศบาลเมืองนนทบุรีได้มีการติดตามและประเมินผลสภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมกับศูนย์ฯ ซึ่งจากผลการประเมิณ พบว่าผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมที่ศูนย์มีสภาวะสุขภาพที่ดีขึ้น โดยมีผลเป็นตัวเลขที่น่าพึงพอใจ คือ สมาชิกจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์มีรอบเอวที่ลดลง สมาชิกจำนวนกว่า 30 เปอร์เซ็นต์มีน้ำหนักตัวลดลง และอีกกว่า 20 เปอร์เซ็นต์มีค่าความดันโลหิตลดลง ซึ่งตัวเลขเหล่านี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันว่าการเข้าร่วมกิจกรรมที่ศูนย์ส่งผลดีอย่างมากต่อตัวผู้สูงอายุในด้านสุขภาพ

              จากการสอบถามความคิดเห็นของสมาชิกผู้เข้าร่วม ซึ่งสมาชิกบางท่านเป็นผู้สูงอายุที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มาก่อน แต่ได้มาเริ่มต้นเรียนรู้ที่นี่ พบว่าองค์ความรู้และทักษะต่าง ๆ เช่น การสร้างสรรค์งานศิลปะ การประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ ช่วยสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม และยังสามารถช่วยสร้างรายได้และส่งเสริมเป็นอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุได้อีกด้วย

              เนื่องจากรูปแบบกิจกรรมที่ศูนย์เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นตลอดวัน มีเจ้าหน้าที่ของศูนย์ที่สามารถดูแลผู้สูงอายุตลอดเวลา ทำให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดวัน บุตรหลานจึงสามารถไว้วางใจให้ผู้สูงอายุใช้เวลาอยู่ที่ศูนย์ได้ เป็นส่วนช่วยในการลดภาระการดูแลผู้สูงอายุระหว่างวันของบุตรหลาน ในส่วนนี้ช่วยสร้างความสุขและความพึงพอใจให้กับทุก ๆ ฝ่าย คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยยธรรมศาสตร์ได้เข้ามาทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมที่ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุของเทศบาลเมืองนนทบุรี ผ่านการทำแบบประเมินในเรื่องการให้บริการ การจัดกิจกรรม และสถานที่ พบว่าผลการประเมินค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากทางสมาชิกได้ประเมินความพึงพอใจเป็นคะแนนสูงถึง 70 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ในทุกด้าน

              นอกจากศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเทศบาลนครนนทบุรีและเป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารและการให้บริการด้านคุณภาพชีวิตที่เป็นรูปธรรมแล้ว ยังเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้และการจัดการระหว่างชุมชนอีกด้วย โดยมีชุมชนอื่น ๆ ที่ให้ความสนใจและเข้ามาศึกษาศุนย์ฯ แห่งนี้หลายครั้ง เพื่อนำไปเป็นต้นแบบในการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในพื้นที่ชุมชนของตนเอง เช่น เทศบาลเมืองบึงยี่โถ ที่ได้เข้ามาศึกษาดูงานและนำไปริเริ่มเป็นโครงการลักษณะเดียวกันในพื้นที่เทศบาลเมืองบึงยี่โถ โดยทางเทศบาลเมืองนนทบุรีก็ได้ติดตามผลและให้คำแนะนำแก่ศูนย์ฯที่เกิดขึ้นที่เทศบาลเมืองยี่โถ โดยเน้นย้ำว่าการสร้างศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่นั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไป เช่น จำนวนประชากรผู้สูงอายุในพื้นที่ ลักษณะของกิจกรรมในศูนย์ ส่งผลให้การดำเนินโครงการต้องวางแผนตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้น ๆ

              ทางคณะกรรมการของศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุยังได้มีแนวความคิดที่จะสร้างศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในพื้นที่อื่น ๆ ของเทศบาลเมืองนนทบุรีอีกด้วย ภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้ชุมชนได้พึ่งตนเอง ต้องการให้ชุมชนสามารถยืนหยัดด้วยตนเองได้ โดยได้มีการริเริ่มในพื้นที่ชุมชนทรายทอง ซึ่งเป็นชุมชนในพื้นที่เทศบาลเมืองนนทบุรี จัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยให้ประธานชุมชนเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานของศูนย์และมีเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขของเทศบาลเมืองนนทบุรีเป็นที่ปรึกษา และเนื่องจากเทศบาลนครนนทบุรีได้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพที่ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนทรายทองจึงสามารถร่างโครงการในด้านการส่งเสริมสุขภาพเพื่อของบประมาณในส่วนนี้แทนการใช้งบประมาณของเทศบาลเมืองนนทบุรี เป็นตัวอย่างของการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองและเป็นการต่อยอดจากโครงการเดิมที่ประสบความสำเร็จให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง

 

ปัจจัยความสำเร็จ

  1. ผู้นำที่ให้ความสำคัญกับประเด็นผู้สูงอายุ ผู้บริหารและคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองนนทบุรีได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ รวมถึงการหาสถานที่ การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และมีการวางโครงสร้างบริหารจัดการที่เอื้อต่อผู้สูงอายุอย่างจริงจัง ซึ่งต่อมาโครงการที่ได้สนับสนุนให้มีการสร้างศูนย์ฯลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่น ซึ่งการบริหารศูนย์ฯในพื้นที่ก็ได้ให้ผู้นำชุมชนเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร ส่งผลให้การบริหารสามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย กล่าวได้ว่า ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในทุกระดับ ทั้งระดับเทศบาลและระดับชุมชน เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันนโยบายและสร้างความคืบหน้าให้สามารถเกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรม
  2. งบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทางศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทั้งเทศบาลเมืองนนทบุรีและหน่วยงานอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ เทศบาลนครนนทบุรี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และรายได้จากค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าสมาชิกรายปีจากสมาชิกผู้ใช้บริการศูนย์ฯ ในแต่ละเดือน และมีการบริหารงบประมาณที่เหมาะสม ส่งผลให้ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตแห่งนี้สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งงบประมาณเหล่านี้จะใช้ในการบริหารงาน การส่งเสริมและการจัดซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับกิจกรรมภายในศูนย์ฯ
  3. เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่มีใจรักการบริการ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพที่มีหัวใจที่รักการบริการผู้สูงอายุ เต็มใจให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ และให้ข้อมูลต่าง ๆ แก่ผู้สูงอายุ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ที่ศูนย์ฯตลอดเวลา ทำให้กิจกรรมสามารถดำเนินได้ตลอดไม่ขาด ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้เองที่เปรียบเสมือนกลไกสำคัญที่ผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จและยั่งยืน
  4. ครูผู้สอนที่มีจิตอาสา เหล่าครูผู้สอนที่ปฏิบัติหน้าที่อบรมให้ความรู้และนำกิจกรรมอย่างเต็มกำลังความสามารถโดยไม่คาดหวังถึงผลประโยชน์ส่วนตน แต่มีความต้องการเพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้และได้ฝึกทักษะอย่างเต็มที่ โดยครูผู้สอนที่มีจิตอาสาเหล่านี้ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สามารถตอบสนองต่อจำนวนผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรม และช่วยส่งเสริมให้กิจกรรมในศูนย์สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. เครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง เทศบาลเมืองนนทบุรีมีเครือข่ายที่เข้มแข็งทำให้การประสานงานเพื่อการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินไปได้ด้วยดี และยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างชุมชน พยายามสร้างชุมชนต้นแบบเพื่อให้เกิดศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในพื้นที่ชุมชนอื่น ๆ อีกด้วย เกิดเป็นเครือข่ายระหว่างชุมชนที่สามารถแลกเปลี่ยนและติดตามผลร่วมกัน ทั้งยังพยายามสร้างศูนย์ในพื้นที่อื่น ๆ โดยมุ่งเน้นการยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ส่งผลให้แนวคิดและตัวโครงการมีการรับรู้แพร่หลายและได้รับการยอมรับในวงกว้าง
  6. โครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม เทศบาลเมืองนนทบุรีมีความพร้อมต่อการประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น สถานที่ตั้งของศูนย์ฯ อาคารที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน วัสดุอุปกรณ์ประกอบกิจกรรม การคมนาคมสาธารณะ ฯลฯ โดยความพร้อมเหล่านี้เป็นความพร้อมที่มีมาแต่เดิมและเป็นผลมาจากการบริหารงานของผู้บริหารและคณะทำงานด้วย เมื่อโครงสร้างต่าง ๆ ดี การทำงานต่าง ๆ จึงสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
  7. การผลักดันไปยังพื้นที่อื่น เทศบาลเมืองนนทบุรีได้เล็งเห็นว่าศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตที่เกิดขึ้นในเทศบาลเมืองนนทบุรีประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์กับชุมน จึงไม่ต้องการให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นเพียงพื้นที่เดียว แต่ต้องการผลักดันขยายไปยังชุมชนอื่น ๆ ด้วย โดยพยายามส่งเสริมและสร้างต้นแบบศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชนอื่น ๆ ให้ชุมชนมีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตที่มีการบริหารและการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ตนเอง ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้คำปรึกษา และติดตามผลในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

 

 

[1] องค์การสหประชาชาติ (United Nations:UN) ได้ให้นิยาม ผู้สูงอายุ หมายถึงประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปและได้แบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่

  1. ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ7ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
  2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ60ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
  3. ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่

[2] พระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 หน้า 1196

[3] ข้อมูลจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเทศบาลนครนนทบุรี กองวิชาการและแผนงาน เทศบาลนครนนทบุรี (2561)

[4] เนื่องจากเทศบาลนครนนทบุรีมีอาณาเขตที่ติดอยู่กับแม่น้ำลำคลองทั้ง 4 ทิศ เป็นเหตุให้มีท่าเรือสำคัญหลายท่าไว้คอยให้บริการ

[5] ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง (2560)

[6] ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง (2560)

[7] รณรงค์ จันใด. (2561, มกราคม-เมษายน). แนวทางการพัฒนาระบบการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวมในเขตเทศบาลนครนนทบุรี. วารสารสถาบันพระปกเกล้า. 6(1): 99.

 

[8] ศศิพัฒน์ ยอดเพชร และคณะ, ลักษณะการดำเนินงานและกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย, 2555).

 

 

 

 

• AUTHOR

 


ฐิติรัตน์  รู้เสงี่ยม

รัฐศาสตร์บัณฑิต ภาคสังคมวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Related Posts