Cities Reviews

อุดรธานี เมืองมีทุนมุ่งสู่เศรษฐกิจ “หลั่นล้า”

 

ณัฐธิดา  เย็นบำรุง

 

ในงานเสวนาสาธารณะ เรื่อง “ท้องถิ่นนิยม เมืองนิยม” ที่จัดโดยกลุ่มภาคประชาสังคมอุดรธานี นำโดยกลุ่ม SE ESAN ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร 17 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในวันที่ 14 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยคนรักบ้านรักเมืองอุดรธานีหลากหลายกลุ่ม ทั้งจากภาครัฐท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ผู้นำชุมชน นักวิชาการ นักศึกษา นักข่าวท้องถิ่น ร่วมกันเสนอต้นทุน “ของดี” มากมายที่มีในอุดรธานี ให้เป็นโอกาสทางเลือกใหม่ในกับการพัฒนาเมือง อดภูมิใจและอิจฉาแทนคนอุดรธานีที่มีคนเมืองรักและสนใจเมืองมาขนาดนี้ บรรยากาศจึงอบอวลไปด้วยความหวัง เต็มไปด้วยพลัง และโอกาสใหม่ ๆ ของเมืองให้เกิดขึ้น

เมืองมุ่งสู่เศรษฐกิจหลั่นล้า

ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เปิดเวทีเรื่องเมืองด้วยมุมมองใหม่ คือให้มองโอกาสของเมืองมากกว่ามองปัญหา คนไทยติดวิธีคิดปัญหาเป็นหลัก แก้ปัญหา คือการหาโอกาส คือต้องรู้ว่าทำอะไรแล้วมันดี แล้วก็ทำอย่างนั้น แล้วปัญหามันจะแก้ไปได้เอง วันนี้ถึงเวลาแล้วที่อุดรธานีต้องคิดเรื่องอุดรฯ สร้างตัวเอง และอุดรจะพัฒนาเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างไร เพราะเวลานี้เมืองต่างๆ ของไทยในกำลังเจริญเติบโตมาก อุดรฯ ก็เป็นเมืองหนึ่งที่เจริญเติบโตเหลือเกิน และความเติบโตของอุดรฯ นอกจากที่เป็นศูนย์กลางของภาคอีสานตอนบนแล้วก็ยังโยงไปถึงหนองคาย เวียงจันทน์ และไปถึงเวียดนามด้วย

ศ.ดร.เอนก มองว่าขณะนี้เศรษฐกิจของโลกมันกำลังแปรเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจบริการมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวของไทย ณ เวลานี้เติบโตมาก เศรษฐกิจลักษณะนี้ ศ.ดร.เอนก ขอเรียกว่า “เศรษฐกิจหลั่นล้า” หรือหลั่นล้าอีโคโนมี คือ การแปรเปลี่ยนความภูมิใจของเมืองให้เกิดมูลค่าและราคาได้ คนไทยล้วนแต่มีน้ำใจ มีความสนุกสนาน ร่าเริง บริการเก่ง มีเสน่ห์ เพราะฉะนั้น ถ้าคนอุดรเอาสิ่งที่เป็นธรรมชาติ มาบวกกับความรักความภูมิใจในอุดร คงจะมี story ขายได้มาก ทำได้ทั้งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงธรรมชาติ เชิงประวัติศาสตร์ และอย่าขายแต่เมืองอุดรธานีแบบเล็กๆ ต้องขายอุดรธานีให้ยิ่งใหญ่แบบที่เชื่อมโยง ลาว เวียงจันทน์ ฮานอย จีนตอนใต้ ก็จะทำให้คนมาเที่ยวเมืองอุดรฯ มากขึ้น

การเปิดประเด็นด้วยการแนะให้มองถึงโอกาส มองข้อดี เพื่อเป็นแรงผลักดันให้มีกำลังใจ ทำให้เหล่าคนเมืองอุดรธานีต่างกลุ่ม ต่างที่มา ต่างวาระเรื่องราว ที่ล้วนแล้วกำลังพยายามสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับเมือง ได้โอกาสถ่ายทอดต้นทุนอันดีงามของเมือง ต่างมุม ต่างความคิด ต่างเรื่องราว โดยเริ่มที่ ...

อุดรธานีเมือง 3 ธรรม

ตัวแทนคนเมืองท่านหนึ่งแสดงความเห็นว่า การจุดประกายว่าอุดรธานีของเรานั้นมีดีอย่างไร ต้องมองที่ศักยภาพ ต้นทุน รากเหง้าที่เรามีอยู่ มองไปที่ 3 ธรรม ธรรมแรกคือ ธรรมชาติ มีทะเลบัวแดง ภูฝอยลม มีธรรมชาติที่เป็นภูเขาที่อำเภอนายูง ธรรมที่สอง คือธรรมะ มีทะเลบัวแดง ภูฝอยลม มีธรรมชาติที่เป็นภูเขาที่อำเภอนายูง และธรรมที่สาม คือ วัฒนธรรม มีเผ่าผู้ไทย บ้านนายูง อำเภอศรีธาตุ บ้านเชียง ต้องสร้างให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต น่าสนใจ บ้านเชียงด้วย และพิพิธภัณธ์รามสูร ตามรอยสงครามเวียดนาม ถ้าเชื่อมทั้งหมด ทั้งสามธรรม ให้อุดรธานีเป็นความเข้มแข็งทางด้านการท่องเที่ยวเหล่านี้ คนอุดรธานีจะต้องช่วยกัน ถ้าเราช่วยกันอุดรธานีเราเข้มแข็งแน่ 

ศักยภาพของอีสาน เป็นเกตเวย์สู่เวียดนาม

กลุ่ม Smart Udon Maker ได้แลกเปลี่ยนไอเดียว่า อุดรสามารถบินไปต่างประเทศได้ รันเวย์อุดรฯ มีความยาว 3.6 กิโลเมตร เป็นรันเวย์ที่เป็นอินเตอร์เนชั่นแนล ในขณะที่ขอนแก่นมีความยาวแค่ 2.8 กิโลเมตร ซึ่งเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลไม่ได้ เครื่องบินจากอุดรจะบินไปต่างประเทศได้ ควรทำให้สนามบินอุดรเป็นระดับนานาชาติมากกว่านี้ หากไปดูจีน จีนกล้าทำถนน ทำรางรถไฟผ่านจากคุนหมิง ลงผ่านลาวมาถึงประเทศไทยได้ ไทยน่าจะคิดมุมกลับ ทำถนนผ่านนครพนมเข้าไปที่เมืองวินห์ (Vinh) ของเวียดนาม และเปิดหน้าฉากของอุดรให้เป็นหน้าบ้าน แทนที่จะเป็นหลังบ้าน เพราะอุดรฯ มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม สายการบินมี ทุกอย่างมี น่าจะพัฒนาทุกอย่างจากความพร้อมนี้ได้

มูลค่าเพิ่ม ของสินค้าเกษตรในอุดร

ภาคประชาสังคม โดยคุณภาคภูมิ มองว่าเกษตรกรรมอยู่คู่กับคนอุดรมานาน คนอุดรไม่ค่อยทราบว่าคนญี่ปุ่นชอบมาดูไร่มะม่วงที่หนองบัวซอ เพราะมะม่วงน้ำดอกไม้ของหนองบัวซอเป็นอันดับหนึ่งที่ส่งขายให้ญี่ปุ่น เกษตรกรที่เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ ปีหนึ่งสามารถทำเงินได้ปีละ 2-3 ล้าน และอีกอย่างที่กำลังตามมาคือกล้วยหอมของหนองบัวซอ ลูกไม่โต แต่หอมและรสชาติอร่อยมาก นี่คือกระบวนการที่ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัวว่าผลผลิตทางการเกษตรของเราขายได้ขนาดนี้ และทำให้เกิดการท่องเที่ยวด้วย นอกจากนี้ คำชะโนด อำเภอบ้านดุง น่าสนใจเช่นเดียวกัน ที่นี่ปลูกใบตองทุกหลังคาเรือน บางหลังทำรายได้กว่า 1 ล้านบาท คนต่างถิ่นมักย้ายมาคำชะโนด คนที่นี่ 70 %เป็นคนนอกพื้นที่ทั้งหมด คนเหล่านี้มักเข้ามาค้าขายที่คำชะโนด เพราะเศรษฐกิจดีมาก ซึ่งอันที่จริงการท่องเที่ยวยังทำได้มากกว่านี้ อาจจะต้องสร้างเป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ ปลูกพืชผักปลอดสารพิษ ต้องไปกินอาหารบ้านเชียง ทำมาหากินเองแบบพื้นเมือง ไปดูเขาทำผ้า ไปหัดทำไห น่าจะช่วยให้คนมามากขึ้นได้ 

ศูนย์การเรียนรู้การท่องเที่ยว ของลาว-เวียดนาม

อาจารย์ท่านหนึ่งของสาขาการจัดการท่องเที่ยว ราชภัฏอุดรธานี ได้แสดงความเห็นว่า อุดรธานีน่าสนใจมากขนาดที่ว่า มหาวิทยาลัย Tôn Đức Thắng (TDTU) ของเวียดนาม ได้ติดต่อมาเรียนกับราชภัฏอุดรฯ 1 เดือน มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่และเอาจริงเอาจังเรื่องการจัดการเรียนการสอนมาก เขามองว่าอุดรฯ เป็นเมืองที่จะมาเรียนรู้เรื่องการท่องเที่ยวได้ มาเรียนรู้หลั่นล้าอีโคโนมีได้จริงๆ และได้มีโอกาสนั่งคุยกับอาจารย์อีกท่านที่เป็นคนเวียดนามที่ดูแลเรื่องนี้ในการออกแบบคอร์ส เขาสนใจ street food สะท้อนว่าบ้านเมืองเรามีจุดแข็งคือเรื่องนี้ นอกจากเวียดนาม คนลาวก็มาเรียนที่นี่เยอะมาก อีกประเด็นหนึ่ง อุดรธานีได้ทำโครงการนั่งรถรางชมเมือง สนับสนุนการท่องเที่ยว โอกาสมาแล้ว นักศึกษาไม่จำเป็นต้องไปทำงานเป็นไกด์ในเมืองใหญ่ เป็นที่อุดรธานีได้ จริงๆ แล้วอุดรก็เป็นเมืองที่ค่อนข้างพร้อม ค่อนข้างเด่น เพราะฉะนั้น ขอให้เราภูมิใจเมืองเราอย่างเต็มที่ เพราะอุดรมีดีจริง ๆ

การจัดการตนเอง เป็นสิ่งสำคัญ 

        คุณเสนีย์ จิตตเกษม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา ที่มีบทบาทในการพัฒนาเมืองอุดรธานี ชี้ประเด็นว่า ลักษณะของการออกแบบประเทศไทยไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของการให้อำนาจประชาชน ไม่ตอบเรื่องความเข้มแข็งของประชาชนเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะต้องทำคือการสร้างความเป็นท้องถิ่นนิยม ความรู้สึกภาคภูมิใจ และผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นผู้นำทางความคิด ต้องเป็นผู้ที่สามารถประสานประโยชน์ และรับฟังความเห็นของประชาชนไม่ใช่เป็นคนสั่งการ การแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัดที่ผ่านมา ไม่ค่อยโปร่งใส ฉะนั้น อย่าไปพึ่งพาส่วนภูมิภาคมาก เราต้องพึ่งพาตนเองให้มาก เพราะจริงๆ แล้วการจัดการตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญ มีตัวอย่างหลายแห่งที่เขาสามารถจัดการตนเองได้ดี อันนี้เป็นบทบาทที่สำคัญของพลเมือง ในงานของพลเมือง ตรงนี้เราอยากจะให้ปลุกจิตสำนึกของสังคมขึ้นมาดูแล และสร้างสิ่งที่เป็นสังคมของตัวตนที่แท้จริงขึ้นมา 

ตั้งมหาวิทยาลัยอุดร หน่วยยุทธศาสตร์การพัฒนา 

ศ.ดร.เอนก แนะประเด็นเพิ่มเติมว่า ศักยภาพของอุดรฯ มีโอกาสการพัฒนาเมืองสูงมาก แต่อุดรธานีไม่มีมหาวิทยาลัยเป็นของตนเอง มีเพียงราชภัฎอุดรธานี ซึ่งราชภัฏอุดรธานี ควรออกจากราชภัฏ ให้กลายเป็นมหาวิทยาลัยของอุดรธานีจริงๆ ต้องทำมหาวิทยาลัยให้มันใหญ่ขึ้น ให้มันสมกับเมืองใหญ่ ถ้าไม่แยกตัวออกไป ก็ต้องทำตัวให้รับใช้เมืองอุดรฯ และอีสานให้มากขึ้น รับใช้อุดรฯ ให้มันแผ่รัศมีให้ออกไปนอกประเทศแทนที่จะมองเข้ามาแต่ในกรุงเทพ มหาวิทยาลัยต้องไม่ได้เป็นแค่หน่วยการศึกษา แต่เป็นหน่วยยุทธศาสตร์ที่ว่าด้วยการสร้างประเทศ พัฒนาประเทศด้วย

ท้ายที่สุด ศ.ดร.เอนก ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "ให้พยายามคิดเรื่องโอกาสให้มาก แต่อย่าเอาปัญหาเป็นจุดเริ่มต้น เราจะท้อแท้ได้ ต้องคิดเสมอว่า เมืองอุดร เป็นบ้านเป็นเมืองของเรา เรารัก เราทิ้งไม่ได้ เราท้อแท้ไม่ได้ เพราะเมืองอุดรเป็นของเรา เรารักเมืองอุดร เราเสียสละเพื่อเมืองอุดรได้"

 

ที่มาภาพ:
https://www.thetrippacker.com/th/NongPrajakPublicPark/46912

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

Related Posts