Cities Reviews

ป่าตอง การจัดการเมืองท่องเที่ยวระดับโลก

ณัฐธิดา เย็นบำรุง

 

ลงใต้ไปครานี้ ในฝั่งทะเลอันดามัน นอกเหนือความสวยงามของหาดทรายหลากหลายหาด บ้านเมืองเก่าของเมืองภูเก็ต ก็คงเป็นการได้เรียนรู้การจัดการเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่อย่างเมืองป่าตอง แม้ในทางการป่าตองอาจเป็นหนึ่งในอำเภอของจังหวัดภูเก็ต แต่ความเป็นเมืองที่เติบโตของป่าตองวันนี้ อาจคึกคักกว่าตัวเมืองภูเก็ต ด้วยการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวที่มหาศาลที่มาอยู่ในเมือง และประชากรแฝงที่มาทำงาน ความเป็นเมืองใหญ่ย่อมทำให้ป่าตองประสบปัญหาของเมืองไม่น้อย  ซึ่งด้วยความตั้งใจและมีวิสัยทัศน์ของเทศบาลเมืองป่าตอง ที่พวกเราได้มีโอกาสรับการบรรยายจาก คุณสมจิต หลิมพัฒนวงศ์ รองปลัดเทศบาล รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักปลัดเทศบาล และเจ้าหน้าทีเทศบาลท่านอื่นๆ ทำให้เราเห็นป่าตองในมุมใหม่ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงเมืองท่องเที่ยว แต่เป็นเมืองที่ใส่ใจในคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้มีสุขภาวะที่ดีด้วย ที่อาจสรุปได้ภายใน 3 คำ คือ ป่าตอง เมืองสะอาด ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม อันเป็นจุดเด่นของการพัฒนาเมืองป่าตอง

 

ภาพ คุณสมจิต หลิมพัฒนวงศ์ รองปลัดเทศบาลเมืองป่าตอง

ที่มา ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง (2562)

 

เมืองป่าตอง เมืองท่องเที่ยว สีสันแห่งภูเก็ต

          เมืองป่าตอง เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ประชากรในทะเบียนบ้านมีเพียง 20,000 คน แต่เมื่อนับประชากรแฝงแล้ว ป่าตองมีคนอาศัยในเมืองกว่า 200,000 คน ป่าตองเป็นเมืองแห่งการเที่ยวมานานแล้ว เนื่องจากมีภูมิศาสตร์ของเมืองที่มีธรรมชาติสวยงาม คือ มีหาดป่าตองที่มีความยาวกว่า 3 กิโลเมตร และการท่องเที่ยวใน “ถนนบางลา ถนนสาย walking street” ที่เปิดบริการถึงเวลา 04.00 น. ในทุกวัน   พื้นที่ชีวิตกลางคืนที่คึกคักมากที่สุด  มีโรงแรม สถาบันบันเทิงจากร้านค้าต่าง ๆ ครบวงจร สถานบันเทิงบนถนนบางลาจะเป็นอาคารที่ปลูกติด ๆ กัน และเป็นบาร์เป็นผับไปตลอดสองข้างทาง นักท่องเที่ยวสามารถเดินไปเดินมาเลือกร้านได้ตามความพอใจ เป็นบรรยากาศที่เป็นเอกลักษณ์อย่างมากของป่าตอง ทำให้เมืองป่าตองดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ ประมาณปีละ 13 ล้านคน แต่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

            ด้วยเอกลักษณ์เมืองเที่ยวแบบนี้ ทำให้เศรษฐกิจป่าตองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 2558 – 2562 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แม้จะมีการจัดระเบียบด้านต่างๆ ซึ่งตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล อาจที่มีผลกระทบต่อสังคมหรือร้านค้าในช่วงแรก  แต่ก็เป็นไปเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและปลอดภัย หลายหลังจากการจัดระเบียบ สถิติของนักท่องเที่ยวดีขึ้น ปัญหาต่างๆ ลดน้อยลง การร้องเรียนน้อยลง เพราะฉะนั้นแนวโน้มของภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นที่ป่าตองหรือจังหวัดภูเก็ตเองในภาพรวมมองว่าดีขึ้น

 

ถนนบางลา Walking street สีสันเมืองป่าตอง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ถนนบางลา

ภาพจาก pafe12345 - WordPress.com

 

การบริหารจัดการเมืองป่าตอง 

เมืองท่องเที่ยวปลอดภัยที่สุด

เมืองป่าตองเป็นเมืองเที่ยว ผู้คนเดินทางมาจากทั่วโลก การเป็นเมืองที่มีคุณภาพ เป้าหมายของเมืองจึงมีความประสงค์ที่อยากทำให้นักท่องเที่ยวรวมถึงผู้คนในเมือง สามารถท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย สบายใจที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว เทศบาลป่าตองในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้บูรณาการร่วมมือกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ อีกทั้งยังใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลนักเที่ยวด้วย  ดังนี้

  • มีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือคน (Lifeguard) ประจำที่หาดป่าตอง หาดสำคัญของเมือง ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวมาตลอด  เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือคน (Lifeguard) ดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวมากว่า 20 ปีแล้ว ในอดีตเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยนี้อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ถ่ายโอนให้เป็นภารกิจของเทศบาลเมืองป่าตอง จึงได้ทำการบริหารจัดการชายหาดทั้งหมด เทศบาลได้ตั้งงบประมาณจัดจ้างเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยปีละ 10 ล้านบาท จำนวน 26 คน เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะได้รับการอบรมจากบริษัทในภูเก็ต และมีอุปกรณ์การช่วยเหลือคนอย่างครบครัน คอยตรวจดูความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ในปี 2561 ที่ผ่านมาได้มีการช่วยเหลือปั๊มหัวใจชาวอินเดียให้รอดขึ้นมาสำเร็จ หลายปีที่ผ่านมาไม่มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตในการเล่นน้ำที่หาดป่าตองเลย นอกจากนี้เทศบาลเมืองป่าตองยังจัดระเบียบชายหาดตามคำสั่งของ คสช. ในการนำร่มออกจากชายฝั่งให้คงเหลือเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพื่อให้หาดมีที่ว่างและมีทัศนียภาพที่สวยงามมากขึ้น  มีการกำหนดเส้นแบ่งการเล่นน้ำของนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจด้วย เช่น เจ๊ตสกี บอลลูน อย่างชัดเจน 

ในส่วนของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมในการพัฒนาความปลอดภัยดีมาก ภาคประชาสังคมนำโดยมูลนิธิพัฒนาเมืองป่าตอง ได้จัดอาสาสมัคร Life Guard ที่เป็นอาสาของมูลนิธิพัฒนาป่าตอง  ให้เข้ามาช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยเพิ่มเติม เพื่อที่จะเชื่อมต่อการทำงานกันระหว่าง Life Guard ชุดกลางวัน อีกทั้งมีการสนับสนุนอุปกรณ์การทำงานด้วย ในส่วนของภาคเอกชนก็ได้รับความร่วมมือผู้ประกอบการที่ได้สัมปทานห้องน้ำของเทศบาลเมืองป่าตอง โดยได้ขอความร่วมมือจากเขาให้ช่วยติดไฟห้องน้ำและมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง และโรงแรมให้มีการติดตั้งสปอร์ตไลท์มายังชายหาดด้วย

 

ภาพ เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือคน (Lifeguard) กำลังอธิบายการใช้อุปกรณ์

 

ที่มา ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง (2562)

 

ภาพ ธงบอกโซนบริเวณเล่นน้ำปลอดภัย

ที่มา ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง (2562)

 

  • การติดตั้งกล้อง CCTV ทั่วเมือง ภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องในการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) จากรัฐบาลโดยมีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เป็นที่ปรึกษา มีการทำ Road map smart cities  หนึ่งใน Road map ของภูเก็ต คือการติดตั้งกล้อง CCTY ทั้งจังหวัด เทศบาลเมืองป่าตองตอบรับนโยบายดังกล่าว จึงมีการติดตั้งกล้อง CCTV ทั่วทั้งเมืองป่าตอง โดยมีห้องควบคุมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดควบคุมกล้อง กล้องทั้งหมดสามารถใช้งานได้ดี ในปีงบประมาณ 2562 เมืองป่าตองตั้งงบประมาณสำหรับการติดตั้งกล้อง CCTV รูปแบบใหม่เพิ่มเติม คือมีทั้งกล้องที่ไม่เคลื่อนไหว กล้องเคลื่อนไหวได้ กล้องซูม  และกำลังพัฒนากล้องทั้งหมดให้ติดเชื่อมกันทั้งจังหวัด สามารถแสดงผลของกันและกัน เช่น หากเกิดเหตุการณ์ใดๆ ที่ป่าตอง หรือเมืองภูเก็ต ก็สามารถดูจากกล้องทั้ง 2 พื้นที่ได้ เพราะมีระบบที่เชื่อมกัน  

 

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในการดูแลความปลอดภัยของเมืองป่าตอง ในส่วนอื่นๆ เทศบาลเมืองป่าตองได้ทำ หอเตือนภัย 3 แห่ง มีทั้งหมด 5 ภาษา ทั้งไทย จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษ ไว้แจ้งเตือนคนในเมืองถึงสถานการณ์ทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดเหตุร้ายได้ อีกทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา ทำเอกสารแจกจ่าย แนะนำวิธีการเมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนเป็นอย่างดี

 

ภาพ หอเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิ บนหาดป่าตอง

                            à¸œà¸¥à¸à¸²à¸£à¸„้นหารูปภาพสำหรับ หอเตือนภัย ป่าตอง        

ที่มา http://dpm.nida.ac.th/

 

ป่าตองเมืองสะอาด 24 ชม.

  • ถนนบางลา สะอาด 24 ชม.

 ถนนบางลา เป็นถนนที่ดึงดูดการท่องเที่ยวสร้างเศรษฐกิจเมืองมหาศาล ในช่วงหลังชีวิตกลางคืน ถนนบางลาจะเป็นถนนที่มีขยะและสกปรกจากการดื่มและกินของนักท่องเที่ยว เทศบาลเมืองป่าตอง  ร่วมกับ สภ.ป่าตอง ชมรมสถานบันเทิงหาดป่าตอง และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สร้างโครงการ ถนนบางลาสะอาด 24 ชม. หลังจากคำคืนแห่งแสงสีจบลงในทุกวัน สถานประกอบการต้องทำความสะอาดบริเวณร้านของตนเองให้เรียบร้อย พวกขยะรีไซเคิลจะส่งมอบให้กับคนเก็บของเก่าซึ่งมีอยู่ประมาณ 50-100 คนในป่าตองที่จะเข้ามาช่วยเก็บขยะที่มีค่าไปคัดแยกขาย ในส่วนช่วงกลางวันก็ส่งมอบพื้นที่ให้กับทางเทศบาลเป็นผู้ดำเนินการ ทำความสะอาดถนนอีกครั้ง ทั้งฉีดน้ำ และกวาดขยะ ทำให้ถนนบางลาในช่วงกลางวันไม่มีขยะสะสมและสะอาดตลอดทั้งเส้นทาง

  • ชายหาดปลอดบุหรี่

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เลือกเมืองป่าตองเป็นพื้นที่นำร่อง 24 หาดทั่วประเทศ เนื่องจากชายหาด เป็นพื้นที่สาธารณะ ก้นบุหรี่อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อชายหาดและน้ำทะเล จึงทำโครงการชายหาดปลอดบุหรี่ร่วมกับเทศบาลเมืองป่าตอง  หาดป่าตองเคยทำการสำรวจพบก้นบุหรี่กว่า 10 ตัน  เทศบาลเมืองป่าตอง จึงกำหนด 26 จุด ให้บริการสูบบุหรี่เป็นระยะตามชายหาด ซึ่งแต่ละจุดจะประกอบไปด้วยที่ฐานปูนบรรจุทรายเพื่อดับและทิ้งก้นบุหรี่ พร้อมป้ายบ่งบอกจุดสูบบุหรี่เป็นภาษาอังกฤษและสัญลักษณ์กราฟฟิคป้องกันการทิ้งก้นบุหรี่ลงชายหาด เพื่อให้นักท่องเที่ยวสูบบุหรี่เป็นจุดๆ และง่ายต่อการเก็บขยะ หากมีนักท่องเที่ยวฝ่าฝืนจะต้องโดนค่าปรับ

หลังจากประกาศนโยบายไป ก็ได้รับการตอบรับนักท่องเที่ยวอย่างดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เข้าใจกฎระเบียบมากกว่านักท่องเที่ยวไทย ที่ต้องใช้การตักเตือนบ่อยครั้ง แม้ว่าการห้ามสูบบุหรี่บนชายหาดไม่ได้เป็นการห้ามโดยเด็ดขาดแต่จะเป็นการจัดระเบียบให้สูบเป็นที่เป็นทางก่อนเดินลงชายหาด มีที่ให้ทิ้งก้นบุหรี่ ซึ่งลดปริมาณขยะก้นบุหรี่ในชายหาดป่าตองลงได้จำนวนมาก

                            

                             ภาพ ป้ายกำลังจุดพื้นที่สูบบุหรี่ในหาดป่าตอง

ที่มา ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง (2562)

 

การพัฒนาสิ่งแวดล้อม : นวัตกรรมและการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ

  • การแยกขยะและจัดเก็บขยะ

เมืองป่าตองเป็นเมืองใหญ่ที่มีขยะเกิดขึ้นในเมืองต่อวันจำนวนมาก จากตัวเลขของเทศบาลเมืองป่าตองพบว่า ใน 1 วัน มีขยะเกิดขึ้นในเมืองป่าตองจำนวน 150-160 ตัน เทศบาลเมืองป่าตองจึงให้ความสำคัญกับการจัดการขยะเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ มีจัดระบบเรื่องขยะ โดยเริ่มจากขอความร่วมมือสถานประกอบการและครัวเรือนช่วยการแยกขยะในเทศบาล มีการนัดหมายเวลาการทิ้งขยะ เพื่อให้รถขยะสามารถไปรับได้ตามเวลานัด มิเช่นนั้นจะเกิดการลอบทิ้งขยะและทำให้เกิดกลิ่นเหม็นในบริเวณนั้น  เทศบาลเมืองป่าตองเคร่งครัดในเรื่องของเวลาทิ้งขยะมาก ในบริเวณจุดทิ้งขยะจะจัดให้มีเวรยามเฝ้าเพื่อป้องกันคนลักลอบมาทิ้งขยะ รวมทั้งใช้กล้อง cctv จับผิดด้วย

  • เปลี่ยนขยะเป็นปุ๋ยอินทรีย์

  เทศบาลนำขยะส่วนหนึ่งไปฝังกลบที่เมืองภูเก็ต แต่การเดินทางไปทิ้งขยะใช้เวลานาน และต้องใช้เวลาวันละ 2 รอบ ขยะของป่าตองจึงระบายช้ามาก ในขณะเดียวเมื่อประเมินขยะในป่าตอง พบว่า  มีขยะเป็นลูกมะพร้าวอ่อนจำนวนเยอะมาก  วันละกว่า 3,000 ลูก เนื่องจากนักท่องเที่ยวชอบทาน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการกำจัดลูกมะพร้าวค่อนข้างสูง เทศบาลจึงหาวิธีลดขยะ จนได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญให้นำมะพร้าวอ่อนมาสับและผสมกับใบไม้สดและเศษอาหาร พรวนกองขยะทุกอาทิตย์ให้อากาศและจุลินทรีย์เข้า  มะพร้าวจะแปรสภาพเป็นปุ๋ยอินทรีย์

 เทศบาลเมืองป่าตองสามารถแปรเปลี่ยนขยะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์จำนวนมาก โดยใช้ประโยชน์ในการใส่ต้นไม้ในสวนสาธารณะ และการใช้ปลูกผักที่หน้าที่หน้าสำนักงานเทศบาลเมืองป่าตอง หากเหลือจะมีการแจกจ่ายปุ๋ยให้ชาวบ้านนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย  การทำปุ๋ยอินทรีย์ช่วยการลดน้ำหนักขยะจากมะพร้าวอ่อน การกำจัดเศษกิ่งไม้ใบไม้และเศษผักผลไม้  และเป็นการประหยัดงบประมาณการกำจัดขยะด้วย

 

ภาพ กองมะพร้าวอ่อนสับ ส่วนผสมในการทำปุ๋ยอินทรีย์

ที่มา ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง (2562)

 

ภาพ การพรวนปุ๋ยจากเศษอาหารและมะพร้าวสับ

 

ที่มา ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง (2562)

 

 

  • นวัตกรรมถังขยะและการจัดเก็บขยะ
  • นวัตกรรมถังขยะ : ถังขยะอัจฉริยะ เทศบาลเมืองป่าร่วมมือกับ NECTEC ติดตั้งถังขยะอัจฉริยะ หน้าหาดป่าตอง จำนวน 15 ถัง ถังขยะดังกล่าวมีคุณสมบัติ ด้านหน้าแยกขยะ 2 ประเภท ขยะทั่วไป และ ขยะรีไซเคิล ด้านในมีเซ็นเซอร์ บอกปริมาณขยะ ตำแหน่ง อุณหภูมิได้ ด้านบนมีแผงโซลาร์เซลล์ เติมพลังให้ตัวเองได้ ซึ่งช่วยเรื่องการแยกขยะ และขยะล้นถังได้

 

ภาพ ถังขยะอัจฉริยะบริเวณหาดป่าตอง

ในภาพอาจจะมี ต้นพืช, ต้นไม้ และสถานที่กลางแจ้ง

ที่มา เทศบาลเมืองป่าตอง

 

  • นวัตกรรมแจ้งเก็บขยะ : Application Patong Report แอพพลิเคชั่นสำหรับแจ้งเตือนเก็บขยะ บริเวณตําบลป่าตอง เมื่อพบเห็นถังขยะมีปริมาณเต็มถัง สามารเข้าใช้งานแอพพลิเคชั่นนี้ แล้วแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบได้ทันที การทำงานของ App นี้ หากประชาชนมีการพบเห็นขยะที่ไม่มีคนเก็บ ขยะกองผิดที่ สามารถถ่ายรูปและส่งให้เจ้าหน้าที่ ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่มี App Patong Staff เพื่อรับรายงานจากประชาชน  เจ้าหน้าที่จะรีบไปจัดการขยะดังกล่าวให้เรียบร้อย การตอบสนองขึ้นแล้วแต่เจ้าหน้าที่ บางวันสามารถไปเก็บได้ทันที หรือใช้เวลาประมาณ 1 วัน มีผู้โหลดงาน Application  มีประมาณ 500 คนทั่วป่าตอง  

 

ตัวอย่าง Application Patong Report

 à¸œà¸¥à¸à¸²à¸£à¸„้นหารูปภาพสำหรับ Patong Report

ที่มา NECTEC

 

การจัดการน้ำเสียกับการสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย  

เทศบาลเมืองป่าตอง ได้ลงทุนสร้างระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ของเมือง มีการลงทุนไปกว่า 1000 ล้านบาท ระบบบำบัดน้ำเสียนี้จะช่วยการกำจัดสิ่งปนเปื้อนในน้ำที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงาน โรงแรม สถานประกอบการ หรือเกิดจากกิจวัตรประจำวันของประชาชนที่อยู่อาศัยในชุมชนหรือแหล่งที่อยู่อาศัยต่างๆ ให้หมดไป และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่  การบำบัดน้ำเสียของป่าตองรองรับน้ำเสียได้ถึง 30,000 ลูกบาศก์เมตร  จุดเด่นของป่าตองนอกจาการมีระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่แล้ว ยังเป็นเมืองที่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียจากสถานประกอบการและครัวเรือนได้ ซึ่งในประเทศไทยมีเมืองที่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียได้น้อยมาก ทั้งครัวเรือน ร้านอาหาร ธุรกิจขนาดเล็ก อพาร์ทเมนต์ โรงแรมจะมีอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมจะแตกต่างกันไป  ประเมินจากขนาดและการปล่อยน้ำเสียเพิ่มเติมด้วย

ภาพ ระบบการบำบัดน้ำเสียรวม เทศบาลเมืองป่าตอง

 

ที่มา ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง (2562)

 

หมุดหมายของป่าตองในอนาคต : เมืองแห่งการสัมมนา (Mice city)

            หมุดหมายต่อไปของเมืองป่าตอง คือ การพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการเป็นเมืองแห่งการสัมมนา การประชุม หรือที่เรียกว่า Mice City  ทำไมต้องเป็นเมืองแห่งสัมมนา เพราะป่าตองมีศักยภาพที่พร้อมมาก ทั้งโรงแรมขนาดใหญ่ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจครบทุกแบบ ทั้งสิ่งแวดล้อมและการเที่ยวแบบ Night life ขณะนี้ป่าตองอยู่ในช่วงเสนอให้สร้างอาคารขนาดใหญ่ระยะ 150 เมตรนับจากชายหาด ให้ประกอบกิจการศูนย์ประชุมรองรับได้ 5 หมื่นคน เพื่อให้ป่าตองสามารถรองรับกิจกรรมการประชุมขนาดใหญ่ สอดคล้องจำนวนห้องพักของโรงแรมต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เทศบาลได้รับภาษีเพิ่มขึ้นมากกว่า 200 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งมีแผนปรับปรุงกายภาพให้เหมาะกับเมืองสัมมนา พื้นที่ป่าตองออกแบบฟื้นฟูใหม่ในถนนเลียบหาดและซอยบางลา และในงบปี 2563 จะปรับปรุงถนนอีก 3 เส้นทาง เพื่อเปลี่ยนเป็นถนนแห่งการเดิน (Walkable City) พร้อมทั้งการฟื้นฟูถนนเขียวด้วยต้นไม้ใหญ่ในถนนสายหลักและสายรอง คาดการณ์ว่าพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจสัมมนาใจกลางเมือง ขนาดประมาณ 400 ไร่ จะสามารถให้มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากถึง 6 พันล้านบาทต่อปี

 

ป่าตอง  เมืองบาปที่มีการจัดการ

          เมืองป่าตอง นอกเหนือไปจากเมืองหาดสวย ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแง่หนึ่งป่าตองเป็นเมืองบาป (Sin City) ที่ในช่วงเวลากลางคืนเป็นเมืองแสงสีและแหล่งบันเทิงที่เปิดตลอดคืนจนเกือบเช้า มี แอลกอฮอล์ การแสดงโชว์ ผู้หญิงให้บริการทางเพศ เสียงเพลง  การมั่วสุม หรือแม้กระทั่งการมียาเสพติด เนื่องจากมีคนจำนวนมากจากทั่วโลก  เป็นเมืองที่มีทั้งมุมมืดและมุมสว่าง การบริหารจัดการเมืองป่าตอง นอกจากการจัดการของท้องถิ่น ยังมีการจัดการนอกระบบที่นำโดยผู้มีอิทธิพลภาคเอกชนด้วย ที่ต้องคอยบริหารจัดการสถานประกอบการและควบคุมความปลอดภัยของเมือง

            แม้จะเป็นเมืองที่มีมุมมืด ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของป่าตอง และเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีในป่าตอง แต่ป่าตองไม่ใช่เป็นเพียงเมืองท่องเที่ยวที่ไร้ระเบียบจนกลายเป็นเมืองอโคจรที่ไม่มีความปลอดภัย ป่าตองเป็นเมืองหนึ่งที่รัฐท้องถิ่น รวมถึงภาคประชาสังคม เอกชน และประชาชนใส่ใจคุณภาพชีวิตของคนในเมืองมาก พวกเขาให้ความสำคัญกับการจัดการ พวกเขาใส่ใจเมือง มีความรู้สึกรักในป่าตอง และร่วมกันพัฒนาให้คนในเมืองและนักท่องเที่ยวสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ต่างจากเมืองอื่นๆ ของไทย ให้คนป่าตองต้องมีความมั่นใจในการความปลอดภัย ทั้งการเดินอยู่ในเมือง และการเล่นน้ำในชายหาด รวมถึงในมิติสุขภาพก็มีการดูแลความสะอาดของเมือง รวมถึงการใส่ใจสิ่งแวดล้อมทั้งการกำจัดขยะ และการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นการจัดการบนบริบทและสถานการณ์ของเมือง มีจุดเด่นการจัดการและเป้าหมายที่ชัดเจน หากเรากำลังมองหาเมืองท่องเที่ยว ที่เป็นต้นแบบในเรื่องของการจัดการ ป่าตองน่าจะเป็นเมืองแรกๆ ที่เราควรจะศึกษาได้

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

Related Posts