Cities Reviews

สัมผัสเมืองสายบุรี จังหวัดที่หายไป

ฮากิม ผูหาดา

 

ผมได้นั่งฟัง คุณอัซฮาร์ สารีมะเจ๊ะ  ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทยและได้ทำกิจกรรมด้านสังคมในสามจังหวัด เล่าให้ฟังว่า สายบุรี- สายมาจากคำว่า ซา แปลว่าปฏัก ท้องถิ่นเรียก ตะลุบัน ตะลุแบร์ หรือมีอีกชื่อหนึ่งในภาษา ทางวรรณกรรมว่า “ซือลินดงบายู” (แปลว่า เมือง กำบังจากลมจากพายุ เนื่องจากที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่ง)  สายบุรีมีความเป็นมาในอดีตที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีตเป็นเมืองท่าที่ สำคัญของจังหวัดปัตตานี ผู้คนผ่านธุรกิจการค้า กล่าวกันว่ามีเรือสินค้าจากต่างชาติมากมายได้มาแวะเวียนแลกเปลี่ยนสินค้ากันในบริเวณท่าเรือของเมืองที่รู้จักกันในชื่อ “ท่าสำเภา” ทั้งชาวจีน ชาวโปรตุเกส หรือชาวอาหรับ เป็นต้น กลุ่มพ่อค้าเหล่านั้นบางส่วนก็ได้ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่เมืองสายบุรีเป็นการถาวร  ในอดีตเคยเป็นจังหวัดสายบุรี หลังจากที่ปัตตานี แบ่งเป็นมณฑล 7 หัวเมือง (ปัตตานี หนองจิก  ยะหริ่ง รามัน ยะลา สายบุรีและระแงะ) ก่อนการกลายเป็น 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส  แท้จริงแล้วไม่รวมสงขลา แต่รวมอดีตจังหวัดสายบุรี ต่อมาหลังการ ปฏิวัติ 2475 ปัจจุบันเป็นอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี  เนื่องจากการสร้างเส้นทางรถไฟและถนนหลายสายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้การค้าจากท่าเรือสายบุรีเริ่มซบเซาลง ความเป็นเมืองของสายบุรีก็เริ่มซบเซาตาม ตลอดจนเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ชาวเมืองสายบุรีเกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน การพัฒนาเมืองสายบุรีจำต้องหยุดชะงักลง และขาดทิศทางการพัฒนาในอนาคต  

ความเป็นเมืองสายบุรี

อัซฮาร์ เล่าต่ออีกว่า ปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ประกอบอาชีพทางการประมง ซึ่งมีทั้งประมงชายฝั่งและประมงขนาดใหญ่ อาชีพ ทางการเกษตร การพาณิชย์ เนื่องจากสภาพพื้นที่มีส่วนที่ติดชายฝั่งทะเลและที่ราบชายฝั่ง ที่ราบเชิงเขา ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 80% และนับถือศาสนาพุทธประมาณ 20%  มีประชากรประมาณ 60,000 กว่าคน สายบุรีเป็นเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ชัด โดยเฉพาะในแง่ข องวิถีชีวีติ เช่น การ ประกอบอาชีพ ของคนรุ่น ก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ เกษตรกรรม ปัจจุบันคนเข้าถึงการศึกษามากขึ้น เกิดบุคลากรในหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย ทนายความ นักธุรกิจ กลายเป็นผู้ประกอบการมากขึ้นในท้องถิ่น เช่น มีการเปิดสถาบันกวดวิชา คลินิกรักษาโรค การเกิดขึ้นของ อาคารพาณิชย์ อีกทั้งที่ดินที่มีราคาแพงขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของข้อบ่งชี้ความเป็นเมืองที่ก่อตัวขึ้นในสายบุรี

 

ต้นทุนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในเมืองสายบุรี

สายบุรีมีชื่อเสียงของน้ำบูดูมาก ใครๆ ก็รู้จักถ้าหากอยากกินบูดู ต้องบูดูจากสายบุรี  มีการตั้งโรงงานทำบูดูแถบริมแม่น้ำสายบุรีที่มีความอุดมสมบูรณ์ บูดูจากสายบุรีดังมากจนมีการส่งออกไปยังประเทศ เช่น ซาอุดิอาระเบีย  ที่ผ่านมาความสำคัญของสายบุรีในการท่องเที่ยวนั้นยังไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ถูกนำเสนอเป็นภาพลักษณ์ส่วนใหญ่ หลังจากที่ได้ฟังเรื่องเล่าจากอัซฮาร์ ผมได้มีโอกาสลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มสายบุรี ลูกเกอร์ (Saiburi looker) ภาคประชาสังคมของเมืองสายบุรีที่ขณะนี้เป็นกำลังหลักในการพัฒนาฟื้นฟูเมืองสายบุรีให้กลับมาเป็นเมืองที่คึกคักเหมือนในอดีต พวกเขาขับเคลื่อนเปิดพื้นที่ให้กับคนสายบุรีได้แสดงถึงความรู้สึกของการเป็นเจ้าของเมืองสายบุรีร่วมกัน (sense of belonging)  พวกเขาพาผมไปสำรวจพื้นที่สำคัญๆ ภายในเมืองสายบุรี โดยเริ่มจาก  “คฤหาสน์พิพิธภักดี” ซึ่งเป็นอาคารที่มีคุณค่า และความหมายทางประวัติศาสตร์ของคนสายบุรี ตลอดจนมาจากการระดมเงินประชาชนในพื้นที่กว่าสิบล้านบาท เพื่อซื้อคฤหาสน์หลังดังกล่าวจากเอกชนให้คนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน

 

 

จากนั้น พวกเขาไปพาชุมชนชาวจีน บริเวณ ถ.สายบุรี ซึ่งเป็นชุมชนเก่าที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองสายบุรีเป็นเวลาหลายศตวรรษ จะเห็นได้จากสองฟากฝั่งถนนที่เต็มไปด้วยอาคารรูปทรงดั้งเดิม และยังคงอนุรักษ์ไว้จนปัจจุบัน

 

 

ต่อมาคือพื้นที่บริเวณปากน้ำสายบุรี ซึ่งในอดีตเป็นแหล่งของการประมงที่รุ่งเรือง กล่าวกันว่ามีเรือประมงที่เข้ามาทำมาหากินในบริเวณดังกล่าวมากถึงหลักร้อย หลักพัน เลยทีเดียว แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศน์ที่ค่อยๆ เสื่อมถอย ตลอดจนเส้นทางคมนาคมที่เปลี่ยนไป ทำให้อาชีพประมงไม่สามารถสร้างรายได้ที่ดีได้อีกต่อไป จึงมีเรือประมง และชาวประมงหลงเหลืออยู่น้อยมาก

 

 

ถัดไปคือท่าเรือ ซึ่งในอดีตถือเป็นจุดแวะพักของเรืองสินค้า ตลอดจนขนถ่าย และกระจายสินค้าทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ดังนั้นจึงมีด่าน ตม. ตั้งอยู่ในเมืองสายบุรี แต่ปัจจุบันทั้งท่าเรือ และด่าน ตม. ได้ปิดทำการลงแล้ว

สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองสายบุรี คือโรงพยาบาลคริสเตียน ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มมิชชันนารี ถือเป็นโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือทันสมัยที่สุดของชายแดนใต้ในอดีต โดยรอบโรงพยาบาลพบว่ามีโรงแรม และสถานบันเทิงที่อยู่ไม่ไกลนัก ภายหลังโรงพยาบาลปิดตัวลงด้วยเหตุบางประการ ส่งผลให้สถานบริการ และโรงแรมก็ปิดตัวตาม ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นพื้นที่รกร้าง และไม่ได้รับการดูแล

 

 

ยังมีสถานที่อีกหลายแห่งที่เป็นทั้งพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และพื้นที่ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนสายบุรีอีกหลายแห่ง แต่ด้วยสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ จากสายฝนที่กระหน่ำลงมาในช่วงบ่ายของวันนั้น ทำให้เราต้องหยุดการสำรวจไว้ที่วังเจ้าเมืองสายบุรี ซึ่งเป็นวังของเจ้าเมืองสายบุรีในอดีต โดยยังมีลูกหลานของเจ้าเมืองเก่าอาศัยอยู่  ซึ่งได้เล่าว่าวังหลังนี้สร้างขึ้นโดยช่างที่มีฝีมือ สังเกตได้จากสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากชวา จีน มลายู แต่ปัจจุบันสภาพอาคารค่อนข้างทรุดโทรม เพราะขาดการบูรณะ

 

 

จากการพูดคุย และการสำรวจพื้นที่สำคัญในเมืองสายบุรี ทำให้เราตกผลึกได้ว่าเมืองสายบุรีมีความเป็น multi-cultural metropolis กล่าวคือเป็นเมืองที่รวบรวมไว้ซึ่งความหลากหลายในทุกมิติ แต่แสดงออกถึงการเคารพซึ่งกันและกัน ด้วยภูมิศาสตร์จากการเป็นเมืองท่าที่สำคัญในอดีต จึงดึงดูดให้คนหลายกลุ่มได้มาปะทะสังสรรค์และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และสืบทอดส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน เฉกเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ๆ ในโลก ที่รวบรวมไว้ซึ่งความหลากหลายอย่าง New York ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “Melting Pot” คือการเป็นหม้อที่หลอมรวมวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายให้มีความเป็นเนื้อเดียวกัน หรือ Los Angeles ที่มองว่าเป็น “Salad Bowl” ที่เป็นภาชนะรวบรวมกลุ่มคนหลายเชื้อชาติไว้ด้วยกัน แต่ยังคงรักษาไว้ซึ่งรากฐานทางวัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติได้อย่างเข้มแข็ง

เพราะฉะนั้นความเป็นเมือง ไม่เพียงบ่งบอกถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาด้านวัตถุเท่านั้น หากยังเข้าไปในพื้นที่ของจิตใจที่เปิดกว้าง และพร้อมเผชิญกับความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งด้วยความเป็นเมืองนี่เอง จะเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างสันติภาพ ผ่านการสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสายบุรีอย่างเท่าเทียมกันทุกคน อันจะเป็นแบบอย่างในการสร้างสันติภาพผ่าน การศึกษาและพัฒนา “เมือง” ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

    

 

• AUTHOR

 

 


ฮากิม ผูหาดา

รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเนห์รู Jawaharlal Nehru University (JNU) ประเทศอินเดีย

 

Related Posts