Cities Reviews

สรุปบทเรียน Cortex Innovation Community, ในเมืองเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา

         ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้มีการพยายามคิดค้นและมองหาแนวคิดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจเมืองแบบใหม่เพื่อให้เมืองได้ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างเท่าทัน แนวคิดการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรม หรือ ย่านนวัตกรรม (Innovation District) ก็เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจเมืองที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในฐานะแนวทางการพัฒนาเมืองแบบใหม่ ที่อาจตอบสนองต่อความต้องการและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเมืองได้ด้วยนวัตกรรม

 

ภาพที่ 1 ย่านนวัตกรรม 22@ District บาร์เซโลน่า

ที่มา: https://www.morethangreen.es/en/22barcelona-the-innovation-district/

 

          สหรัฐอเมริกาเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่นำแนวคิดการพัฒนาย่านนวัตกรรมมาเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยได้แรงบันดาลใจในการริเริ่มพัฒนาย่านนวัตกรรมมาจาก 22@ District ในเมืองบาร์เซโลน่า แคว้นคาตาลัน ประเทศสเปน[1] ความสำเร็จของย่านนวัตกรรม 22@ district ของบาร์เซโลน่าทำให้นักเศรษฐศาสตร์และฝ่ายพัฒนานโยบายของสหรัฐหันมาให้ความสนใจกับแนวคิดย่านนวัตกรรมมากขึ้น เมืองหลายเมืองในหลายมลรัฐของสหรัฐอเมริกาเริ่มมีโครงการพัฒนาย่านนวัตกรรม และจากโครงการจำนวนมากนี้ Joshua Drucker, Carla Maria Kayanan  และ Henry Renski ได้เขียนนำเสนอเกี่ยวกับกรณีศึกษาย่านนวัตกรรม Cortex Innovation Community ในเมือง St. Louis มลรัฐ Missouri ที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของเมืองได้อย่างน่าสนใจ

 

เมืองเซนต์หลุยส์กับปัญหาของเมือง          

ภาพที่ 2 เมืองเซนต์หลุยส์

ที่มา: https://community-wealth.org/content/st-louis-missouri

 

          เมือง St. Louis รัฐ Missouri เคยเป็นเมืองบริษัท (corporate city) คนในเมืองส่วนใหญ่หากไม่เป็นคนทำงานในบริษัท ก็เป็นเจ้าของสำนักงานใหญ่ของบริษัทต่าง ๆ รวมถึงฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาของผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น Anheuser Busch, Boeing, Mallinckrodt, McDonell-Douglas, Pfizer, Ralston Purina เป็นต้น แต่หลังจากเกิดการถดถอยของการจ้างงานในภาคการผลิต รวมถึงเกิดการควบรวมบริษัทและการเข้าซื้อกิจการบริษัทเพิ่มขึ้น ทำให้ในค.ศ. 2016 มีเพียง 9 บริษัท จาก 500 บริษัท ในรายชื่อของนิตยสาร Fortune ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองเซนต์หลุยส์ ลดลงจากปี 1980 ที่มีสำนักงานใหญ่ของบริษัทต่าง ๆ ตั้งอยู่ในเซนต์หลุยส์อยู่ถึง 23 บริษัท ส่งผลให้ประชากรเมืองเซนต์หลุยส์ที่เคยมีมากถึง 856,796 คนในทศวรรษที่ 1950 กลับลดลงเหลือราว 319,294 คนเท่านั้น ในค.ศ. 2010

          หนึ่งในอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เป็นจุดแข็งของเมืองเซนต์หลุยส์คืออุตสาหกรรมด้าน biological and life sciences นำโดยบริษัทชั้นนำระดับนานาชาติ เช่น Monsanto, Pfizer, Sanofi, Sigma-Aldrich แต่อย่างไรก็ตาม การกระจุกตัวทางเศรษฐกิจ (economic concentration) นี้กลับไม่ได้สร้างภูมิต้านทานให้กับบริษัทเหล่านี้ต่อรูปแบบการหดตัวและปรับโครงสร้าง เพราะเมื่อเกิดการควบรวมกิจการ และบริษัทเหล่านี้เลย์ออฟพนักงานออก พนักงานส่วนใหญ่ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมด้าน biological and life sciences กลับไม่สามารถทำงานสายนี้ต่อในบริษัทอื่น ๆ ได้ ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นทุกครั้งที่บริษัทใหญ่ ๆ ในเซนต์หลุยส์ปิดตัวลง

          แต่วงจรนี้กำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากการตั้งโปรแกรมให้คำปรึกษาทางธุรกิจและเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ บริษัทต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในเมืองเซนต์หลุยส์ให้การสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) และนวัตกรรม ในฐานะส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการให้ธุรกิจท้องถิ่นได้เติบโต รวมถึงสนับสนุนการจัดการหาการใช้จ่ายในท้องถิ่น (local purchasing arrangements) สร้างการรับรู้ และสร้างชุมชนธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการท้องถิ่นเพื่อให้เป็นเส้นทางในการผลักดันเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้า

 

แนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในเมืองเซนต์หลุยส์          

          จากปัญหาการย้ายออกของประชากรในข้างต้น ทำให้รัฐมิสซูรีและเมืองเซนต์หลุยส์มองหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้และกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

         เมืองเซนต์หลุยส์เป็นเมืองที่ง่ายต่อการทำธุรกิจและอยู่อาศัย คือ เซนต์หลุยส์ตั้งอยู่ในเขตมิดเวสต์ที่ห่างไกลจากชายฝั่ง ทำให้ราคาบ้านในเซนต์หลุยส์อยู่ในราคาที่เอื้อมถึง มีสิ่งอำนวยความสะดวกคุณภาพสูง และมีความแออัดน้อยกว่าเมืองอื่น ๆ ในสหรัฐฯ

          ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 และช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 จึงเกิดความพยายามที่จะพัฒนาสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนในภูมิภาคขึ้น มีการตั้ง the Center for Emerging Technologies (CET) ในค.ศ. 1998 ในฐานะหนึ่งในศูนย์บ่มเพาะธุรกิจระดับรัฐของรัฐมิสซูรี โดยมีผู้ก่อตั้งคือมหาวิทยาลัยมิสซูรี (the University of Missouri) ด้วยการสนับสนุนจากกรมพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐมิสซูรี (the State of Missouri Department of Economic Development) CET เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยมิสซูรี-เซนต์หลุยส์ (the University of Missouri-St.Louis) และมีบอร์ดบริหารองค์กรเป็นตัวแทนจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Washington University) และมหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ (St. Louis University) ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจนี้จะจัดหาพื้นที่และสนับสนุนทางธุรกิจแก่บริษัทไบโอไซเอนซ์ที่อยู่ในระยะเริ่มต้น รวมถึงบริษัทที่เริ่มต้นโดยอาจารย์และศิษย์เก่าจากสามมหาวิทยาลัยดังกล่าว (แต่ไม่ได้จำกัดแค่คนที่จบจากสามมหาวิทยาลัยนี้) เพื่อให้โอกาสธุรกิจท้องถิ่นได้เติบโตโดยไม่ต้องย้ายออกไปจากเมือง

          ที่ตั้งของ CET นั้นอยู่ในตึกโกดังที่ได้รับการรีโนเวทใหม่ ตั้งอยู่ในบริเวณระหว่างมหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ และแคมปัสแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งเหมาะแก่การพัฒนาพื้นที่ให้เป็น technopolis สถานที่ปลอดภัย (haven) สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสร้างโปรแกรมให้ความรู้และสร้างเครือข่ายแก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น

          ในค.ศ. 2001 มีการก่อตั้งพันธมิตรเพื่อวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพืชและสิ่งมีชีวิต (the Coalition for Plant and Life Sciences) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางด้าน bioscience ในภูมิภาค และมุ่งสนับสนุนกิจกรรมของผู้ประกอบการในเซคเตอร์ bioscience กลุ่มพันธมิตรนี้นำโดย Dr. William H. Danforth อายุรแพทย์ด้านหัวใจ และหลานของผู้ก่อตั้งบริษัท Ralston Purina ที่เคยเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในช่วงปีค.ศ. 1971 - 1995

 

โครงการย่านนวัตกรรม Cortex Innovation Community          

ผู้ริเริ่มโครงการนวัตกรรม

          พันธมิตรเพื่อวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพืชและสิ่งมีชีวิตตัดสินใจพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการและการเติบโตของนวัตกรและบริษัทสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิต มีการตั้งอนุกรรมการชุดใหม่เพื่อสำรวจผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ทำธุรกิจด้านนี้ รวมถึงพื้นที่ที่ต้องใช้ในการสนับสนุนกิจการที่เพิ่งตั้งไข่และประเมินแนวโน้มของตลาด จนกระทั่งในค.ศ. 2002 มีการตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อ Cortex เพื่อบริหารจัดการและรวบรวมพื้นที่เพื่อก่อตั้งโครงการ พื้นที่ ๆ ถูกเลือกมีพื้นที่กว่า 190 เอเคอร์ ตั้งอยู่ใกล้กับ BJC HealthCare มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ และแคมปัสแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน พื้นที่จุดนี้เคยถูกใช้เพื่อทำอุตสาหกรรม ทำให้สิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นโกดัง และอาคารที่ใช้ในการผลิตสินค้า

 

ภาพที่ 3 Cortex Innovation Community

ที่มา: https://www.cortexstl.com/visit-cortex/

 

ความมุ่งหวังต่อโครงการ

         มูลนิธิ Danforth (Danforth Foundation) ที่ร่วมผลักดันก่อตั้งพันธมิตรเพื่อวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพืชและสิ่งมีชีวิต มีส่วนสำคัญในการผลักดันยุทธศาสตร์และออกแบบการพัฒนา BioBelt: the Center of Plant and Life Sciences เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนทางปัญญาแก่พื้นที่โดยมี 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ และมหาวิทยาลัยมิสซูรี-เซนต์หลุยส์ ช่วยสนับสนุนเรื่องการวิจัยและความรู้ อีกทั้งยังมุ่งสร้างวัฒนธรรมผู้ประกอบการ (entrepreneurial culture) และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนวัตกรและผู้มีความสามารถต่าง ๆ เข้ามาในพื้นที่เพื่อให้แน่ใจว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทรัพย์สินทางปัญญาจะคงอยู่ในพื้นที่ ไม่รั่วไหลออกไปที่อื่น

          การพยายามเปลี่ยนเศรษฐกิจของเมืองเซนต์หลุยส์นั้นไม่ได้ประสบความสำเร็จในทันที แต่เริ่มจากก้าวเล็ก ๆ ทั้งการหันกลับมาพิจารณาเมืองอย่างจริงจังและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

         

ผู้สนับสนุนและร่วมออกแบบโครงการ

          ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ 5 สถาบันได้แก่ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ มหาวิทยาลัยมิสซูรี-เซนต์หลุยส์ BJC HealthCare และสวนพฤกษศาสตร์มิสซูรี (Missouri Botanic Garden) เข้าร่วม Cortex เพื่อสนับสนุนการพัฒนาขั้นเริ่มต้นในการตั้งเมืองผู้ประกอบการ สถาบันทั้งหมดที่เข้าร่วมล้วนเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มีพื้นฐานเป็นหน่วยงานวิจัย และเน้นลงทุนไปกับงานวิจัยด้าน biological sciences และเป็นสถาบันที่ผูกพันกับเมืองเซนต์หลุยส์มาอย่างยาวนาน 3 ใน 5 สถาบันนั้นตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับ Cortex อีก 2 สถาบันตั้งอยู่ห่างออกไปไม่กี่ไมล์ ทำให้ทั้ง 5 สถาบันนี้สามารถสนับสนุน Cortex ได้อย่างเต็มที่

          เมืองเซนต์หลุยส์และรัฐมิสซูรีร่วมให้การสนับสนุนพันธมิตรเพื่อวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพืชและสิ่งมีชีวิตด้วยการยกเว้นภาษีรวมกว่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อช่วย Cortex ในการซื้อที่ดินโครงการ         ในค.ศ. 2006 เมืองเซนต์หลุยส์ได้มอบอำนาจพิเศษแก่ Cortex ในการบริหารจัดการพื้นที่โครงการและการกำหนดลดอัตราภาษีในเขตโครงการได้ด้วยตนเอง

         

ผู้ลงทุนและมูลค่าของโครงการ

          นอกจากเงินลงทุนจากบริษัทท้องถิ่น ได้แก่ Monsanto Energizer Edward Jones ที่ให้เงินบริจาคสนับสนุน Cortex โดยไม่เปิดเผยจำนวนแล้ว 4 จาก 5 สถาบันได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ Cortex เพื่อให้โครงการเคลื่อนไปข้างหน้าได้ มหาวิทยาลัยวอชิงตันสนับสนุน 15 ล้านเหรียญสหรัฐ มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์และ BJC HealthCare สนับสนุนคนละ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ และมหาวิทยาลัยมิสซูรี-เซนต์หลุยส์สนับสนุน 4 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งหมดเป็น 29 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสถาบันเหล่านี้มองว่าเงินที่ให้การสนับสนุน Cortex เป็นเงินลงทุนรูปแบบหนึ่ง และหวังว่าจะได้เงินลงทุนกลับคืนมาในท้ายที่สุด

          นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเหล่านี้ยังให้การสนับสนุน Cortex ในรูปแบบกำลังคน มีการส่งนักวิจัย นักคลินิก และนักศึกษาที่สนใจเกี่ยวกับธุรกิจด้าน biosciences เข้าไปทำงานใน Cortex เพื่อดึงให้นักศึกษาที่เรียนจบไปแล้วอยู่ในพื้นที่ มีงานทำ และสนับสนุนพื้นที่ได้ต่อไป

 

ความสำเร็จและการปรับตัวของ Cortex Innovation Community

          Cortex ในระยะแรกได้ถูกวางไว้เป็นพื้นที่สำหรับจุดประกายนวัตกรรมและทำให้เมืองเซนต์หลุยส์เป็นสถานที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนของผู้ประกอบการท้องถิ่น มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากมายในพื้นที่โครงการเพื่อปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะแก่ผู้ประกอบการ แต่หลังจากการหดตัวของเศรษฐกิจในปลายปี 2007 ทำให้การพัฒนา Cortex หยุดชะงัก จนในค.ศ. 2010 Cortex ได้ประกาศหา CEO จากทั่วประเทศเพื่อมาบริหารโครงการให้เดินหน้าต่อไปได้ จนสุดท้ายตำแหน่งนี้ตกเป็นของ Dennis Lower ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาเศรษฐกิจที่เคยให้คำแนะนำด้านการพัฒนาสวนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Sci and tech park) สองแห่งจนประสบความสำเร็จมาก่อน การมาถึงของ Lower ทำให้ Cortex ที่เคยมุ่งพัฒนาและสนับสนุนแต่อุตสาหกรรมด้าน bioscience หันไปสนับสนุนประเภทอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น และพัฒนาพื้นที่โครงการให้กลายเป็นมีสภาพแวดล้อมลักษณะเอนกประสงค์และรองรับกิจกรรมในหลายมิติจนเป็นที่มาของคำว่า “Cortex: live-work-play” และกลายเป็นศูนย์นวัตกรรม (innovation center) ทำให้การพัฒนา Cortex ดำเนินต่อไปได้จวบจนปัจจุบัน

 

ภาพที่ 4 Dennis Lower CEO ของ Cortex Innovation Community

ที่มา: https://www.bizjournals.com/stlouis/news/2020/01/16/how-dennis-lower-cortex-s-first-full-time-ceo.html

 

          แม้ว่า Cortex Innovation Community แห่งเมืองเซนต์หลุยส์จะถูกยกให้เป็นต้นแบบแห่งการพัฒนาเมืองนวัตกรรมอยู่บ่อยครั้ง แต่ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่า ท้ายที่สุดแล้ว Cortex นั้นประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ในระยะเริ่มแรก Cortex เองก็ไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็นเมืองนวัตกรรม แต่กลายเป็นเมืองนวัตกรรมได้เพราะการรู้จักปรับตัวและวิวัฒน์ตามกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจได้ รวมถึงมีสภาพแวดล้อมที่ดีที่เอื้อต่อการเติบโตของนวัตกรรมและผู้ประกอบการ ตั้งอยู่ท่ามกลางสถาบันต่าง ๆ ที่ก่อตั้งโครงการและมีอุดมการณ์ในการพัฒนาที่แข็งแกร่ง ทำให้ Cortex สามารถรักษาทรัพย์สินทางปัญญาและทรัพยากรมนุษย์ไว้ในพื้นที่เพื่อพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่นต่อไปได้

          ในค.ศ. 2016 Cortex Innovation Community มีบริษัทกว่า 250 บริษัทที่อยู่ในโครงการ ในขณะที่ค.ศ. 2010 มีเพียง 35 บริษัทเท่านั้น และเกิดการจ้างงานกว่า 4,000 ตำแหน่ง เกินกว่าครึ่งของบริษัทใน Cortex ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ

         ในค.ศ. 2018 มีการรายงานว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใน Cortex Innovation Community นั้น สร้างเม็ดเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ท้องถิ่นได้รับภาษีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน Cortex Innovation Community ราว 69.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการเติบโตขึ้น รายงานล่าสุดจาก Cortex แสดงว่า ล่าสุด มีบริษัทกว่า 425 บริษัทที่อยู่ในโครงการ Cortex มีพนักงานรวมกว่า 6,000 คน และมีการตั้งเป้าหมายในอนาคตว่า ต่อไป โครงการจะต้องมีบริษัทเข้ามาอยู่ในโครงการ 600 บริษัท และให้เกิดการจ้างงานกว่า 15,000 ตำแหน่ง[2]

 

สรุปบทเรียน          

          Cortex เป็นเมืองนวัตกรรมเพราะมีการปรับตัวและสามารถวิวัฒน์ตามกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจได้ มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของนวัตกรรมและผู้ประกอบการ รวมถึงมีสถาบันต่าง ๆ ที่ร่วมก่อตั้ง Cortex คอยสนับสนุนมาตั้งแต่แรกเริ่มคอยสนับสนุนอยู่ตลอด ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการและทรัพยากรมนุษย์ เมื่อ Cortex เผชิญกับปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2007 Cortex ได้หา CEO มาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น คำตอบที่ Cortex ใช้เป็นทางออกคือ การขยายขอบเขตของประเภทอุตสาหกรรมมุ่งเน้นให้กว้างมากขึ้น จากเดิมที่ เน้นแค่ด้าน bioscience และพัฒนาพื้นที่ในโครงการให้เป็นพื้นที่แบบอเนกประสงค์มากขึ้น และพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นศูนย์นวัตกรรมมากกว่าศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่นอย่างที่ตั้งใจแต่แรก

          ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา ไทยเองก็มีแผนที่จะพัฒนาย่านนวัตกรรม ริเริ่มโดยสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) กรณีศึกษา Cortex Innovation Community อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สามารถนำมาเรียนรู้บทเรียนและภูมิปัญญาการบริหารและพัฒนาโครงการมาเพื่อปรับใช้กับแนวทางการพัฒนาย่านนวัตกรรมในประเทศไทยได้ต่อไปในอนาคต

 

[1] Bruce Katz and Jennifer Bradley, The Metropolitan Revolution: How Cities and Metros Are Fixing Our Broken Politics and Fragile Economy, (Washington, D.C.: Brookings Institution, 2013).

[2] https://www.cortexstl.com/about/cortex-impact-report/

 

****บทความนี้ อยู่ภายใต้โครงการ "การศึกษาทบทวนนโยบายเศรษฐกิจเมืองของไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและเกื้อกูล" ดำเนินการโดยศูนย์ศึกษามหานครและเมือง สนับสนุนโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

 

 

• AUTHOR

 


ชญานิษฐ์ เชิดธรรมธร

นักวิจัย สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ  

 

 

Related Posts