Cities Reviews

อนาคตของเมืองเชียงใหม่ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาโดยภาคประชาสังคม

สามารถ สุวรรณรัตน์

 

บทนำ

เป็นที่ทราบกันดีว่านโยบายและแนวทางการพัฒนาเมืองแบบกระแสหลักของประเทศไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีรากฐานมาจากระบบราชการ และการดำเนินงานโดยอำนาจรัฐเป็นต้นธารเสมอมา หากพิจารณาเมืองในภาพรวมของประเทศจะพบว่า นอกจากพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลแล้ว ยังมีเมืองหลักในภูมิภาคจำนวนหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างมีแบบแผนชัดเจนตั้งแต่ระดับนโยบายจากแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1, 4 และ 5 ที่ระบุให้เมืองหลักในภูมิภาคต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทั้งในด้านการบริหารจัดการอำนาจรัฐอย่างรวมศูนย์(ภายในระดับภูมิภาคเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และรับบทบาทในการกระจายความเจริญไปสู่เมืองในระดับรองที่อยู่รายรอบ เมืองเชียงใหม่ คือ หนึ่งในเมืองหลักของภูมิภาคที่ได้รับบทบาทดังกล่าว และเป็นอีกหนึ่งเมืองที่ได้รับผลของความเปลี่ยนแปลงที่ปรับเปลี่ยนรูปโฉมของเมืองไปแทบจะทุกมิติตามกระแสการพัฒนาจากภายนอก  ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังชี้ให้เห็นถึงความขาดพร่องของพื้นที่และโอกาสที่จะให้แนวทางการพัฒนาเมืองในกระแสรอง หรือแนวทางการพัฒนาโดยภาคประชาสังคมได้มีที่ทางในการแสดงบทบาทที่มีนัยยะสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาเมืองอย่างจริงจัง  เป็นสภาพการณ์ของการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้น

และสืบทอดยาวนานมาตั้งแต่ครั้งเมื่อเชียงใหม่ถูกผนวกรวมกับสยามในฐานะหัวเมืองทางเหนือ มาจนถึงขณะเวลาปัจจุบัน ซึ่งภาคประชาสังคมเชียงใหม่ยังคงล้มลุกคลุกคลานค้นหาคำถามตอบที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาเมืองของพวกเขาอยู่ผ่านแนวโน้มการทำงานที่เริ่มมีความหวังมากขึ้น จากผลสัมฤทธิ์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

พัฒนาการความเป็นเมืองเชียงใหม่

         พัฒนาการความเป็นเมืองของเมืองเชียงใหม่ แบ่งได้ 4 ช่วงเวลา ได้แก่ 

         ช่วงที่ 1 : ก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.1835-1839) ช่วงเวลาแห่งการตั้งเมือง และการวางบทบาทเมืองเชียงใหม่ให้เป็นราชธานีของอาณาจักร ภายใต้คุณลักษณะของการเป็นเมืองศูนย์กลางทางการปกครอง และการค้าทางน้ำ

         ช่วงที่ 2 : เมืองเชียงใหม่ในราชวงศ์มังราย และภายใต้การปกครองของพม่า (พ.ศ.1839-2317) ช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองของเมืองเชียงใหม่ และราชอาณาจักร และการผสมผสานวัฒนธรรมพม่า ก่อนเมืองจะถูกทิ้งให้ทรุดโทรม และลดบทบาท

         ช่วงที่ 3 : หลังการเป็นเอกราชจากพม่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” (พ.ศ.2317-2400) ช่วงแห่งการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ด้วยการกวาดต้อนผู้คนจากพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาอยู่อาศัย การกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งของเมือง ผ่านการค้าขายทรัพยากรในพื้นที่ และการถูกผนวกรวมกับสยามในฐานะหัวเมืองหลักของภูมิภาค และฐานะจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยตามลำดับ

         ช่วงที่ 4 : เมืองเชียงใหม่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        ซึ่งแบ่งออกเป็นอีก 4 ช่วงเวลาตามคุณลักษณะ และผลกระทบจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ

  • แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-3 (พ.ศ.2506-2519) การพัฒนาเมืองทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และการท่องเที่ยว
  • แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4-6 (พ.ศ.2520-2534) การรับนโยบายการพัฒนาเมืองหลัก และก้าวสู่การเป็นเอกนคร (เมืองโตเดี่ยว)
  • แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7-10 (พ.ศ.2535-2544) เมืองเชียงใหม่กลายเป็นเมืองรวมศูนย์ราชการ เมืองการศึกษา เมืองเศรษฐกิจ และการเติบโตของการท่องเที่ยวสุดขีด และเริ่มส่อเค้าเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเมือง และการคัดค้านโครงขนาดใหญ่ของการรัฐ
  • แผนฉบับที่ 9-11 (พ.ศ.2545-2557) เมืองเชียงใหม่ได้รับโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องด้วยผลพวงจากการเมืองระดับประเทศ มีการคัดค้านโครงการพัฒนาของรัฐเพิ่มมากขึ้น เกิดกระแสฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรม และความขัดแย้งทางการเมืองร้าวลึก

 

จากผลการศึกษาพัฒนาการความเป็นเมืองของเมืองเชียงใหม่พบว่า คุณลักษณะอันโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ที่มีผลต่อการพัฒนา รูปลักษณ์ของเมือง และสภาพสังคมและเศรษฐกิจของเมือง มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเด็น คือ 

1.การพัฒนาเมืองสมัยใหม่บนฐานกายภาพเมืองเก่า ที่ยังสมบูรณ์ด้วยแหล่งโบราณสถาน โบราณคดี และความทรงจำของย่าน และชุมชนดั้งเดิม 

2.การพัฒนาเมืองบนฐานสำนึก และมโนทัศน์ความเป็น “คนเมือง” เชียงใหม่ ของคนท้องถิ่นที่แสดงออกผ่านวิถีวัฒนธรรมอันเข้มแข็ง และสำนึกห่วงแหนเมืองเชียงใหม่ ทั้งนี้ประเด็นสำคัญทั้ง 2 ต่างมีนัยยะสำคัญผูกโยงไปถึงการเป็นแรงผลักดันสำคัญในการรวมกลุ่ม การเป็นสาเหตุ และเป็นประเด็นการพัฒนาเมืองที่ภาคประชาสังคมเมืองเชียงใหม่ ให้ความสำคัญมาทุกยุคทุกสมัย และจากการศึกษา และวิเคราะห์ปรากฏการการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ของภาคประชาสังคมเมืองเชียงใหม่ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถแบ่งคุณลักษณะร่วมของรูปแบบประเด็น และการเคลื่อนตัวในการดำเนินงานได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ปลายทศวรรษพ.ศ.2470-2520 มีการเคลื่อนไหวโดยมีชนชั้นสูงเป็นแกนนำหรือผู้มีบทบาทสำคัญ ในการผลักดันประเด็น ลงชักชวนคนเชียงใหม่ให้เข้าร่วมปฏิบัติการ เช่น การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ (พ.ศ.2477-78) และการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ราว พ.ศ.2490-2503) การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองดังกล่าว อาศัยรูปแบบการดำเนินงานด้วยพลังเครือข่าย พร้อมไปกับการดำเนินการตามโครงสร้างของรัฐ ทั้งเพื่อให้ได้รับการยอมรับ และการร้องของบประมาณสนับสนุน   

ระยะที่ 2 ตั้งแต่ทศวรรษ 2530-ปีพ.ศ.2549 คือห้วงเวลาที่นักวิชาการเข้ามามีบทบาทในการชี้นำภาคประชาสังคม และการพัฒนาเมือง รวมทั้งรับบทนำในการเคลื่อนไหว มีการจัดเสวนาให้ความรู้ กิจกรรมรณรงค์ การเดินขบวน และจัดตั้งองค์กรภาคประชาสังคมในรูปแบบ ชมรม กลุ่ม และมูลนิธิ น้ำหนักของประเด็นการพัฒนาถ่วงไปในทางการคัดค้านโครงการพัฒนาของรัฐ เช่น การคัดค้านการสร้างกระเช้าขึ้นดอยสุเทพ (พ.ศ.2529-30) และดอยเชียงดาว(พ.ศ.2540), การคัดค้านการสร้างคอนโดฯ และตึกสูงริมแม่น้ำปิง (พ.ศ.2530-33),การคัดค้านการสร้างทางยกระดับ (พ.ศ.2540), การคัดค้านการขยายถนนตามร่างผังเมืองรวม (พ.ศ.2549-50) และการคัดค้านโครงการขนาดใหญ่(เมกกะโปรเจค) (พ.ศ.2548) เป็นต้น

ระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2550-ปัจจุบัน คือห้วงเวลาที่เกิดความแตกแยกของคนในสังคมด้วยปัญหาการเมือง การเคลื่อนตัวของกลุ่มพลเมืองอาสา และภาคประชาสังคมจึงต้องมีภาพลักษณ์ และการสื่อสารที่ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ และการดำเนินงานแยกขาดจากเรื่องการเมืองอย่างชัดเจน ประเด็นในส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่ม “ประเด็นเย็น” อย่างการส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยประชาชนเท่าไปเข้ามามีบทบาทสำคัญในการริเริ่มกิจกรรมต่างๆมากขึ้น

 

รูปแบบกลไกการดำเนินงานภาคประชาสังคม

จากผลการสัมภาษณ์ และวิเคราะห์รูปแบบกลไกการดำเนินงาน รวมถึงจุดแข็งจุดอ่อน และโอกาส จากกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมเมืองเชียงใหม่จำนวน 9 กลุ่ม ที่ยังดำเนินงานพัฒนาเมืองอยู่ในขณะปัจจุบัน (ได้แก่ ภาคีคนฮักเมืองเชียงใหม่, เครือข่ายเชียงใหม่ เขียว สวย หอม, โฮงเฮียนสืบสานล้านนา, กลุ่มสถาปนิกคน.ใจ.บ้าน, ชมรมชาวนิมมานเหมินท์, โครงการฟื้นบ้าน ย่าน เวียงเชียงใหม่, เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่, และกลุ่มละครกั๊บไฟ) ได้ข้อสรุปว่า การดำเนินงานของกลุ่มภาคประชาสังคมในปัจจุบัน มีประเด็นการทำงานจัดอยู่ในกลุ่มงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และความเข้าใจต่อคุณค่าของเมือง สิ่งแวดล้อมเมือง และมรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของคนในเมืองผ่านการใช้กิจกรรมที่ต้องทำร่วมกันเพื่อเป้าหมายข้างต้น เคียงข้างไปกับการรวบรวมผู้คนที่มีความคิดเดียวกันเข้าไว้ด้วยให้มากที่สุด  ในขณะที่งานในกลุ่มเพื่อการสร้างสรรค์แนวทางการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในเมือง เป็นกลุ่มงานที่จำนวนกิจกรรมรองลงมา และกลุ่มงานเพื่อการรณรงค์คัดค้านโครงการของรัฐ และเอกชน เป็นกลุ่มงานที่มีกิจกรรมน้อยที่สุด

สำหรับรูปแบบการดำเนินงานของกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมเมืองเชียงใหม่จากการศึกษากลุ่มกรณีศึกษาพบว่ามีรูปแบบการทำงานใน 2 ลักษณะ 1) จิตอาสา และ2) รับเงินค่าจ้างในอัตราต่ำกว่าวุฒิการศึกษา หรือรับเพียงค่าสนับสนุนอาสาสมัคร ด้วยลักษณะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของจิตอาสา และการไม่มีเงินสนับสนุนกิจกรรม และคนทำงานอย่างแน่นอน ประเด็นนี้จึงเป็นจุดอ่อนสำคัญของการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาเมืองที่ต้องการการทุ่มเทเวลา ความจริงจัง และความต่อเนื่องสูง ทำให้แต่กลุ่มสามารถดำเนินงานได้ในระดับประเด็นเฉพาะที่ตนเองสนใจ และเป็นข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการยกระดับการทำงานสู่ระดับภาพรวมของเมือง  หรือการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาเมืองจากภาคประชาสังคม

 

ข้อดีของรูปแบบการทำงานภาคประชาสังคม

สำหรับจุดแข็งและข้อดีของรูปแบบการทำงานของกลุ่มภาคประชาสังคมในปัจจุบัน คือ เป็นการทำงานโดยใช้หลักการ และข้อมูลวิชาการในการสนับสนุน มีกระบวนการสำรวจ และประเมินพื้นที่ทำงาน ก่อนการปฏิบัติการ เพื่อให้ทราบถึงสภาพปัจจุบัน ปัญหา โอกาส ศักยภาพ และความต้องการของคนในชุมชน เป็นการทำงานที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม การต่อรอง เพื่อผสานความร่วมมือในแนวระนาบที่เท่าเทียม และเท่าทันกันในทุกประเด็น  เกิดเป็นสภาวะการพึงพาอาศัยกันมากกว่าการเรียกร้อง หรือคัดค้านดังเช่นแต่ก่อน ทุกองค์กรสามารถรวมตัวทำงานร่วมกันได้อย่างเข้มแข็ง เป็นที่รู้จักของคนในเมืองเชียงใหม่ มีการเชื่อมงานต่อกับภาครัฐ และเอกชน และมักจะมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันอยู่อย่างต่อเนื่อง มีต้นทุนทางสังคม และทุนประสบการณ์ที่ดี ทำให้การทำงานของกลุ่มมีศักยภาพ และมีโอกาสในการที่จะยกระดับการทำงานสู่การเคลื่อนไหวเพื่อการพัฒนาเมืองในระดับเมือง

 

ข้อเสนอแนะและทางเลือกสู่อนาคตเมืองเชียงใหม่โดยภาคประชาสังคม

ข้อเสนอแนะและทางเลือกสู่อนาคตเมืองเชียงใหม่โดยการพัฒนาของภาคประชาสังคม รูปแบบการดำเนินงานของภาคประชาสังคมเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม ทำให้บทบาทและหน้าที่ตามที่สังคมให้กรอบเอาไว้คลายความสำคัญลง  และความต้องการมีส่วนร่วมในฐานะปัจเจกผู้มีแรงขับความสนใจที่จะเข้าร่วมในฐานะกลุ่มพลเมืองอาสา (Active Citizen) มีมากยิ่งขึ้น  ตั้งแต่ระดับชุมชนขนาดเล็กไปจนถึงเครือข่ายขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกันผ่าน ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และการร่วมงานกันตามวาระโอกาสซึ่งมีไม่บ่อยครั้งนัก  จากภาวการณ์ดังที่กล่าวมา สิ่งที่ขาดพร่องไปในการดำเนินงานขับเคลื่อนภาคประชาสังคมกับการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ปัจจุบัน คือ โอกาส และพื้นที่กลางในเชื่อมร้อยกลุ่มคนพลเมืองอาสา และองค์กรหลากหลายขนาดที่มีอยู่ทั่วไปให้เกิดเป็นรูปธรรม และมีความต่อเนื่อง  ดังนั้นหากจะพิจารณาเรื่องการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ โดยตั้งเอาการขับเคลื่อนการพัฒนาโดยภาคประชาสังคมเป็นโจทย์หลัก ทางเลือกของการพัฒนาเมืองก็คงมีอยู่เพียงทางเลือกเดียว คือ การพัฒนาพื้นที่กลางในการทำงานในระนาบที่เท่าเทียมกัน  การพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานการพัฒนาเมือง ให้เกิดขึ้นจริง และเข้มแข็ง ปราศจากปัญหาเรื่องผลประโยชน์ และการเมือง

พื้นที่กลางในการทำงานดังกล่าวควรประกอบขึ้นจากกลไกที่ทุกฝ่ายยอมรับ และมีส่วนร่วมในการจัดการทั้งคณะทำงาน, ทุน, รูปแบบการทำงาน,  การเพิ่มศักยภาพด้านความรู้ และขยายขีดความสามารถของสมาชิก พร้อมไปกับการตระหนักถึงทิศทางการทำงานในอนาคต ผ่านการวางแผนการดำเนินงาน  การกำหนดวิสัยทัศน์เมือง การนำเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาเมืองต่อสังคมอย่างมีวาระ และมีการติดตาม รวมไปถึงการปฏิบัติการพัฒนาเมืองในระดับภาพรวม ควบคู่ไปกับการปฏิบัติการในพื้นที่ชุมชนเล็กๆทั่วเมืองเชียงใหม่ 

 

 อ้างอิง

เนื้อหาในเอกสาร มาจากงานวิจัย เรื่อง “อนาคตเมืองเชียงใหม่ ขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคม”  ภายใต้ แผนงานนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาอนาคตของเมือง ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต  โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

• AUTHOR

 


สามารถ สุวรรณรัตน์

นักวิชาการอิสระ

 

Related Posts