Cities Reviews

ทุ่งสง : มหัศจรรย์ เมืองแห่งการจัดการขยะ

 

กษิดิศ แสงจันทร์[2] เรื่อง

         

ขยะเป็นสิ่งที่สร้างความรำคาญให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองอยู่เสมอ เนื่องจากขยะทำลายทัศนียภาพของเมือง ส่งกลิ่นเหม็น และยังเป็นบ่อเกิดแห่งโรคต่าง ๆ

ในขณะที่หลายเมืองมองผ่านปัญหาเรื่องขยะ แต่เทศบาลเมืองทุ่งสงได้เอาจริงเอาจังจนสามารถลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นได้จริง ด้วยนวัตกรรมพลิกถุงพลิกโลก และด้วยความร่วมมือกับคนในพื้นที่แปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง ลดขยะ และยังก่อรายได้ให้กับท้องถิ่นและชุมชน นับว่าเป็นอีกหนึ่งเมืองที่เป็นต้นแบบของการจัดการขยะ

 

ปัญหาขยะในเมืองทุ่งสง

ด้วยทุ่งสงเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีประชากรในเมืองกว่า 30,000 คน ทำให้มีขยะในเมืองกว่าวันละ 50 ตัน เทศบาลเมืองทุ่งสงพยายามแก้ปัญหาขยะ ปฏิบัติตามตัวชี้วัดมาตลอด จนเทศบาลได้รางวัลชนะเลิศด้านสิ่งแวดล้อมระดับประเทศหลายครั้งหลายหน แต่ขยะในเมืองทุ่งสงก็ไม่ลดลง กลับเพิ่มขึ้นทุกวันด้วยซ้ำ โครงการที่มีอยู่ก็ไม่ช่วยลดขยะอย่างแท้จริง เช่น ธนาคารขยะ ก็เป็นการเอาขยะที่บ้านมาไว้ที่โรงเรียน เกิดการเกี่ยงกันทะเลาะกัน ไม่มีใครมาเก็บขยะ ด้วยจำนวนเด็กที่มีมากกว่าพันคน ทำให้ขยะมีเป็น 10 ถังที่เต็มไปด้วยถุงนม ส่งกลิ่นเน่าเหม็น มีหนู แมลงสาบ ภูมิทัศน์ไม่น่าดู อีกทั้งเมื่อก่อนรณรงค์ให้ชาวบ้านแยกขยะ เศษอาหาร พลาสติก เหล็ก แต่ทางเทศบาลก็ตอบไม่ได้ว่าจะนำขยะเหล่านั้นไปทำอะไรต่อ สุดท้ายก็เทศบาลก็เอาขยะเหล่านั้นมากองรวมกันอยู่ดี

เทศบาลเมืองทุ่งสงเคยได้ดำเนินการสร้างบ่อฝังกลบขยะไว้นอกพื้นที่เทศบาล แต่ถูกคัดค้านจากสมาชิกชุมชนตลอดการดำเนินการและมีการประท้วงจากประชาชนในพื้นที่เมื่อสร้างเสร็จ ทำให้ไม่สามารถนำขยะไปทิ้งได้ เมื่อไม่มีที่ทิ้งขยะเทศบาลเมืองทุ่งสงจึงต้องหาวิธีการลดปริมาณขยะในชุมชนแทนสิ่งเหล่านี้นับเป็นความล้มเหลวของการบริหารจัดการและแก้ปัญหาไม่ถูกจุด

ด้วยเหตุนี้ เทศบาลจึงกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่าเกิดอะไรขึ้น พยายามเปลี่ยนวิธีใหม่ เดิมจากที่เคยของบประมาณมาตลอด ก็หันมาลองเริ่มที่ตัวเทศบาลเอง ยกตัวอย่างเช่น โครงการ “พลิกถุงพลิกโลก” โดยมี ดร.ไพบูลย์ โพธิ์สุวรรณ ซึ่งเคยทำเรื่องชุมชนไร้ถังมาเป็นที่ปรึกษา ทำให้เกิดการปรึกษาแลกเปลี่ยนหาสาเหตุกัน จนเทศบาลตัดสินใจว่าจะเลือกใช้แนวคิดวิธีการของ ดร.ไพบูลย์ มาแก้ปัญหาเรื่องขยะ

 

ภาพที่ 1 ภาพกองขยะเมืองทุ่งสง

 

ที่มา : กษิดิศ แสงจันทร์ (2562)

 

นวัตกรรมพลิกถุงพลิกโลก สู่การแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง

“พลิกถุง พลิกโลก” เป็นนวัตกรรมที่พยายามดำเนินการกำจัดขยะแบบครบวงจรตั้งแต่พ.ศ.2558 ตามแนวทางโครงการจังหวัดสะอาดภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศพ.ศ. 2559-2564 โดยใช้หลัก 3 R คือ Reduce ใช้น้อย Reuse ใช้ซ้ำ และ Recycle นำกลับมาใช้ใหม่ เริ่มต้นจากการจัดการขยะมูลฝอยจากองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น โรงเรียนในสังกัดเทศบาล และขยายสู่ครัวเรือนและชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นจาการรับขยะจากพ่อค้าแม่ค้าในตลาด นำขยะมาแปรรูปโดยกระบวนการต่าง ๆ เช่น นำขยะอินทรีย์มาใช้เลี้ยงไส้เดือนหรือหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพ นำเศษไม้และกะลามะพร้าวมาเผาทำเป็นฟืนหรือถ่านอัดแท่ง ทำกระดาษสาจากการะดาษเหลือใช้ ทำกระถางต้นไม้จากกระดาษสา ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้เหล่านี้สามารถนำไปใช้ในชุมชนและนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริมแก่สมาชิกในชุมชนต่อไป นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งธนาคารขยะด้วย

การแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง

ขยะที่เทศบาลเล็งเห็นว่าเป็นปัญหาอันดับต้นๆ คือ ถุงพลาสติกและโฟม เพราะมีจำนวนมากที่สุด และปกติพลาสติกต้องใช้เวลาย่อยสลาย 450 ปี ส่วนโฟมใช้เวลาย่อยสลาย 10,000 ปี ขยะเหล่านี้ต่างเป็นมลภาวะที่ทำให้เกิดมะเร็ง ซึ่งคนไทยป่วยและตายเป็นอันดับหนึ่ง วิธีการกำจัดถุงพลาสติกของเทศบาลนั้นง่ายมาก เพียงแค่นำถุงพลาสติกมาพลิกล้างทั้งสองด้านแล้วเอาไปตากแดดขจัดความชื้นแล้วส่งให้เทศบาล เทศบาลก็จะนำไปรวมกับขยะทั้งหมดที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงได้ไปที่โรงแยกขยะแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรรูปให้เป็นขยะเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel; RDF) แล้วส่งต่อให้โรงโม่ปูนบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เพื่อนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงต่อไป

ภายในข้อตกลงระบุไว้ว่า เทศบาลเมืองทุ่งสงจะแปรรูปขยะเป็นขยะเชื้อเพลิง แล้วส่งให้กับบริษัท SCG ในราคากิโลกรัมละ 1 บาท ในสัญญา 3 ปีแรก บริษัท SCG ลงทุนค่าเครื่องจักรสำหรับคัดกรองและแปรรูปขยะให้เทศบาลโดยการให้เปล่ามูลค่า 6 ล้านบาท แล้วเทศบาลออกเงินทำโรงเรือนอีก 6 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งหมดเป็นเงิน 12 ล้านบาท ทำให้เทศบาลเมืองทุ่งสงมีทางออกในการกำจัดขยะ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการพลิกถุงพลิกโลกประสบความสำเร็จ

 

เคล็ดลับการคัดแยกขยะของเมืองทุ่งสง

เริ่มต้นที่เทศบาล

การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในการจัดการปัญหาขยะ ซึ่งการที่เทศบาลจะบอกให้สมาชิกในชุมชนคัดแยกขยะเองนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก จึงได้ริเริ่มโดยใช้เจ้าหน้าส่วนกลางเข้าไปช่วยดูแล ภายใต้ความคิดที่ว่า “ผู้นำต้องเป็นผู้ทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง”

ในพ.ศ.2558 ทางเทศบาลเมืองทุ่งสงขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ในกองช่างสุขาภิบาลทุกกองเข้าไปช่วยดูแลชุมชนในการจัดการขยะ โดยใช้วิธีการเพิ่มนโยบายการจัดการขยะไว้ในระเบียบราชการ ซึ่งระเบียบราชการนี้จะเป็นการวัดผลการทำงานของเจ้าหน้าที่ และการลงลายมือชื่อรับรอง หมายถึงการยอมรับว่าต้องเข้าไปช่วยเหลือชุมชนในการคัดแยกขยะซึ่งเป็นภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นมา ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับบริหารต้องลงรายมือชื่อเพื่อรับรองระเบียบนี้ จึงให้เจ้าหน้าที่ในระดับล่างลงมาร่วมรับรองด้วยเพื่อแบ่งเบาภาระงานของตน และเจ้าหน้าที่ระดับล่างก็จะให้เจ้าที่ที่อยู่ในระดับล่างกว่าร่วมลงลายมือชื่อรับรองต่อไปด้วยเช่นกัน จนในท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่ทุกระดับจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลการจัดการขยะในชุมชนทั้ง 20 ชุมชน และใช้เวลาในวันเสาร์อาทิตย์ในการปฏิบัติงานเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเวลาราชการ การใช้วิธีการนี้ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเห็นผลในเวลาอันรวดเร็ว

ในการดำเนินการเริ่มแรกนั้น เจ้าหน้าที่ได้ให้ความรู้กับสมาชิกในชุมชน โดยการสาธิตการแยกขยะจากถังขยะของชุมชนเอง เทขยะออกมาทั้งหมด แล้วคัดแยกเป็นประเภทต่าง ๆ พบว่าขยะที่ได้นั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เกือบทั้งหมด มีการเปิดรับอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก เป็นอาสาสมัครช่วยสร้างเครือข่ายในการจัดการขยะและดูแลสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอีกด้วย

ภาพที่ 2 ศูนย์จัดการขยะมูลฝอยชุมชนครบวงจร บ้านทุ่งชน

ที่มา : กษิดิศ แสงจันทร์ (2562)

ภาพที่ 3 อาคารเครื่องชั่งน้ำหนัก

ที่มา : กษิดิศ แสงจันทร์ (2562)

 

ภาพที่ 4 ผังแสดงการทำงานศูนย์กำจักขยะมูลฝอยแบบครบวงจร

ที่มา : กษิดิศ แสงจันทร์

 

ขยายสู่โรงเรียน

เทศบาลเมืองทุ่งสงได้สร้างความรู้เรื่องขยะในพื้นที่โรงเรียนเทศบาลจำนวน 6 แห่ง ให้ความรู้กับนักเรียนจำนวนประมาณ 4,000 คน สอนให้นักเรียนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค หันมาใช้แก้วน้ำส่วนตัวแทนแก้วพลาสติก ใช้จานชามที่ถาวรแทนถ้วยโฟม และใช้ภาชนะที่ทำจากใบตองแทนถุงพลาสติก นอกจากนี้ ยังสอนให้นักเรียนรู้จักคัดแยกขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะย่อยสลายได้ยากอย่างเช่นถุงพลาสติก แล้วส่งต่อให้เทศบาล พร้อมจัดกิจกรรมให้นักเรียนกลับไปแยกขยะที่บ้านร่วมกับผู้ปกครอง เป็นการขยายผลสู่ครัวเรือนโดยมีนักเรียนเป็นผู้นำ

ยกตัวอย่างโรงเรียนเทศบาลวัดชัยชุมพล สามารถลดขยะจากวันละ 500 กิโลกรัม เหลือเพียง 50 กิโลกรัมเท่านั้น ในพ.ศ. 2560 เทศบาลก็ประกาศให้โรงเรียนเทศบาลวัดชัยชุมพลเป็นโรงเรียนต้นแบบพลิกถุงพลิกโลก และในปีถัดมาได้ส่งเข้าประกวดโครงการโรงเรียนปลอดขยะ ที่จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับแนวคิด “Zero Waste” เป็นแนวคิดการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางคือลดการเกิดขยะ ทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุด ไปจนถึงการจัดการขยะที่เหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการพลิกถุงพลิกโลกพอดี ผลปรากฏว่า โรงเรียนเทศบาลวัดชัยชุมพล ได้คะแนนระดับดีเยี่ยมลำดับที่ 1 ของประเทศ ประจำปี 2561 มีส่วนช่วยสร้างชื่อเสียงให้เมืองทุ่งสงในเรื่องการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง รวมทั้งเป็นแบบอย่างให้กับนักเรียน บุคลากรทางการศึกษาในการนำความรู้และประโยชน์ที่ได้จากการคัดแยกขยะไปเผยแพร่ให้กับครอบครัวต่อไปด้วย

 

ความสำเร็จของการจัดการขยะในเมือง

 ผลจากการให้ความสำคัญและผลักดันนโยบายเรื่องขยะอย่างจริงจังของชุมชนทุ่งสง พบว่า ในระยะเวลา 8 เดือน เทศบาลสามารถลดปริมาณขยะไปได้มากกว่าร้อยละ 50 จาก 50 ตันต่อวันเหลือเพียง 25 ตันต่อวัน อีกทั้งจากเดิมเทศบาลต้องเสียค่าฝังกลบขยะ 50 ตันต่อวันเป็นมูลค่ากว่า 4.8 ล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันเสียแค่ 1.2 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ข้อมูลจากทางสาธารณสุขอำเภอยังทำให้ทราบว่าปริมาณผู้ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากขยะและสิ่งสกปรกได้ลดลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

นอกจากนี้ ยังสามารถหารายได้จากการขายขยะได้ถึงประมาณ 1 ล้าน 2 แสนบาทต่อปี ซึ่งจำนวนเงินเหล่านี้สามารถนำไปใช้สร้างประโยชน์ในชุมชนได้จำนวนมาก ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการฝังกลบขยะก่อนหน้านี้อยู่ที่ประมาณ 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี แต่ภายหลังจากที่มีการจัดการเรื่องนี้ เหลือเพียง 57 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี   

โครงการพลิกถุงพลิกโลกได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 จากการส่งเข้าประกวดรางวัลธรรมาภิบาลในปี พ.ศ.2559 และมีความตั้งใจที่จะลดขยะให้ได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ในปีพ.ศ. 2562

 

บทสรุปปัจจัยความสำเร็จ       

ในการจัดการขยะของเมืองทุ่งสงอาจสรุปเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของการคัดแยกขยะได้หลายปัจจัย ปัจจัยแรกคือวิสัยทัศน์ผู้นำ โดยที่จุดเด่นของนายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสงคือการมีวิสัยทัศน์กล้าคิด กล้าทำ ใส่ใจติดตามผลการดำเนินงานตลอดเวลา ทำให้เทศบาลเมืองทุ่งสงสามารถริเริ่มและดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาคือภาคีเครือข่ายและชุมชน ภาคประชาชนในเทศบาลเมืองทุ่งสงมีบทบาทมากในการดำเนินงานและขยายผลต่อไปยังกลุ่มอื่น ๆ สามารถทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย มีการจัดการร่วมกันที่ดี นอกจากนี้ กระบวนการทำงานและการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญ เนื่องจากเทศบาลมีการรายงานผลการทำงานตลอดเวลา ตั้งเป้าหมายโครงการและชี้แจงระละเอียดอย่างชัดเจน ทำให้ชุมชนเข้าใจและสามารถมองเห็นภาพรวมการดำเนินงานร่วมกัน ปัจจัยสุดท้ายคือการขยายผลและการพัฒนา เทศบาลเมืองทุ่งสงคอยติดตามผลความก้าวหน้าและไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนากระบวนการดำเนินงาน ทั้งยังคอยกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในชุมชน เพื่อให้โตรงการยังสามารถคงอยู่ได้ต่อไป

 

[1] สรุปและเรียบเรียงจาก เวทีสัมมนา ผู้สร้างบ้านแปงเมือง เรื่อง เมืองแห่งอนาคต : นวัตกรรมการสร้างสรรค์เมืองสุขภาวะ วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดย มณฑิภรณ์ ปัญญา ผู้ช่วยนักวิจัยศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

[2] รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองช่างสุขาภิบาล เทศบาลเมืองทุ่งสง

 

 

• AUTHOR

 


มณฑิภรณ์  ปัญญา

ศิลปศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

Related Posts