
เมืองสายบุรี (This is my hometown) เปลี่ยนถนนให้มีชีวิต สานสัมพันธ์คนจีน-มุสลิม
ณัฐธิดา เย็นบำรุง
ผ่านพ้นไปแล้วกับงาน เตอลูแบ This is my hometown งานดีๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองสายบุรี จังหวัดปัตตานี ผ่านความร่วมมือของกลุ่มคนจีนในเมืองสายบุรี อย่างกลุ่มศาลเจ้าเล่าเอี๊ยะกงและกลุ่มมุสลิม นำทีมโดย กลุ่ม Saiburi Looker
ถนนที่มีชีวิต
งาน เตอลูแบ สร้างความพิเศษ คือการสร้าง Placemaking ให้เกิดขึ้นในเมือง หรือการปรับเปลี่ยนพื้นถนนธรรมดาที่เป็นเพียงถนนคนจีนอันเป็นที่ตั้งของสถาปัตยกรรมเรือนแถวจีนเก่า ที่ส่วนใหญ่มักถูกปิด ถนนแห่งนี้จึงเป็นเพียงถนนที่เงียบเหงาถนนหนึ่งในสายบุรี แต่ในวันนี้ถนนนี้ได้กลายเป็นถนนที่มีชีวิต เป็นพื้นที่จัดงาน มีเวที มีงานนิทรรศการสถาปัตยกรรมและเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองสายบุรี ไม่เพียงแค่นั้นเมืองสายบุรียังจัดพื้นที่ถนน ให้มีการตกแต่งสไตล์ Vintage มีรถเก่า ผสมกับโคมสีสวยแบบจีน พร้อมสร้างกล่องตัวหนังสือคำว่า S A I B U R I ตัวขาวเด่น ดึงดูดความสนใจคนทุกเพศ ทุกวัย ให้เข้ามาถ่ายรูป ตะโกนคุยกัน เซลล์ฟี่ อย่างสนุกสนาน
สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเมืองสายบุรี
วิทยากร เกรียงไกร เกิดศิริ
ผู้ดำเนินรายการ สุไรมาน แจะแม
ผู้เรียบเรียง ปาณัท ทองพ่วง
สถาปัตยกรรมในชุมชนจีน
ในชุมชนชาวจีนของเมืองสายบุรี ส่วนใหญ่ที่อยู่และค้าขายของชาวจีนฮกเกี้ยน อาคารส่วนใหญ่จะเป็นตึกแถวสองชั้น อาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่าร้อยปี และเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนที่เป็นของคนจีนที่อพยพจากเมืองจีนมายังพื้นที่แถบนี้โดยตรง ไม่ใช่สถาปัตยกรรมจีนที่ถ่ายทอดมาจากคนจีนที่ไปตั้งรกรากแถบอาณานิคมช่องแคบ (Strait Settlement) แถวสิงคโปร์ ปีนัง มะลักกา ที่จะได้รับอิทธิพลจากอังกฤษมาผสม ตึกแถวในสายบุรี โดยเฉพาะแถบชุมชนจีนมีทั้งตึกไม้และตึกปูน ส่วนที่เป็นไม้ก็จะใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ตะเคียน ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ ส่วนตึกปูน สันนิษฐานว่าอาจนำปูนมาจากโรงปูนที่ปีนัง ซึ่งปูนในสมัยก่อนจะขนส่งผ่านทางเชื่อมทางบก (land bridge) ขึ้นจากฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู ข้ามมาที่สายบุรีซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออก
ตึกแถวย่านชุมชนจีนของสายบุรีสร้างขึ้นหลายยุคด้วยกัน มีทั้งบ้านเรือนที่สร้างโดยได้รับอิทธิพลจากบ้านเรือนแถบสิงคโปร์ยุคหลังจากที่มี กฎหมาย “Raffles’ Law” บังคับใช้แล้ว ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้บ้านเรือนในสิงคโปร์ต้องสร้างทางเชื่อม มีหลังคาคลุมต่อกันสำหรับเป็นทางเดินสาธารณะ ซึ่งอาจเป็นหลังคาโค้ง (Arch) และมีทั้งบ้านเรือนในยุคก่อนหน้านั้น ที่แม้มีชานเชื่อมออกมาหน้าบ้าน แต่ก็เอาไว้ใช้ประโยชน์ส่วนตัว เช่น ขายของ แต่ไม่ได้เพื่อเชื่อมเป็นทางเดินสาธารณะ
สถาปัตยกรรมอื่นๆ ในสายบุรี
อาคารสำคัญในสายบุรี อย่างคฤหาสน์พิพิธภักดี นั้น หากมองในแง่การก่อสร้าง เป็นอาคารยุคที่มีเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบใช้วัสดุเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กแล้ว ถือเป็นอาคารยุคต้นสมัยใหม่ (early modern) แต่ยังคงมีรูปลักษณ์ที่สะท้อนเอกลักษณ์และวิถีชีวิตของท้องถิ่นอยู่ ไม่ได้เป็นสมัยใหม่ทั้งหมดแบบตึกแถวที่พบในปัจจุบัน
ส่วนบ้านเรือนเก่าของชาวมุสลิมในสายบุรี เป็นศิลปะแบบมลายูตรังกานู (สายบุรี ปัตตานี และตรังกานู ถือเป็นเมืองมลายูที่ร่วมวัฒนธรรมกัน) แต่ก็มีการพัฒนาต่อมาของพื้นที่เองด้วย เช่น มีการใช้หลังคาจั่ว หลังคาลีมะฮ์ หลังคาบรานอ ลักษณะเด่นอีกอย่างที่พบในเรือนมุสลิมของสายบุรีคือ ลายฉลุที่สวยงาม ที่พบมากเพราะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์เรื่องการเป็นช่องลมระบายอากาศและช่องแสงแก่บ้านเรือน เนื่องจากภาคใต้ฝนตกชุก เรือนมุสลิมจึงมีหน้าต่างน้อย เพื่อไม่ให้ฝนสาดเข้า ส่วนที่นิยมฉลุช่องระบายอากาศให้เป็นลวดลายพรรณไม้ ดอกไม้ มากกว่าเป็นตะแกรงธรรมดา เพราะตามหลักอิสลาม ห้ามทำรูปเหมือนคนและสัตว์
จุดเด่นของสายบุรีที่หาได้ยากยิ่งในที่อื่นๆ คือการมีต้นทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง มีการผนึกกำลังของคนในชุมชนอย่างแข็งแกร่ง การที่กลุ่มมุสลีมะห์ รับบริจาคเงินคนสายบุรีเพื่อซื้อคฤหาสน์พิพิธภักดีมาเป็นของชุมชน เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ต้นทุนทางสังคมในการรักษามรดกทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นไว้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนท้องถิ่นที่ต้องกำหนดทิศทางในการอนุรักษ์และพัฒนาบ้านเมืองของตนเอง
จิตวิญญาณคนสายบุรี Spirits of Saiburi