Cities Reviews

เมืองสายบุรี (This is my hometown) เปลี่ยนถนนให้มีชีวิต สานสัมพันธ์คนจีน-มุสลิม

 

ณัฐธิดา เย็นบำรุง

 

ผ่านพ้นไปแล้วกับงาน เตอลูแบ This is my hometown งานดีๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองสายบุรี จังหวัดปัตตานี ผ่านความร่วมมือของกลุ่มคนจีนในเมืองสายบุรี อย่างกลุ่มศาลเจ้าเล่าเอี๊ยะกงและกลุ่มมุสลิม นำทีมโดย กลุ่ม Saiburi Looker

 

ถนนที่มีชีวิต

งาน เตอลูแบ สร้างความพิเศษ คือการสร้าง Placemaking ให้เกิดขึ้นในเมือง หรือการปรับเปลี่ยนพื้นถนนธรรมดาที่เป็นเพียงถนนคนจีนอันเป็นที่ตั้งของสถาปัตยกรรมเรือนแถวจีนเก่า ที่ส่วนใหญ่มักถูกปิด ถนนแห่งนี้จึงเป็นเพียงถนนที่เงียบเหงาถนนหนึ่งในสายบุรี แต่ในวันนี้ถนนนี้ได้กลายเป็นถนนที่มีชีวิต เป็นพื้นที่จัดงาน มีเวที มีงานนิทรรศการสถาปัตยกรรมและเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองสายบุรี ไม่เพียงแค่นั้นเมืองสายบุรียังจัดพื้นที่ถนน ให้มีการตกแต่งสไตล์ Vintage มีรถเก่า ผสมกับโคมสีสวยแบบจีน พร้อมสร้างกล่องตัวหนังสือคำว่า S A I B U R I ตัวขาวเด่น ดึงดูดความสนใจคนทุกเพศ ทุกวัย ให้เข้ามาถ่ายรูป ตะโกนคุยกัน เซลล์ฟี่ อย่างสนุกสนาน

 

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเมืองสายบุรี

 

วิทยากร เกรียงไกร เกิดศิริ
ผู้ดำเนินรายการ สุไรมาน แจะแม
ผู้เรียบเรียง ปาณัท ทองพ่วง 

 

 

สถาปัตยกรรมในชุมชนจีน 
ในชุมชนชาวจีนของเมืองสายบุรี ส่วนใหญ่ที่อยู่และค้าขายของชาวจีนฮกเกี้ยน อาคารส่วนใหญ่จะเป็นตึกแถวสองชั้น อาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่าร้อยปี และเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนที่เป็นของคนจีนที่อพยพจากเมืองจีนมายังพื้นที่แถบนี้โดยตรง ไม่ใช่สถาปัตยกรรมจีนที่ถ่ายทอดมาจากคนจีนที่ไปตั้งรกรากแถบอาณานิคมช่องแคบ (Strait Settlement) แถวสิงคโปร์ ปีนัง มะลักกา ที่จะได้รับอิทธิพลจากอังกฤษมาผสม ตึกแถวในสายบุรี โดยเฉพาะแถบชุมชนจีนมีทั้งตึกไม้และตึกปูน ส่วนที่เป็นไม้ก็จะใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ตะเคียน ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ ส่วนตึกปูน สันนิษฐานว่าอาจนำปูนมาจากโรงปูนที่ปีนัง ซึ่งปูนในสมัยก่อนจะขนส่งผ่านทางเชื่อมทางบก (land bridge) ขึ้นจากฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู ข้ามมาที่สายบุรีซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออก

ตึกแถวย่านชุมชนจีนของสายบุรีสร้างขึ้นหลายยุคด้วยกัน มีทั้งบ้านเรือนที่สร้างโดยได้รับอิทธิพลจากบ้านเรือนแถบสิงคโปร์ยุคหลังจากที่มี กฎหมาย “Raffles’ Law” บังคับใช้แล้ว ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้บ้านเรือนในสิงคโปร์ต้องสร้างทางเชื่อม มีหลังคาคลุมต่อกันสำหรับเป็นทางเดินสาธารณะ ซึ่งอาจเป็นหลังคาโค้ง (Arch) และมีทั้งบ้านเรือนในยุคก่อนหน้านั้น ที่แม้มีชานเชื่อมออกมาหน้าบ้าน แต่ก็เอาไว้ใช้ประโยชน์ส่วนตัว เช่น ขายของ แต่ไม่ได้เพื่อเชื่อมเป็นทางเดินสาธารณะ

 

สถาปัตยกรรมอื่นๆ ในสายบุรี
อาคารสำคัญในสายบุรี อย่างคฤหาสน์พิพิธภักดี นั้น หากมองในแง่การก่อสร้าง เป็นอาคารยุคที่มีเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบใช้วัสดุเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กแล้ว ถือเป็นอาคารยุคต้นสมัยใหม่ (early modern) แต่ยังคงมีรูปลักษณ์ที่สะท้อนเอกลักษณ์และวิถีชีวิตของท้องถิ่นอยู่ ไม่ได้เป็นสมัยใหม่ทั้งหมดแบบตึกแถวที่พบในปัจจุบัน

ส่วนบ้านเรือนเก่าของชาวมุสลิมในสายบุรี เป็นศิลปะแบบมลายูตรังกานู (สายบุรี ปัตตานี และตรังกานู ถือเป็นเมืองมลายูที่ร่วมวัฒนธรรมกัน) แต่ก็มีการพัฒนาต่อมาของพื้นที่เองด้วย เช่น มีการใช้หลังคาจั่ว หลังคาลีมะฮ์ หลังคาบรานอ ลักษณะเด่นอีกอย่างที่พบในเรือนมุสลิมของสายบุรีคือ ลายฉลุที่สวยงาม ที่พบมากเพราะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์เรื่องการเป็นช่องลมระบายอากาศและช่องแสงแก่บ้านเรือน เนื่องจากภาคใต้ฝนตกชุก เรือนมุสลิมจึงมีหน้าต่างน้อย เพื่อไม่ให้ฝนสาดเข้า ส่วนที่นิยมฉลุช่องระบายอากาศให้เป็นลวดลายพรรณไม้ ดอกไม้ มากกว่าเป็นตะแกรงธรรมดา เพราะตามหลักอิสลาม ห้ามทำรูปเหมือนคนและสัตว์

จุดเด่นของสายบุรีที่หาได้ยากยิ่งในที่อื่นๆ คือการมีต้นทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง มีการผนึกกำลังของคนในชุมชนอย่างแข็งแกร่ง การที่กลุ่มมุสลีมะห์ รับบริจาคเงินคนสายบุรีเพื่อซื้อคฤหาสน์พิพิธภักดีมาเป็นของชุมชน เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ต้นทุนทางสังคมในการรักษามรดกทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นไว้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนท้องถิ่นที่ต้องกำหนดทิศทางในการอนุรักษ์และพัฒนาบ้านเมืองของตนเอง

 

 

จิตวิญญาณคนสายบุรี Spirits of Saiburi

 

 

โต๊ะอิหม่ามฮัดซัน

“ผมน่าจะเป็นคนจีน ปู่ของตาของผม มาจากเมืองจีน เป็นพ่อค้านานาชาติ นำสินค้าทุกอย่างมาขายทั่วประเทศ พอถึงทะเล ตั้งมั่น ถ้าฉันไปทะเลทางไหน จะขึ้นฝั่งไหน จะยึดศาสนาคนที่ฝั่งนั้น เลยมาขึ้นที่ทะเลปัตตานี ชาวบ้านไปบอกเจ้าเมือง เจ้าเมืองมาชุบเลี้ยง ผมมีสายจีนครับ ผมภูมิใจในการเป็นจีน เพราะอัลเลาะห์กำหนดให้ผมเป็นคนจีน

คุณอับฮาร์ รองประธานกลุ่ม Saiburi Looker

“กรุงเทพมันวุ่นวาย เรากลับมาบ้านเห็นความสำคัญของสายบุรี ประวัติศาสตร์ที่นี่เคยยิ่งใหญ่ สังคมบ้านเราเคยสงบสุข ผมอยากให้ลูกเติบโตในสังคมแบบนั้น”

คุณอ๊อด ชาวจีนในสายบุรี

“ผมคิดถึงอดีต สมัยก่อนผมเรียนวัด ผมมีเพื่อนเป็นมุสลิมเยอะมาก ผมไปกินข้าวบ้านเขาบ่อยๆ เราไม่มีกำแพงอะไร พออยู่มาช่วงหนึ่ง เราไม่เข้าใจกัน เรามีกำแพงที่มองไม่เห็นขึ้นมา อยากจะให้สายบุรีที่เหมือนเมื่อก่อน เที่ยวได้ เล่นได้ เหมือนเดิม เราต้องทำอะไรสักอย่างให้ถนนเส้นนี้มีชีวิต สร้างความแตกต่างที่ไม่แตกแยก วันนี้ประสบความสำเร็จนับหนึ่งแล้ว เริ่มทลายกำแพงที่เรามีอยู่แล้ว”

คุณแม่ของคุณอ๊อด

"รู้สึกดีใจ งานวันนี้ประสบความสำเร็จ ขอบคุณสายบุรีลูกเกอร์ ขอบคุณคนสายบุรี ที่มาร่วมกัน เป็นความรู้สึกดีใจ อยากให้มีงานแบบนี้อีกต่อไป เหมือนกับว่ากระชับความสัมพันธ์เรา คนไทย อิสลาม มีความสุข อบอุ่น แตกแยก เรารู้สึกกันหมด แม่ครัวที่ทำอาหาร คือเรารู้จักกัน มีความรู้สึกร่วมกัน อบอุ่นใจมาก ขอให้ทุกคนมาร่วมกันจัดอีกต่อไป”

โกไม้

“สายบุรี มีความเจริญ เป็นเมืองท่าเก่าแก่ คนสายบุรีเป็นใหญ่เป็นโตเยอะ เราเป็นพหุวัฒนธรรม เชื้อชาติไทย มลายู จีน อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เมื่อเมืองเริ่มปิด เด็กรุ่นใหม่ มีบทบาททำให้สายบุรี ตื่นตัวขึ้นมา เห็นความสำคัญนี้ เริ่มทำงานจากน้ำพักน้ำแรง ไม่ได้อาศัยส่วนราชการ พวกน้องๆ พี่ๆ ช่วยกัน หนังสือเล่มนี้ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้น ผมมองเห็นว่า มีความตั้งใจ เป็นคนคิดของคนรุ่นใหม่ ต้องสานต่อไป ผมขอชมเชย”

 

 

สัมพันธ์ผู้คนในเมืองสาย

ไม่เพียงแค่การปรับเปลี่ยนถนนให้เป็นพื้นที่ของงาน ความน่าสนใจของงาน เตอลูแบ คือ การดึงความร่วมมือของผู้คนในเมืองได้อย่างสมดุล ก่อนจัดงาน จะเห็นทั้งกลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่ และที่สำคัญมีกลุ่มเด็กนักเรียน เข้ามาช่วยแบกของ จัดโต๊ะ ตามกำลังที่พวกเขาจะทำได้ เมื่อเข้าสู่งาน ผู้คนในงานมีความหลากหลายและหลายกลุ่ม ก่อนละหมาดเย็น (ฆับริบ) จะเป็นคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาในงาน หลังละหมาดเย็น ก็จะคนอีกกลุ่มหนึ่ง สลับหมุนเวียนกันไป นอกจากคนจีน คนมุสลิม ที่เข้ามาวิ่งเล่นในงานแล้ว ยังได้เห็นความร่วมมือของคนเมืองสายบุรีเพิ่มอีกด้วย อย่างกลุ่มผู้หญิงมุสลิมที่ทำอาหารให้กับทีมงาน และกลุ่มคนจีนที่นำขนมจากเข้าปิ้งแจกจ่ายให้กับคนในงานด้วย กลุ่มคนและความร่วมมือเช่นนี้ จึงทำให้บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยความอบอุ่นและความรู้สึกที่ดี

พื้นที่สาธารณะอย่างถนน ได้สร้างความรู้สึกที่เปิดกว้าง ความรู้สึกที่เป็นสาธารณะ ดึงดูดผู้คนให้รู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ และกล้าที่มาเข้าร่วมงานได้ไม่ต้องเคอะเขินใดๆ พื้นที่สาธารณะเช่นนี้ ไม่ได้เลือกกลุ่ม เลือกเชื้อชาติ เพราะเป็นที่พื้นที่ของทุกคน จึงไม่แปลกเลยว่า งานในวันนั้นจึงเต็มไปด้วยกลุ่มมุสลิม คนจีน คนไทยพุทธ สลับกันไปตามท้องถนนสายนั้น

 

สายบุรี กับ Placemaking

ไม่ใช่เพียงแค่งานนี้ หากมองย้อนดูกระบวนการทำงานของเมืองสายบุรีในช่วงที่ผ่านมา ที่มีสายบุรีลูกเกอร์เป็นกลุ่มริเริ่มทางความคิดและประสานภาคีต่างๆ ในพื้นที่ ได้มีกิจกรรมเกิดขึ้นมากมาย เช่น ซื้อคืนและการปรับเปลี่ยนพื้นที่คฤหาสน์พิพิธภักดีให้เป็นพื้นที่สาธารณะของคนเมือง งาน “สัมผัสเมืองสาย” “จัดการเมืองสาย” “Street Exhibit” “The เครา Night” ฯลฯ

จากการที่สายบุรีลูกเกอร์มีวิธีคิดที่ยึดโยงกับสาธารณะและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในเมืองจึงเท่ากับเป็นการทำPlacemaking อันเป็นหนทางที่นำไปสู่การสร้างความภาคภูมิใจและสร้างสปิริตของเมืองสายบุรี (The Spirits of Saiburi) ให้เกิดขึ้นในที่สุด

การพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นจากคนในเมืองที่มุ่งสร้างความสุขให้คนในเมือง จะทำให้เมืองมีชีวิตชีวา มีเสน่ห์ และมีความน่าสนใจมากกว่าเมืองที่มุ่งแต่พัฒนาและออกแบบเพื่อดึงดูดคนภายนอกหรือนักท่องเที่ยวให้เข้ามา เพราะมักละเลยความรู้สึกนึกคิดของคนในเมือง จนทำให้เมืองขาดการมีส่วนร่วม ไม่น่าอยู่ และไม่ยั่งยืน ในทางกลับกัน การพัฒนาที่มุ่งให้ความสำคัญกับคนในเมืองนี่เอง จะเป็นเสน่ห์ดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวได้มากกว่าด้วย การประยุกต์ Placemaking จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยสร้างคนเมืองให้กลายเป็นพลเมือง อันเป็นพลังขับเคลื่อนการสร้างอนาคตของเมืองอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

Related Posts