
เมืองของไทย – เมืองต้นแบบ Smart City ของโลก
Lawrence Morgan
CEO, Nest Global (Venture Capital Business)
ปาณัท ทองพ่วง : แปลและเรียบเรียง
เราอยู่ในจุดเริ่มต้นของยุคการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหม่ล่าสุด เรามีโอกาสเพียงครั้งเดียวของเจเนอเรชั่นที่จะปฏิรูปโครงสร้างเมืองเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ในยุคที่เมืองทั้งหลายกำลังเติบโต
ความจริงแล้ว กรุงเทพ ขอนแก่น เชียงใหม่ และเมืองอื่นๆ ของไทยนั้น อยู่ในฐานะที่จะเป็นเมือง Smart ตัวอย่างของโลกได้เป็นอย่างดี เพราะในความเป็นจริง เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเอามาใช้ในเมือง หรือเอาไปใช้ด้านอื่นๆ เป็นเพียง “เครื่องมือ” เป็นเพียง “กลไกที่นำไปสู่การปฏิบัติ” เทคโนโลยีไม่ได้เป็นตัวกำหนดเป้าหมายหรือรับประกันผลสำเร็จที่คาดหวัง ในแง่นี้ เทคโนโลยีเหมือนกับนโยบายและโครงสร้างทั้งหลาย คือเป็นเครื่องมือ
กุญแจหลักสู่การสร้างเมือง Smart ให้สำเร็จ คือ “คน” ซึ่งบังเอิญเป็นสมบัติของชาติไทย คนไทยมีจิตใจ ความมุ่งมั่น และความใฝ่ฝันที่จะสร้างให้เมืองของตนเป็นเมืองที่ Smart ความรู้สึกว่าเราทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ของบ้าน ของเมือง (sense of community) ความเมตตาอารี และน้ำใจไมตรีจิตของผู้คน หรือกล่าวโดยรวมคือความรู้สึกว่าบ้านเมือง ส่วนรวมเป็นเรื่องของเราทุกๆ คน (collective ownership) นี้เอง ที่เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในยามที่เมืองของเรากำลังเติบโต เมืองในประเทศอื่นๆ ต่างทุ่มงบประมาณมหาศาลในการออกแคมเปญและโครงการต่างๆ เพื่อจะปลูกฝังบรรยากาศของความแบ่งปันโอบอ้อมอารีให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้คนในเมือง ซึ่งก็มักจะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนัก วัฒนธรรม ปฏิสัมพันธ์ของผู้คน ความเป็นชุมชน และความเป็นส่วนรวมนี้เองที่ทำให้เมืองมีเสน่ห์ น่าเดินทางมารู้จัก มิใช่วัตถุ อย่าง science park มูลค่าหลายพันล้าน รถเมล์ไฟฟ้า หรือ Smart building อันทันสมัย ดังนั้น วัฒนธรรมและพลังชุมชนเหล่านี้จึงเป็นความภูมิใจของประเทศไทย สำหรับคนไทยนั้น ความสำเร็จของชุมชน ของบ้านเมือง และของส่วนรวม ก็คือความสำเร็จส่วนบุคคลของคนแต่ละคนด้วย ฉะนั้น วันนี้คนไทยต้องเลือกว่าเราจะสร้างเมือง Smart ประเภทไหน ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า ส่วนที่ทำให้สำเร็จได้ยากที่สุดในสมการนี้เป็นสิ่งที่เมืองไทยมีกันอยู่แล้ว นั่นคือ ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและความโอบอ้อมอารีกันในสังคม ถ้าคนไทยกำหนดนโยบาย ใช้เทคโนโลยี และสร้างโครงสร้างกายภาพต่างๆ มาเสริม มารองรับทุนที่เรามีในสังคมของเราอยู่แล้วนี้ การสร้างเมือง Smart ที่ดีแท้จริง ที่เป็นพื้นที่ของชีวิตที่ดี มีสุขภาวะ และสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ก็เป็นอันหวังได้
ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผมไม่ได้กล่าวเกินจริงเพื่อเอาใจผู้ฟัง อย่าลืมว่าที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ได้รับการลงคะแนนเสียงจากคนทั่วโลกให้เป็น “เมืองที่ดีที่สุดของโลก” แล้ว และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นสุดยอดเมืองสำหรับการเริ่มธุรกิจ start up เป็นเมืองอันดับหนึ่งที่เป็นเป้าหมายของนักเดินทาง เป็นเมืองที่สะดวกสำหรับการทำธุรกิจมากที่สุดในโลก ฯลฯ และรั้งอันดับหนึ่งในทุกสถิติที่กล่าวมานี้ติดกันมาหลายปีแล้ว สิ่งสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ มาอยู่ในจุดนี้ได้ก็คือวัฒนธรรมของเมือง และของประเทศนี้
และจากการเป็นเมืองที่ดีที่สุดในโลก จะขยับไปสู่การเป็นเมือง Smart ที่ดีที่สุดในโลกนั้น รากฐานก็ยังคงเหมือนเดิม นั่นคือ ผู้คนในเมืองคือสิ่งที่สร้างเมือง มิใช่ในทางกลับกัน
ผมอยากให้ลองจินตนาการว่าพวกคุณอยากอยู่ในเมืองแบบไหนในวันข้างหน้า เมืองที่คุณอยากอยู่นั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร การอยู่ในเมืองแบบนั้นจะรู้สึกอย่างไร พวกเราจะเดินทางไปทำงานกันอย่างไร หรือ พวกเราจะเดินทางไปทำงานกัน หรือไม่ ลองจินตนาการถึงเมืองที่มีอากาศสะอาด สดใส และสดชื่นบริสุทธิ์เสียยิ่งกว่าในชนบท ลองจินตนาการถึงเมืองที่เราสามารถสั่งผัก ผลไม้ ที่ปลูกถัดไปสองสามซอย มาส่งที่บ้านได้ ลองจินตนาการถึงเมืองที่เงียบสงบจนสามารถได้ยินเสียงนกร้องและนอนหลับได้อย่างสบายได้ยามกลางคืน สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นคือ ตัวอย่างเหล่านี้ใกล้จะกลายเป็นจริง และสิ่งเหล่านี้ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของผลที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเมือง Smart และเพราะเราต่างก็อยู่ในช่วงเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงนี้ จึงไม่อาจมีเมืองใดอ้างได้ว่าตนนำหน้าเมืองอื่นๆ อยู่มากนักในเรื่องเหล่านี้