Cities Reviews

เมืองของไทย – เมืองต้นแบบ Smart City ของโลก

 

Lawrence Morgan
CEO, Nest Global (Venture Capital Business)
ปาณัท ทองพ่วง : แปลและเรียบเรียง

 

 

เราอยู่ในจุดเริ่มต้นของยุคการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหม่ล่าสุด เรามีโอกาสเพียงครั้งเดียวของเจเนอเรชั่นที่จะปฏิรูปโครงสร้างเมืองเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ในยุคที่เมืองทั้งหลายกำลังเติบโต

ความจริงแล้ว กรุงเทพ ขอนแก่น เชียงใหม่ และเมืองอื่นๆ ของไทยนั้น อยู่ในฐานะที่จะเป็นเมือง Smart ตัวอย่างของโลกได้เป็นอย่างดี เพราะในความเป็นจริง เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเอามาใช้ในเมือง หรือเอาไปใช้ด้านอื่นๆ เป็นเพียง “เครื่องมือ” เป็นเพียง “กลไกที่นำไปสู่การปฏิบัติ” เทคโนโลยีไม่ได้เป็นตัวกำหนดเป้าหมายหรือรับประกันผลสำเร็จที่คาดหวัง ในแง่นี้ เทคโนโลยีเหมือนกับนโยบายและโครงสร้างทั้งหลาย คือเป็นเครื่องมือ

กุญแจหลักสู่การสร้างเมือง Smart ให้สำเร็จ คือ “คน” ซึ่งบังเอิญเป็นสมบัติของชาติไทย คนไทยมีจิตใจ ความมุ่งมั่น และความใฝ่ฝันที่จะสร้างให้เมืองของตนเป็นเมืองที่ Smart ความรู้สึกว่าเราทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ของบ้าน ของเมือง (sense of community) ความเมตตาอารี และน้ำใจไมตรีจิตของผู้คน หรือกล่าวโดยรวมคือความรู้สึกว่าบ้านเมือง ส่วนรวมเป็นเรื่องของเราทุกๆ คน (collective ownership) นี้เอง ที่เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในยามที่เมืองของเรากำลังเติบโต เมืองในประเทศอื่นๆ ต่างทุ่มงบประมาณมหาศาลในการออกแคมเปญและโครงการต่างๆ เพื่อจะปลูกฝังบรรยากาศของความแบ่งปันโอบอ้อมอารีให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้คนในเมือง ซึ่งก็มักจะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนัก วัฒนธรรม ปฏิสัมพันธ์ของผู้คน ความเป็นชุมชน และความเป็นส่วนรวมนี้เองที่ทำให้เมืองมีเสน่ห์ น่าเดินทางมารู้จัก มิใช่วัตถุ อย่าง science park มูลค่าหลายพันล้าน รถเมล์ไฟฟ้า หรือ Smart building อันทันสมัย ดังนั้น วัฒนธรรมและพลังชุมชนเหล่านี้จึงเป็นความภูมิใจของประเทศไทย สำหรับคนไทยนั้น ความสำเร็จของชุมชน ของบ้านเมือง และของส่วนรวม ก็คือความสำเร็จส่วนบุคคลของคนแต่ละคนด้วย ฉะนั้น วันนี้คนไทยต้องเลือกว่าเราจะสร้างเมือง Smart ประเภทไหน ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า ส่วนที่ทำให้สำเร็จได้ยากที่สุดในสมการนี้เป็นสิ่งที่เมืองไทยมีกันอยู่แล้ว นั่นคือ ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและความโอบอ้อมอารีกันในสังคม ถ้าคนไทยกำหนดนโยบาย ใช้เทคโนโลยี และสร้างโครงสร้างกายภาพต่างๆ มาเสริม มารองรับทุนที่เรามีในสังคมของเราอยู่แล้วนี้ การสร้างเมือง Smart ที่ดีแท้จริง ที่เป็นพื้นที่ของชีวิตที่ดี มีสุขภาวะ และสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ก็เป็นอันหวังได้

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผมไม่ได้กล่าวเกินจริงเพื่อเอาใจผู้ฟัง อย่าลืมว่าที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ได้รับการลงคะแนนเสียงจากคนทั่วโลกให้เป็น “เมืองที่ดีที่สุดของโลก” แล้ว และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นสุดยอดเมืองสำหรับการเริ่มธุรกิจ start up เป็นเมืองอันดับหนึ่งที่เป็นเป้าหมายของนักเดินทาง เป็นเมืองที่สะดวกสำหรับการทำธุรกิจมากที่สุดในโลก ฯลฯ และรั้งอันดับหนึ่งในทุกสถิติที่กล่าวมานี้ติดกันมาหลายปีแล้ว สิ่งสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ มาอยู่ในจุดนี้ได้ก็คือวัฒนธรรมของเมือง และของประเทศนี้

และจากการเป็นเมืองที่ดีที่สุดในโลก จะขยับไปสู่การเป็นเมือง Smart ที่ดีที่สุดในโลกนั้น รากฐานก็ยังคงเหมือนเดิม นั่นคือ ผู้คนในเมืองคือสิ่งที่สร้างเมือง มิใช่ในทางกลับกัน

ผมอยากให้ลองจินตนาการว่าพวกคุณอยากอยู่ในเมืองแบบไหนในวันข้างหน้า เมืองที่คุณอยากอยู่นั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร การอยู่ในเมืองแบบนั้นจะรู้สึกอย่างไร พวกเราจะเดินทางไปทำงานกันอย่างไร หรือ พวกเราจะเดินทางไปทำงานกัน หรือไม่ ลองจินตนาการถึงเมืองที่มีอากาศสะอาด สดใส และสดชื่นบริสุทธิ์เสียยิ่งกว่าในชนบท ลองจินตนาการถึงเมืองที่เราสามารถสั่งผัก ผลไม้ ที่ปลูกถัดไปสองสามซอย มาส่งที่บ้านได้ ลองจินตนาการถึงเมืองที่เงียบสงบจนสามารถได้ยินเสียงนกร้องและนอนหลับได้อย่างสบายได้ยามกลางคืน สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นคือ ตัวอย่างเหล่านี้ใกล้จะกลายเป็นจริง และสิ่งเหล่านี้ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของผลที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเมือง Smart และเพราะเราต่างก็อยู่ในช่วงเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงนี้ จึงไม่อาจมีเมืองใดอ้างได้ว่าตนนำหน้าเมืองอื่นๆ อยู่มากนักในเรื่องเหล่านี้

 

Smart City ควรเป็นเมืองเช่นไร

ดังนั้น แทนที่เราจะมุ่งไปที่เรื่องเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเพียงเครื่องมือ ผมจึงอยากจะวัดว่าเมืองใดเป็นเมือง Smart ตัวอย่างด้วยผลที่เกิดขึ้นจริงมากกว่า เมื่อผมมานั่งพิจารณาว่าเมือง Smart ที่ดีและประสบความสำเร็จควรมีลักษณะสำคัญอะไร – อย่างน้อยสามประการ ผมคิดว่าคุณลักษณะเหล่านั้น ได้แก่ ความยั่งยืน ความสะดวกสบาย และผู้คนในเมือง

ประการแรก เมือง Smart ที่เป็นแบบอย่างได้ต้องเป็นเมืองที่ยั่งยืน ในยุคที่เรากำลังเร่งกระบวนการ “นคราภิวัตน์” นี้ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการสร้างเมืองของเราให้ยั่งยืน หากเราต้องการให้เมืองของเราเป็นเมืองที่น่าดึงดูดสำหรับผู้อื่น และที่สำคัญยิ่งกว่าคือเป็นเมืองสุขภาวะดีสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้น กุญแจสำคัญในการสร้างเมืองให้ยั่งยืน อยู่ที่การจัดการกับความท้าทายที่เรากำลังเผชิญในเวลานี้เรื่องมลภาวะ ความแออัด อาหารในเมือง และการจัดการขยะและของเสียของเมือง

ประการที่สอง เมือง Smart ตัวอย่างต้องเป็นเมืองที่มีความสะดวกสบาย เพราะความสะดวกสบายหมายถึง “ประสิทธิภาพ” ของเมืองที่ผมอยากเห็นในเมือง Smart ของเรา เมืองที่สะดวกสบาย เช่น เป็นเมืองที่ผู้คนใช้เวลากับการเดินทางสั้นลง และเป็นเมืองที่ลดการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่าลงไป

ประการสุดท้าย เมือง Smart ตัวอย่างต้องให้ความสำคัญกับคน เพราะผมไม่อยากเป็นเพียงปัจเจกนิรนามคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมือง แต่ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่ผมอยู่

สำหรับเรื่องความยั่งยืน นับจากอดีต เมืองถูกสร้างขึ้นเพื่อรวบรวม จัดการ และแลกเปลี่ยนทรัพยากรจากทั่วทั้งประเทศ แต่เมืองในวันพรุ่งนี้จำเป็นจะต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของเมืองนั้นเอง เราเคยพูดกันถึง green building หรืออาคารที่ลดการใช้ทรัพยากร แต่ตอนนี้เราจำเป็นต้องพูดถึง carbon-positive building หรืออาคารที่สามารถผลิตพลังงานได้เกินกว่าที่ตัวเองบริโภคแล้ว เราต้องทำให้เรื่องการผลิตพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (renewable) เข้าไปอยู่ในทุกๆ เรื่องของกิจกรรมและโครงสร้างในเมืองของเรา

ในเรื่องความสะดวกสบาย เราเริ่มพูดถึงการออกแบบอาคารที่ใช้งานได้หลายวัตถุประสงค์ โครงสร้างและส่วนประกอบของอาคารที่ก้าวหน้าในปัจจุบันทำให้เราสร้างอาคารได้สูงและมีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากขึ้น การปรับการใช้งานพื้นที่ในตัวอาคารในยุคใหม่จะเบลอเส้นแบ่งการจัดสรรพื้นที่ใช้งานที่เคยเป็นมาในรูปแบบดั้งเดิม เช่น หันมาใช้พื้นที่โรงเรียนอนุบาลร่วมกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือออฟฟิศสมัยใหม่ที่มีทั้งร้านอาหารและคลับอยู่ในนั้น สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนยุคมิลเลนเนียมและที่เด็กกว่าที่มิได้แยกส่วนเรื่องงาน การใช้ชีวิต และการเล่นหรือพักผ่อนออกจากกันเหมือนคนสมัยก่อนหน้าอีกแล้ว เมื่อบ้านส่วนตัวของพวกเรามีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ กิจกรรมทางสังคมส่วนใหญ่ก็จะต้องออกมาใช้พื้นที่สาธารณะมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในเมืองนั้น ห้องอาหารในอพาร์ทเม้นท์ถูกแทนที่ด้วยร้านอาหารมานานแล้ว แต่เรายังสามารถเข้าครัวทำอาหารให้เพื่อนของเรารับประทานได้ในครัวที่เราเช่าเป็นรายชั่วโมง ลองคิดดูว่า สวนสาธารณะของเมืองนั้นได้กลายเป็น “สวนหลังบ้านร่วมกันของคนเมือง” ไปแล้ว (เช่น สวนลุมพินี) ห้างสรรพสินค้าคือห้องนั่งเล่นของคนเมืองสมัยใหม่ และเหล่านายกเทศมนตรีเมืองต่างๆ ในโลกกำลังกระตือรือร้นในการหาวิธีที่ดีสุดในการปรับเปลี่ยนถนนและที่จอดรถให้เป็นเลนจักรยานและฟาร์มของเมือง หลังจากที่เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (shared economy) ความตระหนักในวงกว้างมากขึ้นเรื่องผลกระทบจากมลภาวะของเมือง และการพัฒนายานพาหนะไร้คนขับ ทำให้ความจำเป็นในการใช้ถนนลดลง

ในมุมของผู้คนในเมือง ในขณะที่บรรดาเมืองขนาดยักษ์ (Mega city) เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต รัศมีของชีวิตของเราแต่ละคนในเมืองจะหดเล็กลง เมืองขนาดใหญ่จะมีลักษณะคล้ายกับหมู่บ้านหลายๆ หมู่บ้านที่เชื่อมต่อกันมากขึ้น ที่ซึ่งคนในชุมชนใช้ชีวิตส่วนมากอยู่ในย่านของตนเอง ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เช่น โรงเรียน ที่ทำงาน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ครบครัน เมืองลักษณะนี้จะมาแทนที่เมืองที่รวมบริการทุกอย่างอยู่ในศูนย์กลางแห่งเดียว ซึ่งคนในเมืองต้องเดินทางไกลข้ามเมืองเพื่อเข้ามาใช้บริการต่างๆ แนวทางการพัฒนาเมืองแบบเป็นย่านๆ (hyperlocal) นี้จะยิ่งถูกเสริมด้วยการเติบโตของการสร้างโกดังสินค้าขนาดใหญ่สำหรับ อี คอมเมิร์ซ ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปนอกเมือง และขนส่งเข้ามาในเมืองด้วยโดรนหรือ Hyperloop (รถไฟที่วิ่งในท่อสุญญากาศใต้ดินความเร็วสูงยิ่งกว่าเครื่องบิน (หรือ Vactrain – Vacuum Tube Train) เป็นช่องทางขนส่งผู้คนและสิ่งของแบบใหม่ที่กำลังมีการพัฒนากันอยู่ในปัจจุบัน โดย บุคคล เช่น Elon Musk เป็นต้น)

เหตุใดจึงเชื่อว่าวิถีชีวิตแบบ “หมู่บ้าน” ในเมืองใหญ่นี้คือหนทางที่ดีสำหรับการพัฒนาเมืองในอนาคต? นั่นเพราะมันจะนำชีวิตแบบชุมชน (community) (ที่ทุกคนมีตัวตน รู้จักกัน และมีส่วนร่วมในกิจการของที่ที่ตนอยู่) แนวทางพัฒนาเมืองที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง และสำนึกการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ของบ้านเมือง กลับมาสู่วิถีชีวิตของเมือง ที่ในปัจจุบันเป็นแบบปัจเจกต่างคนต่างอยู่ ใช้ชีวิตในเมืองเดียวกันโดยไม่รู้จักกัน และไม่มีส่วนร่วมกับที่ที่ตนอยู่ (anonymity) อนึ่ง “หมู่บ้าน” ที่ว่านี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแนวราบ เป็น “หมู่บ้านแนวตั้ง” ก็ได้


สรุป

ขณะที่เมืองในอดีตคือที่ที่ผู้คนอพยพเข้ามาเพื่อหางานทำ การพัฒนาเมืองในอนาคตจะเป็นการคิดใหม่เพื่อย้ำเรื่องการเชื่อมโยง (connectivity) เรื่องความเป็นชุมชนและบ้านเมือง (community) และวัฒนธรรม (culture) ให้มากที่สุด นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ของไทยจึงมีศักยภาพอย่างยิ่งที่จะเป็นเมือง Smart ต้นแบบของโลก ที่จะสร้างสรรค์เมืองที่ยั่งยืน สะดวกสบาย และเหนือสิ่งอื่นใด – เมืองที่ยึดเอาผู้คนในเมืองเป็นหลักในการพัฒนา

 

ที่มาบทความและรูปภาพ
ถอดความและเรียบเรียงจากการบรรยายเรื่อง Future of Urban Space Transformation & Utilization โดย Mr. Lawrence Morgan, CEO, Nest Global ในเวที District Summit 2018 จัดโดยสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงละคร K Bank สยามพิฆเณศ อาคารสยามสแควร์ วัน เขตปทุมวัน กทม.

 

 

• AUTHOR

 


ปาณัท  ทองพ่วง

นักวิจัย  สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ

Related Posts