
เมืองรังสิต นวัตกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
เนื่องด้วยเทศบาลนครรังสิตมีความต้องการเป็น “นครแห่งคุณภาพชีวิตในปี 2562” ตามที่ได้ระบุวิสัยทัศน์นี้ไว้ในแผนพัฒนาสามปี (2560-2562) การจัดการระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญ โดยครอบคลุมทั้งในด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาประชากรในพื้นที่เขตเทศบาลนครรังสิตมีจำนวนจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ส่งผลให้ปัจจุบันนครรังสิตก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ดังนั้น การวางแผนเพื่อการพัฒนาคุณภาพพร้อมทั้งการดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นหนึ่งในภารกิจของเทศบาลนครรังสิตที่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะ ๆ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่เติบโตพร้อมกับการเป็นเมืองที่เติบโตอย่างไม่หยุดหยุ่น
พัฒนาการความเป็นเมืองของนครรังสิต
รังสิตในอดีต ช่วงเริ่มต้นการบุกเบิก พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ผู้คนยังไม่สามารถเข้าไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน การตั้งถิ่นฐานคงมีอยู่บ้างอย่างกระจาย ต่อมาในสมัย รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พัฒนาทุ่งหลวงพื้นที่แถบนี้ให้เจริญขึ้น ให้บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ขุดคลองรังสิต–ประยูรศักดิ์ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้ราษฎรได้ทำนา ทำสวนและได้ขุดคลอง หลังขุดทำให้มีคนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณทุ่งรังสิตมากขึ้น สาเหตุที่มีคนอพยพเข้ามาในเขตรังสิตมากขึ้นเป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออกข้าว ประกอบกับความเชื่อมั่นในระบบชลประทานแบบใหม่นี้ว่าจะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตและแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ ทำให้มีคนสนใจเข้ามาทำนากันมากขึ้น ตลอดจนมีการผลักดันไพร่และทาสที่เป็นอิสระให้เข้าไปทำงานยังพื้นที่การเกษตรใหม่แห่งนี้อีกด้วย บริเวณทุ่งรังสิตจึงเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่รกร้าง กลายเป็นบริเวณที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่นมากขึ้น
รังสิตเป็นสังคมเกษตรกรรมมาตลอด จวบจนกระทั่งยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อรังสิตอย่างมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ความเป็นเมือง คือ การพัฒนาการคมนาคมทางบก การเกิดขึ้นของถนนพหลโยธิน ในฐานะทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ประกอบกับผลจากการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) ก่อให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ๆ ขึ้นบนถนนสายนี้อย่างแพร่หลาย อาทิ โรงงานทอกระสอบ ปั่นด้าน ทอผ้า ย้อมผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า ไปจนถึงอุตสาหกรรมเคมี เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อรังสิตอย่างมาก โดยได้มีการเพิ่มของประชากรในพื้นที่ทุ่งรังสิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอำเภอคลองหลวงและอำเภอธัญบุรีที่กระจุกตัวอยู่ในบริเวณคลองหนึ่งและประชาธิปัตย์ มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการประกอบอาชีพ ชาวนาเริ่มหันมาเป็นแรงงานในโรงานอุตสาหกรรม พร้อมกับการเกิดการขยายตัวของชุมชนที่อยู่อาศัยมากขึ้น
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้รังสิตกลายเป็นเมือง คือ ที่ตั้งรังสิตไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ประกอบกับมีเส้นทางคมนาคมสะดวกและอยู่ใกล้สนามบินดอนเมือง นอกจากการลงทุนทางอุตสาหกรรมแล้ว รังสิตยังเกิดการลงทุนทางด้านพาณิชยกรรมต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไท เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่สถานศึกษาขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ บ้านที่อยู่ในเมืองชั้นในและชั้นกลางของกรุงเทพมหานครมีราคาสูงมาก ในบริเวณทุ่งรังสิตจึงเกิดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก เกิดบ้านจัดสรรในพื้นที่มากมาย รองรับความต้องการของประชาชนที่ย้ายบ้านเรือนออกไปอยู่ตามชานเมือง
ในปัจจุบัน โซนรังสิต กลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่ไม่แพ้กรุงเทพมหานคร ราคาที่ดินสูงมาก อาจเรียกว่าเป็นทำเลทองอีกแห่งหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยผู้คนทั้งจากทั่วทุกสารทิศ เข้ามาทำงาน มาซื้อบ้าน รังสิตเป็นศูนย์รวมของการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน มหาวิทยาลัยชื่อดัง โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากสนามบินดอนเมือง ในอนาคตยังจะมีโครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง ยิ่งทำให้รังสิตจะเมืองที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ
ภาพที่ 1 ภาพมุมสูงบริเวณพื้นที่ในเขตรังสิต
ที่มา Google (2562)
ความเป็นเมืองในเขตเทศบาลนครรังสิต
นครรังสิตได้รับการยกระดับจากเทศบาลเมืองเป็นเทศบาลนครเมื่อ พ.ศ.2554 ครอบคลุมพื้นที่ตำบลประชาธิปัตย์ทั้งตำบล มีเนื้อที่รวม 20.8 ตารางกิโลเมตร โดยเทศบาลนครรังสิตเป็นส่วนหนึ่งในอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เทศบาลนครรังสิตได้จัดให้มีการจัดตั้งชุมชนย่อยทั้งหมด 81 ชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น[1] เนื่องจากพื้นที่เขตนครรังสิตมีความเจริญอย่างมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดปทุมธานี จากสถิติจำนวนประชากรในเขตเทศบาลนครรังสิต พบว่า ในปี 2560 มีจำนวนประชากรที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่เทศบาลนครรังสิตตามทะเบียนบ้าน 79,766 คน[2] และมีจำนวนที่อยู่อาศัย 54,404 หลังคาเรือน[3] ทั้งนี้ สถิติดังกล่าวยังไม่นับรวมประชากรแฝงที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่โดยไม่ได้ย้ายภูมิลำเนาเข้ามาอยู่อย่างถูกต้องจำนวนมาก โดยหากดูจากความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร จะพบว่าอำเภอธัญบุรีเป็นแหล่งที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในจังหวัด โดยเมื่อพิจารณาถึงจำนวนห้องพักซึ่งเป็นแหล่งที่พักอาศัยของประชากรแฝงในจังหวัดปทุมธานี พบว่าประชากรแฝงที่มีจำนวนอยู่มากที่สุดอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเมืองรังสิต[4] เนื่องด้วยนครรังสิตเป็นพื้นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม ตลาดขนาดใหญ่ มีสถานีขนส่ง เส้นทางรถไฟสายสีแดง และที่สำคัญคือมีมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาชั้นนำของภาครัฐและเอกชน[5]
ภาพที่ 2 อาณาเขตเทศบาลนครรังสิต
ที่มา: วิกิพีเดีย (2562)
สถานการณ์ด้านสุขภาพคนเมืองที่กำลังเผชิญอยู่
จากการจัดอันดับอัตราป่วยและอัตราป่วยตายจากโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อจังหวัดปทุมธานีต่อประชากรแสนคน ปี พ.ศ.2559 (แผนภาพที่ 2) จะสังเกตได้ว่า มีจำนวนผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานสูงถึง 6,617.4 และ 3,201.3 รายต่อแสนคน โดยมีอัตราการป่วยตายจากโรคนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.1 และ 4.7 ตามลำดับ แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่เพียง 392.2 รายต่อแสนคน แต่กลับมีอัตราป่วยตายจากโรคนี้สูงถึงร้อยละ 8.1 อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณาข้อมูลอีกหนึ่งชุดจากกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครรังสิตที่แสดงอัตราผู้ป่วยรายใหม่เปรียบเทียบระหว่างประชากรในจังหวัดปทุมธานีและเทศบาลนครรังสิต ปีงบประมาณ 2560 (แผนภาพที่ 3) พบว่า อัตราประชากรในเขตเทศบาลนครรังสิตที่เป็นผู้ป่วยรายใหม่ทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมีจำนวนมากกว่าเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรผู้ป่วยรายใหม่ทั้งหมดในจังหวัดปทุมธานี
ภาพที่ 3 แสดงการจัดอันดับอัตราป่วยและอัตราป่วยตายจากโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อจังหวัดปทุมธานีต่อประชากรแสนคน ปี พ.ศ.2559
ที่มา: กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครรังสิต
ภาพที่ 4 แสดงอัตราผู้ป่วยรายใหม่จังหวัดปทุมธานีและเทศบาลนครรังสิต ปีงบประมาณ 2560
ที่มา: กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครรังสิต
เทศบาลนครรังสิต กำลังเผชิญปัญหาและสถานการณ์ความท้าทายที่สำคัญไม่แตกต่างจากเมืองอื่นๆ คือ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้อายุ ในส่วนของข้อมูลผู้สูงอายุ จะพบว่า ในปี 2560 เขตเทศบาลนครรังสิตมีจำนวนผู้สูงอายุสัญชาติไทยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจำนวน 11,141 คน คิดเป็นร้อยละ 13.5 ของประชากรทั้งหมดในเขตเทศบาลนครรังสิต[6] ด้วยเหตุนี้ จึงถือว่า เทศบาลนครรังสิตได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอาจกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในไม่ช้า[7] หากพิจารณาจากอัตราพึ่งพิงของผู้สูงอายุ จะพบว่า อัตราพึ่งพิงของผู้สูงอายุเทศบาลนครรังสิตอยู่ที่ 1 : 4.65 นั่นหมายความว่า ประชากรวัยทำงานเกือบทุกทุก 5 คน ต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน จากที่กล่าวมาในข้างต้น กระบวนการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีต่อผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่ทางเทศบาลนครรังสิตให้ความสำคัญ โดยเน้นไปที่การส่งเสริมและฟื้นฟูเพื่อลดการเจ็บป่วยและภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุในเขตเทศบาลนครรังสิตนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จากผลการสำรวจข้อมูลผู้สูงอายุในเขตเทศบาลนครรังสิตปี 2560 มีเป้าหมายการสำรวจผู้สูงอายุจำนวน 11,141 คนตามข้อมูลที่ได้รับจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง สำรวจได้ 5,284 คน ทั้งนี้ ผู้สูงอายุจะถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่มเพื่อความสะดวกในการดูแลและทั่วถึง โดยใช้เกณฑ์การแบ่งประเภทจากกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ (Activities of Daily Living) เพื่อบริการผู้สูงอายุตามภาวะพึ่งพิงทั้ง 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มติดสังคม เน้นการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อชะลอความเสื่อม และการรวมกลุ่มทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในชุมชน
- กลุ่มติดบ้าน เน้นการป้องกันภาวะแทรกซ้อน ภาวะทุพพลภาพ และเพิ่มศักยภาพใน การพึ่งพาตนเองของผู้สูงอายุ
- กลุ่มติดเตียง เน้นป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่าง ๆ ประคับประคองอาการเจ็บป่วย รวมถึงการเตรียมพร้อมด้านจิตใจเพื่อให้มีลมหายใจสุดท้ายที่สงบสุข
ดังนั้น จากการสำรวจจำนวนผู้สูงอายุระหว่างปี 2556, 2557 และ 2560 พบจำนวนผู้สูงอายุตามภาวะพึ่งพิง ดังนี้
ภาพที่ 5 แสดงจำนวนผู้สูงอายุประเภทต่างๆ ปี 2556 ปี 2557 ปี 2560
|
ปี 2556 |
ปี 2557 |
ปี 2560 |
สำรวจทั้งหมด |
453 |
4,384 |
5,284 |
ระดับ 1 ติดสังคม |
- |
3,760 |
4,645 |
ระดับ 2 ติดบ้าน |
- |
123 |
124 |
ระดับ 3 ติดเตียง |
- |
57 |
61 |
ที่มา: กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครรังสิต
จุดเริ่มต้นและแนวคิดการพัฒนาสุขภาวะคนเมือง
เนื่องด้วยเขตเทศบาลนครรังสิตมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้มีภารกิจในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นกว่าที่เคยวางแผนไว้ รวมถึงการเตรียมตัวเพื่อรองรับสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วน สำหรับผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม ซึ่งโดยปกติ ชมรมผู้สูงอายุทั้ง 11 ชมรมจะมีการพบปะกันประจำเดือนละ 1 ครั้ง แต่ท่านนายกฯ เล็งเห็นว่าการให้ผู้สูงอายุพบกันเดือนละ 1 ครั้งอาจจะไม่พอ ผนวกกับเทศบาลนครรังสิตได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานด้านการพัฒนาผู้สูงอายุผ่านโรงเรียนผู้สูงอายุ จึงเกิดความคิดในการจัดทำโรงเรียนขึ้นเพื่อสร้างแกนนำในการดูแลผู้สูงอายุโดยผู้สูงอายุเป็นภารกิจแรก ๆ นำแกนนำผู้สูงอายุแต่ละชมรมมาพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้พวกเขาสามารถดูแลตัวเองและขับเคลื่อนชมรมเองได้ โรงเรียนผู้สูงอายุจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่และสังคมที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สร้างแรงกระตุ้น สร้างความจรรโลงใจ และการรวมกลุ่ม สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมและการมีจิตสาธารณะ รวมถึงการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ได้แก่ กลุ่มติดบ้านและติดเตียง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การพัฒนาผู้สูงอายุของเทศบาลนครรังสิต
การพัฒนาผู้สูงอายุของเทศบาลนครรังสิต มีรูปแบบและขั้นตอนการดำเนินงานขึ้นอยู่กับผู้สูงอายุทั้ง 3 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มผู้สูงอายุติดสังคม : สร้างโรงเรียนผู้สูงอายุ
โรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลนครรังสิตก่อตั้งเมื่อปี 2557 โดยเริ่มจากโครงการห้องเรียนผู้สูงอายุ สอนการเขียนโครงการ การรวมกลุ่ม และการทำงานร่วมกันแทรกเข้าอยู่ในหลักสูตร มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพแกนนำผู้สูงอายุ ให้มีภาวะผู้นำ มีความรู้ ทักษะ ความสามารถในการบริหารจัดการชมรม ดำเนินงานโครงการหรือกิจกรรม เมื่อผู้สูงอายุที่เข้าร่วมมีความรู้ก็สามารถนำความรู้นั้นกลับไปบริหารจัดการชมรมของตัวเองได้
ในปี 2558 จึงได้พัฒนาไปสู่การเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลนครรังสิต ตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานเทศบาลนครรังสิต ชั้น 11 ห้องนิลุบล ผู้เรียนเป็นบุคคลทั่วไปที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีชื่ออยู่ในเขตเทศบาลนครรังสิตและมีความประสงค์จะเรียนจำนวน 65 คนต่อรุ่น มีการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้เข้ากับชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเรียนปีละ 2 เทอม เทอมละ 4 เดือน ทุกวันพุธ เวลา 9.00-12.00 น. การจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลนครรังสิต ทำให้วัตถุประสงค์จึงมีการเปลี่ยนไปตามคุณลักษณะผู้เรียน คือ
- พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย สามารถถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับจากห้องเรียนได้
- เพิ่มทักษะการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการจริงภาคสนามกับชมรมผู้สูงอายุ
- พัฒนาจิตอาสาในชุมชน
หลักสูตรการเรียน
เนื้อหาในหลักสูตรไม่ใช่การเรียนด้านวิชาการ แต่เป็นการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้การเรียนมีความน่าสนใจและเพื่อให้ผู้สูงอายุมีความเข้าใจวิธีการดูแลตนเองและเข้าใจสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ในการเรียนแต่ละชั่วโมงจะมีการแบ่งกลุ่มเพื่อให้ผู้สูงอายุรู้จักกันมากขึ้น มีการระดมความคิดเห็นและการนำเสนอหน้าชั้นเรียน เป็นการเพิ่มศักยภาพของผู้สูงอายุในด้านความกล้าแสดงออก ในส่วนของการพัฒนาจิตอาสา จะมีการรวมตัวการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เช่น ล้างห้องน้ำ กวาดลานวัด แยกขยะในชุมชน เลี้ยงอาหารผู้พิการ เป็นต้น หรือทุกวันพุธจะมีการฉีดวัคซีนที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ผู้สูงอายุจะมาเป็นจิตอาสาในการช่วยเหลือการฉีดวัคซีนให้เด็ก หรือการย่างไก่ให้สุนัขที่ศูนย์พึ่งพิงสุนัขคลอง 12
หลักสูตรการเรียน ประกอบไปด้วย 4 ชุดการเรียนรู้ รวมทั้งสิ้น 116 ชั่วโมง ดังต่อไปนี้
- ชุดการเรียนรู้ที่ 1 ภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ (42 ชั่วโมง) เป็นการให้ความรู้เรื่องโรค การดูแลสุขภาพกาย จิตใจ การออกกำลังกาย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การใช้ยาและสมุนไพร และเรื่องโภชนาการ
- ชุดการเรียนรู้ที่ 2 ผู้สูงอายุในสังคมที่เปลี่ยนแปลง (44 ชั่วโมง) ผู้สูงอายุจะได้เรียนรู้เรื่องระเบียบวินัย การปรับตัวในสังคมไทย สิทธิผู้สูงอายุ กฎหมาย พินัยกรรมชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญา จิตอาสา อาเซียน ประวัติศาสตร์ชาติไทย ค่านิยม หน้าที่ พลเมืองไทย การออม และการเตรียมความพร้อม
- ชุดการเรียนรู้ที่ 3 เทคโนโลยีการสื่อสารสำหรับผู้สูงอายุ (12 ชั่วโมง) เรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น การใช้ Facebook และ Line สำหรับการสื่อสาร เพื่อให้ผู้สูงอายุเห็นถึงประโยชน์ของเครื่องมือสื่อสารและนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
- ชุดการเรียนรู้ที่ 4 การเรียนรู้ตามอัธยาศัย (16 ชั่วโมง) เป็นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ นอกเหนือจากเนื้อหาด้านวิชาการ เป็นกิจกรรมที่สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การส่งเสริมอาชีพ ทำขนมไทย คุกกี้ กิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา เช่น พระมาเทศนาธรรมรวมถึงสอนหลักการดำรงชีวิต นั่งสมาธิ กิจกรรมนันทนาการ งานคหกรรมและงานประดิษฐ์
การบริหารจัดการในห้องเรียน
ภายในห้องเรียนมีแกนนำในการบริหารจัดการการอยู่ร่วมกัน คล้ายกับการบริหารห้องเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ประกอบด้วย หัวหน้าห้อง รองหัวหน้าห้อง นายทะเบียน ประชาสัมพันธ์ และเหรัญญิก ก่อนเริ่มการเรียนการสอน มีการเคาะระฆังเพื่อส่งสัญญาณเข้าเรียน หลังจากนั้นมีการสวดมนต์ ร้องเพลงประจำโรงเรียนผู้สูงอายุ และออกกำลังกายพร้อมกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ซึ่งจะมีผู้สูงอายุนำสวดมนต์และออกกำลังกายที่มีภาวะผู้นำและกล้าแสดงออก หลังจากร่วมกิจกรรมไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์
หลังจบการศึกษา : ส่งเสริมพื้นที่สาธารณะให้เกิดการรวมกลุ่ม
เมื่อสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุ จะมีพิธีมอบวุฒิบัตรโดยท่านนายกฯ และมีพิธีรับน้องใหม่แก่ผู้สูงอายุในรุ่นถัดไป มีการรวมกลุ่มกันหลังจบหลักสูตรตามความสนใจและความถนัดของแต่ละคนและมีการจัดพื้นที่การแสดงให้กับผู้สูงอายุได้แสดงความสามารถ เช่น รำวง รำไทย ไลน์แดนซ์ โยคะ บางคนไปเป็นจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุหรือให้บริการแก่ผู้ที่มาใช้บริการที่เทศบาลฯ เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว โดยมีการอบรมก่อนปฏิบัติงานจริง หรือจัดรายการวิทยุชุมชน เรียนภาษาอังกฤษ ร้องคาราโอเกะ นั่งสมาธิ เป็นต้น ผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับการตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคต้อกระจกประจำปี รวมถึงมีการปรับสภาพแวดล้อมพื้นที่สาธารณะให้เหมาะสมและเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ เช่น ทางลาด ห้องน้ำ บันไดภายในและภายนอกอาคาร เป็นต้น
- กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านและกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียง : นวัตกรรมดูแลผู้มีภาวะพึ่งพา
ในการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านและกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียง เทศบาลนครรังสิตได้ทำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแล สร้างอุปกรณ์ที่มีประโยชน์และใช้งานได้จริงสำหรับผู้สูงอายุ มีทั้งหมด 3 นวัตกรรม
- ชุดควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านด้วยรีโมท ได้แก่ ปุ่มปิด-เปิดพัดลม ไฟ โทรทัศน์ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ ภายในบ้านของผู้ป่วยที่มือใช้การได้
- รีโมทส่งสัญญาณแจ้งเหตุฉุกเฉิน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากบ้านใดมีความประสงค์ต้องการรีโมทส่งสัญญาณแจ้งเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะมีการพูดคุยกับเพื่อนบ้านเกี่ยวกับการทำงานของรีโมท หากผู้ป่วยกดปุ่ม สัญญาณจะดังขึ้นเพื่อขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน
- ระบบขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน : โครงการ SOS เป็นโครงการต่อยอดเนื่องจากรีโมทส่งสัญญาณแจ้งเหตุฉุกเฉินซึ่งเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่สามารถใช้ได้เฉพาะในบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น ไม่สามารถขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยกู้ชีพหรือโรงพยาบาลได้ โครงการ SOS จึงเกิดขึ้น เป็นโครงการที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์บ้าน เมื่อผู้ขอความช่วยเหลือโทรศัพท์เข้ามายังศูนย์กู้ชีพ เบอร์โทรและข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยจะแสดงผลบนหน้าจอของศูนย์รับสัญญาณ จากนั้นจึงส่งรถพยาบาลมาให้ความช่วยเหลือต่อไป
นอกจากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นนวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงแล้ว เทศบาลนครรังสิตสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นบางอย่าง พร้อมด้วยการสร้างบุคลากรจำนวนหนึ่งเพื่อไปเยี่ยมและดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ดังนี้
- บริการรถรับ-ส่ง ไปโรงพยาบาล ผ่านการจัดตั้งมูลนิธิ “สุขเสรี” สำหรับรับ-ส่งผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลด้วยตนเอง
- ให้ยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เตียง ที่นอนลม ไม้ค้ำยัน ฯลฯ
- การสร้าง care giver และอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ เพื่อดูแลผู้สูงอายุตามสภาพและความจำเป็น ซึ่ง care giver ต้องผ่านการอบรม 120 ชั่วโมงตามหลักสูตรของกระทรวงสาธารณสุข โดยปกติจะอบรมโดยวิทยากรจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ต้องผ่านการอบรม 2 วัน และฝึกปฏิบัติ 2 วัน โดยหลักสูตรของเทศบาลนครรังสิต และมีวุฒิบัตรรับรองการผ่านหลักสูตรการอบรม
- เยี่ยมบ้านและนวดฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยติดเตียง โดยพยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัดและแพทย์แผนไทย และมีการปรับสภาพบ้านของผู้ป่วยเพื่อความสะดวกและความปลอดภัย โดยมีการสำรวจและประเมินการติดตั้งตามลำดับความสำคัญและความจำเป็นของแต่ละบ้าน
กลไกความร่วมมือในการพัฒนาผู้สูงอายุของเทศนครนครรังสิต
กลไกการจัดการเมืองสุขภาวะในแต่ละกลุ่มผู้สูงอายุ เทศบาลนครรังสิตเป็นกลไกหลัก ที่คอยประสานทำงานร่วมกับเครือข่ายกลไกต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ดังนี้
- โรงเรียนผู้สูงอายุ โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากแกนนำผู้สูงอายุจากชมรมทั้ง 11 ชมรมทั้งหมด 2 รุ่น จำนวน 110 คน ดำเนินการโดยเทศบาลนครรังสิตเป็นหลักในการจัดหาวิทยากรมาอบรมให้แก่ผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อทำการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์เบื้องต้น เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์และสถานที่แก่ผู้สูงอายุ
- โครงการนวัตกรรมดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง โครงการนวัตกรรมดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่สนับสนุนด้านงบประมาณ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี สร้างอุปกรณ์ที่มีประโยชน์และใช้งานได้จริงในพื้นที่เขตเทศบาลนครรังสิต โครงการนี้ยังได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในการช่วยเหลือการประดิษฐ์และติดตั้งอุปกรณ์ให้กับผู้ป่วยอีกด้วย
- การพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณะสุข สำหรับหลักสูตรอบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุของเทศบาลนครรังสิต ดำเนินการร่วมกับคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ผศ. ศศิพัฒน์ ยอดเพชร และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ
แหล่งที่มาของงบประมาณ
งบประมาณในการดำเนินงานด้านสุขภาพผู้สูงอายุของเทศบาลนครรังสิต ส่วนใหญ่ใช้งบประมาณของเทศบาลเป็นหลัก นอกเหนือจากงบประมาณเทศบาล ยังมีงบประมาณจากเครือข่ายส่วนอื่นๆ เข้ามาสนับสนุนด้วย เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุบางส่วนมาจากการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ ในส่วนของโครงการนวัตกรรมดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงและการปรับสภาพบ้านของผู้ป่วยได้รับการสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ส่วนหนึ่งจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นอกจากยังมีงบบางส่วนจาก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และงบประมาณที่ได้รับจากการบริจาคจะนำไปซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานผู้สูงอายุ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์หรืออุปกรณ์ประกอบกิจกรรมของผู้สูงอายุ
ผลการดำเนินงาน/ความสำเร็จ
หลังจากที่กลุ่มผู้สูงอายุสำเร็จหลักสูตรจากโรงเรียนผู้สูงอายุแล้ว ทำให้พวกเขามีพัฒนาการทั้งทางด้านวิชาการ ความรู้ทั่วไป รวมไปถึงทักษะอื่น ๆ ในการดำเนินชีวิต มีสุขภาพกาย สุขภาพจิต และพฤติกรรมที่ดีขึ้นหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน แกนนำของชมรมหรือชุมชนมีภาวะผู้นำที่สามารถขับเคลื่อนโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง และพวกเขายังได้นำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่แก่บุตรหลานหรือคนในชุมชน พร้อมประยุกต์ความรู้ที่ได้รับในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข ส่งผลให้เกิดความร่วมมือและความสามัคคีในกลุ่มในการทำกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ เช่น การล้างห้องน้ำ การกวาดลานวัด การแยกขยะในชุมชน หรือการจัดเลี้ยงอาหารผู้พิการ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดจิตอาสาในผู้สูงอายุ ซึ่งบางคนได้ผันตัวเป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยติดบ้าน-ติดเตียง โดยผู้สูงอายุจิตอาสานั้นมีส่วนช่วยลดสถิติการร้องเรียนเรื่องการบริการที่ไม่มีประสิทธิภาพลง ลดความไม่เข้าใจ และลดปัญหากระทบกระทั่งระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ ถือได้ว่าเป็นสื่อกลางในการเชื่อมเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนผู้มาใช้บริการได้เป็นอย่างดี สามารถทำคุณประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมได้ จนกลายเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบ ที่มีคณะศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของเทศบาลนครรังสิตสามารถการันตีด้วยผลงานและรางวัลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น รางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี 2551 ระดับภาคกลาง รางวัลชมเชยเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน ขนาดใหญ่ ประจำปี 2552 โล่รางวัลต้นแบบด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว ประจำปี 2555 รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี 2556 นอกจากนี้ในปี 2559 ยังได้รับประกาศนียบัตรเพื่อแสดงว่าผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลนครรังสิตเป็นผู้นำการบริหารโรงเรียนผู้สูงอายุ และส่งเสริมการนำหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ จากพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ และยังได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี 2559 รางวัลที่ 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ประเภทโดดเด่น พร้อมใบประกาศนียบัตรและเงินรางวัลจำนวน 8 ล้านบาท จาก ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
ปัจจัยความสำเร็จ
- นโยบายคณะผู้บริหาร เทศบาลนครรังสิต คณะผู้บริหารเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ โดยการออกนโยบายเพื่อสนับสนุนงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ รวมถึงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและจัดโครงการต่าง ๆ เพื่อเอื้อต่อผู้สูงวัย
- งบประมาณสนับสนุนต่อเนื่อง เทศบาลนครรังสิตได้รับงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครรังสิตในการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนผู้สูงอายุดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เจ้าหน้าที่สำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีใจในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่มาใช้ทำกิจกรรมที่เทศบาลฯ จัดให้อย่างเต็มที่ และตรวจเยี่ยมผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงอย่างสม่ำเสมอ
- วิทยากรมีความสามารถในการถ่ายทอดวิชาความรู้ วิทยากรปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้และทักษะที่ได้รับการถ่ายทอด สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
- เครือข่ายภายในและภายนอก การมีเครือข่ายที่เข้มแข็งทำให้การประสานงานเพื่อการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปด้วยดี เพื่อผลประโยชน์สูงสุดแก่ผู้สูงอายุในเขตเทศบาลนครรังสิต
- การมีส่วนร่วมของชุมชน ชุมชนมีส่วนในการวางแผนยุทธศาสตร์ สร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม ผลักดันการให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุเพื่อสังคมที่ยั่งยืน
แผนการดำเนินงานด้านสุขภาวะในอนาคต
- พัฒนาโครงการ SOS โดยร่วมมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT Public Company Limited) เพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบสัญญาณที่ผู้สูงอายุสามารถปรึกษาและขอความรู้เกี่ยวอาการเจ็บป่วยหรือการดูแลสุขภาพทางไกลผ่านระบบ Video Conference ได้
- สร้างศูนย์บริการสาธารณสุขแห่งที่ 6 เพื่อครอบคลุมงานบริการทั้งหมด เช่น มีบริการ Day Care รับฝากผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่ไม่มีคนดูแลในช่วงกลางวันโดยมีอาสาสมัครเป็นผู้ดูแล มีศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์สำหรับผู้สูงอายุ มีห้องกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับชมรมผู้สูงอายุไว้ดำเนินกิจกรรม พื้นที่สำหรับเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาหลังเลิกเรียน เพื่อให้เอื้อและเชื่อมโยงคนทุกวัย
[1] กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครรังสิต, สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน (ออนไลน์), แหล่งที่มา: http://www.fundrangsit.com/index.php/main/content/, เข้าถึงเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2562.
[2] ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง (2560, ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statTDD/views/showDistrictData.php?rcode=13&statType=1&year=60, เข้าถึงเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2562.
[3] ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง (2560, ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://stat.dopa.go.th/stat/statnew/upstat_age_disp.php, เข้าถึงเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2562.
[4] สราวุธ กลิ่นกุสุม และ ศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ ช่างเรียน. ประชากรแฝงกับคุณภาพชีวิต กรณีศึกษา เทศบาลนครรังสิต. วารสารวิชาการบัณฑิตวิทยาลัยสวนดุสิต. 12,1. (มกราคม 2559): 85.
[5] Niphaporn Niamprayun, Rangsit City เมืองแห่งการเรียนรู้: Silicon Valley ของจังหวัด (ออนไลน์), 5 กุมภาพันธ์ 2562, แหล่งที่มา: http://meawniphaporn.blogspot.com/2018/03/rangsit-city-silicon-valley.html.
[6] ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง (2560, ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statTDD/views/showDistrictData.php?rcode=13&statType=1&year=60, เข้าถึงเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2562.
[7] องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้ให้นิยาม ผู้สูงอายุ หมายถึงประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปและได้แบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่
- ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ7 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
- ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ60ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
- ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged Society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่
• AUTHOR |
|
|
นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com |