Cities Reviews

หอศิลป์หนึ่งเดียวในนครตรัง ศิลปะกับสุนทรียศาสตร์ของเมือง

อภิชญา โออินทร์

 

 

 

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราได้พูดคุยกับ บุญชู ชูเอน เจ้าของ 3/2 Gallery หอศิลป์แห่งแรกและแห่งเดียวในนครตรัง เราเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการกล่าวถึงกรณี “ประติมากรรมสี่แยก” ซึ่งเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา คือการปรับปรุงพื้นที่หัวมุมตามสี่แยกใหญ่ ๆ สำหรับเป็นจุดพักและเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยติดตั้งประติมากรรมเกี่ยวกับวิถีชีวิตท้องถิ่นอยู่ด้วย เมื่อกระบวนสร้างพื้นที่สาธารณะของรัฐเป็นไปอย่างเร่งรัดและไม่สร้างการมีส่วนร่วม จนทำให้ผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับพลเมืองบางส่วน บ้างก็ว่า ประติมากรรมและภูมิทัศน์ใหม่ราคาหลายล้านนี้นอกจากจะไม่สวยงามเท่าที่ควรแล้วยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ไม่มีประโยชน์ บ้างก็ว่ารัฐน่าจะไปลงทุนกับสาธารณูปโภคที่เป็นเรื่องจำเป็นมากกว่า

บุญชูบอกว่าเหตุการณ์เช่นนี้ทำให้คนทั่วไปปฏิเสธงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ ทำให้คนไม่เห็นคุณค่าของสุนทรียศาสตร์ในเมือง ทั้ง ๆ ที่หากทำให้ดี สร้างการมีส่วนร่วมจากศิลปินท้องถิ่น และถามความคิดเห็นจากชุมชน เราก็สามารถทำให้ศิลปะในพื้นที่เหล่านั้นมีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตสาธารณะได้

 
ภาพจาก Facebook 3/2 Gallery
 
ภาพจาก Facebook 3/2 Gallery

 

 

3/2 Gallery เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 1 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 โดยได้เปิดนิทรรศการแรกให้คนเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา มีชุดงานศิลปะจากศิลปินในจังหวัดตรังและจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้เข้าคิวรอจัดแสดง ณ หอศิลป์แห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย มีผู้เข้าชมนิทรรศการศิลปะในแต่ละเดือนประมาณ 300–500 คน ในช่วงแรกของการดำเนินงาน หอศิลป์ไม่เก็บค่าใช้จ่ายจากทั้งศิลปินและผู้เข้าชม อาศัยรายได้จากร้านอาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน แต่มาในช่วงหลังหอศิลป์ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมาก จึงได้เริ่มเก็บค่าบำรุงสถานที่และค่าดำเนินการจากศิลปินที่นำงานมาจัดแสดง เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของหอศิลป์ให้สามารถดำเนินต่อไปได้ แต่ก็ยังไม่เก็บค่าเข้าชม

บุญชูยอมรับว่า กิจการหอศิลป์ที่เขาทำนี้ไม่ใช่ธุรกิจ แต่ถึงจะเป็นธุรกิจก็ไม่มีทางได้กำไรเป็นกอบเป็นกำเหมือนธุรกิจอื่น ๆ แม้ปัจจุบันนี้ยังไม่มีความมั่นคง แต่เขามีความตั้งใจและความฝันด้วยความชอบศิลปะเป็นการส่วนตัว ก่อนหน้านี้ตรังไม่มีพื้นที่แสดงงานศิลปะเลย หากมีก็เป็นกิจกรรมชั่วคราวตามห้างสรรพสินค้า ตามโรงแรม บุญชูเป็นสถาปนิก เมื่อ 20 ปีก่อนเขาจึงออกแบบและสร้างอาคารแห่งนี้ขึ้นมา ด้วยความตั้งใจอยากให้เป็นพื้นที่แสดงนิทรรศการศิลปะ แต่ความจำเป็นในการดำรงชีพทำให้เขายังไม่สามารถทำได้ในตอนนั้น ถ้าสังเกตลักษณะโดยทั่วไป อาคารนี้ไม่ใช้บ้านที่จะอยู่อาศัยได้ เพราะไม่มีห้องนอน มีแต่โถงโล่ง ๆ และผนังว่าง ๆ รวมถึงไฟส่องสว่างที่จัดวางไว้อย่างเฉพาะ แน่นอนว่านี่ถูกออกแบบมาตามวัตถุประสงค์การใช้งานสำหรับหอศิลป์ รอบอาคารเป็นสวนมีต้นไม้ประดับตกแต่ง ทั้งร่มรื่นและสบายตา อีกทั้งยังมีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่ง มีบาร์ด้านหน้าให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม เป็นบรรยากาศที่เหมาะแก่การชมผลงานศิลปะอย่างยิ่ง นอกจากนิทรรศการศิลปะหมุนเวียนรายเดือนแล้ว 3/2 Gallery ยังมีบทบาทในการจัด Trang International Art Fair ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 และจัดกิจกรรมในวันเด็กด้วย บุญชูบอกว่า เขาตั้งใจให้มีกิจกรรมของหอศิลป์เองปีละ 1–2 ครั้งเป็นอย่างน้อย เพราะเขาเชื่อว่า ศิลปะต้องมีบทบาทต่อสังคมในทางใดทางหนึ่ง

 

 
ภาพจาก Facebook 3/2 Gallery

 

เขาบอกว่า กำไรที่เขาจะได้คือการที่เขาได้ตื่นมาจิบกาแฟ นั่งดูงานศิลปะนิ่ง ๆ คนเดียว ซึ่งเป็นงานศิลปะที่มีคนนำมาให้ชมถึงบ้าน นี่ถือเป็นความชอบและความฝันส่วนตัว และกำไรของการได้เห็นผู้คนในนครตรังได้มีพื้นที่ในการซึมซับและเข้าใจสุนทรียศาสตร์ด้วย แต่ในอนาคตหอศิลป์แห่งนี้จะต้องมีความมั่นคงแข็งแรง ทั้งในการบริหารจัดการและงบประมาณ ปัจจุบันนี้ได้รับการสนับสนุนในบางกิจกรรมแต่ไม่ได้สนับสนุนในการดำเนินงานโดยทั่วไป หากมีการหนุนเสริมจากภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้มีความยั่งยืนมากขึ้น

 
ภาพจาก Facebook 3/2 Gallery

 

ในเรื่องความยั่งยืน บุญชูยังให้ข้อคิดเพิ่มเติมอีกว่า ตรังมีศิลปินจำนวนมาก มีการเรียนการสอนศิลปะระดับเด็กเล็กจำนวนมาก แต่ไม่ได้ต่อยอดเพราะไม่มีสถาบันในระดับอุดมศึกษาที่จะคอยรองรับความสนใจในศิลปะของเยาวชนเลย “การที่เราไม่มีสถาบันการศึกษาที่สอนศิลปะอาชีพ มันเหมือนเราไม่มีหลังให้พิง ไม่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้และต่อยอด” ทำให้การตระหนักในคุณค่าของศิลปะที่มีต่อเมืองไม่เติบโตเท่าที่ควร

เขายังเสนอว่า กลุ่มศิลปินควรจัดตั้งให้เป็นชมรม/สมาคม เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างกรณี 4 มุมเมือง ก็สามารถสื่อสารผ่านแถลงการณ์ในนามกลุ่มได้ เพื่อไม่ให้กรณีดังกล่าวทำให้คนปฏิเสธศิลปะโดยสิ้นเชิงแต่สร้างความเข้าใจว่า เมืองจำเป็นต้องมีความงามและสุนทรียศาสตร์และต้องอาศัยกระบวนการที่ดีกว่านี้เพื่อทำให้เหมาะสม ถ้าหน่วยงานมีงบและเห็นประโยชน์ในการสร้างเมืองให้สวยงาม มีคนที่เข้าใจความงามในหลากหลายมิติ ในนามองค์กรศิลปิน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของเทศบาลก็ได้ เทศบาลสามารถเรียกใช้งานได้ สามารถสนับสนุนทุนได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง

 

ขอบคุณภาพจาก Facebook 3/2 Gallery

 

 

• AUTHOR

 


อภิชญา โออินทร์

นักวิชาการอิสระ

เศรษฐศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาบัณฑิต Regional and Urban Planning Studies จาก LSE ประเทศอังกฤษ

Related Posts