Cities Reviews

แพร่ เมืองที่เปลี่ยนแปลงแบบเนิบช้า

ณัฐธิดา เย็นบำรุง

 

การศึกษาเมืองแพร่ เมืองเล็กๆ ในภาคเหนือ จากการแนะนำของคุณชัยพงษ์ สำเนียง นักวิจัยจากม. เชียงใหม่ ที่แนะนำเมืองแพร่ในฐานะเมืองที่เปลี่ยนแปลงช้า และอยากให้เราไปสัมผัสด้วยตนเอง ผู้เขียนก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็น คนแพร่เพราะเติบโตและเรียนชั้นประถมที่อำเภอสองก่อนมาเรียนที่กรุงเทพ ซึ่งก็ยังคงห่างไกลกับความเป็นเมืองในตัวอำเภอเมือง เคยเห็นและสัมผัสแค่ในตอนเด็กๆ ทั้งนี้ผู้เขียนขอสารภาพความในใจก่อนไปศึกษาดูงานแพร่ครั้งนี้ ว่า ไม่ได้ตื่นเต้นหรือสนใจอะไรมากมาย เพราะคิดว่าเป็นเมืองที่ตัวเองเห็นมาบ้างตั้งแต่เด็ก และคิดว่าเป็นเมืองที่ไม่มีอะไร  แต่เมื่อกลับมา มีบางอย่างที่แตกต่าง และทำให้ผู้เขียนมองแพร่เปลี่ยนไป

 

เมืองแพร่ เมืองแห่งล้านนาตะวันออก

 

ภาพ พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่คุ้มเจ้าหลวง

 

“แพร่” หนึ่งในจังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่ดูเหมือนจะเป็นเมืองทางผ่านเพื่อขึ้นไปยังเมืองท่องเที่ยว เมืองเศรษฐกิจอื่นๆ ของภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ น่าน ลำปาง เชียงราย เป็นต้น ซึ่งตลอดการรับรู้ของผู้เขียนที่ผ่านมาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันแพร่ไม่มีความหวือหวาเกี่ยวกับข่าว หรือการท่องเที่ยวมากนัก เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ของภาคเหนือ 

เมืองแพร่เมื่อศึกษาแล้วจะพบว่าเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ของเมืองมายาวนานร่วมกับเมืองต่างๆในภาคเหนือ ซึ่งทำให้สถาปัตยกรรม โบราณสถาน ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อต่างๆ ได้รับอิทธิพลความเป็นล้านนาผสมวัฒนธรรมพม่า และถ้าหากย้อนประวัติศาสตร์ คงต้องย้อนกันอีกมาก เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ร่วมกับเมืองอื่นๆ มาอย่างยาวนาน ซึ่งถ้ามองปัจจุบันทำให้เห็นได้ว่าเมืองแพร่ยังคงหลงเหลือความเป็นล้านนาไว้ให้คนเมืองแพร่ได้เคารพ ชื่นชม ไม่ว่าจะเป็น คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่  บ้านวงศ์บุรี คุ้มวิชัยราชา วัดพระบาทมิ่งเมือง วัดจอมสวรรค์ วัดพระธาตุช่อแฮ และอีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งก่อสร้างที่ตกผลึกมาแต่โบราณ แพร่จึงเป็นอีกหนึ่งเมือง ที่ยังคงมีกลิ่นอายเมืองของ "ความเป็นล้านนาตะวันออก" แต่ทั้งนี้ผู้เขียน ขอเจาะถึงรายละเอียดของ “วัดจอมสวรรค์” ที่ได้แวะชมและไถ่ถามจากชาวบ้าน มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2437 อายุกว่า 120 ปี สร้างจาก “ชาวเงี้ยว” ของพม่า ทำให้วัดนี้มีความงามโดยเป็นวัดที่ออกแบบตามศิลปะของพม่ามีองค์พระประธาน วัตถุโบราณอยู่มากมาย กรมศิลปากรเห็นความสำคัญจึงได้จดทะเบียน เป็นสมบัติของชาติ เมื่อปี 2433 เพื่ออนุรักษ์ต่อไป
 
                                                                      ภาพ วัดจอมสวรรค์                                           
 
 
 
 อันที่จริงเป็นเรื่องน่ายินดี เมื่อกรมศิลปากรเห็นความสำคัญของวัดจอมสวรรค์ และขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติ แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เมื่อผู้เขียนได้คุยกับชาวบ้าน เกี่ยวกับการทำพิธีทางศาสนาของชุมชน พบว่า วัดแห่งนี้ไม่ได้ถูกใช้ประกอบพิธีกรรมจากชุมชนมานานแล้ว หลังจากที่ถูกประกาศเป็นสมบัติชาติ เพราะการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติ วัดหรือโบราณสถานจะต้องรักษาเป็นอย่างดี และห้ามให้มีการ “จับต้อง” ทำให้ชาวบ้านเลยหันไปทำพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ที่ศาลาข้างๆ วัดจอมสวรรค์ ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั้งหมดของชุมชนแทน ข้อมูลเบื้องต้นนี้ค่อนข้างน่าสนใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์โบราณสถานของกรมศิลปากร ซึ่งใช้แนวคิดอนุรักษ์ไม่ให้มีการจับต้อง เพื่อรักษาสมบัติของชาติ ซึ่งทำให้วัดหรือโบราณสถานกลายเป็นเพียงแค่สถานที่ท่องเที่ยวให้คนมาชื่นชมความงามเพียงแค่นั้น แต่การอนุรักษ์เช่นนี้มันขาดวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทำให้วัดเป็นวัดที่ไม่ได้ใช่ประโยชน์ ไม่ถูกทำพิธีกรรม มีแต่ความงามของศิลปะ สถาปัตยกรรม แต่ขาด “ชีวิต” ขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน และขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของจากคนในชุมชน ซึ่งวันนี้จะทำให้คนในชุมชนมองวัดเป็นสมบัติของส่วนกลางไม่ใช่สมบัติของพวกเขาอีกต่อไป บางที การอนุรักษ์ของโบราณ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทบทวนแนวคิดการอนุรักษ์ใหม่ เพราะแต่เดิมวัดเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรม ตอบสนอง ความเชื่อ ความศรัทธาของคน แต่ปัจจุบันการอนุรักษ์เช่นนี้ ทำให้วัดเป็นเพียงแค่สถาปัตยกรรมที่ตอบสนองการท่องเที่ยวเพียงแค่นั้น
 
 

เมืองแพร่ เมืองแห่งการเปลี่ยนแปลงแบบเนิบช้า

 

นอกจากความเป็นเมืองแห่งล้านนาตะวันออก สิ่งที่ผู้เขียนอยากนำเสนอหลังจากศึกษาเมืองแพร่ คือ เมืองแพร่ ให้ความรู้สึกถึงข้อดีของ “การเป็นเมืองที่เปลี่ยนแปลงแบบเนิบช้า” อันที่จริงคำว่าเปลี่ยนแปลงแบบเนิบช้า ก็ดูจะเป็นคนที่เวอร์เกินจริงของการเปลี่ยนแปลงเมืองแพร่ไปหน่อย แต่ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านได้รู้สึกและเห็นภาพตามที่ผู้เขียนได้ รู้สึกว่าเมืองแพร่มีการเปลี่ยนแปลงแบบเนิบช้าอย่างไร

ตั้งแต่เด็ก แม้ผู้เขียนจะอาศัยอยู่ต่างอำเภอ แต่ก็มีโอกาสเข้ามายังในเมืองหลายครั้ง และได้บริโภคเที่ยวชม ค้างคืน ในตัวเมืองแพร่ จากวันนั้นมาถึงวันนี้คงจะ 20 ปีมาแล้ว ที่ได้กลับไปศึกษาเมือง ที่ไม่ใช่แค่แวะผ่านเหมือนเช่นทุกครั้ง ทำให้เห็นว่า เมืองแพร่ สิ่งที่เคยอยู่และเคยดำเนินก็ยังคงอยู่อยู่แบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ตึก ร้านค้าต่างๆ โรงเรียน ตลาด และที่ผู้เขียนอยากให้เห็นภาพมากขึ้น คือ “ตลาดโต้รุ่งประตูชัย” เป็นตลาดกลางคืนที่ร้านอาหารมาเปิดติดๆ กันหลายร้าน ซึ่งร้านอาหารเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ขายให้กับชาวเมืองได้มาบริโภคกัน ไม่ว่าจะเป็นเย็นตาโฟหรือลูกชิ้นลุงอ้วนของชื่อดังที่กินกันตั้งแต่เด็ก สิ่งที่เหล่านี้ก็ยังคงดูธรรมดาไปหากยังคงตั้งอยู่ แต่ที่น่าสนใจ ตำแหน่งแห่งที่ของร้าน การจัดโซน ยังคงเหมือนเดิมอยู่มาก  แม้จะมีร้านใหม่ๆ เกิดขึ้นมาบ้าง ที่สำคัญก็คือบรรยากาศของการบริโภคจับจ่ายใช้สอยของคนเมืองที่เกิดขึ้นยังให้ความรู้สึกเหมือนเดิม ยังคงมีการต่อคิวในร้านอาหารที่เค้าชื่นชอบ แสดงให้เห็นว่า ในตลาดกลางคืนคนแพร่ยังคงฝากท้องไว้ที่ตลาดโต้รุ่งประตูชัยจำนวนมาก เหมือนเช่นเคยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

                                                                ภาพ บริเวณตลาดประตูชัย

 

นอกจากนี้ ตามที่หลายคนน่าจะรู้เกี่ยวกับสินค้าเอกลักษณ์ของเมืองแพร่นั่นก็คือ “เสื้อหม้อห้อม” แพร่จะเป็นแหล่งผลิต และแหล่งจำหน่ายจำนวนมากที่ตำบลทุ่งโฮ้ง จำได้ว่าเมื่อก่อน ตำบลทุ่งโฮ้งจะขายเสื้อหม้อติดกันสองฝั่งถนนจำนวนมาก รวมกันก็น่าเกือบ 50 ร้านได้  20 ปีผ่านไป เชื่อไหมว่าร้านสองฝั่งข้างทางไม่ได้ลดน้อยลงเลย ทุ่งโฮ้งก็ยังคงเป็นแหล่งรวมเสื้อหม้อห้อม ที่ยังคงมีร้านขายอยู่จำนวนมาก จะมีความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง คือ แต่ละร้าน จะมี “ไอเดีย” หรือการออกแบบเสื้อหม้อฮ้อม  ให้ทันสมัยขึ้นตามแฟชั่นในปัจจุบันให้ดูไม่เก่าเพื่อให้เสื้อหม้ออยู่ในกระแสอยู่เสมอ ทีมงานได้เข้าไปยัง ร้านเสื้อหม้อห้อมของ “ป้าเหลือง”  ตามคำแนะนำของร้านอื่นๆ ว่าเป็นแหล่งย้อมผ้าหม้อห้อมตามธรรมชาติ ป้าเหลืองบอกกับทีมงานว่า ผลิตเสื้อหม้อห้อมมา 50 กว่าปีแล้ว และวันนี้ก็ยังมีการสั่งสินค้าเข้ามาอยู่จำนวนมาก ทั้งในและต่างประเทศ น่าสนใจที่วิธีการออกแบบของป้าเหลือง ที่ยังคงใช้วิธีการธรรมชาติ คือใช้แท่นแกะสลักลายจุ่มเทียน และประทับลงบนผ้า จากนั้นนำมาย้อมสีครามตามวิธีธรรมชาติที่เคยทำมาทำให้ผ้ามีลายหลากหลายรูปแบบ และไม่ซ้ำใคร ผลิตออกมาหลากหลาย ไม่ว่าจะผ้าพันคอ ผ้าปูโต๊ะ เสื้อ ผ้าบาติก แสดงให้เห็นว่าวิธีการทำเสื้อและลวดลายแบบธรรมชาติก็ยังคงอยู่ แม้ปัจจุบันเสื้อหม้อห้อมจะมีการผลิตจากโรงงานเป็นส่วนใหญ่แล้วก็ตาม

                                                                ภาพ หม้อห้อมย้อมสีครามธรรมชาติ

   
     

เมืองที่เปลี่ยนแปลงช้าเช่นเมืองแพร่นี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าจังหวัดแพร่เป็นจังหวัดทางผ่านที่จะเดินทางไปยังจังหวัดอื่น และไม่ได้มีแผนการโปรโมทด้านการท่องเที่ยวมากนัก ทำให้เมืองแพร่ไม่ได้เป็นที่รู้จักในด้านการท่องเที่ยว หากแต่จะรู้จักตามสถานที่สำคัญที่มีชื่อเสียง เช่น แพะเมืองผี พระธาตุช่อแฮ เป็นต้น ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวมักจะแวะเข้าชื่นชมสถานที่เหล่านี้ ก่อนไปจังหวัดอื่น ซึ่งการเข้ามาท่องเที่ยวบริโภคจำนวนมากในตัวเมืองยังมีน้อยกว่าจังหวัดอื่น จากการสำรวจ ห้องพัก ผู้เยี่ยมเยน และรายได้จากการท่องเที่ยวจำแนกเป็นรายจังหวัดในภาคเหนือตอนบน 9 จังหวัดในปี 2555 (ตารางที่ 1) พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่อยู่อันดับ 7 จาก 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และที่น่าสนใจคือ จังหวัดแพร่ เป็น 1 ใน 3 จังหวัดร่วมกับจังหวัดลำพูน พะเยา ที่มีนักทัศนาจรมากกว่านักท่องเที่ยว โดยนักทัศนาจรหมายถึง ผู้เยี่ยมเยียนโดยไม่พักค้างคืน แสดงให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดแพร่ยังน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือตอนบน อีกทั้งผู้ที่เข้ามาเที่ยวยังเป็นนักทัศนาจร ซึ่งอาจจะเยี่ยมชมจุดสำคัญต่างๆ มากกว่านักท่องเที่ยวที่ค้างคืน แสดงให้เห็นว่าจังหวัดแพร่อาจจะไม่ใช่จังหวัดที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมากนัก เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น

นักท่องเที่ยวน้อย เมืองมีชีวิต

 

การที่มีนักท่องเที่ยวไม่มากเหมือนจังหวัดอื่น เป็นส่วนหนึ่งในมุมมองของผู้เขียนว่า ทำให้เมืองมีการเปลี่ยนแปลงที่ช้า เพราะคนนอกเข้ามาน้อย อันที่จริงการท่องเที่ยวก็มีข้อดีอยู่มาก ทุกเมืองต้องการให้มีนักท่องเที่ยวมาเมืองของตนเอง เพราะมีการจับจ่าย กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจ สินค้าพื้นเมืองจะขายได้มาก มีภาคการลงทุน เกิดการจ้างงานมากมาย แต่ทั้งการมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในเมืองจำนวนมากก็มีข้อเสียอยู่มาก เช่น มีการก่ออาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น ค่าครองชีพในเมืองจะสูงมากขึ้น และการบริหารจัดการเมืองย่อมเป็นไปเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ไม่ว่าจะการจัดตำแหน่งแห่งที่ของร้านค้า การเพิ่มร้านค้า การลงทุนด้านที่พักอาศัย โรงแรม ห้องพัก หรือการลงทุนด้านต่างๆ เพื่อรองรับคนจำนวนมาก ซึ่งมีผลต่อการกว้านซื้อที่ดินของคนในท้องถิ่นจากนักลงทุนใหญ่ กลายเป็นคนนอกเข้ามาอยู่ในเมืองทั้งสิ้น ซึ่งก็ทำให้เมืองเริ่มเปลี่ยนโฉมไปเรื่อยๆ จนกลับมาอีกครั้งอาจจำไม่ได้ คล้ายกับเชียงใหม่ เป็นต้น

การที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในเมืองน้อย สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมืองแพร่กลายเป็นเมืองสำหรับคนแพร่จริงๆ และกลายเป็นเมืองที่มีชีวิต “ชีวิต” ในที่นี้หมายถึง ชีวิตของผู้คนในเมืองได้ดำเนินอย่างเป็นธรรมชาติ ตามวิถีชีวิตที่เคยมีมา มีพิธีกรรม มีความเชื่อ มีการบริโภคคล้ายเดิมอยู่มาก ร้านค้า ตำแหน่งที่ในเมืองยังคงมีความคล้ายเดิมอีกทั้งค่าครองชีพของเมืองแพร่ถูกกว่าค่าครองชีพในจังหวัดอื่น เพราะยังไม่ถูกกระตุ้นด้วยนักท่องเที่ยวเหมือนกับเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ ของไทยที่มีค่าครองชีพในเมืองสูงมาก เช่น พัทยา ภูเก็ต แม้กระทั่งเชียงใหม่ที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ ทำให้เมืองแพร่ เป็นเมืองที่มีเสน่ห์และเมือง เป็นเมืองของคนในเมืองจริงๆ ไม่ใช่เมืองที่มีแต่นักท่องเที่ยวมาจับจอง เดินเต็มไปหมดในเมือง

 

เมืองเปลี่ยนช้า แต่ใช่ว่าจะไม่ “เปลี่ยน”

 

ในมุมมองของผู้เขียนเห็น เมืองแพร่มีความเปลี่ยนแปลงช้ากว่าเมืองอื่นๆ ในแง่ของวิถีชีวิตของผู้คน ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา หรือการบริโภคในจังหวัดแพร่ ทุกอย่างยังคงดำเนินเป็นไปอย่างธรรมชาติ เนื่องจากยังคงเป็นเมืองทางผ่านสำหรับใครหลายๆ คน แม้มีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่สนใจเข้ามาเที่ยวพักผ่อนในเมืองบ้าง แต่เมืองแพร่ก็ยังไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ จึงทำให้วิถีชีวิตที่ว่านี้เปลี่ยนแปลงได้ช้า แม้เปลี่ยนช้า แต่ใช่ว่าจะ เปลี่ยน ซึ่งเป็นธรรมดาของการเปลี่ยนแปลงตามโลกาภิวัตน์ที่หมุนเปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองแพร่อยู่ไม่น้อย เช่น เมืองแพร่มีเที่ยวบินของนกแอร์ 1 เที่ยวต่อวัน จากที่ไม่เคยมี พร้อมมีการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น จากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ในเมืองแพร่มีแค่ห้างสรรพสินค้ามาร์คโฟร์ ปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่ห้างมาร์คโฟร์นี้เท่านั้น แต่ยังมีการลงทุนของโลตัส บิ๊กซี ที่เพิ่มเข้ามาให้ผู้คนในเมืองแพร่ได้บริโภคมากขึ้น

ปัจจุบันแพร่มีการลงทุนจากกลุ่มทุนภายนอกเข้ามาอยู่พอสมควร มีการเปิดตลาดใหม่ของกลุ่มทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของโกลบอลเฮ้าส์ในเครือเอสซีจี เปิดบริการสาขาที่ 21 ที่อำเภอสูงเม่น และโฮมโปรในเครือแลนด์ แอนด์เฮ้าท์ บริเวณถนนยันตรกิจโกศล ซึ่งได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว หรือแม้กระทั่งล่าสุดที่เครือเซนทรัล ได้ซื้อที่ดินประมาณ 50 ไร่ ที่ตำบลแม่หล่าย อำเภอเมือง เพื่อเตรียมก่อสร้างห้างสรรพสินค้าในอนาคต

การลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแพร่ยังไม่ได้มีกลุ่มทุนเข้าไปลงทุนมากนัก ซึ่งเป็นการเปิดตลาดใหม่ในจังหวัดแพร่ อีกทั้งการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 นี้ แพร่ซึ่งเป็นเมืองที่การเชื่อมต่อหลายจังหวัด เช่น น่าน ลำปาง เป็นทางผ่านเข้าสู่หลายจังหวัดในภาคเหนือ การลงทุนในเมืองแพร่จะสามารถเป็นเชื่อมเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย

การลงทุนเหล่านี้เป็นผลดีต่อจังหวัดแพร่อย่างแน่นอน เพราะเกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ มีการจ้างงานอย่างมหาศาล และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้แพร่มีการพัฒนา มีความเจริญ ประชากรมีรายได้ที่สูงขึ้นเหมือนกับเมืองอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกัน การลงทุนเหล่านี้เป็นไปตามระบบของทุนนิยมหรือการเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ มีเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกันให้โลกติดต่อกันง่ายมากยิ่ง การแพร่กระจายการบริโภค วัฒนธรรมการกิน การอยู่ ย่อมง่ายและคล้ายกันมากขึ้น เป็นผลพวงของทุนนิยมที่พยายามทำให้ทุกอย่างคล้ายเหมือนกันไปหมดทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เมืองแพร่จะต้องเผชิญอย่างแน่นอน

 

แม้ว่าแพร่ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงที่ช้ากว่าเมืองอื่น แต่นั่นเป็นเสน่ห์ของเมืองแพร่ที่ทำให้เมืองแพร่แตกต่างจากเมืองอื่นๆ มีประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ และมีตัวตนของตนเอง ทำให้เมืองเป็นเมืองที่มีการดำเนินชีวิตที่เกิดจาก “คนแพร่” เป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ขับเคลื่อนหรือมีการหมุนเวียนจากคนนอก เมืองจึงมีการพัฒนาไปตามธรรมชาติ แต่ทั้งนี้กระแสการลงทุน การเปิด AEC การส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมือง ซึ่งเกิดขึ้นเกือบทุกเมือง ย่อมทำให้เมืองแพร่ต้องไหลเข้าสู่กระแสทุนนิยมหรือการเป็นเมืองท่องเที่ยว ไม่ต่างจากเมืองอื่นๆ ซึ่งผู้นำ ผู้บริหารเมือง หรือภาคประชาสังคม อาจต้องขบคิดกันให้มากในการพัฒนาเมืองอย่างไรให้มีทิศทาง มีอัตลักษณ์ของตนเอง โดยให้เมืองแพร่ไม่เป็นเมืองที่มีความ mass หรือคล้ายกันไปหมดจนสูญเสียวิถีชีวิต ตัวตน ของตนเองได้

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

 

Related Posts