Cities Reviews

เมืองหลังสวน การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนแก้ไขวิกฤตโรงพยาบาล

 

ณัฐธิดา  เย็นบำรุง

 

 

ปัญหาสุขภาพหรือสุขภาวะคนเมือง มีมิติที่หลากหลาย ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรียนรู้ได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐมักมีบทบาทนำ และพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพเมืองด้วยวิธีคล้ายๆ กัน คล้ายกับการตัดเสื้อโหลใช้เหมือนกันทั้งประเทศ พร้อมมีตัวชี้วัดมากมายในการทำงานด้านสุขภาพ  แต่สิ่งเหล่านั้นไม่มีผลในเมืองหลังสวน จังหวัดชุมพร เมืองแห่งนี้ภาคประชาชนมีบทบาทนำและมีส่วนอย่างยิ่งในการดูแลส่งเสริมสุขภาพคนเมือง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤตโรงพยาบาลหลังสวนที่ขาดทุนอย่างรุนแรง ด้วยการระดมทุนกว่า 20 ล้านบาทและเป็นที่ปรึกษาหารายได้ให้กับโรงพยาบาล  เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินในโรงพยาบาล พร้อมนำไปพัฒนาให้โรงพยาบาลจนสามารถสร้างกลุ่ม business unit เช่น ทำห้องพิเศษ เปิดศูนย์ทันตกรรม เป็นต้น เพื่อให้โรงพยาบาลได้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย ซึ่งเงินจำนวนนี้ภาคประชาชนเป็นคนจัดหาและดูแลทั้งหมด เป็นการร่วมบริหารงานของภาคประชาชน เมืองหลังสวน ดั้งนั้น เมืองหลังสวนจึงเป็นอีก 1 กรณีศึกษาที่แสดงถึงความสำเร็จในการดูแลมิติสุขภาวะที่มีความสำคัญ (Essential Care) รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการรับรู้และสร้างการดูแลตนเอง (Self Care)  โดยข้อมูลทั้งหมดต่อจากนี้เราได้มาจากการสัมภาษณ์ คุณพงษ์ศักดิ์ ฉิ่งสุวรรณโรจน์ เจ้าของสวนนายดำ ผู้เป็นแกนนำภาคประชาชนของเมืองหลังสวน

 

แนวคิดการทำงานของภาคประชาชนหลังสวน

คุณพงษ์ศักดิ์ แกนนำภาคประชาชน มีหลักคิดที่สำคัญ 2 เรื่องในการทำงานด้านสุขภาวะเมือง คือ 1. ภาคประชาชนต้องดูแลเรื่องสุขภาพด้วยตนเอง และ 2. การทำงานที่ไร้กรอบ ไร้เกณฑ์ ไม่มีตัวชี้วัดแบบราชการ ต้องเน้นการคิดนอกกรอบ ซึ่งคุณพงษ์ศักดิ์ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การทำงานที่ไร้กรอบไม่ได้หมายความว่าไม่มีกรอบ แต่คือการออกมาอยู่นอกกรอบเพื่อมองกรอบ ไม่ใช่ว่าอยู่ในกรอบแล้วมองออกมาข้างนอก ซึ่งแตกต่างจากการทำงานของภาคราชการที่เน้นกรอบและตัวชี้วัดเป็นตัวตั้งมากเกินไป ทำให้ขับเคลื่อนงานสุขภาพได้ยาก อีกทั้งภาครัฐยังนำกรอบต่างๆ มากรอบภาคประชาชนด้วย ฉะนั้น แกนนำภาคประชาชนเมืองหลังสวนมองว่ากรอบหรือกล่องความคิด บางครั้งเป็นสิ่งที่อันตราย ทำให้ไม่สามารถคิดแตกต่างจากกรอบส่งผลให้ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์

 

จุดเริ่มต้นการทำงานของภาคประชาชนหลังสวน : การพัฒนาส้วมสาธารณะ

คุณพงษ์ศักดิ์ แกนนำภาคประชาชนหลังสวน มีจุดเริ่มต้นที่สนใจสุขภาวะมากขึ้นด้วยการเป็นแกนนำการพัฒนาเรื่องส้วมสาธารณะ เหตุที่สนใจเรื่องส้วมสาธารณะเนื่องจากเป็นเรื่องของสุขภาพที่มีความจำเป็น และใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด เป็นส่วนหนึ่งของสุขภาวะของคนเมืองที่ต้องใส่ใจอย่างยิ่ง ปัจจุบันส้วมสาธารณะเมืองไทย ยังไม่ถูกสุขลักษณะเป็นแหล่งที่ติดเชื้อโรคได้ง่าย ในขณะที่ช่วงปี 2549 ประเทศไทยมีส้วมสาธารณะที่ได้มาตรฐานเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงทำการศึกษาเรื่องราวของส้วมในรูปแบบต่างๆ และสร้างส้วมสาธารณะขึ้นในสวนของตัวเอง ใช้แนวคิดเรื่องส้วม คือ สะอาด เพียงพอ (ส้วมหนึ่งห้องสามารถรองรับได้ 40 คนต่อวัน ) ปลอดภัย  จนในปี 2549 ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนจังหวัดชุมพร ไปประกวดส้วมสาธารณะแห่งประเทศไทย และได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 1  ทำให้คุณพงษ์ศักดิ์ได้กลายเป็นทูตส้วมของประเทศ (Toilet Ambassador)  

เมื่อได้เป็นทูตส้วม จึงทำหน้าที่ช่วยกระทรวงสาธารณสุขรณรงค์เรื่องส้วมสาธารณะในทุกภาคของประเทศไทย เพื่อให้ทุกเมืองได้มีส้วมสาธารณะทีถูกสุขลักษณะ  พร้อมเปิดศูนย์การเรียนรู้เรื่องส้วมสาธารณะที่สวนนายดำ ตั้งชื่อว่า “สุดยอดส้วมแห่งปีระดับประเทศ”  พร้อมพัฒนาให้สวนของตัวเองได้กลายเป็นแหล่งส้วมสาธารณะขนาดใหญ่ ใช้เนื้อที่สร้างส้วมสาธารณะกว่า 15 ไร่ คุณพงษ์ศักดิ์ได้ขับเคลื่อนเรื่อง “ส้วม” มานานกว่า 15-16 ปี ใช้เวลาในการศึกษาเรื่องราวของส้วมตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงปัจจุบัน และนำมาถ่ายทอดสร้างส้วมในรูปแบบต่างๆ ภายในสวนนายดำให้คนทั่วไปได้ศึกษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทำให้ได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ และนักท่องเที่ยวเข้ามาศึกษาดูงาน เรียนรู้ และใช้บริการส้วมสาธารณะจำนวนมาก

ส้วมสาธารณะของคุณพงษ์ศักดิ์ได้รับการดูงาน และมีคนนำไปพัฒนาส้วมสาธารณะ ทำให้ชุมพรเป็นจังหวัดแรกของประเทศที่มีส้วมสาธารณะกระจายมากที่สุด ชุมพรเป็นจังหวัดที่ส้วมสาธารณะได้รางวัลสุดยอดส้วมแห่งปีจำนวนมาก บางปีประกวด 12 ที่ ชุมพรชนะรางวัล 7 รางวัล ไม่ว่าจะเป็น ส้วมวัดสุดยอดของประเทศ ส้วมโรงเรียนทั้งประถม มัธยมระดับประเทศ ส้วมโรงพยาบาลระดับประเทศ ส้วมสถานีอนามัยระดับประเทศ ส้วมสถานีรถไฟสุดยอดระดับประเทศ ทุกแห่งในชุมพรมีวิธีทำคล้ายกัน คือ เน้นสะอาด ง่าย และปลอดภัย

 

 

รวมทีมคลังสมองภาคประชาชน กลไกหลักแก้ปัญหาโรงพยาบาลหลังสวนขาดทุน

การทำงานของภาคประชาชนหลังสวนที่น่าสนใจอีก 1 เรื่องสำคัญ เกิดขึ้นในช่วงปี 2560 เมื่อโรงพยาบาลหลังสวนประสบปัญหาเป็นหนี้สะสมกว่า 85 ล้านบาท เรียกได้ว่าอยู่ในสถานะความเสี่ยงระดับ 7 การขาดทุนสะสมมาอยู่ตลอด ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลหลังสวนได้ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยหลังใหม่สูง 5 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารที่มาจากงบประมาณของภาครัฐ แต่ให้มาเพียงค่าก่อสร้างตึก แต่ขาดงบประมาณทางด้านครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ทั้งเตียงคนไข้ เครื่องปรับอากาศ เครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ต้องใช้งบประมาณห้องละประมาณ 300,000 บาท อีกทั้ง โรงพยาบาลหลังสวน ต้องรองรับผู้ป่วย ใน 3 อำเภอของ จ.ชุมพร รวมเกือบ 1 แสนคน ยิ่งตั้งอยู่ริมถนนเอเซีย 41 เส้นทางสำคัญระหว่างภาคใต้ ทำให้มีผู้ป่วยหนักตลอดเวลา นอกจากนี้ผู้รับเหมาทิ้งงานก่อสร้างนานกว่า 3 ปี ทำให้อาคารถูกทิ้งร้างไว้เช่นนั้น  โรงพยาบาลจึงเกิดปัญหาว่าทำอย่างไรกับตึกใหม่ที่ได้รับมา จะใช้ประโยชน์อย่างไรที่จะช่วยรักษาผู้ป่วย มิเช่นนั้นยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นและขาดทุนไปมากยิ่งขึ้น

13 คนภาคประชาชนรวมตัว

โรงพยาบาลหลังสวนปรึกษาคุณพงษ์ศักดิ์ ในฐานะแกนนำภาคประชาชนที่มีประสบการณ์ด้านการระดมทุนและบริหารงานทางธุรกิจ ทางโรงพยาบาลต้องการระดมทุนทอดผ้าป่าระดมทุนจำนวน 10 ล้าน เพื่อปรับปรุงภายในให้บริการได้ ทั้งนี้คุณพงษ์ศักดิ์มองว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากประชากรในอำเภอหลังสวนมีเพียง 4 หมื่นคน และโรงพยาบาลไม่ได้ลงเยี่ยมชุมชน ประชาชนไม่มีความผูกพันกับโรงพยาบาล การบริการของโรงพยาบาลที่ผ่านมาก็ยังไม่เป็นที่พึงพอใจ แต่สิ่งที่เป็นไปได้ คือ โรงพยาบาลหลังสวนต้องให้ประชาชนทั้งอำเภอเป็นเจ้าของโรงพยาบาล หากระดมทุนได้แล้วต้องให้ภาคประชาชนควบคุมและมีส่วนร่วมในการบริหารงานโรงพยาบาล เพราะเป็นเงินจากภาคประชาชน โดยที่โรงพยาบาลและส่วนราชการต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้จ่ายเงินดังกล่าว

คุณพงษ์ศักดิ์และเพื่อนนักธุรกิจในหลังสวนจำนวน 13 คน ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคราชการหรือภาคการเมือง ได้รวมตัวเป็นทีมงานเฉพาะกิจ เป็นกลุ่มระดมสมองคลังปัญญาภาคประชาชนหลังสวน ร่วมทำงานปรึกษาหาทางออกช่วยเหลือ ระดมทุน และพัฒนาโรงพยาบาลหลังสวน

กองทุนพระธรรมโกษาจารย์ กองทุนภาคประชาชนหลังสวน

นักธุรกิจ 13 คน ทีมงานคลังสมองภาคประชาชน ปรึกษาหารือร่วมกันในการระดมทุนจำนวน 10 ล้าน หลังจากปรึกษาหารือได้เพียง 1 วัน ทั้ง 13 คนสามารถระดมทุนได้จำนวน 10 ล้านบาททันที คำถามก็คือว่าคนเหล่านี้ทำได้อย่างไร นั่นเป็นเพราะทั้ง 13 คนเป็นนักธุรกิจใหญ่ของเมือง เป็นนักขาย และมีเครือข่ายทางธุรกิจจำนวนมาก ขายห้องพิเศษห้องละ 300,000 บาท มี 24 ห้อง ระดมทุนได้ครบทุกห้อง แต่ทั้งนี้เงินจำนวน 10 ล้านนี้เป็นเงินของภาคเอกชนในหลังสวนเท่านั้น ไม่ใช่เงินของประชาชนจริงๆ

กลุ่มคลังสมองได้นำเงินจำนวน 10 ล้าน ตั้งกองทุน “พระธรรมโกษาจารย์” ทอดผ้าป่าระดมทุนโรงพยาบาลซึ่งพระธรรมโกษาจารย์เป็นพระอาจารย์ที่ชาวหลังสวนนับถือเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และให้ชาวหลังสวนเป็นคณะกรรมการทั้งหมด ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของโรงพยาบาลได้แม้บริจาคเพียง 1 บาท จากนั้นได้ระดมทุนให้ชาวหลังสวนได้บริจาคเข้ามา ซึ่งใช้วิธีประชาสัมพันธ์ทางโปสเตอร์ ส่งข้อความทาง Line ทั่วทั้งจังหวัด ติดต่อกลุ่มสุขภาพหลายกลุ่มในเมือง เช่น กลุ่มวิ่ง กลุ่มปั่นจักรยาน กลุ่มออกกำลังกายแอโรบิค ดึงการมีส่วนร่วมจากคนสุขภาพดี คนกลุ่มนี้ถือกล่องบริจาคไปทุกที่ เปลี่ยนจากวิ่งในสนามกีฬาไปวิ่งตามตำบลต่างๆ  กลุ่มจักรยานปั่นไปตามหมู่บ้านต่างๆ พร้อมกล่องบริจาค เมื่อชาวบ้านเห็นหลายกลุ่มทำงานก็เริ่มบริจาคคนละเล็กละน้อย รวมถึงการได้เข้าไปตามชุมชนต่างๆ ทำให้เห็นปัญหาของผู้ป่วยตามหมู่บ้านด้วย ภายในระยะเวลา 2 เดือนก็สามารถระดมทุนได้อีก 10 ล้านบาทจากชาวหลังสวน นั่นหมายความว่าชาวหลังสวนทุกคนเป็นเจ้าของโรงพยาบาลร่วมกัน จากการะดมทุนทั้งหมดในหลังสวนได้เงินผ้าป่า 20 ล้านบาท เป็นแรงศรัทธาที่ทุกคนอยากให้โรงพยาบาลเสร็จสิ้น 100 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็น 10 ล้านบาทจากผู้มีฐานะในเมืองหลังสวน ส่วนอีก 10 ล้านบาท มาจากประชาชนทุกกลุ่มในจังหวัดชุมพร

 

 

การพัฒนาโรงพยาบาลหลังสวน : ซื้ออุปกรณ์การแพทย์และพัฒนา Business Unit

งบประมาณที่ได้จากการระดมทุนของภาคประชาชนที่นำมาพัฒนาโรงพยาบาลหลังสวน ภาคประชาชนจะคอยตรวจสอบการใช้จ่ายของโรงพยาบาล ไม่เน้นแทรกแซงแต่จะคอยตั้งคำถามเพื่อไม่ให้โรงพยาบาลใช้เงินซื้ออุปกรณ์อย่างฟุ่มเฟือย ต้องมีการประเมินว่าอุปกรณ์การแพทย์ที่ต้องซื้อนั้นสามารถนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลต้องการเงิน 2 ล้านไปซื้อเครื่องตรวจมะเร็งปากมดลูก ภาคประชาชนจะถามว่า หากตรวจเจอแล้วสามารถมีบุคลากรและวิธีการที่รักษาได้หรือไม่ หรือศูนย์ทันตกรรมต้องการซื้อเครื่อง X-ray 4 มิติ ภาคประชาชนจะถามว่า X-ray แล้วเจอปัญหาสามารถรักษาได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ก็ไม่สามารถอนุมัติให้ซื้อได้ แต่หากทำได้ก็สามารถซื้อได้ เป็นต้น 

การพัฒนาโรงพยาบาลหลังสวน แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. รูปแบบบริการประชาชนที่มีรายได้น้อย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลให้พร้อมต่อการบริการประชาชนที่ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายหรือจ่ายในจำนวนต่ำ มีงบประมาณสนับสนุน เช่น 1 ชั้น นอนไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยหลังคลอด 1 นอนไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยชาย 1 ชั้นนอนฟรีสำหรับผู้ป่วยหญิง

รูปแบบที่ 2 คือ การพัฒนาส่วนของธุรกิจโรงพยาบาล (Business Unit) ใช้แนวคิด “ให้เบ็ดตกปลา ไม่ใช่การหาปลา”และ “คนดีช่วยคนป่วย คนรวยช่วยคนจน”  ภาคประชาชนตั้งใจไม่ระดมทุนช่วยทุกปี โรงพยาบาลต้องอยู่ได้ด้วยตนเอง ทำให้เกิดพัฒนาส่วนธุรกิจขึ้น เพื่อหารายได้ให้กับโรงพยาบาลบริการสำหรับผู้ที่มีกำลังจ่าย เพื่อนำเงินส่วนดังกล่าวไปอุดหนุนบริการสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อย และแก้ไขปัญหาหนี้ของโรงพยาบาล

ในส่วนของการพัฒนาธุรกิจ ตึกดังกล่าว จะประกอบไปด้วยห้องพักผู้ป่วยพิเศษ มี 3 ระดับ ในราคา 1,500 / 2,000 / 3,500 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าเอกชน มีจำนวนกว่า 48 ห้อง  และเปิดศูนย์ทันตกรรม ที่มีขนาดใหญ่ ครบวงจร  ในเรื่องของการบริหารบุคคลกรทางการแพทย์ก็ต้องมีการจัดเวรกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลเท่านั้น อาจเป็นแพทย์ภาคเอกชน รวมถึงจ้างทันตแพทย์ที่จบใหม่ เพื่อไม่ต้องเปิดคลินิกแข่งขัน สลับหมุนเวียนกัน และปรับปรุงรีโนเวทตึกเก่าของโรงพยาบาลให้มีบริการที่ดีและทันสมัยมากขึ้น ขณะนี้ห้องพิเศษก็เปิดบริการไปบ้างแล้ว ทำให้โรงพยาบาลมีเงินไปซ่อมบำรุงส่วนต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

ในอนาคต ปี 2562 จะเปิดบริการศูนย์ไตเทียม มีอุปกรณ์ด้านไตเทียมครบติดตั้งเป็นของโรงพยาบาลเอง ไม่จำเป็นต้องเช่าอีกต่อไป เป็นอีกหนึ่งรายได้ให้กับโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างโรงอาหาร 5 ดาว ที่มีบริการอาหารหลากหลายและอาหารที่มีคุณภาพ อีกทั้งเปิดศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อเป็นรายได้ให้กับทางโรงพยาบาล ให้ประชาชนมีทางเลือกและได้รับประโยชน์จากการบริการมากขึ้น

ความเป็นไปได้ของการพัฒนาและปรับปรุงโรงพยาบาล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคลังสมองภาคประชาชนที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีอาชีพหลากหลาย ทั้งสถาปนิก นักบัญชี นักธุรกิจ วิศวกร ทำให้ต้นทุนในการสร้างและพัฒนาโรงพยาบาลเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีต้นทุนที่ต่ำกว่าปกติ

 

การทำงานส่งเสริมสุขภาพด้านอื่นๆ ของภาคประชาชนหลังสวน

ภาคประชาชนหลังสวนมองว่า ปัญหาหนี้โรงพยาบาลเป็นปัญหาระยะยาว และต้องแก้ตั้งแต่ต้นทาง สิ่งที่ดีที่สุด คือ การที่ประชาชนแข็งแรง ไม่ใช่บริการโรงพยาบาล ลดภาระโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายของประชาชน หลักสำคัญของการทำงานด้านสุขภาพของภาคประชาชนหลังสวน คือ “การทำงานป้องกันส่งเสริมมากกว่าการรักษา” นอกจากเหนือจากการช่วยโรงพยาบาลหลังสวนแล้ว การส่งเสริมด้านสุขภาพได้ทำอย่างหลากหลาย

- ด้านโภชนาการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน

ภาคประชาชนเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการโรงเรียนทั้งประถมและมัธยม เห็นความสำคัญด้านสุขภาพของนักเรียน คาดการณ์ว่าหากเด็กนักเรียนได้รับประทานอาหารที่ดีมีคุณภาพตั้งแต่เด็กติดต่อกันหลายปี จะช่วยให้ลดโรคที่เกิดจากพฤติกรรมได้ (NCD จึงสนใจโภชนาการอาหารที่นักเรียนได้รับในแต่ละมื้อ จัดทำโครงการโรงอาหาร 5 ด้าน ตัวอย่างโรงเรียนประถมนำร่องที่โรงเรียนชุมชนวัดขันเงิน โรงเรียนมัธยมนำร่องที่โรงเรียนสวนศรีวิทยา ร่วมกับคณะอาจารย์ นักเรียน และแม่ค้าในตลาดหลังสวน ในงบอาหารกลางวัน 20 บาทต่อมื้อที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล เปิดประมูลให้แม่ค้าแข่งขันนำเสนออาหารที่ดีทั้งในแง่ปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการทั้ง 5 หมู่ โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพอาหาร ลดหวานมันเค็ม ให้เป็นมาตรฐาน จาก สาธารณสุขอำเภอ นักสาธารณสุขเทศบาล นักโภชนาการโรงพยาบาล ผลที่เกิดขึ้น แม่ค้าในตลาดหลังสวนหลายเจ้าสามารถทำอาหารกลางวันที่เหมาะสมได้ในราคาเพียงแค่ชุดละ 16 บาทเท่านั้น มีทั้งหมดเกือบ 10 ร้าน ทำให้เด็กนักเรียนมีทางเลือกในอาหารกลางวันกว่า 40 รายการ โดยถือคูปองเลือกร้านที่ตัวเองอยากทานได้ ฉะนั้น หากร้านใดต้องการคูปองจากเด็กจำนวนมาก จะเป็นจุดบังคับให้ทำอาหารให้อร่อยและมีคุณภาพมากขึ้นด้วย

สำหรับอาหารกลางวันโรงเรียนประถมจะดำเนินการโดยคณะกรรมการสถานศึกษา แต่หากเป็นโรงเรียนมัธยม ให้สภานักเรียนเป็นตัวหลักในการดำเนินงาน ทั้งเลือกร้านและตรวจคุณภาพอาหาร 

- ด้านสิ่งแวดล้อม ลดขยะ zero waste ในโรงเรียน

ภาคประชาชนได้กระตุ้นและให้คำปรึกษาแก่โรงเรียนสวนศรีวิทยานำโดยสภานักเรียน โรงเรียนนำร่อง เพราะเชื่อว่าการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องให้ทุกคนช่วยกัน เริ่มได้ตัวเอง ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง กลุ่มสภานักเรียนจึงขับเคลื่อนงานลดขยะ zero waste ในโรงเรียน หลากหลายวิธีการ เช่น  แยกขวดน้ำออกจากขยะเพื่อนำขวดไปให้ประโยชน์ต่อ นำขวดน้ำเติมน้ำให้หลายครั้งมากขึ้น เศษอาหารนำไปเป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ยหมัก  ทำความสะอาดโรงเรียน เปลี่ยนทัศนคติเด็กนักเรียนเวลาเจอคนเก็บขยะให้มองว่ากำลังทำความดีมีจิตสำนึก มิใช่การถูกทำโทษ  และการทำหนังสั้นสะท้อนเรื่องสิ่งแวดล้อม เผยแพร่ให้คนมีจิตสำนึกมากขึ้น พร้อมการรณรงค์เรื่องการไม่ใช่ใฟมในโรงเรียน ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขหลังสวน กรมอนามัย เริ่มจากโรงเรียนและขยายผลสู่ชุมชนต่อไป

โรงเรียนสวนศรีวิทยา ได้รับทำรางวัล โรงเรียนปลอดโฟม 100 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2560 โรงเรียนสวนศรีวิทยาได้รับรางวัลชนะเลิศ โรงเรียนปลอดขยะ Zero Waste School ด้านการสร้างเครือข่ายโรงเรียนปลอดขยะ จากสำนักการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 8 โรงเรียน 8 ด้านโรงเรียนปลอดขยะ ในการประชุมปฎิบัติการการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการขยะในสถานศึกษาสู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน "โรงเรียนปลอดขยะสัญจร " ระดับภูมิภาค สนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่ปฏิบัติการ "ประเทศไทยไร้ขยะ" ปักธงรุก 2560 "Set Zero Waste School"

 

การวานแผนด้านสุขภาพเมืองในอนาคต

- เปลี่ยนวัดเป็นที่พักชั่วคราวผู้สูงอายุ

แผนงานในอนาคต ภาคประชาชนกำลังร่วมคิด คือ การนำพื้นที่วัดบางส่วนเปลี่ยนเป็นที่พักช่วงคราวให้ผู้สูงอายุ ถ้าให้ภาครัฐคิดมักสร้างโรงเรียนผู้สูงอายุ แต่ภาคประชาชนคิดว่าวัดควรจะเป็นที่อยู่ของผู้สูงอายุได้ เพราะวัดมีบรรยากาศที่ร่มรื่น มีพระ สงบ และวัดตั้งอยู่ในชุมชน คนรอบวัดรู้จักกัน ไม่เหมือนโรงเรียนผู้สูงอายุที่ทุกคนมาจากร้อยพ่อพันแม่ ยังไม่สนิทใจกันต้องมารวมตัวกัน ต่างกันกับวัดที่ผู้คนในชุมชนคุ้นเคยเป็นอย่างดี ผู้สูงอายุหรือญาติสามารถนำผู้สูงอายุอยู่ที่วัดชั่วคราวได้เพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมกัน อย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ให้ผู้สูงอายุได้มาอยู่รวมกัน ดูแลกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดความสบายใจทั้งผู้สูงอายุและลูกหลาน

 

ข้อเสนอของภาคประชาชนหลังสวนต่อภาครัฐในการดูแลสุขภาพคนเมือง

  1. ภาครัฐควรเป็นแค่พี่เลี้ยงภาคประชาชน ให้ความรู้ ให้แนวคิด ให้ข้อมูลที่ประชาชนควรรู้ และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้ามาดำเนินการดูแลจัดการเรื่องสุขภาพของตัวเองในพื้นที่
  2. ภาครัฐควรเข้าไปในพื้นที่และถามภาคประชาชนว่าต้องการทำอะไร ขับเคลื่อนสิ่งใด ไม่ควรใช้นโยบายที่คิดจากภาครัฐหรือกระทรวงแล้วใช้เหมือนกันทั่วประเทศ
  3. สำหรับภาคประชาชนบางพื้นที่ที่ไม่เข้มแข็ง ภาครัฐควรทำหน้าที่ส่งเสริมให้ภาคประชาชนเกิดการคิดให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยสอนแต่เน้นเอาโครงการมาให้ประชาชนทำ อีกทั้งยังตั้งเกณฑ์ ตัวชี้วัดมากมาย ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ชาวบ้านช่วยรัฐทำงาน ซึ่งไม่ใช่งานที่เขาชอบและอยากทำ
  4. ควรพัฒนาและต่อยอดจากศักยภาพของพื้นที่ ไม่ควรเริ่มเรื่องใหม่ทุกครั้ง เช่น พื้นที่หลังสวนเริ่มแก้ปัญหาเรื่องโฟมไปบางส่วน บางโรงเรียนแล้ว ก็ควรดำเนินการพัฒนาแก้ปัญหาเรื่องโฟมให้สำเร็จก่อนและขยายไปเรื่องพลาสติก ต่อยอดไปเรื่อยๆ ไม่ควรเริ่มเรื่องใหม่ตลอด

 

ระบบสุขภาพเมือง หากใช้เจ้าหน้าที่รัฐขับเคลื่อน จะกลายเป็นงานตั้งรับและใช้งบประมาณสูง สุดท้ายบุคลากรจะเหนื่อยและล้าไปในที่สุด  ช่วงที่ผ่านมาเป้าหมายสุดท้ายของภาครัฐคาดหวังว่าจะเกิดระบบสุขภาพที่ดูแลโดยภาคประชาชนเอง หรืออย่างน้อยที่สุดภาคประชาชนร่วมขับเคลื่อนไปกับภาครัฐ  ตัวอย่างที่หลังสวนสะท้อนให้เห็นชัดแล้วว่า  เมื่อภาคประชาชนได้มีโอกาสเข้ามาดูแลและแก้ปัญหาสุขภาพของตัวเองนั้นมีประสิทธิภาพที่ดี เพราะหลังสวนเป็นบ้านของพวกเขา ทั้งนักธุรกิจ ประชาชน มาร่วมช่วยกันโดยคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก โรงพยาบาลหลังสวน ครอบครัวของทุกคนต้องอยู่ที่นี่และรักษาที่แห่งนี้ เพราะฉะนั้น ความเต็มใจในร่วมมือจะมีสูงมาก คนในเมืองไม่ทอดทิ้งกัน คนมีรายได้มากช่วยเหลือคนมีรายได้น้อย และที่สำคัญปัญหาที่เราเคยเห็นว่าเป็นอุปสรรคมาก ในเรื่องงบประมาณ สามารถดำเนินการได้รวดเร็วมาก

คุณพงษ์ศักดิ์ เน้นย้ำทุกช่วงการพูดคุยว่า ประชาชนต้องดูแลปัญหาสุขภาพด้วยตัวเขาเอง เกณฑ์ตัวชี้วัดที่ดีที่สุด คือ การที่ทำให้ประชาชนพอใจ และมีส่วนร่วมของประชาชน สิ่งเหล่านี้คือความสำเร็จ ทั้งหมดนี้รัฐควรทำหน้าที่เป็นเพียงแค่พี่เลี้ยง มีหน้าที่เป็นแค่ผู้สนับสนุน อำนวยความสะดวก ปัญหาในเมือง ควรให้คนในเมืองนั้นแก้ไขเอง เพราะคนในเมืองจะรู้ดีที่สุดเขาต้องทำอะไร ทรัพยากรอยู่ไหนตรงไหน และดำเนินการอย่างไร และที่สำคัญ ประชาชนเองต้องไม่รอรัฐมาดูแลทุกอย่าง เพราะไม่ใช่หนทางที่นำไปสู่ความยั่งยืน ทุกอย่างต้องทำด้วยตนเอง เพราะเราคือเจ้าของเมือง เจ้าของพื้นที่นั่นเอง

 

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

Related Posts