Cities Reviews

ที่นี่เป็นเมืองคอมมิวนิสต์... ความคิดและการทำงานเมืองแห่งสวัสดิการของสมคิด เลิศเกียรติดำรง นายกเทศมนตรีเมืองหนองป่าครั่ง

 

 ณัฐธิดา เย็นบำรุง

 

          เขาว่าที่นี่เป็นเมืองคอมมิวนิสต์” …. คำกล่าวจากคุณสมคิด เลิศเกียรติดำรง  นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง เมืองที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไม่ไกลนัก นายกฯ สมคิด กับการเป็นผู้นำเมืองหนองป่าครั่งมากว่า 20 ปี  ผู้นำในการสร้างและพัฒนาเมืองหนองป่าครั่ง  ก้าวเข้าสู่เมืองในฝันที่มีสวัสดิการดูแลคนในเมืองตั้งแต่เกิดจนตาย ที่ใครๆ ต่างสนใจและอยากจะเยี่ยมเยียนเมืองแห่งนี้ ศูนย์ศึกษามหานครและเมืองได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณสมคิด ในฐานะผู้บริหารองค์กร ผู้บริหารเมือง ที่ฟูมฟักพัฒนาเมืองมาตั้งแต่แรก เห็นพัฒนา เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความสำเร็จของเมือง เราจะคุยถึง ความคิด วิธีคิด วิธีทำงานของการพัฒนาเมืองสวัสดิการครบวงจร รวมไปถึงบรรยากาศของเมือง และในฐานะผู้นำท้องถิ่น  มองบทบาทของท้องถิ่นในภาพใหญ่อย่างไรในการพัฒนาเมือง ลดความเหลื่อมล้ำ  จะพัฒนาท้องถิ่นอย่างไรให้เดินหน้า ก้าวข้ามอุปสรรคของตนเอง เพื่อพัฒนาเมืองของตนเองได้

 

ตำแหน่งและขนาดพื้นที่ เมืองหนองป่าครั่ง ในอำเภอเมืองเชียงใหม่[1]

 

 

เมืองหนองป่าครั่ง

 

 

          นายกฯ สมคิดเล่าให้ฟังว่า ตัวเองเป็นคนพื้นที่อื่น มาอยู่เมืองหนองป่าครั่ง ตั้งแต่เมืองหนองป่าครั่งยังเป็นมีสถานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อยู่มาตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นครั้งแรก เป็นผู้บริหารมาตั้งแต่นั้น จนปัจจุบันเมืองหนองป่าครั่งกลายเป็นเทศบาลตำบลแล้ว เมืองขนาดไม่ใหญ่มาก มีประชากรในทะเบียนบ้านทั้งตำบลประมาณ 7,000 คน  แต่มีประชากรแฝงจำนวนมาก เพราะเมืองหนองป่าครั่งเป็นพื้นที่ชานเมือง ไม่มีเกษตรกรรม พื้นที่ได้รับการขยายตัวจากเมืองเชียงใหม่ มีหอพัก บ้านเช่า กลายเป็นเมืองที่มีความเจริญ

          ในอดีต เมืองหนองป่าครั่ง เป็นชนบท ในสมัยนั้นโครงสร้างพื้นฐานไม่ดี แทบไม่มีไฟฟ้า น้ำประปาไม่พอใช้  ผู้คนประกอบอาชีพหลากหลายทั้งเกษตรกรรม รับจ้าง ข้าราชการ ค้าขายทำเชิงพาณิชย์  สภาพสังคมสมัยนั้นของหนองป่าครั่ง ผู้คนแบ่งออกเป็น 4-5 กลุ่ม  ทะเลาะกันทุกครั้งที่จัดงานใหญ่ของเมือง เช่น งานเล่นกีฬาหมู่บ้าน งานดนตรี เป็นต้น ซึ่งถ้าสังคมอยู่แบบนี้ ไม่มีความสามัคคี ไม่มีทางที่จะเดินไปข้างหน้าได้

          ไม่เพียงแค่นั้น ปัญหาสำคัญของเมืองหนองป่าครั้ง คือ ความเหลื่อมล้ำ  คนที่เข้าถึงบริการเข้าถึงระบบก็เข้าถึงตลอด ส่วนคนเข้าไม่ถึงก็เข้าไม่ถึง คนที่ฐานะยากจนเข้าถึงทรัพยากรและบริการต่างๆ ได้ยากมาก คนทุกข์คนยากคนเหล่านี้ไม่ได้ความสำคัญกับชีวิตเท่าไหร่ วันๆ อยู่รอดก็ถือว่าดีแล้ว และไม่มีความรู้และไม่กล้า  เป็นปัญหาที่คิดว่าต้องจัดการเป็นอันดับแรก

 

 

คุณสมคิด เลิศเกียรติดำรง[2]

 

แนวคิดการพัฒนาเมืองหนองป่าครั่ง

          ก่อนเป็นนายกเทศมนตรี ก่อนลงการเลือกตั้ง นายกสมคิดฯ มีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้พึ่งพาการเมือง และทำงานตอบแทนนักการเมือง ตั้งเงื่อนไขก่อนลงการเลือกตั้ง 3 ข้อ  1. ห้ามซื้อเสียง 2.ห้ามคอรัปชั่น 3. สิ่งที่ประกาศเป็นนโยบายต้องดำเนินการต่อให้ได้ ประกาศแล้วต้องทำให้ได้ นโยบายที่ประกาศต้องเชื่อว่ามันทำได้ ต้องหาเงินมาทำ ถึงจะต้องเกิดผลดีกับประชาชน

          หลังได้รับการเลือกเป็นผู้นำท้องถิ่น จึงมุ่งหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ วางแนวทางการพัฒนา เป็นหน้าที่ท้องถิ่นต้องรับผิดชอบความเหลื่อมล้ำ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นท้องถิ่นยังเป็นเพียงแค่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยใช้แนวทางของสมเด็จย่าฯ ที่บอกว่าคนต้องไม่เจ็บ ไม่จน ต้องแก้ความไม่รู้ นายกฯ สมคิด วางหลักการกับข้าราชการผู้ปฏิบัติงาน ถ้าจะเข้ามาทำงานที่นี่ ทุกคนต้องทำงานเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ  เพื่อให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ยึดถือแนวทางการบริหารจัดการโดยการยึดถือให้เกิดความยุติธรรม และเท่าเทียมกัน 

          ความเท่าเทียม 3 ด้าน 1.  ด้านการทำมาหากินในพื้นที่ ต้องให้ความเป็นธรรม ต้องทำให้คนเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสให้ได้ 2. ทุกคนจะต้องได้รับการดูแลอย่างดี 3. พัฒนาด้านการศึกษาสิ่งที่สำคัญ คือ การพัฒนาคน ต้องแก้เรื่องคนก่อนเรื่องอื่นๆ มากกว่าการพัฒนาทางกายภาพ สาธารณูปโภค แม้ว่าจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ได้สำคัญไปกว่าการพัฒนาคน เทศบาลตำบลหนองป่าครั่งจึงเน้นการทุ่มงบประมาณและการพัฒนาเรื่องของ “คน” มากกว่าทุ่มเทให้กับสาธารณูปโภค ทำให้ถนนหนทางและภูมิทัศน์ของเมืองหนองป่าครั่งค่อนข้างธรรมดา ไม่ได้ใหญ่หรือพิเศษอะไรมากมาย  ด้วยแนวคิดและแนวทางเช่นนี้ ทำให้สุดท้ายเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “สวัสดิการ”

 

 

โรงพยาบาลเทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง[3]

 

การพัฒนาสวัสดิการเมืองหนองป่าครั่ง

          ในช่วงเริ่มต้นการทำงาน มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต” จากจิตอาสาที่มีฐานะที่ดี และมีใจอยากพัฒนาสังคม  ในช่วงแรกความชัดเจนด้านกฎหมาย ด้านระเบียบต่างๆ ยังไม่ ชัดเจน ไม่มีระเบียบกำหนดหน้าที่การทำงาน คณะทำงานจึงใช้วิธีเทียบเคียงกฎหมายเท่าที่มี อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะไม่เอื้ออำนวยข้าราชการให้ทำงาน แต่ต้องมุ่งหน้าทำงาน 

          ลงพื้นที่เยี่ยมทุกบ้าน สมัยที่ยังเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล  มีเจ้าหน้าที่ไม่กี่คน เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหน้าที่ชัดเจนเท่าไหร่ เราจัดประชุมร่วมกับชาวบ้าน และเน้นการลงพื้นที่อย่างเดียว เพื่อลงไปหาปัญหาของชาวบ้านเป็นเวลา 5-6 เดือน ไม่ทำอย่างอื่นนอกจากลงพื้นที่ ข้าราชการไปทำความรู้จักชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้รู้จักข้าราชการทีมงานท้องถิ่น ให้เห็นว่าท้องถิ่นตั้งใจช่วยพวกเขาจริง ต้องรู้จักชาวบ้านทุกคน ทุกหลัง  เก็บข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เพื่อรายงานผู้บริหาร  จนได้แผนที่ข้อมูลที่ชี้ได้ว่าบ้านแต่ละหลังมีปัญหาอย่างไร  ข้าราชการลงพื้นที่ไปกับ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) หากครัวเรือนใดเดือดร้อนหนัก เร่งด่วน ต้องรีบแจ้งผู้บริหาร หลายกรณีต้องช่วยเหลือทันที เนื่องจากลำบากมาก

          เมื่อข้าราชการเมื่อลงพื้นที่แล้ว เขาก็มานำเสนอข้อมูลและคิดแนวทางช่วยเหลือด้วย เช่น คิดเรื่องเบี้ยยังชีพ  เมืองหนองป่าครั่งคิดและทำเรื่องเบี้ยยังชัพมาก่อนที่รัฐบาลจะให้ด้วย ทั้งคนชรา และคนพิการ คนเหล่านี้ไม่รู้สิทธิ์ และสวัสดิการที่เขาควรจะได้  จึงต้องให้เจ้าหน้าที่กฎหมายไปแจ้งสิทธิ์ ตรวจสอบเรื่องที่เขาควรจะรู้ เช่น หากใครยังไม่มีบัตรพิการ ต้องทำให้เขา หากเขาทำเองไม่ได้ ท้องถิ่นต้องทำให้เขา เมื่อศึกษาความเป็นอยู่ของประชาชนในเมืองแล้ว จึงสามารถวางระบบและสวัสดิการให้ประชาชน อันที่จริงสวัสดิการที่จัดให้ประชาชนมีจำนวนมาก แต่จะกล่าวถึงบางสวัสดิการ  คือ

          การแก้ไขสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เมืองหนองป่าครั่งมีปัญหาเรื่องน้ำไม่พอใช้ จึงแก้ปัญหาด้วยการขุดประปาน้ำบาดาล ให้ดื่มได้ และพัฒนาต่อยอดให้ชาวบ้านทำน้ำดื่มเอง เป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตน้ำดื่ม ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตน้ำดื่มเช่าสถานที่เทศบาลฯ ในการผลิต จำหน่ายแข่งขันกับบริษัทเอกชนน้ำดื่มหลายยี่ห้อ สนับสนุนให้มีการแข่งขันเสรี ไม่ได้ปิดกั้นหรือผูกขาดแต่อย่างไร ขึ้นอยู่กับคุณภาพและความต้องการของผู้ซื้อที่จะเลือกซื้อเอง

          ศูนย์เจริญวัยและศูนย์เด็กเล็ก  เมืองหนองป่าครั่งรับการถ่ายโอนศูนย์เด็กเล็ก จากกรมพัฒนาชุมชน เป็นที่แรกของประเทศไทย ในพ.ศ. 2543 ซึ่งนายกฯ สมคิด ดำรงตำแหน่งผู้นำ พ.ศ. 2542  เมืองหนองป่าครั่งขอรับโอนเพื่อมาดูแลด้วยตนเองตั้งแต่แรกที่เข้ามาทำงาน ทำเป็นศูนย์เจริญวัย คือ รับดูแลเด็กแรกเกิดตั้งแต่  2 เดือน จนถึงอายุ 2 ขวบ หลังจากนั้นก็ส่งต่อให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่พัฒนาและดูแลเด็กอายุ 2 ขวบ จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3

          การสร้างโรงพยาบาลเป็นของตนเอง  ในอดีตเมืองหนองป่าครั่งไม่ต่างจากเมืองอื่นๆ มีเพียงแค่สถานีอนามัยในการรักษาพยาบาล  แต่สถานีอนามัยไม่เอื้ออำนวยในการรักษาเท่าที่ควร จึงคิดว่าเมืองควรมีโรงพยาบาลขนาดเล็กของตัวเองในการวินิจฉัยและรักษาในเบื้องต้นได้  หากเจ็บป่วยระยะต้นควรรีบรักษาและสามารถเข้าถึงแพทย์ได้ทัน หากปล่อยไว้จะยิ่งรักษายาก ยิ่งราคาแพง เป็นค่าใช้จ่ายทางสังคมที่เกิดขึ้น  

          ในช่วงแรก เทศบาลฯ ประสานงานร่วมกับสถานีอนามัย ให้ช่วยดูแลประชาชน  และให้เปิดภาคกลางคืน ขยายเวลาในการเปิดการบริการ เพราะว่าคนส่วนใหญ่ไปทำงานกลางวัน  จึงทำการเปิดช่วงกลางคืน เวลา 17.00 – 19.00 น. ให้ทุกคนมารักษาได้หมด ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีค่าหมอ ชาวบ้านมีค่าใช้จ่ายแค่ค่ายาเท่านั้น โดยที่เทศบาลฯ จ่ายค่าโอทีของบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข

          เมื่อสถานีอนามัยเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) การทำงานร่วมกับเทศบาลฯ เป็นไปได้ลำบากมากขึ้น ทั้งความเข้าใจและวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน  เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องการรักษาสุขภาพได้ เมืองหนองป่าครั่งดำเนินการสร้างโรงพยาบาลเป็นของท้องถิ่นเอง เทศบาลฯ สร้างโรงพยาบาลขึ้นมาใหม่ เพื่อให้บริการกับประชาชนไปพร้อมกับ รพ.สต.ของภาครัฐ

          ในช่วงเริ่มต้น เทศบาลฯ ไม่ได้คิดเรื่องงบประมาณเลยว่าจะมีเงินเพียงพอหรือไม่ จึงสร้างกองทุนแพทย์ กองทุนยาขึ้นมาก่อน ให้ชาวบ้านช่วยกันบริจาคเงิน ตั้งกองทุนแบบนอกระบบ ที่ใช้จิตอาสา ดำเนินการร่วมกับวัดในเมือง  ให้คนรวยมาบริจาคช่วยคนจน และรับบริการร่วมกัน กองทุนนี้เป็นงบประมาณที่จะช่วยในการสร้างโรงพยาบาลเมืองหนองป่าครั่ง  จนปัจจุบัน กองทุนนี้ก็ยังอยู่เหมือนเดิม เจ้าอาวาสก็ยังต้องเซ็นร่วมกับเทศบาลฯ

          เทศบาลฯ ดำเนินการขอเปิดโรงพยาบาลเป็นของตนเอง ในชื่อ โรงพยาบาลเทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง เปิดตำแหน่งแพทย์มาประจำ 1 ตำแหน่ง ทันตแพทย์ 1 ตำแหน่ง เภสัชกร 1 ตำแหน่ง ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ขึ้นตรงกับท้องถิ่น ดูแลเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการของบุคลากร และประสานโรงพยาบาลในเมืองเชียงใหม่เพื่อส่งต่อผู้ป่วย และที่สำคัญการเบิกจ่ายบัตรทอง จัดการให้สามารถเบิกจ่ายที่โรงพยาบาลได้เลย ตามงบประมาณบัตรทอง 3,600 บาทต่อประชากร ซึ่งเบิกได้เหมือนโรงพยาบาลของรัฐอื่นๆ เช่นเดียวกับกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เฉลี่ยหัวละ 5,000 บาท หากท้องถิ่นไม่ดำเนินงาน งบประมาณดังกล่าวก็ขึ้นกับโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อมีโรงพยาบาลทางท้องถิ่นเองก็สามารถนำงบประมาณดังกล่าวมาดำเนินโครงการดูแลสุขภาพประชาชนได้ทั้งหมด ให้ชาวบ้านสามารถได้รับประโยชน์จากงบประมาณของส่วนกลางได้อย่างเต็มที่

          โรงพยาบาลเทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง ถือเป็นโรงพยาบาลเต็มรูปแบบที่สร้างโดยท้องถิ่นแห่งแรกของประเทศไทย ไม่มีใครกล้าทำ โดยที่เป็นโรงพยาบาลที่เปิดไปพร้อมกับ รพ.สต.ของภาครัฐ ให้ทางเลือกแก่ชาวบ้านในการจะเลือกรักษาพยาบาล คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าโรงพยาบาลแห่งนี้เป็น รพ.สต. ที่ยกระดับเป็นโรงพยาบาลของท้องถิ่น แม้กระทั่งชาวบ้านเองยังเข้าใจผิด ในอนาคตจะมีการโอนย้าย รพ.สต. ให้กับทางเทศบาลตำบลหนองป่าครั้ง ดูแลทั้งโรงพยาบาลและบุคลากรด้วย

          โรงพยาบาลแห่งนี้มีบริการรถฉุกเฉินรับถึงบ้าน ผ่าตัดเล็กได้ และมีบริการรับทำคลอด  โดยสามารถเบิกจ่ายบัตรทองที่โรงพยาบาลได้ อีกทั้งมีโรงพยาบาลรองรับสำหรับการส่งต่อถึง 6 โรงพยาบาลทั่วเชียงใหม่ การมีโรงพยาบาลเป็นของตนเอง ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางสะดวก รักษาได้รวดเร็ว โรคเจ็บเล็กๆ น้อยๆ หายเร็ว โรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันดีขึ้น คนไข้ติดเตียง เสียชีวิตช้าลง

          จัดรถรับส่งนักเรียน  ในแต่ละวันคนในเมืองหนองป่าครั้งที่มีอาชีพขับรถสองแถวในเมืองเชียงใหม่ ต้องเข้าเมืองทุกวัน ทางเทศบาลฯ จึงดำเนินการให้ช่วงเช้าให้คนขับรถสองแถวนำเด็กนักเรียนไปด้วย เย็นก็รับกลับมา โดยที่เทศบาลสนับสนุนค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการจัดการที่ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย คนขับได้รายได้เพิ่ม เด็กมีความปลอดภัย ลดค่าใช้จ่าย อีกทั้งครอบครัวสบายใจ ควบคุมเด็กๆ ไปในตัว ไม่สามารถเกเรได้ เนื่องจากจะไม่มีรถกลับ นอกจากนี้ การจัดรถรับส่งนักเรียนยังช่วยเรื่องการลดการใช้พลังงานในเมืองด้วย หากไม่มีรถรับส่ง ครอบครัว 100 ครอบครัว ต้องขับรถออกไปส่งบุตรหลาน ต้องใช้รถ 100 คัน แต่เมื่อมีรถรับส่งพบว่า ใช้รถยนต์เพียงแค่ 7 คันเท่านั้น อีกทั้ง ผู้ปกครองไม่เสียเวลาทำมาหากิน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วมหาศาล

          เรื่องสิ่งแวดล้อม เมืองหนองป่าครั่งได้รับเกียรติบัตรตามเกณฑ์มาตรฐานสิ่งแวดล้อมเทศบาลมากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ มีกิจกรรมหรือการสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านใช้ถุงผ้ามากขึ้น ให้เหมาะสมกับความต้องการของคน เช่น หากใครใช้ถุงผ้าในการจับจ่ายตลาดทุกวันจันทร์ ให้สามารถมารับต้นกล้าต่างๆ เช่น ต้นกระเพรา ต้นกล้ามะม่วง เป็นต้น ทำให้เกิดกระแสการใช้ถุงผ้าในเมืองได้ดีมาก เพราะชาวบ้านชอบของรางวัลที่ใช้ประโยชน์ได้

………………………………..

          การพัฒนาบริการและสวัสดิการ ไม่ได้ทำโดยท้องถิ่นเท่านั้น เราพยายามกระจายอำนาจให้ประชาชนเข้ามาร่วมจัดการ ร่วมบริหารและร่วมเป็นเจ้าของ เนื่องจากหลายเรื่องประชาชนสามารถจัดการเองได้ และไม่ใช่ภาระของท้องถิ่น โดยที่ท้องถิ่นเป็นเพียงพี่เลี้ยงเท่านั้น เช่น เรื่องของโรคพิษสุนัขบ้า ในระเบียบไม่ใช่หน้าที่ของท้องถิ่น สนับสนุนให้เกิดกองทุนดูแลสัตว์เลี้ยง ให้ชาวบ้านบริจาคกันเอง มีการจัดประชุม มีจิตอาสาตั้งเป็นคณะกรรมการ ประสานให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์มาฉีดยาสัตว์เลี้ยง เข็มละ 20 บาท เป็นการบริหารจัดการเองของชาวบ้าน เช่นเดียวกับเรื่องการกีฬา ท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณสร้างสนามฟุตบอล สร้างฟิตเนต เมื่อสร้างเสร็จแล้วชาวบ้านต้องบริหารจัดการกันเอง การซ่อมแซมและการดูแลต้องจัดการด้วยตนเอง เพราะโครงสร้างกายภาพด้านกีฬา เป็นการสร้างเพื่อตอบสนองคนแค่บางกลุ่มที่เล่นกีฬาเท่านั้น ฉะนั้น  แต่ละกลุ่มต้องดูแลของตนเอง หากให้ท้องถิ่นดูแล งบประมาณเท่าไหร่ก็คงไม่สามารถบำรุงรักษาได้

          วันนี้เมืองหนองป่าครั่ง มีบริการหรือที่เรียกว่าสวัสดิการดูแลประชาชนค่อนข้างครอบคลุม ทุกวัย และครอบคลุมหลายด้าน ในอนาคต สิ่งที่อยากพัฒนาเพิ่มเติม คือ การพัฒนาด้านความมั่นคงทางอาหาร หนองป่าครั่งเป็นพื้นที่เมือง พื้นที่เกษตรกรรมมีน้อย ขาดการพึ่งตนเองในอาหาร ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก จึงมีแผนพัฒนาการผลิตอาหารของตนเอง ให้แต่ละบ้านปลูกหรือผลิตวัตถุดิบอาหารที่ตนเองถนัด เช่น บ้านนี้เลี้ยงไก่ บ้านนี้เลี้ยงหมู บ้านนี้ปลูกผักต่างๆ จากนั้นนำวัตถุดิบมาแลกเปลี่ยนกัน   

 

ศูนย์เจริญวัย เทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง[4]

 

 

ฉัดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในเมืองหนองป่าครั่ง[5]

 

หัวใจของการพัฒนาเมืองแห่งสวัสดิการหนองป่าครั่ง

          เมืองหนองป่าครั่งในวันนี้ เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ ความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง ผู้คนเข้าถึงบริการมากขึ้น อะไรเป็นหัวใจของการพัฒนาเมืองสวัสดิการหนองป่าครั่ง

          ผู้นำ นายกฯ สมคิดมองว่าตัวเองเป็นนายกสาธารณะ ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยลงพื้นที่ แต่ชาวบ้านจะเข้ามาหา และทำตัวเป็นพวกเดียวกับชาวบ้าน ให้เขารู้สึกอยากพึ่งท้องถิ่น สั่งท้องถิ่นได้  ทำงานเป็นลูกจ้างของชาวบ้าน ให้ชาวบ้านติดต่อนายกฯ ได้ง่าย แค่โทรเข้ามา เบอร์ส่วนตัวเป็นเหมือนเบอร์สาธารณะ โทรมาได้ตลอด  ยิ่งทำงานเชิงรุก ท้องถิ่นพึ่งได้ ชาวบ้านจะวิ่งมหาเราเอง

          ผู้ปฏิบัติงาน นายกฯสมคิด มองว่าข้าราชการประจำที่เมืองหนองป่าครั่งตั้งใจทำงาน เสียสละ และมีความสามารถ มีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจ ช่วยกันทำงาน สามารถลงพื้นที่เข้าถึงชาวบ้านได้จำนวนมาก ทำให้รู้จักประชาชนทุกคน รู้จักได้มากกว่าที่อื่นๆ  เข้าถึงทุกบ้าน ทั้งนี้เมืองมีข้าราชการดี  และมีข้าราชการที่ไม่ดีเหมือนกัน ดังนั้น ต้องมีวิธีคิดนำประชาชนเป็นฐาน  เมื่อไหร่ที่ข้าราชการกลัวประชาชนเมื่อไหร่ ข้าราชการก็ต้องอยู่ในกรอบ ข้าราชการเป็นคนของประชาชน ทำงานเพื่อประชาชน ข้าราชการไม่ได้ทำงานให้ผู้บริหาร ผู้บริหารเป็นเพียงให้กำกับให้ข้าราชการทำตามยุทธศาสตร์เท่านั้น

          ประชาชน  ท้องถิ่นเองต้องทำหน้าที่สอนชาวบ้าน ต้องเติมความคิด เติมความรู้ เหมือนสอนลูก เพราะหลายกรณีพวกเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่รู้ ไม่มีโอกาส ต้องกระจายอำนาจให้เขาร่วมบริหารพัฒนาไปกับท้องถิ่น  บนหลักการว่าทุกคนเท่ากัน แต่ความคิดที่แตกต่างกันได้  จึงพยายามที่จัดตั้งกลุ่ม องค์กรต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านได้สามารถบริหารจัดการเองได้ งบประมาณหลายอย่างชาวบ้านเป็นคนจัดหามา ท้องถิ่นไม่ได้เป็นเจ้าของ ทำหน้าที่เพียงบริหารจัดการและสอนชาวบ้าน ท้องถิ่นไม่สามารถทำทุกอย่างเองได้ ในขณะที่ชาวบ้านต้องให้ความร่วมมือ ต้องไว้ใจท้องถิ่นด้วย

            การไม่ซื้อเสียงและคอรัปชั่น ในเมืองหนองป่าครั่งจะไม่มีการซื้อเสียงขายเสียงเด็ดขาด นายกฯ สมคิดยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่ยุ่งกับการเมืองในพื้นที่ หากท้องถิ่นไม่พึ่งพานักการเมืองในพื้นที่ ก็ไม่มีอะไรที่ต้องตอบแทนพวกเขา ไม่มีบุญคุณต่อกัน ไม่มีความขัดแย้ง ประชาชนเป็นอิสระ ประชาชนคิดเอง  ไม่มีนักการเมืองครอบงำ หากพวกเขามีนโยบายพัฒนาอย่างไร ก็สามารถทำได้ แต่อย่าใช้เงินเป็นตัวตั้ง ทั้งหมดนี้อยู่ที่ว่าผู้นำจะจัดการความสัมพันธ์ทางการเมืองนี้อย่างไรด้วย นอกจากนี้ ไม่เปิดโอกาสให้มีการคอรัปชั่น ไม่มีใต้โต๊ะ ทุกอย่างต้องโปร่งใส เคยมีกลุ่มพ่อค้าที่เช่าพื้นที่ขายของหน้าห้างสรรพสินค้า  เข้ามาหาท้องถิ่น เพราะโดยทั่วไปจะต้องมีใต้โต๊ะ เป็นรายได้เพิ่มเติมของนายกฯ แต่ที่หนองป่าครั่งไม่รับ ไม่มีรายได้เพิ่มเด็ดขาด

         ความเป็นเจ้าของ (Self of belonging) ท้องถิ่นมีความเป็นเจ้าของ ชาวบ้านมีความเป็นเจ้าของ เรารักในเมืองหนองป่าครั่ง ทุกอย่างพัฒนาด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ทำให้การทำงานที่ดูเหมือนมีอุปสรรคมาก กลายเป็นทุกอย่างง่ายไปหมด

 

“ที่นี่คือบ้าน ไม่มีอะไรที่ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้

หากบ้านเราเปื้อนเราก็ต้องทำความสะอาดดูแล จัดของให้เข้าที่เข้าทาง ทุกอย่างมีทางออกเสมอ”

 

 

คุณสมคิด เลิศเกียรติดำรง  และคุณเสาวนีย์ คำปวน ผอ.กองสาธารณสุข เทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง[6]

 

 

บทบาทท้องถิ่น-ภูมิภาค-ประชาชน ในการสร้างเมืองแห่งสวัสดิการ

          ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหามาตลอด ต้องกระจายภารกิจนี้ให้กับท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นจะทำได้ดีกว่ารัฐบาล  ที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่แปลก ที่ประเทศไทย องค์รวมของอำนาจต่างๆ อยู่ที่ข้าราชการประจำ หน่วยงานส่วนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยที่มีอำนาจกำหนดกฎเกณฑ์ทุกอย่าง และไม่เคยมีความกล้าที่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เพราะกลัวเสียอำนาจของตนเอง  ส่วนนักการเมืองเองก็อยากจะกระจายอำนาจ แต่ก็มีผลประโยชน์ที่ต้องพึ่งข้าราชการส่วนกลางในการสร้างเครือข่ายของตนเอง ก็กระจายไม่ได้ หากพื้นฐานอย่างการกระจายอำนาจทำไม่ได้ เรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ทำได้ยาก

          การบริหารเมืองขนาดใหญ่ มีคนตั้งคำถามว่า เมืองหนองป่าครั่งทำเมืองสวัสดิการได้ เพราะเมืองมีขนาดเล็ก  หากเป็นเทศบาลนครหรือเทศบาลเมือง ที่รับผิดชอบพื้นที่ขนาดใหญ่จะสร้างเมืองสวัสดิการแบบเมืองหนองป่าครั่งได้หรือไม่  นายกฯ สมคิดตอบได้เลยว่า ทำได้ครับ… ในเทศบาลนคร สามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็นหลายๆ ส่วน เช่น สามารถแบ่งพื้นที่เป็น 4 แขวง แต่ละแขวงให้รองนายกเทศมนตรีทำหน้าที่ดูแล มีอำนาจตัดสินใจ รองนายกเทศมนตรีไม่ควรเป็นเพียงแค่รองนายก ที่อยู่ภายใต้นายกเทศมนตรีเท่านั้น หากแบ่งแขวงเท่าไหร่ ก็ส่งรองนายกเทศมนตรีไปคุมตามแขวงที่แบ่ง และให้ทุกแขวงสามารถเชื่อมโยงกัน  นายกเทศมนตรีเองก็ต้องกระจายงานให้รองนายกเทศมนตรีดูแลพื้นที่  ซึ่งไม่ต้องห่วงเรื่องการควบคุม เพราะการกระจายอำนาจมันมีการสร้างสมดุลอำนาจในตัวเองอยู่แล้ว (balance of power)    

          กำหนดยุทธศาสตร์เมือง ในพื้นที่อำเภอหนึ่ง ควรใช้งบประมาณให้เกิดรูปธรรมอย่างชัดเจน กำหนดยุทธศาสตร์ของอำเภอนั้นให้ชัดเจนว่าต้องการให้พัฒนาอำเภอนี้เป็นอะไร ศึกษาว่าอำเภอนั้นมีข้อดี ข้อเสีย เป็นอย่างไร  ศึกษาลงลึกในแต่ละตำบลมีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร จากนั้นก็เลือกมาหนึ่งตำบลวางรูปแบบให้ชัดว่าจะกลายเป็นอะไรในอนาคต จากนั้นองคาพยพทุกหน่วยงาน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น  มุ่งทำงานที่ตำบลดังกล่าว แล้วเนรมิตออกมาเลย  ให้เห็นผลชัดเจนใน 1 ตำบลเพื่อให้เป็นต้นแบบ แล้วค่อยทำไปเรื่อยๆ มันก็คุมพื้นที่ได้ทั้งหมด แต่ละตำบล รวมกันเป็นอำเภอ อำเภอจะออกมาเป็นรูปแบบไหน สามารถกำหนดได้เลยอำเภอจะเป็นอะไรในอนาคต  

          บทบาทหน่วยงานภูมิภาคต้องเปลี่ยนแปลง เครือข่ายของหน่วยงานภูมิภาคมีชัดเจนในพื้นที่อยู่แล้ว มีผู้ว่าราชการจังหวัด มีนายอำเภอ มีปลัดตำบล บทบาทของภูมิภาคต้องถอยตัวออกไป ออกเป็นผู้กำกับ ติดตามประเมิน  ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ  จะไม่เกิดการทับซ้อนเรื่องงบประมาณ เช่น ท้องถิ่นมีหน้าที่พัฒนาชุมชน ภูมิภาคก็มีหน้าที่พัฒนาชุมชน ซึ่งทำงานทับซ้อน หรือทำงานสาธารณสุขเหมือนกัน แบบนี้ไม่ถูกต้อง มีปัญหาทับซ้อนกัน   ภูมิภาคควรถอยและปล่อยให้ท้องถิ่นดำเนินงานพัฒนา ภูมิภาคทำหน้าที่คอยตรวจสอบ ชี้เป้า ท้องถิ่นทำผิดอย่างไร และจับคนโกงเข้าคุก

          หากมีการยกระดับกำกับ ดูแล ควบคุม ตั้งแต่อำเภอ ตำบล รวมถึงท้องถิ่น นายกเทศมนตรีจะเปลี่ยนไปกี่คน ทุกคนที่เข้ามานั้น ต้องทำงานเป็นไปตามยุทธศาสตร์ตำบล ทำนอกกรอบตรงนี้ไม่ได้ การคอรัปชั่นก็จะน้อยลง   การพัฒนาพื้นที่ ต้องเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ทั้งหมด วางแต่ละชั้นให้ดี สร้างเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น แบ่งเป็นฝ่ายตรวจสอบติดตามประเมิน และฝ่ายบริหาร เมื่อกำหนดเป้าหมายของตำบลเรียบร้อยแล้ว ทุกคนมีเป้าหมายร่วมกัน   ตำบลไหนมีวิสัยทัศน์อย่างไร ประชาชนจะไดรับอะไร ก็คุมแค่ให้เกิดผลงานตามยุทธศาสตร์ การพัฒนาพื้นที่ถึงจะเกิดผลงานรูปธรรม

          ภาคประชาชนที่ตื่นรู้ ท้องถิ่นควรยกระดับให้ประชาชนเป็น active citizen ท้องถิ่นหรือบทบาทของนายกเทศมนตรีต้องสอนประชาชน ท้องถิ่นต้องสอนให้ประชาชนไม่งอมือง้อเท้า รอแต่รับบริการจากภาครัฐอย่างเดียว ซึ่งภาคประชาชน ส่วนตัวเชื่อว่า หากมีการเปิดช่องทางให้พวกเขาสามารถเข้าถึง มีส่วนร่วมได้จำนวนมาก รับรองมันมาหมดทุกอย่าง ประชาชนจะมีส่วนร่วมไปโดยปริยาย ขับเคลื่อนในฐานะตัวแทนภาคประชาชนให้มากขึ้น อันที่จริงมีกลไกภาคประชาชนที่ตั้งขึ้นมาอยู่แล้ว แต่งตั้งหลายแบบ เช่น คณะกรรมการประชาคม คณะกรรมการหมู่บ้าน แต่ไม่ค่อยเกิดผลใดๆ  เพราะยังไม่มีผู้นำตรงนั้น มันมีแต่รูปแบบ (format) ประชาชนเองยังไม่มีความสามารถพอจะเรียนรู้เท่าทัน เกรงกลัวอำนาจองค์กรต่างๆ ก็ต้องสร้างผู้นำขึ้นมา  การพัฒนาประชาชน จะเข้าข่ายการเป็นประชาธิปไตยหรือไม่นั้น ตอบไม่ได้แต่ถ้าทำงานอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน สังคมไม่เบียดเบียนกัน  มันเป็นสังคมที่มีความสุขที่สุด เชื่อว่า ประชาธิปไตย ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละคน  ประชาธิปไตย คือคนที่อยู่ร่วมกัน และเคารพซึ่งกันและกัน

 

สร้างกลไกพัฒนาผู้นำเมือง

           การได้ผู้นำท้องถิ่น ต้องถามว่าได้ดาวฤกษ์หรือดาวเคราะห์  ถ้าได้ดาวเคราะห์ ผู้นำคนนั้นมักจะพึ่งการเมือง หากได้คนที่เป็นดาวฤกษ์มา เขาก็มีแสงในตัวเอง ทำงานได้ ไม่ต้องพึ่งพาใคร แต่ที่ผ่านมา ผู้นำท้องถิ่นมักจะเข้ามาโดยไม่มีการคัดกรอง ไม่มีการสกรีน ใครจะเข้ามาเป็นผู้นำก็ได้ ซึ่งหากใครมีเงินมากก็มีความพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง  เข้ามาบริหาร เมื่อได้คนไม่ดีมาก็ไปเกาะเกี่ยวกับการเมืองใหญ่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการเมือง การได้มาซึ่งการเป็นผู้นำ การเป็นรัฐบาล ต้องใช้เงินจำนวนมาก ถ้าไม่มีเงินก็เป็นผู้บริหารไม่ได้ ใช้เงินซื้อเสียง ใครที่เข้ามาใหม่ก็ต้องทำแบบเดียวกัน ประชาธิปไตยเป็นแบบนี้มาตลอด

          เราต้องเปลี่ยนระบบการได้มาซึ่งผู้นำท้องถิ่น นายกฯ สมคิด พูดถึงประเด็นนี้มตลอดตั้งแต่พ.ศ. 2543 ว่าต้องสร้างเครื่องมือในการคัดคนขึ้นมา ต้องมีสถาบันหนึ่ง ที่ไม่ใช่แบบสถาบันพระปกเกล้า  เป็นสถาบันที่สร้างขึ้นมา  สถาบันที่เป็นกลางในการพัฒนาให้ได้มาซึ่งบุคลากรของท้องถิ่นทั้งหมด มีหลักสูตรอบรมและคัดกรองผู้นำท้องถิ่น   มีกระบวนการ คือ

          ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้คัดสรร  คนที่จะเป็นผู้นำท้องถิ่น ต้องประกาศตัวเองชัดเจนว่าต้องการเป็นผู้นำ ต้องการนำการพัฒนาพื้นที่ ให้ประชาชนรับรองว่าคนนี้เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติ เป็นตัวแทนของประชาชนเข้ามารับการอบรมหลักสูตรผู้นำเมือง โดยไม่ต้องใช้เงินสนับสนุนจากส่วนกลาง ให้ใช้งบประมาณของท้องถิ่นในการสนับสนุนค่าเดินทาง ค่าเรียน เป็นกระบวนการแรกที่เริ่มจากประชาชนในพื้นที่ก่อน

          เมื่อผ่านการคัดสรรจากประชาชน บุคคลนั้นจะต้องเข้ามาเรียนหลักสูตรผู้เมือง ที่ทางสถาบันได้กำหนดหลักสูตรขึ้น ว่าผู้นำท้องถิ่น รวมถึงสมาชิกท้องถิ่น จะต้องเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง ผ่านหลักสูตรแบบไหน  เมื่อผ่านหลักสูตรแล้ว ค่อยประกาศตัวจะลงสมัครการเลือกตั้ง

 

“กระบวนการทั้งหมดนี้ก็เพื่อคัดสรรผู้นำที่มีคุณภาพ

ทุกคนมักจะอ้างประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมใครจะมาเป็นนายกเทศมนตรีก็ได้

หากทำแบบจะไม่ใช่ประชาธิปไตย ซึ่งตีความผิด กระบวนการคัดสรรผู้นำที่มีคุณภาพ

กำหนดคุณสมบัติผู้นำ แบบนี้ก็เป็นประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน”

 

          ทั้งหมดนี้คือ ความคิดและแนวทางการพัฒนาสวัสดิการครบวงจรของเมืองหนองป่าครั่ง ที่เต็มเปี่ยมด้วยหลักคิด ความสร้างสรรค์ ความเด็ดขาด และความสามารถของผู้นำ จนวันนี้เมืองหนองป่าครั่ง นอกจากจะเป็นเมืองที่น่าอยู่ของประชาชนแล้ว ยังเป็นเมืองแห่งการศึกษาดูงาน หลายหน่วยงานแวะเข้ามาศึกษาเรียนรู้ นายกฯ สมคิด ประกาศและเปิดโอกาสการเรียนรู้ของหน่วยงานอื่นที่แตกต่างจากท้องถิ่นอื่น เมืองหนองป่าครั่งรับฝึกงานท้องถิ่นอื่นๆ ที่สนใจอยากพัฒนาเมือง ไม่เพียงแค่ศึกษาดูงาน ต้องฝึกงานประมาณ 1 เดือน ถึงจะกลับไปพัฒนาเมืองตัวเองได้ หากเมืองใดตั้งใจจริง ที่นี่ หนองป่าครั่ง... เป็นเมืองในฝัน และเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

 

 

[1] ภาพจาก Google map

[2] ภาพจากเทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง

[3] ภาพจากศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

[4]  ภาพจากศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

[5] ภาพจากศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

[6] ภาพจากศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

 

Related Posts