Cities Reviews

เมืองทุ่งสง ไม่หลงทาง


อรุณ สถิตพงศ์สถาพร 

 

 

เราได้มีโอกาสฟังการบรรยายของคุณทรงชัย วงษ์วัชรดำรง  นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองทุ่งสง ในงานเสวนา Urban Think Tank ครั้งที่ 2 เรื่อง เศรษฐกิจภาคประชาชน นโยบายส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ที่ทางเราได้จัดขึ้นมา คุณทรงชัย ได้แสดงให้ถึงศักยภาพของเมืองทุ่งสงในช่วงที่ผ่านมา เป็นเมืองที่พัฒนาขึ้นมา ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเศรษฐกิจที่โดดเด่น อีกทั้งมีนวัตกรรมทางสังคมที่ใช้ต้นทุนทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมมาต่อยอดได้เป็นอย่างดี 

 

ปัญหาคลองต้องแก้ที่ต้นน้ำ

คุณทรงชัย เล่าให้ฟังว่า ทุ่งสงเริ่มจากปัญหาคลอง เราเห็นว่า ถ้าขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน ชุมชนเห็นอะไรใช้ไม่ได้แล้วก็โยนทิ้งลงคลองหมด เราจึงตัดสินใจเลือกมาหนึ่งคลองแล้วทำวิจัยเกี่ยวกับลำคลอง คืนธรรมชาติ คืนระบบนิเวศให้กับลำคลอง โดยให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทำการศึกษา พร้อมกับพูดให้ชุมชนริมคลองฟังว่า เทศบาลจะให้ทุนแก่มหาวิทยาลัยมาทำวิจัย ให้อาจารย์มาสอนให้ความรู้ชุมชน ชี้ให้เห็นความสำคัญของคลองท่าแพ ตำบลถ้ำใหญ่ ว่าเป็นคลองที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นคลองที่ใช้ผลิตน้ำประปาเลี้ยงคนทั้งอำเภอทุ่งสงและอำเภอนาบอน ไหลไปจนถึงจังหวัดตรัง ดังนั้น เราต้องเก็บรักษาให้น้ำดีและบริสุทธิ์ที่สุดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ปัจจุบันต้นน้ำยังดีอยู่ เราต้องรักษาให้สะอาดเช่นเดิม ถ้าไม่รักษา ในอนาคตน้ำต้องสกปรก เน่าเสีย และคุณภาพแย่ลงอย่างแน่นอน พร้อมกันนั้น เราก็จัดกิจกรรมปั่นจักรยาน เอาต้นไม้ไปปลูก เพาะพันธุ์ปลาพื้นถิ่น ทำให้ชาวบ้านหวงแหนและเห็นถึงความสำคัญว่าเป็นคลองของเขา จากนั้นทางเทศบาลก็เอาความสำเร็จของการวิจัยมาใส่ในหลักสูตรของท้องถิ่น ด้านสิ่งแวดล้อม

 

 

พลิกถุงพลิกโลก

ปัญหาขยะก็เป็นสิ่งที่เราทำมาตลอด แม้ทุ่งสงจะได้รางวัลสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ จากการทำตามตัวชี้วัด 12 แห่งครบถ้วน แต่ขยะไม่ได้ลดลง กลับเพิ่มขึ้นจาก 30 ตันเป็น 50 ตัน รางวัลที่ได้จึงไม่น่าภูมิใจ โครงการพลิกถุงพลิกโลกจึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2559 เริ่มจากการจัดอบรม ให้ ดร.ไพบูลย์ ลงพื้นที่มาให้ความรู้ เริ่มจากเทศบาลประชุมหัวหน้าส่วนก่อนว่าตกลงจะทำหรือไม่ โดยสาธิตให้ดู ไปยกถังขยะ เทออกมา ตามหลักสูตร ดร.ไพบูลย์

หลังจากคัดแยกเศษอาหารออกไปแล้ว ขยะที่เทศบาลเล็งเห็นว่าเป็นปัญหาอันดับต้นๆ คือ ถุงพลาสติกและโฟม เพราะมีจำนวนมากที่สุด และปกติพลาสติกต้องใช้เวลาย่อยสลาย 450 ปี ส่วนโฟมใช้เวลาย่อยสลาย 10,000 ปี ขยะเหล่านี้ต่างเป็นมลภาวะที่ทำให้เกิดมะเร็ง ซึ่งคนไทยป่วยและตายเป็นอันดับหนึ่ง วิธีการกำจัดถุงพลาสติกของเทศบาลนั้นง่ายมาก เพียงแค่นำถุงพลาสติกมาพลิกล้างทั้งสองด้านแล้วเอาไปตากแดดขจัดความชื้นแล้วส่งให้เทศบาล เทศบาลก็จะนำไปรวมกับขยะทั้งหมดที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงได้ไปที่โรงแยกขยะแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรรูปให้เป็นขยะเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel; RDF) แล้วส่งต่อให้โรงโม่ปูนบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เพื่อนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงต่อไป 
         หลังจากรณรงค์วิธีดังกล่าว เทศบาลทุกกองฝ่าย โรงเรียนในสังกัดเทศบาลทั้งหมดไปจนถึงชุมชนก็ให้ความร่วมมือปฏิบัติตาม ในระยะเวลา 8 เดือน เทศบาลสามารถลดปริมาณขยะไปได้มากกว่าร้อยละ 50 จาก 50 ตันต่อวันเหลือเพียง 25 ตันต่อวัน อีกทั้งจากเดิมเทศบาลต้องเสียค่าฝังกลบขยะ 50 ตันต่อวันเป็นมูลค่ากว่า 4.8 ล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันเสียแค่ 1.2 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ทำให้เทศบาลเกิดแรงจูงใจในการทำต่อ เพราะเห็นว่ามันได้ผล ไม่ได้เป็นแค่โครงการอีเวนต์สวยหรู

 

 

ชุมทางทุ่งสง ประตูสู่เศรษฐกิจโลก
 
ทุ่งสงเป็นเมืองชุมทางระบบรางเมื่อร้อยปีก่อน เป็นแหล่งส่งออกแร่ดีบุกจากทุ่งสงไปปีนังผ่านท่าเรือกันตัง เราต้องมองย้อนไปถึงประวัติศาสตร์เมืองทุ่งสงว่า เดิมทำไมเราถึงเป็นชุมทาง ทำไมเรามีธนาคารสยามกัมมาจลเป็นแห่งแรกของภาคใต้ นั่นแสดงให้เห็นว่าภูมิศาสตร์ของเมืองทุ่งสงที่เป็นสะดือของภาคใต้ คืออยู่กึ่งกลางของภาคใต้ คั่นระหว่างคาบสมุทรอันดามันและอ่าวไทยพอดี การขนส่งระบบรางที่เขาสร้างไว้แล้ว ถ้าได้รับการบูรณะให้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมืองทุ่งสงก็จะเจริญขึ้นมาก ท้องถิ่นเล็งเห็นโอกาสดังกล่าว จึงเสนอให้ใช้ที่ดินการรถไฟทั้งหมด 85 ไร่ ทำเป็นศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้ขึ้นมา โดยใช้งบประมาณกลุ่มจังหวัดเป็นหลักและมีบริษัทศรีตรังเป็นผู้สัมปทานการบริหารจัดการ
 
หลังจากโครงการนี้เกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นกันมาอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นเครือข่ายหลักๆ 4 เครือข่าย ดังนี้
 

         หนึ่ง เครือข่ายส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะคณะกรรมการประสานความร่วมมือแบบบูรณาการและติดตามผลฯ เป็นกลุ่มขับเคลื่อนขอรับการสนับสนุนงบประมาณร่วมกับเทศบาลเมืองทุ่งสง ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานทุกภาคส่วนและส่วนราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม สำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช โยธาธิการฯ แขวงทางหลวงชนบทจังหวัดนครศรีธรรมราช อบจ.นครศรีธรรมราช เทศบาลตำบลชะมาย เป็นต้น


         สอง เครือข่ายภาคเอกชน สถานประกอบการ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจยางพารา กลุ่มธุรกิจปลีกส่ง กลุ่มปูนซีเมนต์ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ คอยให้ข้อมูลปริมาณสินค้า เข้ามาลงทุนและใช้บริการศูนย์กระจายสินค้า โดยมีผาทอง ทุ่งสงสี่สวัสดิ์ ยูนิรับเบอร์ ศรีตรังเป็นผู้ริเริ่มขับเคลื่อนโครงการ และมีสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้ให้ความรู้ ข้อมูล และศึกษาดูงานร่วมกัน


         สาม เครือข่ายภาควิชาการและองค์กรวิชาชีพ โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เข้ามาร่วมประเมินโครงการและจัดทำแผนธุรกิจ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ส่ง ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต นักวิชาการด้านโลจิสติกส์มาให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราชคอยให้คำปรึกษาด้านโลจิสติกส์ จนปัจจุบันได้เปิดสาขาการจัดการโลจิสติกส์ ส่วนสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยมีหน้าที่ให้คำปรึกษา ประสานงานกับเครือข่ายวิชาการอื่นๆ โดยเฉพาะธนาคาร ADB


         สี่ เครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศ คือ เครือข่าย GIZ และสถานทูตเยอรมัน ที่นำนักธุรกิจเยอรมันและนักธุรกิจไทย ส่วนราชการ ภาคเอกชน กับประชาชนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ธนาคาร ADB ที่เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รวมไปถึงแผนงาน IMT-GT ที่บรรจุโครงการศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้ – ทุ่งสงเข้าไปด้วย

         จากการดำเนินการโครงการนี้ ก่อให้เกิดผลดีหรือผลประโยชน์โดยตรง 3 ประการด้วยกัน ดังนี้


1) เทศบาลเมืองทุ่งสงมีรายได้มากขึ้น ช่วยลดภาระของรัฐในการอุดหนุน เนื่องจากการเปิดให้เช่า บริหารจัดการลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อรับส่งสินค้าด้วยระบบรางทั้งสองระยะนั้น ทำให้เทศบาลมีรายได้มากกว่า 4.5 ล้านบาทในปี 2560 
2) ปัญหาจราจร ความคับคั่งของรถบรรทุกสินค้าบนท้องถนน อุบัติเหตุ ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินลดลง เนื่องจากโครงการนี้ทำให้ปริมาณรถขนส่งบนถนนลดลงไปกว่า 10,400 คันต่อเดือน ทำให้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุและยังช่วยลดงบประมาณในการซ่อมแซมและก่อสร้างถนนด้วย 
3) กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและการขนส่งมีต้นทุนการขนส่งลดลงและมีทางเลือกในการขนส่งมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนมาใช้การขนส่งด้วยระบบราง ทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลงไปกว่าร้อยละ 16.66 ต่อตู้

 

ส่วนกลางต้องเสริมท้องถิ่น เชื่อมโยงเศรษฐกิจประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม หลายโครงการพอมันเกิดจากล่างขึ้นบนแล้ว ส่วนกลางมักมองว่าไม่ใช่นโยบายของเขา เพราะเขาเห็นว่าท้องถิ่นเดินเองได้ ส่วนกลางก็มักจะช่างมันปล่อยมัน ทั้งที่ถ้าหากส่วนกลางช่วยเมืองทุ่งสงในเรื่องการวางระบบรางในระดับประเทศ มันจะไม่ได้ผลักเพียงการส่งออกแค่ในทุ่งสง แต่มันยังเชื่อมโยงการส่งออกระหว่างภูมิภาคและอาจส่งต่อออกนอกประเทศได้ด้วย เช่น น้ำตาลจากอีสาน ข้าวสารจากภาคเหนือ ก็จะขนส่งลงมาทุ่งสงผ่านระบบรางได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการนั้น ภาครัฐต้องสนับสนุน มิใช่ปล่อยไปตามยถากรรมให้เขาสู้ด้วยตัวเอง บ่อยครั้งที่ภาคเอกชนเสนอโครงการที่ดีมีประโยชน์แต่ขาดเจ้าภาพ ส่วนหนึ่งเพราะข้าราชการระดับสูงอย่างผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอก็ไม่คิดจะอยู่นาน อยากจะเลื่อนตำแหน่งไปเป็นอธิบดี รองปลัด กว่าท้องถิ่นจะปรับความคิดปรับความเข้าใจกับคนจากส่วนกลางได้ เขาก็ย้ายไปแล้ว แม้ประเทศเรามีความพร้อมสูง แต่ขาดความต่อเนื่อง

 

 

 

• AUTHOR

 


อรุณ  สถิตพงศ์สถาพร

ผู้เศรษฐศาสตร์บัณฑิต และเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Related Posts