Cities Reviews

เมืองหนองป่าครั่ง เมืองสวัสดิการที่มีอยู่จริง

 

ณัฐธิดา  เย็นบำรุง

 

ประเทศไทยใฝ่ฝันถึงการเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ  ประวัติศาสตร์การเมืองไทย มักจะมีการเรียกร้องถึงสวัสดิการที่ประชาชนพึงมีพึงได้ตลอด วันนี้ประเทศไทยอาจจะยังอยู่ห่างจากรัฐสวัสดิการในระดับชาติ แต่ในระดับเมือง ความใฝ่ฝันเรื่องการเป็นเมืองสวัสดิการไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป ณ เมืองหนองป่าครั่ง  ดูแลโดย เทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง เมืองแห่งนี้เป็นเหมือนในความใฝ่ฝันของหลายๆ คน พวกเราลงพื้นที่ที่ตำบลหนองป่าครั่ง และได้พูดคุยกับ  คุณเสาวนีย์ คำปวน ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง  ผู้ริเริ่มและขับเคลื่อนทุกส่วนของสวัสดิการของเมือง

 

ภาพ คุณเสาวนีย์ คำปวน ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง

 

เมืองหนองป่าครั่ง ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองเชียงใหม่  อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 10 กิโลเมตร มีประชากรในทะเบียนบ้านทั้งตำบลประมาณ 7,000 คน  เมืองหนองป่าครั่งเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ชานเมือง ไม่มีเกษตรกรรมแล้ว  พื้นที่ได้รับการขยายตัวจากเมืองเชียงใหม่ มีหอพัก บ้านเช่า และประชากรแฝงเข้ามาพอสมควร

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาสวัสดิการ เริ่มในช่วงปี 2549 ด้วยวิสัยทัศน์ของคุณสมคิด เลิศเกียรติดำรง นายกเทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง ที่ให้ความสำคัญการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพเป็นอันดับหนึ่ง ประกอบกับคุณเสาวนีย์ ได้ย้ายมาบรรจุที่แห่งนี้ ได้ใช้ประสบการณ์เขียนแผนพัฒนาสวัสดิการประชาชนที่ควรจะมี ตั้งแต่เกิดจนตาย หลังจากนั้นเทศบาลตำบลหนองป่าครั่งทำงานตามแผนสวัสดิการนี้มาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีดังนี้

 

เมื่อมีคนเกิด :  รับเลี้ยงเด็กฟรีตั้งแต่ 2 เดือน ถึงเตรียมอนุบาล

ปัญหาวัยรุ่นท้องไม่พร้อม ปัญหาวัยรุ่นเกเร ก้าวร้าว พ่อแม่ยุคใหม่ต้องทำงาน ปล่อยลูกหลานอยู่กับผู้สูงอายุ ก่อเกิดปัญหาประชากรวัยรุ่นที่เติบโตขึ้นมาอย่างไม่มีคุณภาพ เทศบาลตำบลหนองป่าครั่งจึงมุ่งแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ออกนโยบายและสร้างศูนย์รับเลี้ยงเด็กทุกคนในเมือง  ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ทารกอายุ 2 เดือน จนถึงวัยเตรียมอนุบาล โดยเทศบาลฯ จ้างพี่เลี้ยงเด็กที่ได้รับการอบรมเรื่องพัฒนาการเด็กเป็นอย่างดี แบ่งการดูแลออกเป็น 3 ส่วน คือ ห้องหนอนน้อย ดูแลเด็กอายุ 2 – 6 เดือน ห้องกระรอกน้อย ดูแลเด็ก 6 เดือน ขึ้นไป ส่วนห้องเสือน้อย ดูแลตั้งแต่ 2 ขวบ ถึง – 4 ขวบโดยประมาณ   และที่สำคัญเด็กทุกคนต้องกินนมแม่ ที่คุณแม่ของทุกคนต้องเตรียมนมของตัวเองเก็บไว้ที่ศูนย์ ฯ

ปัจจุบันเด็กกลุ่มแรกที่เทศบาลฯ ดูแล 7 ขวบแล้ว เทศบาลฯ พบว่า เด็กที่ผ่านการดูแลจากเทศบาล มีนิสัยไม่ก้าวร้าว ไม่กลัวคน อยู่กันเป็นกลุ่ม สนิทสนมกัน เพราะพวกเขาโตมาด้วยกัน และมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดี นอกจากนี้กลุ่มผู้ปกครองก็มีความสุข เพราะไปทำงานด้วยความสบายใจ มั่นใจได้ว่า ลูกหลานของตัวเองได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี

 

ภาพ พี่เลี้ยงและเด็กในห้องหนอนน้อย ของศูนย์เลี้ยงเด็กเทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง

ภาพ น้ำนมแม่ที่เตรียมไว้สำหรับทารก

 

เมื่อเริ่มเรียนหนังสือ : จ่ายค่าเทอมให้ มีรถรับส่ง

เมื่อเริ่มเรียนหนังสือ  เด็กนักเรียนทุกคนสามารถเบิกค่าเทอมกับทางเทศบาลฯ ได้ตั้งแต่ ประถมจนถึงปริญญาตรี โดยมีเพดานการเบิกจ่ายโดยเฉพาะเด็กที่เรียนโรงเรียนเอกชน   พร้อมจัดรถรับส่งฟรี ทั้งรับและส่งจากให้เด็กนักเรียนเดินทางไปเรียนที่ตัวเมืองเชียงใหม่อย่างสะดวก

 

เมื่อทำงาน : ส่งเสริมอาชีพและการรวมกลุ่ม

เทศบาลฯ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่ที่ใช้ภูมิปัญญาที่มีมาแต่ในอดีต สร้างศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ตำบลหนองป่าครั่ง ให้ทุกกลุ่มอาชีพนำผลิตภัณฑ์ของตัวเองมาจำหน่ายรวมกัน สร้างชื่อเสียงให้แก่กลุ่ม และสร้างชื่อเสียงให้กับตำบล เช่น กลุ่มบายศรีตำบลหนองป่าครั่ง  ได้รับการรับรองมาตรฐานเชียงใหม่แบรนด์ มผช. โอท็อป  และยังมีสินค้าอีกหลากหลาย

ผลงานสำคัญในด้านเศรษฐกิจเมือง คือการเป็นที่ปรึกษาการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบให้กับกลุ่มหมอนวดจนประสบความสำเร็จ ทศบาลเห็นว่ากลุ่มหมอนวดมีรายได้ในกลุ่มจำนวนมาก แต่ไม่มีการบริหารจัดการ จึงเข้ามาช่วยบริหารให้เป็นระบบ จากนั้นให้กลุ่มหมอนวดดูแลบริหารจัดการด้วยตนเอง โดยจัดตั้งศูนย์นวดแผนไทยให้ ซึ่งปัจจุบัน มี 2 สาขา สาขาแรกตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 สาขาที่สองตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4  พร้อมสอนเรื่องการบริหารจัดการ คือ เมื่อหมอนวดได้รับค่าจ้าง 100 บาท ต้องแบ่งให้กลุ่ม 35 บาท ค่าบริหารจัดการสถานที่และประชาสัมพันธ์

กลุ่มหมอนวดที่หนองป่าครั้งมีชื่อเสียงมาก เพราะคุณภาพดีและราคาถูก จนได้รับการจองคิวจากข้าราชการ ประชาชน นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน ญี่ปุ่น ยุโรป ต่างก็มาใช้บริการหมอนวดหนองป่าครั่ง จนปัจจุบันมีหมอนวดในตำบลกว่า 50 คน มีรายได้เฉลี่ยวันละ 700-800 บาท และทุกปีมีโบนัสให้อีกคนละ 2-3 หมื่นบาทอีกด้วย

 

 

เมื่อเจ็บป่วย รักษาฟรี มีโรงพยาบาลเป็นของตนเอง

เทศบาล ฯ ประเมินความต้องการของประชาชนอยู่เป็นระยะ พบว่า ประชาชนต้องการโรงพยาบาลเป็นของตัวเอง เพื่อรักษาและเบิกจ่ายค่ารักษาที่ในเมืองของตนเอง ไม่ต้องไปโรงพยาบาลนอกเมือง กองสาธารณะสุข จึงศึกษาเงื่อนไขของการสร้างโรงพยาบาลเป็นของตนเอง และดำเนินการขับเคลื่อนอย่างยากลำบากเพราะเงื่อนไขมีจำนวนมาก แต่ด้วยความมุมานะและเห็นแก่ประโยชน์ของคนในเมือง เทศบาลตำบลหนองป่าครั้ง ก็สามารถก่อตั้งโรงพยาบาลของตัวเองได้เป็นผลสำเร็จ โดยใช้สถานที่ คือ สถานบริการสุขภาพในตำบลเดิม ปรับปรุงยกระดับเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก  เปิดตำแหน่งให้แพทย์มาประจำ 1 ตำแหน่ง ทันตแพทย์ 1 ตำแหน่ง เภสัชกร 1 ตำแหน่ง  มีบริการรถฉุกเฉินรับถึงบ้าน ผ่าตัดเล็กได้ และมีบริการรับทำคลอด  โดยสามารถเบิกจ่ายบัตรทองที่โรงพยาบาลได้เลย  อีกทั้งมีโรงพยาบาลรองรับสำหรับการส่งต่อถึง 6 โรงพยาบาลทั่วเชียงใหม่

 

ภาพ โรงพยาบาลเทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง

 

เมื่อแก่ตัวหรือพิการ รักษาและฟื้นฟูฟรี

เทศบาลฯ ลงสำรวจประชาชนทุกบ้าน ทุกซอย พบว่า ปัญหาผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่ม active กลุ่มนี้ดูแลตนเองได้ จึงจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุให้บริหารจัดการเรียนการสอนด้วยตนเอง และกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง นอกจากนี้ยังสำรวจพบคนพิการทั้งวัยรุ่น วัยกลางคน วัยชรา จำนวนหนึ่ง  ในช่วงแรกเทศบาลฯ ลงเยี่ยมบ้านพร้อมทีมแพทย์อยู่ตลอด แต่การเยี่ยมบ้านกลับไม่ได้ทำให้คนไข้อาการดีขึ้นเท่าที่ควร

เทศบาลฯ จึงจัดตั้ง คลินิกชุมชนอบอุ่น ห้องฟื้นฟูสมรรถนะ ให้กับผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฟื้นฟูโดยเฉพาะคนพิการและผู้สูงอายุที่ติดเตียง เทศบาลฯ จะมีรถรับส่งจากบ้าน มายังคลินิกชุมชนอบอุ่น  นวดฟื้นฟูสภาพ โดยแพทย์แผนไทยดูแลอย่างใกล้ชิด ใช้หลักสูตรการฟื้นฟูจาก คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ขณะนี้มีผู้ที่ได้รับการฟื้นฟูประมาณ 30 คน

 

ภาพ คลินิกชุมชนอบอุ่น  ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุและผู้พิการ

ภาพ รถขนาดเล็ก เพื่อรับส่งผู้สูงอายุจากบ้าน

 

สวัสดิการพิเศษ กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง 

นอกเหนือจากสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตายข้างต้นแล้ว เทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง ยังก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง  ให้ประชาชนที่สนใจสมัครสมทบคนละ 30 บาทต่อเดือน  สิทธิพิเศษที่ได้รับจะได้รับเงินขวัญถุงทุกช่วงวัยของชีวิต เช่น เมื่อมีคนเกิด  เด็กคนนั้นจะได้ได้เงินขวัญถุง 500 หรือ 1000 บาท แล้วแต่อายุสมาชิก ในการจบการศึกษาแต่ละช่วงก็จะได้รับเงิน และได้รับมากขึ้นหากสามารถทำเกรดเฉลี่ยมากว่า 3.5 ขึ้น เช่น จบป. 6 ได้รับ 500 บาท หรือ 1000 บาท จบม. 3 ได้รับ 500 บาท หรือ 1000 บาท จบม. 6 ได้รับ 800 บาท หรือ 1300 บาท จบ.ปวส. ได้รับ 1000 บาท หรือ 1500 บาท ปริญญาตรี โท และเอก เพิ่มขึ้นตามจำนวนวุฒิที่จบ  นอกจากนี้หากเป็นทหาร ปลดประจำการได้รับ 2000 บาท รวมถึงการบวช การแต่งงาน  การเป็นผู้สูงอายุ  กรณีตาย และประสบสาธารณภัย ก็จะได้รับเงินสมทบตามเหตุการณ์และอายุด้วย

 

คำถามสำคัญ :  งบประมาณมาจากไหน

สวัสดิการที่เทศบาลตำบลหนองป่าครั้ง ผลักดัน บริหารจัดการ จนสามารถเป็นรูปร่างให้กับคนเมืองได้ เกิดคำถามที่หลายคนมักสงสัยมาก งบประมาณในการจัดสวัสดิการมาจากที่ใด จำนวนมากเพียงใด  สิ่งที่น่าประหลาดใจ พบว่า งบประมาณที่ใช้ในการจัดสวัสดิการนั้น ไม่ได้พิเศษแต่อย่างไร งบประมาณประกอบไปด้วย เงิน 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 คือ งบประมาณของเทศบาลตำบลหนองป่าครั้ง ได้รับจากเงินภาษี เงินอุดหนุน ประมาณ 100 กว่าล้านบาทต่อปี

ส่วนที่ 2 คือ งบประมาณจากหน่วยงานภายนอก เช่น กองทุนสุขภาพตำบล ของสปสช.  (ซึ่งได้ทุกตำบลในประเทศไทย)  นอกจากนี้การสนับสนุนด้านอื่นๆ ที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่น การอบรมบุคลากรจากหน่วยงานเครือข่ายของเทศบาล เช่น กระทรวงแรงงาน มหาวิทยาลัย เป็นต้น

ส่วนที่ 3 คือ งบประมาณจากภาคประชาชน  ในแต่ละปี จะมีเงินบริจาคเข้ามาที่เทศบาลราว 3-4 แสนบาท ทั้งเงินและสิ่งของ เช่น ของเล่น อุปกรณ์แพทย์ นอกจากนี้ ทุกๆ 4 ปี ประชาชนหนองป่าครั่งจะระดมผ้าป่าจัดตั้งเป็นกองทุนมอบให้เทศบาลฯ ใช้ในการดำเนินการเพิ่มเติมในยามฉุกเฉินด้วย

 

จากเงินสามส่วนที่เทศบาลฯ ใช้ในการบริหารจัดการนั้น ไม่ได้มากมายนัก หลักๆ ก็คืองบประมาณของเทศบาลฯ  แต่ส่วนหนึ่งที่งบประมาณเพียงพอนั้น เป็นเพราะวิสัยทัศน์ของท่านนายก ที่ลงทุนกับด้านสุขภาพของประชาชนมากกว่าด้านกายภาพ เพราะองค์กรท้องถิ่นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะขนาดเล็กและกลาง จะทุ่มงบประมาณไปกับการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่   แต่ไม่ใช่กับที่หนองป่าครั่ง

 

บทส่งท้าย

กรณีสวัสดิการของเทศบาลหนองป่าครั่ง ทำให้หวนนึกไปถึง บทความเรื่อง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน  แต่งขึ้นโดย อ. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นข้อเรียกร้อง รัฐสวัสดิการ มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับหลักประกันสังคมและคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่คนคนหนึ่งพึงมี บทความนี้เป็นเอกสารหรือคัมภีร์สำคัญที่ประชาชนรวมถึงนักวิชาการเรียกร้องให้ประเทศไทยมีสวัสดิการเช่นเดียวกับที่อ.ป๋วยเสนอ  เมื่อมาเจอที่หนองป่าครั่งทำให้รู้ว่า ภายใต้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเงินบางส่วนจากภายนอก ก็สามารถจัดสวัสดิการที่ครอบคลุมให้ประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายได้

เราอาจจะบ่นกันมากว่าประชาชนไทยไม่ยอมเสียภาษีให้กับรัฐเท่าไหร่นัก แต่หนองป่าครั่งแสดงให้เห็นว่า หากรัฐของพวกเขาแปรเปลี่ยนเงินเพื่อมาดูแลประชาชน พวกเขาก็พร้อมจ่ายและยังระดมทุนช่วยเหลือให้กับรัฐของพวกเขาด้วย ที่หนองป่าครั่งเลยเปรียบเสมือนกับดินแดนในฝันเล็กๆ ที่เชื่อว่าใครได้ฟังคงอยากให้ประเทศไทยเป็นแบบนี้บ้าง เราเรียกร้องการกระจายอำนาจการปกครองให้หน่วยงานท้องถิ่นมาตลอด แต่สิ่งหนึ่งทีหนองป่าครั้งแสดงให้เห็นว่า ภายใต้อำนาจที่จำกัด เมืองแห่งนี้ก็สามารถทำสวัสดิการมากมายเพื่อประชาชน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ากระจายอำนาจไม่สำคัญ เราต้องสู้เรื่องนี้กันต่อไป แต่อย่างน้อย รัฐสวัสดิการ”  ที่ เมืองเล็กๆ แห่งนี้ ทำโดยอำนาจจำกัดและงบประมาณที่จำกัด ก็น่าจะจุดประกายและเป็นบทเรียนเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองได้อีกมากมาย

 

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

Related Posts