Cities Reviews

ความเป็นเมืองของชัยนาท

 

อรุณ  สถิตพงศ์สถาพร

 

การที่จะบ่งบอกความเป็นเมืองได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยตัวชี้วัดจากปัจจัยในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากร มูลค่าทางเศรษฐกิจ ขนาดของธุรกิจและการลงทุน รวมไปถึงการมีสวัสดิการสังคมที่มีคุณภาพ ดังเช่น อุกฤษฏ์ (2557) อ้างถึงการสำมะโนประชากรและเคหะ ปี 2553 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้พบว่า จำนวนประชากรในเขตเทศบาลของจังหวัดชัยนาทเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2543 ที่มีเพียงร้อยละ 13 กลายเป็นร้อยละ 67.4 ในปี 2553 ตามนิยามของกระทรวงมหาดไทยแล้วจะแสดงให้เห็นว่าความเป็นเมืองของจังหวัดชัยนาทเพิ่มสูงขึ้น

หลายคนคงทราบกันดีว่าจังหวัดชัยนาทเป็นจังหวัดขนาดเล็กที่เต็มไปด้วยพื้นที่ทางเกษตรกรรม โดยส่วนใหญ่เป็นนาข้าว นอกจากนี้ยังมีสถานท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม เช่น สวนนกชัยนาท เขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น และเส้นทางถนนที่ตัดผ่านสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ นั้นมีความครอบคลุมทั่วถึง ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวนั้นสะดวกสบาย อีกทั้งมีร้านอาหารอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน จังหวัดชัยนาทจึงถือเป็นเมืองที่น่าสนใจเมืองหนึ่งในประเทศไทย

จังหวัดชัยนาทตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย มีพื้นที่ขนาด 2,349.92 ตารางกิโลเมตร ประชากรตามทะเบียนราษฎร์มีจำนวน 332,299 คน ความหนาแน่นของประชากรในจังหวัดเท่ากับ 141.41 คนต่อตารางกิโลเมตร ส่วนลักษณะการปกครองภายในจังหวัดนั้นแบ่งออกเป็นเทศบาลเมืองจำนวน 1 แห่ง เทศบาลตำบลจำนวน 38 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 20 แห่ง หรืออาจแบ่งเป็นหน่วยปกครองในเขตเทศบาลจำนวน 39 แห่ง และอีก 20 แห่งอยู่นอกเขตเทศบาล

ในข้อมูลเบื้องต้นเราสังเกตได้ว่า เทศบาลตำบลในจังหวัดชัยนาทนั้นมีมากกว่าองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นจำนวนเกือบเท่าตัว โดยมีเทศบาลตำบลคิดเป็นร้อยละ 64.41 ของจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งสูงมากเป็นอันดับสองของประเทศ (แผนภาพที่ 1) เป็นรองเพียงจังหวัดลำพูนที่มีเทศบาลตำบลคิดเป็นร้อยละ 66.67 ของจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด สาเหตุหนึ่งมาจากการที่องค์การบริหารส่วนตำบลของจังหวัดชัยนาทถูกยกฐานะให้เป็นเทศบาลตำบลเป็นจำนวนมากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา เดิมก่อนปี พ.ศ. 2550 จังหวัดชัยนาทมีเทศบาลตำบลเพียง 8 แห่งเท่านั้น จนกระทั่งปัจจุบันมีมากถึง 38 แห่ง และมีเทศบาลเมืองอีก 1 แห่ง

บทความนี้จึงมีความสนใจที่จะวิเคราะห์หาสาเหตุทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อเป็นเหตุผลเพิ่มเติมในการสนับสนุนข้อสรุปที่ว่าความเป็นเมืองของจังหวัดชัยนาทเพิ่มสูงขึ้น โดยสามารถวิเคราะห์ได้จากตัวชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross provincial product-GPP) ที่แสดงให้เห็นถึงมูลค่าของเศรษฐกิจแยกตามประเภท ทั้งภาคเกษตรและภาคนอกเกษตร

เมื่อวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดชัยนาท (แผนภาพที่ 2) แล้วพบว่า จังหวัดชัยนาทมีอัตราการเจริญเติบโต (Growth Rate) ของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538-2555 โดยเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 6.45 ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดใกล้เคียงแล้ว อัตราการเติบโตเฉลี่ยของจังหวัดชัยนาทกับจังหวัดอื่น ๆ ก็อยู่ในระดับเดียวกันคือประมาณร้อยละ 6-8 ต่อปี แต่เมื่อวิเคราะห์อัตราการเติบโตเฉลี่ยเฉพาะช่วงห้าปีให้หลัง (พ.ศ. 2551-2555) แล้วพบว่า จังหวัดชัยนาทมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 12.62 ต่อปี นับว่าสูงที่สุดในบรรดาจังหวัดใกล้เคียง อันได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.96 ต่อปี) จังหวัดนครสวรรค์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.79 ต่อปี) จังหวัดสุพรรณบุรี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.26 ต่อปี) จังหวัดอ่างทอง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.62 ต่อปี) และจังหวัดสิงห์บุรี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.37 ต่อปี)

จากนั้นเมื่อแบ่งการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดออกเป็นภาคเกษตรและภาคนอกเกษตร (แผนภาพที่ 3 และแผนภาพที่ 4) แล้วจะพบว่า ภาคเกษตรของจังหวัดชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียงมีแนวโน้มเติบโตไปในทิศทางเดียวกันและไม่แตกต่างกันมากนัก โดยภาคเกษตรของจังหวัดชัยนาทเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9.78 ต่อปี ส่วนจังหวัดอื่น ๆ เฉลี่ยอยู่ระหว่างร้อยละ 9-12 ต่อปี เช่นเดียวกันกับภาคนอกเกษตร จังหวัดชัยนาทเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.58 ต่อปี และจังหวัดอื่น ๆ เติบโตเฉลี่ยอยู่ระหว่างร้อยละ 5-6 ต่อปี อย่างไรก็ตาม หากดูอัตราเติบโตเฉลี่ยเฉพาะช่วงห้าปีหลังคือ ช่วง พ.ศ. 2551-2555 แล้วจะเห็นได้ชัดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของจังหวัดชัยนาทเฉพาะภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นสูงมากถึงร้อยละ 12.31 ต่อปี ในขณะที่จังหวัดใกล้เคียงเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 6-9 ต่อปีเท่านั้น

ต่อมา หากสังเกตภาคเกษตรและภาคนอกเกษตรของจังหวัดชัยนาท (แผนภาพที่ 5) จะเห็นได้ว่าในปีหลัง ๆ ภาคนอกเกษตรมีอัตราการเติบโตที่เร็วกว่าภาคเกษตร แนวโน้มอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรของจังหวัดชัยนาทที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม (แผนภาพที่ 6) ที่มีอัตราการเจริญเติบโตในช่วงปี พ.ศ. 2538-2555 โดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 13.40 ต่อปี ที่ชัดเจนไปกว่านั้นคืออัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรมในช่วงปี พ.ศ. 2551-2555 นั้นยิ่งสูงมากถึงร้อยละ 33.11 ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดใกล้เคียงแล้วจะพบว่า อัตราการเติบโตเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรมในช่วง พ.ศ. 2551-2555 ของจังหวัดชัยนาทค่อนข้างสูงกว่ามาก (แผนภาพที่ 7) โดยจังหวัดอุทัยธานี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.31 ต่อปี) จังหวัดสุพรรณบุรี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.23 ต่อปี) จังหวัดอ่างทอง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.36 ต่อปี) จังหวัดนครสวรรค์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.42 ต่อปี) และจังหวัดสิงห์บุรี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.34 ต่อปี)

ด้วยเหตุทั้งหมดนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความเป็นเมืองของชัยนาทเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดชัยนาทก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดสอดคล้องกับจำนวนเทศบาลตำบลที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา แต่ในทางตรงกันข้าม จำนวนประชากรจังหวัดกลับมีอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง (แผนภาพที่ 5 และแผนภาพที่ 6) อันเป็นประเด็นที่จะต้องทำการศึกษาในเชิงลึกต่อไป

แผนภาพที่ 1
แสดงจังหวัดที่มีสัดส่วนของเทศบาลตำบลต่อหน่วยปกครองท้องถิ่นสูงสุด 10 อันดับแรกของประเทศไทย

แผนภาพที่ 2
แสดงแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียงในช่วงปี พ.ศ. 2538-2555

แผนภาพที่ 3
แสดงแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด
เฉพาะภาคเกษตรเปรียบเทียบจังหวัดชัยนาทกับจังหวัดใกล้เคียงในช่วงปี พ.ศ. 2538-2555

แผนภาพที่ 4
แสดงแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด เฉพาะนอกภาคเกษตร
เปรียบเทียบจังหวัดชัยนาทกับจังหวัดใกล้เคียงในช่วงปี พ.ศ. 2538-2555

แผนภาพที่ 5
แสดงแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดชัยนาท
เปรียบเทียบระหว่างภาคเกษตรและภาคนอกเกษตรในช่วงปี พ.ศ. 2538-2555

แผนภาพที่ 6
แสดงแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดชัยนาท
เปรียบเทียบระหว่างเศรษฐกิจในภาคนอกเกษตรในช่วงปี พ.ศ. 2538-2555

แผนภาพที่ 7
แสดงแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด เฉพาะภาคอุตสาหกรรม
เปรียบเทียบจังหวัดชัยนาทกับจังหวัดใกล้เคียงในช่วงปี พ.ศ. 2538-2555

• AUTHOR

 


อรุณ  สถิตพงศ์สถาพร

เศรษฐศาสตร์บัณฑิต และเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Related Posts