Cities Reviews

Vibrant Lampang กลมกล่อมไปกับวัฒนธรรมเมืองลำปาง

 

ณัฐธิดา เย็นบำรุง
จุฑามาศ พูลสวัสดิ์

 

ลำปางเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า 1,300 ปี ครั้งหนึ่งเมืองแห่งนี้เคยมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการค้าไม้สักที่สำคัญของภาคเหนือ ทำให้มีพ่อค้าทั้งจากยุโรป จีนและพม่าหลั่งไหลเข้ามาลงทุนทำธุรกิจมากมาย  ชาวต่างชาติเหล่านี้ได้สร้างอาคารพาณิชย์ ร้านค้า บ้านพักอาศัยของคหบดีและวัดวาอารามกระจายอยู่ทั่วเมืองลำปาง ซึ่งสถาปัตยกรรมเหล่านี้ยังคงไว้ซึ่งร่องรอยการผสมผสานของศิลปวัฒนธรรมหลากเชื้อชาติมาให้เห็นจนถึงทุกวันนี้

วัดวาโบราณอายุนับร้อยปีเป็นโบราณสถานที่สามารถพบเห็นได้ทั่วเมืองลำปาง เฉพาะในเขตเทศบาลนครลำปางที่มีพื้นที่ 22.17 ตารางกิโลเมตร มีวัดมากถึง 47 แห่ง วัดส่วนใหญ่ถูกสร้างและตกแต่งด้วยศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากไทใหญ่ เช่น วัดศรีชุม วัดพม่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีวิหารที่แกะสลักด้วยไม้สักอายุกว่า 150 ปี และวัดปงสนุก สร้างเมื่อ พ.ศ.1223 หรือ 1,337 ปีก่อน เป็นวัดที่ได้รับรางวัลดี (Award of Merit) ด้านการอนุรักษ์มรดกทางด้านวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ตามโครงการ 2008 Asia-Pacific Heritage Award for Cultural Heritage Conservation จากองค์การ UNESCO เป็นต้น นอกจากนี้ เขตเมืองชั้นในของลำปางยังพบอาคารเก่าแก่แบบตะวันตกและแบบจีนที่สวยงามมีเอกลักษณ์กระจายอยู่โดยรอบ เช่น บ้านหลุยส์ เลียวโนเวนส์ เรือนไม้โบราณกึ่งปูนทรงปั้นหยาสองชั้นซึ่งตกแต่งด้วยศิลปกรรมโคโลเนียล อาคารหม่องโง่ยซิ่น เรือนขนมปังขิงหลังคาทรงมะนิลา อาคารเยียนซีไท้ลีกี อดีตห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในย่านตลาดจีน ฯลฯ

 

ภาพลำปางในอดีต (ที่มา: กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล)

 

Civil Movement รื้อฟื้นเสน่ห์วัฒนธรรมลำปาง

กลุ่มคนเล็กๆ ในลำปาง ที่มีความมุ่งมั่น เป็นพลเมืองตื่นรู้ (active citizen) ที่โหยหาเสน่ห์ คุณค่าและวิถีชีวิตอันเป็นจิตวิญญาณของเมือง (spirit of the city) ได้เข้ามาขับเคลื่อนรักษาชุมชนของตนเอง และลุกขึ้นมาสร้างเมืองให้ดีขึ้น ช่วยทำให้เมืองลำปางเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ มีชีวิตชีวาอีกครั้ง

 

 

ฟื้นฟูกาดกองต้า การจัดการพื้นที่สาธารณะของคนลำปาง

คนลำปาง ไม่มีใครไม่รู้จัก กาดกองต้า....

กาดกองต้าถูกรื้อฟื้นมาด้วยโครงการถนนคนเดินกาดกองต้าครั้งแรก พ.ศ. 2541  โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนในช่วงสงกรานต์ พ.ศ. 2548ชาวชุมชนกาดกองต้า ทั้งส่วนกองต้าเหนือ และกองต้าใต้ เข้ามีส่วนร่วมในการจัดการถนนกาดกองต้าอย่างเต็มที่ มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการตลาดโดยคนในชุมชน นำโดยโกชัย-เกียรติชัย มานะศิลป์ และนักประชาสัมพันธ์ ไตรเทพ บุญเฮง ร่วมมือกับกลุ่มนักวิชาการ ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของย่าน ประวัติศาสตร์ของบ้านเรือน ทำให้กาดกองต้าถึงจุดเปลี่ยน กลายเป็นถนนคนเดินกาดกองต้าที่เราเห็นและรู้จักเช่นทุกวันนี้ ทุกเสาร์ – อาทิตย์ จะเห็นการรวมตัวของคนลำปางทั้งพ่อค้า แม่ค้า และคนทั่วไป เดินทำกิจกรรมขายของ จับจ่าย การบริโภคอย่างคึกคักมาก

 

 

เปิดบ้านบริบูรณ์ จุดเด่นกาดกองต้า

กาดกองต้า ไม่ใช่เพียงแค่ตลาด แต่เป็นถนนคนเดินที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมของเมือง โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมที่หลงเหลืออยู่ หนึ่งในนั้น คือ บ้านบริบูรณ์ เดิมบ้านบริบูรณ์เป็นบ้านของ หม่องยี หรือ นายใหญ่ บริบูรณ์ คหบดีชาวพม่าที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในเมืองลำปาง และแม่เลี้ยงป้อม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2461-2471 ให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจของพ่อค้าชาวพม่า ชาวจีน ชาวอินเดีย ที่เข้ามาทำการค้าขายในลำปาง

ปัจจุบันมูลนิธินิยม ปัทมะเสวี ได้เข้าซื้อบ้านบริบูรณ์ ปรับปรุงให้สวยงาม และเปิดบ้านบริบูรณ์เป็นหอศิลป์แห่งที่ 2 ของจังหวัดลำปาง โดยก่อนหน้านี้มูลนิธินิยม ฯ ได้สร้างหอศิลป์แห่งแรก ซึ่งตั้งในกาดกองต้าเช่นเดียวกัน  จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้รู้จักรักและอนุรักษ์ศิลปกรรมของเมือง และที่สำคัญสร้างความภูมิใจในความเป็นเมืองลำปางที่รุ่งเรืองในอดีต โดยไม่แสวงผลประโยชน์หากำไรใดๆ บ้านบริบูรณ์ในฐานะหอศิลป์แห่งที่ 2 พื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกันของคนลำปาง เช่น งานแสดงดนตรี การแสดงสินค้าพื้นเมือง งานเลี้ยง การประชุม งานอบรมต่างๆ เป็นต้น ซึ่งได้รับความสนใจจากทั้งคนลำปาง และคนในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาใช้สถานที่ในการจัดกิจกรรมต่างๆ

จากถนนที่เป็นเพียงที่รองรับการสัญจรของผู้คน ได้กลายเป็นถนนคนเดินขนาดใหญ่ที่ขยายความใหญ่ทั้งสุดถนน ไปตามตรอกซอกซอย ถนนคนเดินกาดกองต้าจึงไม่ใช่แค่การสร้างพื้นที่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการรื้อฟื้นถนนที่แสนธรรมดาให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ สร้างเป็นตลาดนัดที่คนส่วนใหญ่สนใจ และปรับปรุงบ้านหลายหลัง เพื่อเป็นพื้นที่ให้คนได้แสดงออกตามวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นของเมือง กาดกองต้าจึงเป็นพื้นที่สาธารณะที่ช่วยคนลำปางได้พบปะ สร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ช่วยให้ลำปางกลายเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวามากขึ้น

ลำปางวันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตจากความเป็นเมืองสมัยใหม่ที่คืบคลานไปในทุกที่ แต่ถึงกระนั้นพื้นที่เมืองในลำปางบางส่วนเริ่มมีแนวโน้มมุ่งสู่การเป็นเมืองอนุรักษ์ การฟื้นถนนคนเดินกาดกองต้า และการเปิดบ้านบริบูรณ์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการในรื้อฟื้นและรักษาวัฒนธรรมของเมือง ในลำปางยังมีหลายกลุ่มที่มีบทบาทในการรื้อฟื้นและรักษาวัฒนธรรมของเมือง ไม่ว่าจะเป็น  การฟื้นถนนสายวัฒนธรรม ณ ถนนวังเหนือ  การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนปงสนุก  หรือการรวมกลุ่มผลักดันให้ศาลากลางเปลี่ยนเป็นหอศิลป์ลำปาง เป็นต้น

 

ในการพัฒนาเมืองใด ๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่คนในเมืองหันมา เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับเมือง ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับรัฐ หรือต่อรองกับภาครัฐเมื่อมีโครงการที่มีผลกระทบต่อเมือง ท้ายที่สุดจะทำให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของเมือง เป็นเจ้าของเมือง และเมืองจะกลายเป็นเมืองที่ไม่ใช่แค่มีผู้คนอาศัย แต่เป็นเมืองที่มีจิตวิญญาณของผู้คนที่หันมากระทำสิ่งดี ๆ ต่อเมืองร่วมกัน สอดรับกับคำกล่าวของรุสโซ่ว่า “House make a town, but citizens make a city” ซึ่งแปลว่าได้ว่า บ้านทำให้ที่นั้นดูเป็นเมือง แต่พลเมืองต่างหากทำให้ที่นั้นเป็นนครหรือเมืองจริง ๆ 

 

Cultural Mapping โอกาสของเมืองลำปาง

ภายใต้กรอบการทำงานของ UNESCO แผนที่วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการปกป้องรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Safeguard Cultural Diversity) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้อัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งเป็นผลจากการที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูล คนในพื้นที่จึงเกิดความรู้และเข้าใจในมรดกทางวัฒนธรรมของตน เกิดความตระหนัก สำนึกถึงอัตลักษณ์ของชุมชน นำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจและคุณค่าร่วม (Core Value) ในการปกป้องรักษาจารีต ประเพณี วัฒนธรรม และทรัพยากรของชุมชนต่อไป

ปัจจุบัน เมืองลำปางกำลังนำแผนที่วัฒนธรรม (Cultural Mapping) เป็นเครื่องมือสำคัญในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของเมือง เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์วัฒนธรรมและเสริมเสร้างเศรษฐกิจเมืองให้เกิดขึ้น  โดยนำแนวคิดแผนที่วัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้กับ iDiscover City Walks แอปพลิเคชั่นแนะนำเส้นทางเดินเท้าเพื่อเยี่ยมชมย่านเมืองเก่า จัดทำเส้นทางเดินเท้าเพื่อเยี่ยมชมมรดกทางวัฒนธรรมที่กระจายตัวอยู่ในย่านเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของเมือง ซึ่งจำแนกสถานที่ออกเป็น 5 ประเภทคือ แหล่งที่น่าชม(iSEE) แหล่งซื้อสินค้า(iSHOP) แหล่งเครื่องดื่ม(iDRINK) แหล่งอาหาร(iEAT) และแหล่งที่มีเรื่องราวอันน่าประหลาดใจ(iSURPRISE)

 

 

เมืองลำปาง ได้ดำเนินการวางจุดย่านวัฒนธรรม โดยใช้ย่านการค้าเก่าริมแม่น้ำวัง หรือย่านตลาดจีน (กาดกองต้า) (ดูเส้นทางใน ภาพ (ร่าง) เส้นทางเดินเท้า iDiscover City Walks ย่านเมืองเก่าลำปาง)  แม้ปัจจุบันย่านตลาดจีนจะไม่ใช่ย่านการค้าที่สำคัญที่มีความเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟูเหมือนในอดีตเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทว่าผู้คนก็ยังดำรงอยู่ด้วยกิจการเล็กๆ ที่สืบทอดมาแต่ครั้งอดีต จำพวกร้านค้า ร้านอาหาร โดยมีกิจการใหม่ๆ เช่น ร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก ที่พักแรมขนาดเล็ก (Guesthouse) รวมถึง “ถนนคนเดินกาดกองต้า” เป็นศูนย์รวมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้าและจิตวิญญาณของย่านเมืองเก่าลำปางให้คืนมาคึกคักอีกครั้งตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา

ปัจจุบัน เมืองลำปางได้ดำเนินการหาข้อมูล และวางจุดที่ตั้งวัฒนธรรมทั้ง 5 ประเภทเรียบร้อยแล้ว โดยกระบวนการดำเนินงานตั้งแต่สำรวจและสัมภาษณ์ การสังเคราะห์ข้อมูล และการบันทึกข้อมูล กระทำด้วยการมีส่วนร่วมของคนลำปางทุกขั้นตอน และกำลังดำเนินการเพื่อต่อยอดเป็น แอปพลิเคชั่น iDiscover City Walks อย่างเต็มรูปแบบ และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแผนที่วัฒนธรรมดังกล่าว จะช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมให้คนลำปาง รวมถึงคนภายนอกที่สามารถมั่นใจได้เลยว่า ทุกจุดมีคุณค่า มีเรื่องราว เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนลำปางจริง ๆ

 

ภาพ (ร่าง) เส้นทางเดินเท้า iDiscover City Walks ย่านเมืองเก่าลำปาง

ที่มา : Dr.Ester Van Steekelenburg (2016c)

 

ที่มา : Dr.Ester Van Steekelenburg (2016b)

 

 

 

• AUTHOR

 

 

ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

 

 


จุฑามาศ พูลสวัสดิ์

รัฐศาสตร์บัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต จาก NIDA

Related Posts