Cities Reviews

เมืองยะลา กับการสร้างแบรนด์ Bird City

 

อรุณ  สถิตพงศ์สถาพร

 

 

ก่อนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ยะลาเคยเป็นศูนย์กลางในทุกๆ เรื่อง ทั้งศูนย์กลางทางการค้า ศูนย์กลางทางการศึกษา ศูนย์กลางทางการปกครอง ราคาที่ดินสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ เมืองก็เปลี่ยนไป เทศบาลจึงต้องพยายามทำให้สังคมทั้งพุทธ มุสลิม คนจีน เกิดความสงบสุข ไม่ย้ายออกไป กระทั่งสองปีที่ผ่านมา สถานการณ์เมืองยะลาเริ่มดีขึ้นด้วยเหตุผลหลัก 4 ประการ ดังนี้


หนึ่ง กรณีของภาคใต้คล้ายๆ กับกรณีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยล่มสลาย จากการที่โลกอาหรับแตกแยก เริ่มอ่อนแอ ไม่เกิดความเป็นเอกภาพ ส่งผลให้ขบวนการในประเทศไทยอ่อนแอลงเช่นกัน 
สอง ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา คนในพื้นที่เริ่มเปลี่ยนแนวคิด เริ่มสับสนว่าควรจะต้องอยู่ฝ่ายไหนกันแน่ 
สาม โลกโซเชียลมีเดียที่รวดเร็วขึ้น ทำให้ขบวนการก่อการร้ายถูกจำกัดการเคลื่อนไหว ลดโอกาสในการวางคาร์บอมบ์ 
สี่ เมื่อเศรษฐกิจแย่ลง ปากท้องย่อมมาก่อนอุดมการณ์ คนจึงเอาเวลามาทำมาหากิน

 

 

ทำไมเศรษฐกิจยะลาจึงซบเซา

นักธุรกิจท่านหนึ่งเป็นเอเยนต์ของมิซูบิชิในสามจังหวัดกล่าวว่า “ยอดขายในยะลาน้อยกว่านราธิวาสเสียอีก” พอไปดูรายได้ประชาชาติต่อหัวของจังหวัดยะลา พ.ศ. 2555 อยู่ที่ 113,000 บาทต่อคน แต่พอมาถึง พ.ศ. 2558 รายได้ต่อหัวกลับลดลงมากกว่า 24,000 บาทต่อคน เหลือเพียง 89,000 บาทต่อคน ในขณะที่จังหวัดปัตตานีกับนราธิวาส รายได้ต่อหัวลดลงประมาณ 10,000 บาทเท่านั้น เกิดเป็นคำถามว่า เหตุใดรายได้ต่อหัวเมืองยะลาจึงลดลงมากกว่าเมืองอื่นที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเช่นเดียวกัน สรุปออกมาได้ 3 ประการ ดังนี้


เหตุผลแรก คือ รูปแบบการคมนาคมของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เมืองยะลาเป็นชุมทางรถไฟเช่นเดียวกับเมืองทุ่งสง พอสายการบินโลว์คอสต์เข้ามา ถนนหนทางดีขึ้น คนก็ใช้ระบบรางน้อยลง ทำให้ความเป็นศูนย์กลางของเมืองยะลาที่คนต้องเดินทางมาขึ้นรถไฟที่ยะลาหายไปหมด 
เหตุผลที่สอง คือ โครงสร้างเศรษฐกิจยะลาพึ่งพิงยางพารากับผลไม้มาก ในขณะที่ปัตตานีมีประมง และนราธิวาสมีด่านการค้าชายแดนมากถึง 3 ด่าน (ตากใบ บูเก๊ะตาและสุไหงโกลก) แม้ยะลาจะมีด่านเบตง แต่เมืองเบตงก็อยู่ห่างจากตัวเมืองยะลาและเดินทางไปลำบากมาก ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างเบตงกับยะลาจึงไม่มีผลต่อกันมาก 
เหตุผลที่สาม คือ ยะลามีจำนวนประชากรเพียง 520,000 คน น้อยกว่าปัตตานีที่มี 700,000 คน และนราธิวาสที่มี 790,000 คน เพราะฉะนั้น ในแง่ของการบริโภคครัวเรือน ซึ่งในอดีตไม่ค่อยเห็นได้ชัด เพราะคนสามจังหวัดส่วนใหญ่ต้องมาใช้จ่ายที่ยะลาเป็นหลัก ต่างกับปัจจุบันที่แต่ละเมืองต่างมีสนามบินของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งเมืองศูนย์กลางแล้ว พลังของการบริโภคครัวเรือนของเมืองอื่นจึงเห็นชัดขึ้น จำนวนประชากรจึงเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจเมือง กล่าวคือ เมืองไหนมีคนเยอะ การจับจ่ายใช้สอยก็มากตามไปด้วย

 

 
ทุนของเมืองยะลา
 
หลังจากทราบเหตุผลแล้ว เราก็ต้องหาวิธีฟื้นเมือง แต่พอไปเชิญสถาบันไหนมาช่วยยะลาก็ไม่ค่อยมีใครมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาคใต้ถูกผูกขาดทางวิชาการไว้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มากเกินไป ทำให้หลายเมืองขาดแคลนความรู้ทางวิชาการที่คอยสนับสนุนช่วยเหลือประชาชน เราจึงต้องพึ่งตัวเองโดยเริ่มจากการหาทุนที่เรามีที่เป็นทุนของท้องถิ่นเอง แล้วสรุปออกมาเป็นทุนของเมืองยะลา 5 ประการ ดังนี้


หนึ่ง ความสะอาด เพราะคนมักพูดถึงว่ายะลาเป็นเมืองสะอาด
สอง ความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะเรามีผังเมืองที่ดี ถูกจัดระเบียบมาเป็นอย่างดี 
สาม ความอุดมสมบูรณ์ เพราะยะลาปลูกผลไม้อะไรก็อร่อย โดยเฉพาะลองกอง ส้มโชกุน ทุเรียนหนามดำ กล้วยหิน อีกทั้งเมล็ดกาแฟโรบัสต้าและไม้ยางยะลาก็คุณภาพดีที่สุด
สี่ การศึกษา ในภาคใต้ ยะลาอาจเป็นจังหวัดเดียวที่มีการศึกษาครบทุกด้าน โรงเรียนตำรวจ วิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยสาธารณสุข โรงเรียนกีฬา ซึ่งเป็นอานิสงส์มาจากการที่เมืองยะลาเป็นชุมทางรถไฟมาตั้งแต่อดีต 
ห้า วัฒนธรรม คือ การอยู่ร่วมกันระหว่างชาวไทยพุทธ มุสลิม ไทยจีน

 

ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองยะลา

หนึ่ง ปรับโครงสร้างทางโลจิสติกส์ (Restructuring of Logistics System) มุ่งให้ยะลากลับมาเป็นเมืองศูนย์กลางให้ได้ ไม่ว่าจะทำศูนย์กระจายสินค้า ตัดถนน ทำรถไฟทางคู่ โดยเน้นให้สามจังหวัดชายแดนใต้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจก่อน แล้วค่อยเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น

สอง ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (Restructuring the Economy) โดยเริ่มจากทุนความสะอาดที่คนต่างพากันอยากมาดูงานที่ยะลา ส่งเสริมให้ประชาชนลุกขึ้นมาดูแลความสะอาด โดยไม่ต้องไม่มีเทศบาลมากำกับ พร้อมกันนั้นก็พยายามให้บริการสาธารณะอยู่ภายใต้เทศบาล ไม่ปล่อยให้บริษัทหรือหน่วยงานใดมาเป็นเจ้าของ มิเช่นนั้นประชาชนก็จะถูกเก็บค่าธรรมเนียมตลอด ซึ่งจะกระทบความได้เปรียบทางการแข่งขันและรายได้ของเมือง
ในขณะเดียวกัน ทุนความอุดมสมบูรณ์ที่เรามีก็ต้องฟื้นมันขึ้นมา ยะลาจึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่วิจัยพืชผลไม้ที่เป็นอัตลักษณ์ของยะลา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำนองเดียวกัน เราก็ทำแบรนด์ของเมืองในนามว่า เมืองแห่งนก (Bird City) ยะลาจัดงานแข่งนกเขาเหมือนจัดโอลิมปิก เป็นงานแข่งขันนกเขาที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีนกเข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 3,000 ตัว แต่ละตัวมีมูลค่าเป็นหลักล้านบาท นี่คือสิ่งที่เราพยายามสร้างแบรนด์ให้กับเมือง สุดท้ายในอนาคต ผมตั้งเป้าหมายให้ยะลาเป็นเมืองสันติสุข (Harmonized City) ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ จนนำไปสู่ความยั่งยืน

สาม ปรับภาพลักษณ์ (Reimage) เนื่องจากเมืองยะลายังมีปัญหาภาพลักษณ์ พอพูดถึงยะลาคนก็ยังกลัว จึงต้องปรับภาพลักษณ์เมืองยะลาให้ดีขึ้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขั้น คือ

ขั้นที่หนึ่ง คิดใหม่ (Rethink) เริ่มจากทำให้คนในไม่กลัวก่อน เราที่เป็นผู้นำต้องทำให้เห็น เช่น ปั่นจักรยานพาชาวบ้านเข้าป่าไปทำฝายมีชีวิต ไปปลูกต้นไม้ พอทำบ่อยครั้งเข้า ทัศนคติคนเรามันก็เริ่มเปลี่ยน ความรู้สึกที่เขากลัวบ้านเขาเองก็เริ่มหาย จากนั้นก็พยายามปรับความคิดของคนภายนอก เวลาจัดกิจกรรมก็ถ่ายทอดสดลงเฟซบุ๊กทำให้เห็นกันทั่วโลก ขั้นที่สอง ทำให้เมืองสดใหม่ (Refresh) เพื่อให้เมืองคึกคัก มีความหมาย สดชื่น เช่น การติดไฟ LED ทั่วเมือง ปกติเรามองว่าไฟมีประโยชน์แค่ให้แสงสว่าง แต่ในมุมมองของ Light Planner เขามอง 5 ด้าน ได้แก่ ความปลอดภัย ความสวยงาม ความเหมาะสม ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และความสะท้อนถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น พอทุกคนมาดูไฟก็ต้องมาดูกลางคืน ต้องมาพักค้างคืน เศรษฐกิจเมืองก็เกิด ขั้นสุดท้าย จัดกิจกรรมใหม่ (Reevents) เมืองยะลารับเป็นเจ้าภาพทุกกิจกรรม พร้อมทั้งมอบทุนให้นักธุรกิจรุ่นหนุ่มสาวไปลงทุน เช่น ทำสตรีทอาร์ต จุดมุ่งหมายหลักคืออยากได้ไอเดียจากคนหนุ่มสาวและอยากสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของเมืองให้กับเขา

 

 

 

• AUTHOR

 


อรุณ  สถิตพงศ์สถาพร

 

เศรษฐศาสตร์บัณฑิต และเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Related Posts