Cities Reviews

โครงการเมืองต้นแบบปัตตานีจายา... เมืองแห่งความหวัง

 

อนันญลักษณ์ อุทัยพิพัฒนากุล

 

มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มีแผนในการสร้างเมืองใหม่ “ปัตตานีจายา” ให้เป็นเมืองต้นแบบและเป็น ศูนย์กลางของชุมชนศาสนาอิสลาม (Islamic Center) รวมถึงเป็นเมืองแห่งการศึกษาที่ในอนาคตจะเป็นที่ตั้งของวิทยาเขตใหม่และเป็นวิทยาเขตหลักของมหาวิทยาลัยฟาฏอนีในอนาคต โครงการปัตตานีจายามีพื้นที่กว่า 1,300 ไร่ หรือใหญ่กว่าวิทยาเขตปัจจุบันถึง 5 เท่า คาดการณ์ว่าเมื่อการดำเนินการสร้างเสร็จสิ้น จะมีจำนวนผู้อาศัยภายในไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นคน ทั้งนี้ผู้อาศัย ส่วนมากมีทั้งอาจารย์ นักศึกษา บุคลากรและประชาชนทั่วไป โดยมีกติกาของชุมชนร่วมกัน คือ ทุกคน ต้องมีคุณธรรมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

 

จุดประสงค์ของการสร้างโครงการ

ด้วยเจตนารมย์ของท่านอธิการมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะ ปะกียา ที่ต้องการสร้างเมืองใหม่ปัตตานีจายาให้เป็นเมืองต้นแบบที่ทุกคนต้องหันมามอง เนื่องจากภาพของเมืองปัตตานีทุกวันนี้มันสร้างใหม่ไม่ได้แล้ว มีแต่ภาพของอบายมุข ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อของมหาวิทยาลัยจากเดิม คือมหาวิทยาลัยอิสลามยะลามาเป็นมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เนื่องจากคนโดยส่วนมากมักมีความเข้าใจผิดว่ามหาวิทยาลัยอิสลามยะลาเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนแต่ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามล้วน ๆ โดยชื่อมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ที่เป็นชื่อใหม่นี้มีความหมายที่กว้างกว่า แปลว่า สันติสุข การสร้างมหาวิทยาลัยฟาฏอนีที่ปัตตานีจึงหมายถึงการนำเอาสันติสุขมาสู่ปัตตานี

นอกเหนือจากนี้ อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ต้องไปสร้างวิทยาเขตใหม่ เพราะสถานที่ตั้งของวิทยาเขตในปัจจุบันอยู่ในทำเลที่ค่อนข้างห่างไกลจากตัวเมือง กอปรกับสถานการณ์ความไม่สงบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงทำให้ยากต่อการเข้าถึงของคนนอกและคนต่างศาสนิก

 

 

การจัดแบ่งพื้นที่ภายในโครงการ

ขณะนี้ ได้มีแผนในการการจัดแบ่งพื้นภายในตามประเภทการใช้สอย ดังนี้

  1. พื้นที่เพื่อการศึกษาและการวิจัย โครงการปัตตานีจายา เป็นสถานที่ตั้งของวิทยาเขตใหม่และเป็นวิทยาเขตหลักของ มหาวิทยาลัยฟาฏอนีในอนาคต ทั้งนี้ภายในยังถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่เพื่อการศึกษาและการวิจัย ในศาสตร์ด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    การวิจัย

    ทางมหาวิทยาลัยฟาฏอนีมีโครงการสร้างสถาบันวิจัย (Research Center) ที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามที่ใหญ่ที่สุด โดยมีแผนการที่จะสร้างมูลนิธิสถาบันวิจัยพัฒนา Research & Development (R&D) เรียกว่า ADRI เป็นภาษาอาหรับ หมายถึงความรู้ เป็นความรู้ที่มาจากการทำวิจัย โดยมีการวางกรอบที่จะศึกษาและสังเคราะห์งานวิจัยในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงมีการรวบรวมความรู้จากการเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในและนอกพื้นที่มาประชุม เพื่อตอบโจทย์สังคมและสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน

     

    ในด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนีมีแผนการวิจัยพัฒนาและผลิตสินค้าฮาลาลที่ถูกต้องตามศาสนาอิสลามและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่น อาหารฮาลาลปลอดสารพิษ โดยจะมีศูนย์วิจัยทางด้านเกษตร ทำหน้าที่ช่วยเหลือในการผลิตสินค้าดังกล่าว

    การศึกษา

     

    นอกจากโครงการจัดทำสถาบันวิจัย (Research Center) แล้ว มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ยังได้มีการจัดแบ่งพื้นที่เพื่อการศึกษาในศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งสถาบัน วิทยาศาสตร์ (Science Campus) สถาบันเทคโนโลยี สถาบันภาษา (Language Center) เป็นต้น ทั้งนี้ ได้มีการปรับหลักสูตรใหม่โดยเน้นไปที่การทำให้นักศึกษาสามารถประยุกต์ศาสตร์ต่าง ๆ ที่เรียนมาสู่การปฏิบัติงานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น

    • หลักสูตรวิศวกรชุมชน เป็นหลักสูตรที่กำหนดให้นักศึกษาทดลองปฏิบัติงานในชุมชนปัตตานีจายาเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อเรียนรู้แนวทางการทำงานและการบริการชุมชน
    • หลักสูตรศึกษาศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงแค่บุคคลในศาสนาอิสลามหรือคนในพื้นที่สามจังหวัดเท่านั้น แต่ยังเปิดให้คนนอกพื้นที่สามารถเข้ามาเรียนอีกด้วย ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยมีความประสงค์ในการผลิตครูเพื่อตอบสนองต่อครูมุสลิมที่ค่อนข้างขาดแคลน โดยคุณสมบัติของบัณฑิตที่จบมาจะต้องเป็นครูที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง ให้กับสังคมในทางที่ดีขึ้นได้

  2. พื้นที่พักอาศัย  โครงการสร้างพื้นที่พักอาศัยเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนเพื่อหารายได้ของทางมหาวิทยาลัย เนื่องจากในสภาวะปัจจุบัน มหาวิทยาลัยฟาฏอนีประสบภาวะขาดทุนค่อนข้างมาก ทั้งนี้เพราะชาวอิสลามส่วนมากมักคุ้นชินกับการเรียนการสอนในรูปแบบของโรงเรียนสอนศาสนาหรือปอเนาะห์ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 9-11 การรับเงินช่วยเหลือด้านการศึกษาจากประเทศทางแถบตะวันออกกลางนั้นค่อนข้างยุ่งยาก

     

     

     

    ทั้งนี้ มีโครงการในการจัดทาพื้นที่พักอาศัยจานวน 8 ชุมชน ทั้งหมด 3,000 ยูนิต โดยกำหนดราคาบ้านทาวน์เฮาส์ (Town House) อยู่ที่ประมาณแปดแสนบาท ภายในมีพื้นที่ ประมาณ 5 คูณ 15 ตารางเมตร มีทั้งหมด 2 ชั้น มี 1 ห้องนอน แต่ในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงพิจารณาปรับแผนการสร้างใหม่ โดยพยายามสร้างบ้านให้มี 3 ห้องนอน เพราะบ้านที่มีลักษณะ 1 ถึง 2 ห้องนอนนั้นเป็นลักษณะที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม โดยห้องนอนแรกเป็นห้องของบิดามารดา ห้องนอนที่สองเป็นห้องนอนของลูกสาว และห้องนอนที่สามเป็นห้องนอนของลูกชาย

    นอกจากนี้ ยังมีโครงการไทม์แชร์ (Time Share) เป็นโครงการที่ให้คนที่ทำงานหรืออาศัยในต่างประเทศกลับมาเป็นแรงงานสำคัญในการทุ่มเทและถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง โดยโครงการไทม์แชร์ มีแผนในการจัดสรรบ้านหนึ่งหลังให้แก่เจ้าของร่วมกัน 3 ถึง 4 คน โดยทางโครงการจะช่วยจัดตารางเวลาที่เจ้าของบ้านแต่ละคนกลับมาอาศัย ซึ่งในช่วงเวลาที่ไม่มีเจ้าของบ้านคนใดกลับมา ก็จะทำการจัดสรรให้คนอื่นมาเช่าอยู่แทน

    สำหรับโครงการสร้างพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ก็ให้ความสำคัญเพื่อเติมเต็มการเป็นเมืองต้นแบบได้อย่างสมบูรณ์ อาทิ สถานพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ศาสนสถาน ฯลฯ ทั้งนี้ โครงการปัตตานีจายายังเหมาะกับบุคคลภายนอกศาสนาอิสลามที่มีความประสงค์ในการดำเนินชีวิตภายใต้หลักการของศีลธรรมอีกด้วย

     

    บทส่งท้าย

     

    ในท้ายที่สุด การที่จะสร้างโครงการปัตตานีจายาให้เป็นเมืองต้นแบบได้อย่างประสบความสำเร็จ ปัจจัยหนึ่งคือ การช่วยกันนำพาสันติภาพและสันติสุขให้กลับมาสู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ เมื่อทำสำเร็จ การดำเนินกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ก็จะเป็นไปได้ตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ คาดหวังว่าโครงการปัตตานีจายาจะเป็นโครงการเมืองต้นแบบที่แสดงให้ทุกคนได้เห็นถึงเมืองแห่งสันติสุข เมืองแห่ง คุณธรรม เมืองแห่งความหวังของคนทุกคน

 

 

• AUTHOR

 


อนันญลักษณ์  อุทัยพิพัฒนากุล

รัฐศาสตร์บัณฑิต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Related Posts