Cities Reviews

นครเชียงราย มหาวิทยาลัยวัยที่สาม พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในเมือง

 

ณัฐธิดา  เย็นบำรุง

 

มหาวิทยาลัยวัยที่สาม  ชื่อแปลกตาที่ทำให้ทีมงานศูนย์เมืองฯ  ต้องลงพื้นที่ไปศึกษา มหาวิทยาลัยวัยที่สาม เป็นศูนย์กลางและพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ จุดเด่นของการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุของนครเชียงราย เราได้ฟังการบรรยายและจาก คุณพรทิพย์ จันทร์ตระกูล รักษาการผู้อำนวยการกองแพทย์ เทศบาลนครเชียงราย ผู้เป็นแกนนำหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยวัยที่สามตั้งแต่จุดเริ่มต้นร่วมกับภาคประชาชน จนวันนี้ผ่านมาเพียงแค่ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559 มหาวิทยาลัยวัยที่สามแห่งนี้กลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของหลายหน่วยงานที่สนใจนำไปเป็นต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุในเมืองของตนเอง

 

ภาพ คุณพรทิพย์ จันทร์ตระกูล รักษาการผู้อำนวยการกองแพทย์ เทศบาลนครเชียงราย

 

จุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยวัยที่สาม

ในปี 2559 รัฐบาลกำหนดให้มีการเตรียมความพร้อมสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในเขตเทศบาลนครเชียงราย ก็เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ มี 64 ชุมชน ประชากรประมาณ 70,000 คน มีผู้สูงอายุประมาณ 13,000 คน เกือบ 17 เปอร์เซ็นต์ของเมือง  เทศบาลนครเชียงรายในฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงต้องให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุและผู้พิการให้มากขึ้น  ในขณะนั้น มหาวิทยาลัย มศว.ประสานมิตร ประกอบด้วย คณะแพทย์ศาสตร์ คณะพยาบาล และคณะศึกษาศาสตร์ สนใจหาพื้นที่พัฒนาผู้สูงอายุ จึงเข้ามาร่วมกับพื้นที่นครเชียงราย สถาบันการศึกษาจึงเข้ามาจุดประกาย อบรมเกี่ยวกับ ความรู้เรื่องนโยบายโรงเรียนผู้สูงอายุ การทำงานผู้สูงอายุ  ให้แก่ทีมงานเทศบาล และตัวแทนผู้สูงอายุจากชุมชนในเขตเทศบาลทั้งหมด 64 ชุมชน

หลังจากที่สถาบันการศึกษาได้เข้ามาจุดประกายความคิดการดูแลผู้สูงอายุแล้ว   ทางเทศบาลจึงขับเคลื่อนงานร่วมกับตัวแทนผู้สูงอายุทั้ง 64 ชุมชน ซึ่งทุกคนมีความประสงค์อยากสร้างพื้นที่กลางแห่งการเรียนรู้ของผู้สูงอายุที่เหมาะกับผู้สูงอายุ กลุ่ม active ageing  เทศบาลนครเชียงรายมีนโยบายจัดตั้งมหาวิทยาลัยวัยที่สาม นครเชียงราย เหตุที่ชื่อมหาวิทยาลัยวัยที่สาม เกิดจากการที่เทศบาลฯ ไปดูงานที่ มศว.องครักษ์ พบว่า ทั่วโลก มีการใช้ชื่อว่า university of third age    จึงอยากตั้งชื่อดลใจให้คนมาเรียน อันที่จริงมหาวิทยาลัยวัยที่สามก็คล้ายกับโรงเรียนผู้สูงอายุ แต่มีจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างและจริงจัง  เทศบาลฯ คาดหวังว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาทักษะ ศักยภาพ คุณภาพชีวิตของผู้อายุในทุกๆ ด้าน ให้มีความเข้มแข็ง เป็นประโยชน์สูงสุด เกิดความรู้สึกมีคุณค่ามีศักดิ์ศรี มีกำลังใจในการดำรงชีวิต ร่วมกับภาคประชาชนซึ่งแล้วแต่เป็นผู้สูงอายุที่มีจิตอาสา เข้ามาขับเคลื่อน บริหาร และวางกระบวนการร่วมกัน โดยมหาวิทยาลัยวัยที่สามใช้สถานที่ศูนย์ O-TOP เก่า ปรับปรุงโครงสร้างให้กลายเป็นลานใหญ่และห้องเรียนขนาดเล็กอีกหลายสิบห้อง

 

 

การบริหารจัดการมหาวิทยาลัยวัยที่สาม

โครงสร้างการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยวัยที่สาม ใช้ระบบคล้ายกับสภามหาวิทยาลัย  โดยเทศบาลนครเชียงรายเป็นฝ่ายหนุนเสริม มีฝ่ายรับผิดชอบ 3 กอง คือ 1 กองการแพทย์ ซึ่งแยกตัวออกมาจากกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชนในเมืองทุกด้าน ในขณะที่กองสาธารณะสุขทำหน้าที่ดูแลสิ่งแวดล้อมแทน  2. กองสวัสดิการและสังคม 3. กองการศึกษา ก่อนหน้านี้ทั้ง 3 กองทำหน้าที่แยกส่วน ต่างคนต่างขับเคลื่อน แต่ปัจจุบันมีการออกแบบโครงสร้างใหม่ให้ทั้ง 3 กอง มาทำงานร่วมกัน  ทั้ง 3 กองจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายหนุนเสริมโครงสร้างของภาคประชาชน

สภามหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งภาคประชาชนขึ้นมาขับเคลื่อนหลัก เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยมีคุณป้าอุบลวรรณ  แสนมหายักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา มาช่วยขับเคลื่อน พร้อมด้วยคณะกรรมการภาคประชาชนอีก 15 คน ที่เข้ามาทำงานด้วยจิตอาสาอย่างขันแข็ง ไม่มีเงินเดือน คณะกรรมการภาคประชาชนจึงประกอบด้วยหลายภาคส่วน เช่น ผู้เกษียณ ประธานชุมชน อสม. ปราชญ์ชาวบ้าน

 

 

ในส่วนของอาจารย์ วิทยากร มหาวิทยาลัยที่สามได้เชิญอาจารย์มาทุกภาคส่วน ทั้งจากสถาบันการศึกษา ผู้สูงอายุ และปราชญ์ในชุมชน โดยมีคณะกรรมการดูแลทุกหลักสูตร  โดยเทศบาลอุดหนุนเงินค่าจ้างวิทยากรให้ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ  ในส่วนอุปกรณ์การเรียนการสอน และวัตถุดิบให้ผู้สูงอายุเอามาเรียนด้วยตนเอง เทศบาลไม่ได้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

งบประมาณในการดูแลมหาวิทยาลัยวันที่สาม มาจากสามส่วน คือ  เทศบาลนครเชียงราย  ใจกล้า (องค์กรญี่ปุ่น) ได้คัดเลือกเทศบาลนครเชียงราย เป็นหนึ่งใน 6 เมือง ให้เป็นเมืองต้นแบบการดำเนินผู้สูงอายุ  และกองทุน สปสช. งบประมาณต่อปีในการดูแล รับผิดชอบโดยสำนักงานการศึกษา ใช้ประมาณ 5 ล้านต่อปี ในการดูแลวิทยากร ค่าบริหารจัดการ

 

หลักสูตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

มหาวิทยาลัยวัยที่สามแห่งนี้ เรียนตั้งแต่วันจันทร์ ถึงวันเสาร์ จัดให้มีการเรียนการสอนแบบองค์รวม ประกอบไปด้วย หลักสูตรศาสนา   หลักสูตรสิ่งแวดล้อม หลักสูตรศิลปวัฒนธรรม หลักสูตรสังคมและความสุข หลักสูตรสุขภาพ หลักสูตรการท่องเที่ยว หลักสูตรศึกษาและเทคโนโลยี  หลักสูตรเศรษฐกิจ  โดยวิชาย่อยๆ ก็จะประกอบไปด้วย  อาทิ การเรียนรู้องค์กรสุขภาวะ ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น การเรียนแผนที่ภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ การเรียนทำสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ และที่สำคัญคือการเรียนรู้แบบไอทีด้วยห้องคอมพิวเตอร์เพื่อการสื่อสาร การเรียนการสอนทั้งหมดได้รับการสนับสนุนและออกแบบหลักสูตรร่วมกับของคณะกรรมการภาคประชาชน และร่วมออกแบบและตรวจสอบจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ความสามารถในทุกๆ ด้านอีกด้วย

 

 

การกระจายสาขาย่อยของมหาวิทยาลัยวัยที่สาม

หลังจากเปิดมหาวิทยาลัยได้สักระยะ  ทางเทศบาลฯ ได้เชิญมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายร่วมประเมินผลมหาวิทยาลัย พบว่า ผู้สูงอายุ มีค่าเดินทางไปกลับ  วันละ 120 บาท เพื่อมามหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง อีกทั้งผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีฐานะ บ้านอยู่ไกล ก็ไม่สามารถมาร่วมได้ เทศบาลนครเชียงรายและกรรมการสภามหาวิทยาลัย มองว่า มหาวิทยาลัยวัยที่สาม ไม่ควรมีจุดเดียว จึงสร้างศูนย์การเรียนรู้ เป็นสาขาย่อยของมหาวิทยาลัย โดยใช้งบประมาณ ของ สสส. ในโครงการระบบการพัฒนาดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์นครแห่งความสุข  5 โซน  ทั่วเทศบาลนครเชียงราย  ใช้พื้นที่วัด โรงเรียนในโซนนั้นๆ  เพื่อไม่ต้องลงทุนด้านกายภาพใหม่

วิทยาเขต 5 โซน มีดังนี้ โซน 1 วัดดอยตอง โซน 2 วัดศรีบุญเรือง โซน 3 วัดคีรีชัย (ดอยสะเก็น) โซน 4 โรงเรียนเทศบาล 4 โซน 5 วัดเชียงยืน  ในการบริหารแต่ละวิทยาเขต มีคณะกรรมการวิทยาเขตนั้นๆ  บริหารจัดการ

 

แผนพัฒนาแบบบูรณาการ การดูแลสุขภาพสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวัยที่สาม อยู่ในช่วงเริ่มต้น และการพัฒนามหาวิทยาลัย เทศบาลฯ จึงเป็นแหล่งทุนและกำลังสนับสนุนที่สำคัญ  ในอนาคต เทศบาลคาดหวังว่า ชาวบ้านต้องพึ่งพาตัวเองได้  ระดมทุนด้วยตนเองได้ มีงบประมาณเป็นของตัวเอง  บริหารจัดการด้วยตนเองได้ 100 เปอร์เซ็นต์  เทศบาลนครเชียงรายมีแผนการทำงานบูรณาการ ไม่เพียงแค่ให้ผู้สูงอายุมาเรียนเท่านั้น แต่ยังต้องการต่อยอดเป็นอาชีพ สร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ด้วย

ศูนย์การเรียนรู้ ทั้ง 5 โซนย่อย มีต้นทุนผู้สูงอายุต่างกัน มีบริบททีแตกต่างกัน วิธีคิดอาจจะแตกต่างกับเขตเมือง ทั้ง 5 โซนจึงออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ตนเอง บางโซนมีชนกลุ่มน้อย ชนเผ่า ก็จะมีหลักสูตรเพื่อชนเผ่าด้วย  ในด้านการฝึกอาชีพ แต่ละโซนก็มีจุดเด่นทางวัฒนธรรมและสินค้าที่แตกต่างกันไป ผลิตภัณฑ์ของแต่ละโซนก็แตกต่างกัน โซนทั้ง 5 นี้จึงเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ เทศบาลฯ จึงวางแผนให้นักท่องเที่ยวขึ้นรถรางของเทศบาล ได้เยี่ยมชมพื้นที่เหล่านี้  โดยมีมักคุเทศน์ผู้สูงอายุถูกฝึกมาเพื่อบรรยายจุดเด่นของแต่ละศูนย์ รองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยว  คาดหวังว่าหากนักท่องเที่ยวมีมาเยี่ยมเยียนตลอดก็จะซื้อสินค้าของนักเรียนผู้สูงอายุที่ผลิตออกมา สร้างงาน สร้างอาชีพได้  แม้กระทั่งผู้สูงอายุที่ผลิตสินค้าในบ้าน  ไม่มีแหล่งขาย ก็สามารถนำมาวางจำหน่ายตามศูนย์ต่างๆ ได้ เป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจในการรวมกลุ่มอาชีพของคนในเมือง หากพื้นที่ทั้ง 5 สามารถกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการซื้อขายสินค้า  ประชาชนก็จะพึ่งตนเอง และสามารถออกแบบการบริหารจัดการตนเองในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น มูลนิธิ หรือสมาคม โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินจากเทศบาลหรือแหล่งทุนด้านนอกได้

 

 

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยวัยที่สามเปิดสอนผู้สูงอายุมาแล้ว 3 รุ่น รุ่นที่ 1 มีประมาณ 340 คน รุ่นที่สองมีประมาณ 500 คน และรุ่นที่สามที่กำลังเรียนอยู่อีกประมาณ 500 คน มีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกเทอม เรียกได้ว่าเป็นที่สนใจของผู้สูงอายุในเมืองเป็นอย่างยิ่ง

ในช่วงท้ายของการสนทนา คุณพรทิพย์ มองว่าความสำเร็จอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยวัยที่สาม คือเรื่อง การมีส่วนร่วมภาคจิตอาสา เพราะที่ผ่านมาประชาชนมีส่วนร่วมในเมืองน้อย เมื่อประชาชนมาเป็นส่วนหนึ่งในก่อตัวและขับเคลื่อนงาน จึงเกิดความภูมิใจในตัวเอง ยิ่งตอนที่แต่ละคนได้รับใบปัญญาบัตรจบการศึกษายิ่งภูมิใจ  มหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่มีการวัดผลแบบการสอบ ที่ผู้สูงอายุต้องได้คะแนนสูงๆ  แต่เราวัดผลได้ คือ กลุ่มผู้สูงอายุแหล่านี้สามารถไปเป็นต้นแบบการดูแลตนเอง ขยายงานเล่าให้ลูกหลานฟัง และมีอายุยืน มีสุขภาพทั้งจิตและกายที่ดีเยี่ยม เป็นความสำเร็จสำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

 

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

Related Posts