Cities Reviews

เมืองมหาวิทยาลัย กรณีศึกษาพิษณุโลก

 

อรุณ  สถิตพงศ์สถาพร

 

ในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคกว่า 60 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 122 แห่ง แบ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จำนวน 16 แห่ง มหาวิทยาลัยของรัฐ จำนวน 65 แห่ง และมหาวิทยาลัยของเอกชนอีกจำนวน 41 แห่ง นอกจากนี้ยังมีสถาบันและวิทยาลัยซึ่งไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ด้วย การมีมหาวิทยาลัยอยู่ในจังหวัดนั้นทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่มักจะเป็นคนต่างถิ่นที่ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอาศัยอยู่ในหอพักบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัย เช่น เทศบาลตำบลหลักหกซึ่งมีมหาวิทยาลัยรังสิตตั้งอยู่นั้น จำนวนประชากรในเขตเทศบาลมีแนวโน้มสูงขึ้น เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า การก่อตั้งมหาวิทยาลัยจะทำให้เกิดการขยายตัวของเมืองขึ้น

นอกจากเมืองมหาวิทยาลัยจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองแล้ว เมืองมหาวิทยาลัยยังมีผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบในหลาย ๆ ด้าน ทั้งทางพื้นที่ สังคม เศรษฐกิจและการเมือง บทความชิ้นนี้จึงสนใจที่จะวิเคราะห์ผลกระทบจากการตั้งมหาวิทยาลัยที่มีต่อเมืองโดยรอบ โดยศึกษาจากงานวิจัยของวิติยา (2555) เรื่อง โครงการผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองมหาวิทยาลัยต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุมชนโดยรอบ กรณีศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก[1]

งานวิจัยดังกล่าวได้ทำการศึกษาใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก ผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองมหาวิทยาลัย โดยใช้วิธีศึกษาเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศ ข้อมูลด้านประชากร จำนวนสิ่งปลูกสร้างและสถานประกอบการ โครงข่ายถนน เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ประเด็นที่สอง ศึกษาและวิเคราะห์ผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน การบังคับใช้ และการนำไปปฏิบัติ รวมทั้งแผนพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ศึกษา เพื่อแสดงให้เห็นผลกระทบในภาพรวม

 

การเปลี่ยนแปลงของเมืองที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย

การเปลี่ยนแปลงจากการขยายตัวของเมืองมหาวิทยาลัย กรณีศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในหลายมิติ ได้แก่ ความหนาแน่นของประชากรเพิ่มขึ้นเช่น จากปี พ.ศ. 2553 ข้อมูลความหนาแน่นประชากรตำบลท่าโพธิ์อยู่ที่ประมาณ 185 คน/ตารางกิโลเมตร ต่อมาปี พ.ศ. 2555 ความหนาแน่นของประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 290 คน/ตารางกิโลเมตร เป็นต้น จำนวนที่พักอาศัยและอาคารร้านค้าหนาแน่นขึ้น อีกทั้งปริมาณการจราจรก็เพิ่มสูงขึ้น, การใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน, การเกาะกลุ่มเป็นย่านของกิจกรรมต่างๆ, การเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วถึงยิ่งขึ้นจากการพัฒนาโครงข่ายถนน, การสัญจรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าถึงได้น้อยลง เช่น ทางเท้าและทางจักรยาน, การขยายพื้นผิวสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง พื้นที่เพาะปลูกสำหรับการเกษตรลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม แม้ผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองมหาวิทยาลัยในพื้นที่กรณีศึกษานั้นจะเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ส่งผลให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสม แต่หากพิจารณาในมิติทางกายภาพ สังคมและเศรษฐกิจแล้ว จะพบว่ามหาวิทยาลัยมีผลกระทบทางบวกต่อเมืองและชุมชนโดยรอบเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น จากการที่โครงข่ายถนนมีการปรับปรุงพัฒนาและมีความครอบคลุมทั่วถึงทั้งเมืองมากขึ้น ในภาพที่ 1 จะเห็นได้ว่าภาพขวานั้นมีโครงข่ายถนนเพิ่มขึ้นและชุมชนแออัดมากขึ้นจากเดิมในภาพซ้าย ทำให้ชาวบ้านเกิดความสะดวกสบาย เข้าถึงความเจริญได้ง่ายขึ้น ความเป็นเมืองจึงกระจายสู่หมู่บ้านและชุมชน และอาจส่งผลกระทบให้ราคาที่ดินสูงขึ้นอีกด้วย ส่วนในแง่ของเศรษฐกิจ จะเห็นได้ชัดจากการที่มีสิ่งปลูกสร้าง อาคารที่พัก ร้านค้า รวมไปถึงแผงลอยบริเวณมหาวิทยาลัยเพิ่มสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงอัตราการจ้างงานที่สูงขึ้น นั่นคือชาวบ้านมีงานทำและมีรายได้ ไม่จำเป็นต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปหางานทำในเมือง อีกทั้งยังส่งผลให้เศรษฐกิจจังหวัดเติบโตและเกิดการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค

 

ข้อเสนอแนะ

เนื่องจากงานวิจัยเป็นมุมมองด้านผังเมืองที่ให้ความสำคัญกับปัญหาการจัดการที่ดิน จึงพบว่า สาเหตุนั้นเกิดจากข้อจำกัดในการบังคับใช้ประโยชน์ที่ดิน และข้อจำกัดของแผนพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ โดยแบ่งเป็น 3 หลักการ ดังนี้

 1. การปรับปรุงพัฒนาระบบกายภาพของพื้นที่ศึกษา (Environmental hardware)

หากมีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นในเมือง เมืองนั้นจำเป็นต้องมีปรับปรุงและแก้ไขการวางผังเมืองและการวางแผนแม่บทมหาวิทยาลัยให้มีความสอดคล้องกันและคำนึงถึงบริบทของเมืองมากขึ้น ดังเช่นกรณีศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น การวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ตำบลท่าโพธิ์ และการวางแผนแม่บทของมหาวิทยาลัย ต่างมีความไม่สอดคล้องและไม่คำนึงถึงบริบทเมือง เนื่องจากทั้งสองแผนต่างเน้นการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ไม่ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ผืนน้ำ การขยายเมืองและการก่อตั้งมหาวิทยาลัยจึงเป็นการทำลายและกีดกันระบบระบายน้ำตามธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำขังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ทั้งสองแผนยังมีความไม่สอดคล้องกันในด้านการคมนาคม กล่าวคือผังการใช้ประโยชน์ที่ดินตำบลท่าโพธิ์ เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนนเพื่อรองรับการสัญจรทางรถเป็นหลัก แต่แผนแม่บทของมหาวิทยาลัยนเรศวรจะสะท้อนแนวคิดการสัญจรทางเท้าและทางจักรยาน

นอกจากนี้ การวางแผนพัฒนาเมืองจะต้องมีความเชื่อมโยงของการพัฒนาพื้นที่ในภาพรวม เพื่อจัดการและรับมือกับผลกระทบของเมืองมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังต้องมีการบูรณาการในการวางผัง และวางแผนพัฒนาพื้นที่ร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย รวมไปถึงประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ จึงจะทำให้ผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนพัฒนาพื้นที่นั้นมีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด

 2. การปรับปรุงพัฒนาระบบสังคม (Environmental software)

สังคมเมืองเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะคนในพื้นที่ย่อมมีความรู้ทางประวัติศาสตร์และความเป็นมาของเมือง ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกที่จะทำให้ผู้รับผิดชอบการวางผังเมืองและแผนแม่บทมหาวิทยาลัยเข้าใจในบริบทของเมืองมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมในการวางแผนการพัฒนาเมือง

แนวทางสำคัญที่ต้องดำเนินการร่วมกัน คือ การพัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง นำเสนอข้อมูลต้องแสดงความเชื่อมโยงในภาพรวมให้ชัดเจน และควรเน้นผลกระทบ การเปลี่ยนแปลง รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดลำดับความเร่งด่วนของปัญหา เพื่อวางแผนแก้ไขปรับปรุงแผนได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์จริงมากที่สุด นอกจากนี้ ควรมีการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันโดยเน้นหน่วยงานปกครองท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นเสาหลัก โดยส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการเชื่อมโยงในระบบการทำงานที่กว้างขวางขึ้น รวมทั้งควรมีการวางแผนการจัดการสภาพแวดล้อมโดยรอบมหาวิทยาลัยร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มและพัฒนาขีดความสามารถด้านการผังเมือง และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำผังเมือง และการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่

 3. การปรับปรุงพัฒนาระบบจิตสำนึก (Environmental heartware)

แนวทางสุดท้ายในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว คือ การสร้างและพัฒนาจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสาธารณะส่วนร่วม รวมถึงต้องทำความเข้าใจร่วมกันในเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากขั้วความเจริญของเมืองมหาวิทยาลัย โดยไม่จำกัดขอบเขตแค่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ต้องนำความรู้กระจายสู่พื้นที่และชุมชนโดยรอบเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนจึงเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดทิศทางการเติบโตของชุมชนร่วมกัน และการสร้างเป้าหมายร่วมกันในระดับสาธารณะเป็นเครื่องมือในการสร้างข้อตกลงและกำหนดกลยุทธ์ร่วมกันในการดำเนินงานตามแผนการใช้ประโยชน์ในอนาคตให้เป็นไปอย่างเหมาะสม

 

งานวิจัยเมืองมหาวิทยาลัย กรณีมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ชี้ให้เห็นชัดว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยนั้นมีทั้งในแง่บวกและลบ ทั้งนี้ เมืองมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งอาจมีผลกระทบรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับขนาดของเมือง จำนวนนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย หากจำนวนประชากรในมหาวิทยาลัยมีมากย่อมส่งผลให้จำนวนประชากรในเมืองเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ความเป็นเมืองจึงเกิดการขยายตัวสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า หากเมืองขาดการจัดการพื้นที่และการใช้ประโยชน์ที่ดินแล้วอาจจะเกิดปัญหาดังเช่นที่งานวิจัยข้างต้นได้กล่าวไว้ นอกจากนี้ เมืองในความเป็นจริงมักมีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่มากกว่าหนึ่งแห่ง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เมืองเหล่านี้จะต้องสร้างบรรยากาศให้สอดคล้องกับความเป็นเมืองทางการศึกษาอย่างจริงจัง

 

[1] อ้างอิงจาก วิติยา ปิดตังนาโพธิ์. (2555). โครงการผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองมหาวิทยาลัยต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุมชนโดยรอบ กรณีศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

 

 

 

• AUTHOR

 


อรุณ  สถิตพงศ์สถาพร

เศรษฐศาสตร์บัณฑิต และเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Related Posts