Cities Reviews

ยะลา ท่องเที่ยวเผชิญภัย

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 

 

ยะลาไม่น่ากลัวอย่างที่คิด วันนี้เอารูปมาอวดภาพจากการไปยะลาอย่างเดียว 2 ครั้ง ไปยะลาบวกเบตงด้วยอีก 1 ครั้ง ไปดูงาน ทำงานกับเทศบาลนครยะลา สำรวจสภาพการณ์ และถือโอกาสเที่ยวด้วย

ครั้งแรกที่ผมไปกับคนในครอบครัวและเพื่อนทำหน้าเลิกลั่ก ถาม "เออ ! ดูสิ ยะลาอันตรายนะ ตูมๆ ไม่หยุด ไม่มีที่อื่นจะไปแล้วเหรอ?" พอไปกลับมาครั้งหนึ่ง จากนั้นมาผมรู้สึก "ยะลาไม่น่ากลัวอย่างที่คิด" ขอเพียงมีคนพา และระมัดระวังตัวหน่อย

ครั้งที่สองสาม เริ่มกลายเป็นการท่องเที่ยวเชิงเผชิญภัยไป สนุกและพิเศษกว่าท่องเที่ยวปกติ

ครั้งที่สองที่ไปถึงเบตงด้วย เจอต้นไม้ยักษ์ 38 คนโอบที่นั่น ตื่นเต้น มันเป็นป่าสี่ชั้น ไม่ใช่ป่าสามชั้นแบบป่าดงดิบในภาคใต้ทั่วไป ยิ่งชอบหนักขึ้น นึกถึงป่าดงดิบในหนังสือยาวเฟื้อยเล่มโปรด "เพชรพระอุมา" ผู้เขียน "พนมเทียน" เป็นคนสายบุรี ปัตตานี ท่านคงคุ้นเคยกับป่าสี่ชั้นในสามจังหวัดภาคใต้อย่างดีจึงเขียน "เพชรพระอุมา" ได้สนุกอย่างนั้น

 

ภาพ ต้นไม้ยักษ์ 38 คนโอบ ที่เบตง

 

 

ครั้งที่สามที่เพิ่งกลับมานี้ไปล่องเรือในแม่นำ้ปัตตานีใต้เขื่อนบางลาง โดยมีตำรวจชายแดนอำนวยความสะดวกและคุ้มครองด้วย เจอคนมุสลิมล่องเรือมาเที่ยวเช่นกัน ชวนถ่ายรูปด้วยกัน 

"ผมพาสถาบันคลังปัญญาและศูนย์ศึกษามหานครและเมืองของ ม.รังสิต รวมทั้งรองอธิการวิทยาลัยนวัตกรรมการเกษตรฯ คณบดีคณะเทคโนโลยีการอาหาร คณบดีคณะนวัตกรรมการเกษตร คณบดีสถาบันการทูต และอาจารย์หญิงรุ่นใหม่จากวิทยาลัยรัฐกิจ มาระดมสมองกับนายกเทศมนตรีนครยะลาและผู้นำผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของเทศบาลเรื่องก้าวต่อไปของการพัฒนายะลาในขณะที่คนนอกมองยะลาน่ากลัว ไม่สงบ และสาละวนแต่เรื่องความมั่นคงและปลอดภัย ยะลาสงบมาก สะอาดและเรียบร้อย ผู้คนหลายศาสนาหลายภาษาหลายเชื้อชาติ ทำมาหากิน พักผ่อน มีความสุข ไปได้เรื่อยๆ ยิ่งกว่านั้น นายกเทศมนตรี พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ก็กำลังคิดว่าจะใช้ความสงบนี้มารุกคืบการพัฒนาของเทศบาลนครและ อบต. รอบบ้านอย่างไร มีคุณก้อง วัลเล่ย์ เกษตรกรอินดี้ และ ดร. จำนง สรพิพัฒน์ นักคิดรอบด้าน มาช่วย หารือกันว่ารังสิตจะมาช่วยพัฒนากล้วยหินและลองกองกับมังคุดและส้มโชกุน ล้วนแต่ของดีของที่นี่ได้อย่างไร จะสร้างการท่องเที่ยวเชิงพหุวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ชั้นนำหน้าของโลกอย่างไร จะให้เนื้อหาการศึกษาในยะลาอย่างไร เพื่อให้เห็นโอกาสและสร้างโอกาสให้แก่ยะลา สร้างสิ่งแวดล้อมทั้งปวง และสร้างคนรุ่นต่อไปที่มีคุณลักษณะอย่างไรให้แก่ท้องถิ่น

 

ภาพ ล่องเรือเขื่อนบางลาง

 

 

และจะสร้างยะลาให้เป็น "หลั่นล้าอีโคโนมี" ได้อย่างไร คนยะลาไม่รอสันติสุขให้กลับคืนโดยสมบูรณ์ก่อน แล้วจึงมาคิดว่าจะพัฒนาพื้นที่ขึ้นมาอย่างไรในความยากลำบากเล็กน้อยที่เหลืออยู่นี้เทศบาลยะลาและพันธมิตรเตรียมการทางความคิด พินิจทฤษฎี หารือนักคิด เตรียมบ้านเมืองย่างสู่ชีวิตในยุคหลังความไม่สงบหมดไป"

เจอมุสลิมอีกกลุ่มที่หน้าทางขึ้นวัดที่มีพระนอนในถ้ำ ถ่ายรูปด้วยกันอีก มุสลิมที่ยะลาเป็นมิตรกับชาวพุทธคนแปลกหน้าก็มี และมากด้วยครับ ไม่เหมือนที่ข่าวพูดถึงกลับมาพูดถึงพระนอนนี้น่าพิศวงและเป็นสื่อให้เข้าใจประวัติศาสตร์สามจังหวัดภาคใต้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะสร้างขึ้นมาตั้ง 1,200 กว่าปีแล้วโดยคนมลายูบรรพบุรุษคนสามจังหวัดนั่นแหละ ประเด็นคือตอนนั้นคนมลายูเป็นทั้งพุทธและพราหมณ์จำนวนมาก อิสลามยังแผ่มาไม่ถึง

 

สียดายที่ยะลาเจอระเบิดอยู่บ้าง และการไปเที่ยวยะลาควรมีคนพื้นที่พาไปหรือประสานไป แต่เวลานี้เกิดเทรนด์ใหม่ๆ เด็กหนุ่มสาวจากกรุงเทพฯ นักท่องเที่ยวอินดี้ ชวนกันไปเที่ยวที่นั่น แบบอิสรชน เห็นอยู่ไม่น้อย พวกเขาไม่กลัวยะลา แถมบอกกันว่ามันไปไม่ง่าย (ง่ายๆ-ไม่ ยากลำบาก-ไป) ได้เจออะไรที่เวอร์จิ้น (สด ใหม่) ไม่ซ้ำซากร่วมกับที่อื่น และเป็นการไป adventure (เผชิญภัย)

นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ปราดเปรียว เชิญไปเที่ยว ส่วนผมเองก็จะลงไปเยี่ยมเยือนและเที่ยวเป็นระยะต่อไป มีใครสนใจไหมครับ?

 
 
 
 

• AUTHOR

 


ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

 

Related Posts