Cities Reviews

เมืองพนัสนิคม ต้นแบบเมืองน่าอยู่ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน

 

วิจัย อัมราลิขิต[2] เรื่อง

 

            เมืองพนัสนิคมเป็นเมืองตัวอย่างเมืองที่มีสุขภาวะดี ได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคอาเซียน รวมถึงได้รับการคัดเลือกจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization)[3] ให้เป็น 1 ใน 1,000 เมืองระดับโลกที่ช่วยรณรงค์ด้านการพิทักษ์ชีวิตและสุขภาพของคนเมือง และได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI AWARDs)[4] ให้เป็นเทศบาลเมืองที่มีค่าดัชนีความน่าอยู่สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ จากดัชนีที่ใช้ชี้วัด 5 มิติ ได้แก่ มิติเมืองปลอดภัย มิติเมืองสะอาด มิติเมืองคุณภาพชีวิต มิติเมืองธรรมาภิบาล และมิติเมืองวัฒนธรรม ซึ่งรางวัลเหล่านี้ล้วนการันตีได้ว่าเมืองพนัสนิคมเป็นเมืองที่มีการจัดการที่ดี เหมาะแก่การศึกษาเพื่อเป็นแบบอย่างนำไปสู้การพัฒนาเมืองอื่น ๆ ต่อไป

การพัฒนาสู่การเป็นเมืองน่าอยู่

เทศบาลเมืองพนัสนิคมให้ความสำคัญกับการสร้างเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ดำเนินนโยบายภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญ บริหารงานให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งยังมุ่งเน้นให้สมาชิกในชุมชนมีสุขภาวะที่ดี ในการดำเนินงานพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ เทศบาลเมืองพนัสนิคมได้ดำเนินงานภายใต้กรอบแนวคิด 4 ข้อ ดังนี้

  1. เมืองอยู่ดี
  2. คนมีสุข
  3. สิ่งแวดล้อมยั่งยืน
  4. องค์กรแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี

องค์ประกอบทั้ง 4 ข้อนี้ได้สอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมการสร้างเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Green City) ที่กำหนดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม[5] มีการดำเนินงานตามองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้

  1. การพัฒนาเมืองอยู่ดี

การสร้างเมืองพนัสนิคมให้เป็นเมืองน่าอยู่ ทางเทศบาลเมืองพนัสนิคม หมายถึงการสร้างเมืองพนัสนิคมให้เป็นเมืองที่มีระเบียบ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีความปลอดภัย และมีเศรษฐกิจที่ดี จึงได้มีการดำเนินการต่าง ๆ ในแต่ละด้าน โดยมีผลงานที่โดดเด่น ดังนี้

ความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย : สร้างบ้านเอื้ออาทรให้ผู้มีรายได้น้อย

เทศบาลเมืองพนัสนิคมได้ทำการสำรวจความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ พบว่ามีชุมชนแออัดที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวน 22 ครัวเรือน เช่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ขนาดประมาณ 3 ไร่ ประสบปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อโทรม ผู้อยู่อาศัยทั้งหมดเป็นผู้ที่ด้อยโอกาสและมีรายได้ต่ำ ทางเทศบาลฯจึงต้องการสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นใหม่ให้แก่สมาชิกชุมชนเหล่านี้ เกิดเป็นโครงการ “พัฒนาโครงสร้างและบริการพื้นฐานที่เอื้อต่อผู้ด้อยโอกาส บ้านท้องถิ่นไทยเทิดไท้องค์ราชัน 80 พรรษา”

ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงานได้เกิดปัญหาในการสร้างข้อตกลงกับผู้พักอาศัยเดิม เนื่องจากไม่สามารถตกลงการจัดสรรพื้นที่ให้สมาชิกทุกคนพึงพอใจ การจะสร้างที่อยู่อาศัยใหม่นี้มีความจำเป็นต้องแบ่งสรรพื้นที่เดิมนี้ในขนาดเท่า ๆ กัน จึงไม่ได้รับการยินยอมในช่วงแรกเพราะแต่ละครัวเรือนที่อาศัยอยู่เดิมนั้นเคยเป็นเจ้าของพื้นที่ในขนาดที่ไม่เท่ากันมาก่อน แต่ในท้ายที่สุดก็สามารถเกิดเป็นโครงการขึ้นได้เนื่องจากสมาชิกในชุมชนเห็นว่าเป็นการสร้างขึ้นเพื่อถวายแก่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสามารถดำเนินการได้ในเวลาต่อมา

บ้านพักสำหรับผู้มีรายได้ต่ำที่สร้างขึ้นใหม่นี้เป็นบ้านที่มีความมั่นคง เป็นระเบียบเรียบร้อยและมีสุขลักษณะที่ดีตามความต้องการของเทศบาลเมืองพนัสนิคม มีพื้นที่ประมาณ 25 ตารางวา ประกอบไปด้วยห้องนอนจำนวน 2 ห้อง ห้องครัวจำนวน 1 ห้อง และห้องน้ำจำนวน 1 ห้อง ทำให้สมาชิกชุมชนผู้ด้อยโอกาสได้พักอาศัยในที่พักที่มั่นคงและมีสุขภาวะที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ภาพที่ 1 บ้านท้องถิ่นไทยเทิดไท้องค์ราชัน 80 พรรษาก่อนและหลังสร้างเสร็จ

ที่มา : วิจัย อัมราลิขิต (2562)

 

ด้านความปลอดภัย : ศูนย์ปฏิบัติงานหน่วยกู้ภัย

การคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอีกภารกิจที่ทางเทศบาลเมืองพนัสนิคมให้ความสำคัญ จัดให้มีการบริการดูแลความปลอดภัยแก่ชุมชนอย่างทั่วถึงผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรพนัสนิคม อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) หน่วยกู้ภัยภาคเอกชน และศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของเทศบาล ดำเนินการประสานงานกับเจ้าหน้าที่จราจรในการดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบนท้องถนน มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติงานหน่วยกู้ภัย ทำหน้าที่ในการออกไปตรวจรอบ ๆ พื้นที่เป็นประจำในเวลา 09.30 น. และ 02.30 น. ของทุกวันและมีการรายงานสถานการณ์ทุกครั้งผ่านทางแอพพลิเคชั่น ไลน์ (Line) ซึ่งเป็นช่องทางที่สะดวกรวดเร็ว

เนื่องจากพื้นที่เทศบาลเมืองพนัสนิคมเป็นเมืองเก่า จึงมีบ้านเรือนที่สร้างด้วยไม้จำนวนมากตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน และบ้านไม้เหล่านี้ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้เพราะส่วนใหญ่เป็นบ้านเช่าที่สมาชิกในชุมชนไม่ได้เป็นเจ้าของเอง หากเกิดเหตุเพลิงไหม้จะสร้างความเสียหายเป็นพื้นที่กว้างจึงต้องมีการระแวดระวังเรื่องอัคคีภัยเป็นพิเศษ เทศบาลเมืองพนัสนิคมได้ดำเนินการจัดซื้ออุปกรณ์ดับเพลิงแบบพกพามอบให้สมาชิกในชุมชนเพื่อติดตั้งไว้ตามที่พักอาศัย มีการอบรมเรื่องการดับเพลิงเบื้องต้นและการอพยพหนีไฟ ช่วยให้สามารถควบคุมสถานการณ์และลดความเสี่ยงที่จะเกิดอัคคีภัยขนาดใหญ่ได้ ทั้งยังสร้างความมั่นใจและความรู้สึกปลอดภัยให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน

ในการติดต่อสื่อสารและการรายงานต่าง ๆ ทางเทศบาลพนัสนิคมได้จัดให้มีช่องทางติดต่อสำหรับประชาชนที่สามารถติดต่อได้สะดวกตลอด 24 ชั่วโมง โดยสมาชิกในชุมชนสามารถติดต่อนายกเทศมนตรีและเจ้าหน้าที่เทศมนตรีโดยตรงผ่านโทรศัพท์และแอพพลิเคชั่น ไลน์ (Line) ทำให้เทศบาลฯและชุมชนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้สะดวก สามารถรับทราบถึงปัญหา ข้อเสนอแนะต่าง ๆ และจัดการกับปัญหาได้อย่างทันท่วงที เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่

ภาพที่ 2 ศูนย์ปฏิบัติงานหน่วยกู้ภัยและออกตรวจพื้นที่เสี่ยงภัย

ที่มา : วิจัย อัมราลิขิต (2562)

 

  1. การพัฒนาให้คนมีความสุข

เทศบาลเมืองพนัสนิคมบริหารงานภายใต้แนวความคิดที่ว่า “คนที่มีความสุขคือคนที่มีสุขภาพดี” จึงเน้นพัฒนาสุขภาพของคนในแต่ละช่วงวัยให้มีความแข็งแรง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

การพัฒนาสุขภาพของเด็กวัยแรกเกิด : การให้บริการดูแลครรภ์

โรงพยาบาลพนัสนิคมพบว่า เด็กที่เกิดจากมารดาที่มาใช้บริการคลอดบุตรจำนวนร้อยละ 10 มีปัญหาน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งส่วนใหญ่ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีฐานะปานกลางจนถึงยากจน ทางเทศบาลเมืองพนัสนิคมจึงดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยร่วมมือกับโรงพยาบาลพนัสนิคมในการช่วยดูแลเด็กทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ทำให้พบว่าปัญหาน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ในเด็กแรกเกิดหมดไป

การพัฒนาสุขภาพของผู้สูงอายุ : การให้บริการตรวจสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ

เมืองพนัสนิคมเป็นสังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 22 จากจำนวนประชากรทั้งหมดในพื้นที่ สามารถแบ่งประเภทของผู้สูงอายุเพื่อความสะดวกในการดูแลออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. ผู้สูงอายุประเภทติดสังคม
  2. ผู้สูงอายุประเภทที่มีภาวะเสี่ยง
  3. ผู้สูงอายุประเภทติดบ้าน
  4. ผู้สูงอายุประเภทติดเตียง

เทศบาลเมืองพนัสนิคมจัดให้มีการตรวจสุขภาพประจำเดือนเพื่อคัดกรองโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุผ่านการประสานงานกับโรงพยาบาลพนัสนิคม ได้แก่ การตรวจเลือด การตรวจวัดความดัน การตรวจปัสสาวะและอุจจาระ เอ็กซเรย์ทรวงอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อคัดกรองค้นหาความผิดปกติในระยะเริ่มแรก ในพื้นที่แต่ละชุมชนยังมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จำนวนพื้นที่ละประมาณ 10 คน ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและดูแลสมาชิกในพื้นที่ มีการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้แก่ เครื่องวัดความดันโลหิตและอุปกรณ์ตรวจเบาหวานให้แก่ชุมชน เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพใกล้บ้านแทนการเดินทางไปใช้บริการที่โรงพยาบาล  

นอกจากการบริการตรวจสุขภาพประจำปีแก่ผู้สูงวัย ทางชุมชนยังได้มีการเสนอให้มีผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือ Caregiver เพื่อเดินทางไปเข้าเยี่ยมผู้ป่วยที่พักฟื้นที่บ้าน โดยผู้ไปเยี่ยมจะได้รับการอบรมจากนักโภชนาการและนักกายภาพบำบัดก่อน รวมถึงการให้บริการตรวจมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมในกลุ่มผู้หญิง และการตรวจสุขภาพตาพร้อมบริการตัดแว่นตาให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ได้รับการอนุมัติและกำลังจะสร้างภายในปีพ.ศ.2563 นั่นคือการสร้างศูนย์เดย์ แคร์ (Day Care) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือมีภาวะติดบ้าน ให้สมาชิกในชุมชนสามารถนำผู้สูงอายุมาฝากให้ทางศูนย์ดูแลในเวลากลางวันเพื่อเป็นการลดภาระให้กับสมาชิกในชุมชน

ภาพที่ 3 การให้บริการตรวจคัดกรองโรคผู้สูงอายุ

 

ที่มา : วิจัย อัมราลิขิต (2562)

 

การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ : การสร้างสถานที่ออกกำลังกาย

          เทศบาลเมืองพนัสนิคมต้องการให้สมาชิกทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่ให้บริการได้สะดวกจึงได้ดำเนินการสร้างลานสนามกีฬาและสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นหลายแห่ง โดยแรกเริ่ม เทศบาลเมืองพนัสนิคมมีสนามกีฬาที่มีอยู่เดิมซึ่งให้บริการสนามฟุตบอล สนามเปตอง สนามบาสเก็ตบอล สนามเทนนิส สนามฟุตซอล สนามเทเบิลเทนนิส และสระว่ายน้ำ รวมถึงสวนสาธารณะชุมชนที่มีการจัดกิจกรรมพัฒนาสุขภาพ เช่น รำมวยจีน เต้นแอโรบิค ซึ่งนับว่ามีกิจกรรมหลากหลายที่ช่วยให้สมาชิกในชุมชนออกกำลังกายได้

          ต่อมาได้มีการสร้างสนามกีฬาแห่งที่ 2 ขึ้นเพิ่มเติมในด้านทิศใต้ของชุมชนจากการใช้พื้นที่ว่างในชุมชน และสร้างเป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติเป็นสวนที่ 3 ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มาเป็นประธานในพิธีเปิดสนามกีฬาในปีพ.ศ.2561 ที่ผ่านมา ภายในสวนสาธารณะมีการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมากที่ได้รับบริจาคจากภาคประชาชนและจากบริษัทเอกชน นอกจากนี้ ยังมีสวนสาธารณะเพื่อคนทั้งมวล เป็นสวนสาธารณะที่ผ่านการออกแบบโดยนักออกแบบชาวญี่ปุ่น มีจุดเด่นในเรื่องการให้บริการผู้สูงอายุ โดยมีการสร้างราวจับเพื่อบริการให้ผู้สูงอายุสามารถเดินออกกำลังกายได้ที่สวน

ภาพที่ 4 สนามกีฬาเมืองพนัสนิคม

ที่มา : วิจัย อัมราลิขิต (2562)

 

งบประมาณในการจัดการด้านสุขภาพของคนในชุมชน

ในด้านงบประมาณด้านการส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชนเมืองพนัสนิคมเป็นงบประมาณที่ได้มาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งให้งบสนับสนุนแก่ชุมชนเป็นเงินจำนวน 40 บาทต่อสมาชิกหนึ่งคน ในหนึ่งปีเทศบาลเมืองพนัสนิคมได้รับงบประมาณในด้านการส่งเสริมสุขภาพเป็นจำนวนเงินประมาณ 400,000 ถึง 500,000 บาท และได้สมทบทุนสนับสนุนเพิ่มเติมอีกเป็นเงินจำนวน 300,000 บาท ดังนั้นในหนึ่งปีเมืองเทศบาลพนัสนิคมมีงบประมาณในการส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชนเป็นเงินจำนวน 800,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินมากพอที่สามารถใช้ดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะของประชาชนตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยผู้สูงอายุ

 

 

  1. การพัฒนาสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

ในการสร้างเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เทศบาลเมืองพนัสนิคมได้ดำเนินการตาม “ยุทธศาสตร์เมืองคาร์บอนต่ำ” โดยพัฒนาเมืองตามแนวความคิด 4 ข้อ ได้แก่ 1.เมืองแห่งต้นไม้ 2.เมืองไร้มลพิษ 3.เมืองพิชิตพลังงาน 4.เมืองที่มีการบริโภคอย่างยั่งยืน

เมืองแห่งต้นไม้ : การขึ้นทะเบียนต้นไม้

เทศบาลเมืองพนัสนิคมได้ขับเคลื่อนให้มีการขึ้นทะเบียนต้นไม้เพื่อดูแลต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่และเพิ่มปริมาณต้นไม้ใหญ่ให้ได้มากที่สุด ในการบริหารจัดการต้นไม้ในชุมชน เทศบาลฯเป็นผู้รับผิดชอบดูแลต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะ ส่วนชุมชนจะต้องเป็นผู้ดูแลต้นไม้ในพื้นที่ของชุมชน

ข้อมูลในการขึ้นทะเบียนต้นไม้เป็นข้อมูลที่ได้จากการวัดขนาดและความสูง รวมถึงระบุชนิดและตำแหน่งที่ตั้งของต้นไม้ โดยต้นไม้ทุกต้นที่ขึ้นทะเบียนจะมีหมายเลขระบุเพื่อความสะดวกในการดูแล  ประชาชนเป็นผู้ส่งข้อมูลของต้นไม้ให้กับทางเทศบาลเพื่อขึ้นทะเบียน เกิดเป็นความร่วมมือในการดูแลร่วมกันระหว่างเทศบาลและสมาชิกในชุมชน

เมืองไร้มลพิษ : การลดปริมาณขยะในเมือง

เทศบาลเมืองพนัสนิคมได้ตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณขยะในชุมชน เนื่องจากมีปริมาณขยะถึง 25,000 กิโลกรัมต่อวัน เทศบาลมีภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะประมาณ 4,000,000 บาทต่อปี ต่อมา ได้มีการสำรวจพบว่าในพื้นที่เมืองพนัสนิคมมีถังขยะขนาด 200 ลิตร ตั้งอยู่ทั่วบริเวณเมืองจำนวน 400 ถัง ทางเทศบาลเมืองพนัสนิคมเล็งเห็นว่าถังขยะจำนวนมากนี้เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้คนออกมาทิ้งขยะมากขึ้น ก่อให้เกิดขยะปริมาณมาก จึงได้เจรจาสร้างข้อตกลงกับประชาชนในพื้นที่เพื่อขอยกเลิกการให้บริการถังขยะขนาด 200 ลิตรนี้ในชุมชน

ในระยะแรก สมาชิกในชุมชนมีท่าทีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการนำถังขยะออกจากพื้นที่ ภายหลังจากการนำถังขยะออกไปพบว่าสามารถลดปริมาณขยะลงได้มากถึง 3,000 ถึง 4,000 กิโลกรัมต่อวัน แสดงให้เห็นว่าจำนวนถังขยะที่ลดลงส่งผลต่อจำนวนขยะในพื้นที่ จึงได้จัดการประชุมเมืองเพื่อขอความร่วมมือในการดำเนินการนำถังขยะขนาด 400 ลิตรออกจากพื้นที่เทศบาลทั้งหมด ภายหลังจากการดำเนินการพบว่าปริมาณขยะในหนึ่งวันลดลงจำนวนมาก เหลือเพียงประมาณ 15,000 กิโลกรัมต่อวัน

ทางเทศบาลเมืองพนัสนิคมยังได้ขอความร่วมมือกับสมาชิกในชุมชนให้มีการแยกขยะก่อนนำไปทิ้งและสนับสนุนให้มีรถบริการรับซื้อขยะเพื่อรับซื้อขยะถึงที่บ้านของสมาชิกชุมชน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในเรื่องการจัดการขยะลดลงมาก จากเดิมที่ใช้ถึง 4,000,000 บาท เหลือเพียง 1,000,000 บาทต่อปี และยังสามารถนำพื้นที่ที่เคยเป็นที่ทิ้งขยะเดิมมาทำประโยชน์ โดยการเปิดเป็นพื้นที่ให้เพาะปลูกพืชผักสวนครัวสำหรับคนในชุมชนที่ต้องการพื้นที่เพาะปลูกเพื่อหารายได้เสริม

ทางเทศบาลยังได้สร้างความตกลงกับกลุ่มผู้ค้าในชุมชนเพื่อยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายยากและภาชนะโฟมบรรจุอาหาร อนุญาตให้ใช้เพียงถุงพลาสติกรักษ์โลกเท่านั้น มีการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้า พร้อมทั้งแจกถุงผ้าให้กับประชาชน

นอกจากนี้ เทศบาลเมืองพนัสนิคมได้สนับสนุนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำวัสดุทางธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น เปลือกมะนาว เปลือกมังคุด นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย ซึ่งในส่วนนี้สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชุมชนอื่น ๆ มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาศึกษาดูงานจำนวนมาก

เมืองพิชิตพลังงาน : การส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์

การสนับสนุนการใช้รถจักรยานในการเดินทางเป็นอีกแนวทางที่ช่วยลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศและยังเป็นการประหยัดพลังงาน เทศบาลเมืองพนัสนิคมมีการรณรงค์ให้ชาวเมืองหันมาใช้รถจักรยานแทนการขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยมีการรวมกลุ่มกันของชาวเมืองเกิดเป็นชมรมจักรยานเมืองพนัสนิคม และได้เคลื่อนไหวจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นชมรมจักรยานในพนัสนิคม แสดงให้เห็นว่าชาวเมืองพนัสนิคมให้ความใส่ใจและตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

ภาพที่ 4 การประชุมชี้แจงขอความร่วมมือการใช้ถุงพลาสติกย่อยสลายง่าย

ที่มา : วิจัย อัมราลิขิต (2562)

 

  1. องค์กรแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี

เทศบาลเมืองพนัสนิคมพยายามส่งเสริมการเรียนรู้ของสมาชิกในชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสามารถนำไปช่วยในการพัฒนาเมืองได้ต่อไป และช่วยให้การบริหารงานสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในด้านการเรียนรู้ของคนในชุมชน เทศบาลเมืองพนัสนิคมมีการส่งเสริมการเรียนรู้โดยการใช้พื้นที่สำนักงานเทศบาลฯเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับชุมชน รวมถึงได้สร้างแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมขึ้น เช่น ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ โดยเป็นการรวบรวมชิ้นงานและช่างฝีมือในเมืองพนัสนิคมให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาภูมิปัญญาดั้งเดิมที่น่าภาคภูมิใจ และเพื่อส่งเสริมการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นอันทรงคุณค่านี้ให้แก่คนรุ่นหลัง

ในด้านการส่งเสริมการพัฒนา เทศบาลเมืองพนัสนิคมได้มีการจัดอบรมให้แก่สมาชิกในชุมชน เพื่อให้สมาชิกในชุมชนทราบจุดอ่อนและจุดแข็งของชุมชนตนเอง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนของตนเองและริเริ่มโครงการอื่น ๆ ต่อไป

 

การประเมินความพึงพอใจประชาชนต่อการทำงานของเทศบาลเมืองพนัสนิคม

หัวใจสำคัญของการพัฒนาเมืองพนัสนิคมอีกอย่างหนึ่ง คือ การประเมินความพึงพอใจของชาวเมืองต่อการทำงานของเทศบาลเมืองพนัสนิคม ทางเทศบาลฯได้แบ่งพื้นที่การทำงานออกตามพื้นที่หน่วยเลือกตั้งซึ่งแบ่งเป็นชุมชนย่อย ๆ ได้จำนวน 12 ชุมชน และใช้ผลการเลือกตั้งเป็นตัวชี้วัดความพึงพอใจของสมาชิกชุมชน รวมถึงการตั้งกล่องรับการประเมินผลการทำงานของเจ้าหน้าที่เทศบาลฯ โดยใช้วิธีการหยอดเหรียญลงในกล่องที่ตั้งไว้ เพื่อให้สมาชิกชุมชนสามารถให้คะแนนการทำงาน โดยแบ่งเกณฑ์การให้คะแนนออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ดีมาก ดี พอใช้ และปรับปรุง หากพบว่ามีพื้นที่ที่ได้รับคะแนนในเกณฑ์ไม่ดี จะดำเนินการสอบถามและรับฟังปัญหาจากสมาชิกในชุมชน และดำเนินการแก้ไขปรับปรุงทันที

ภาพที่ 5 กล่องประเมินผลการทำงานของเทศบาลเมืองพนัสนิคม 

 ที่มา : วิจัย อัมราลิขิต (2562)

 

[1] สรุปและเรียบเรียงจาก เวทีสัมมนา ผู้สร้างบ้านแปงเมือง เรื่อง เมืองแห่งอนาคต : นวัตกรรมการสร้างสรรค์เมืองสุขภาวะ วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดย มณฑิภรณ์ ปัญญา ผู้ช่วยนักวิจัยศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

[2] นายกเทศมนตรี วิจัย อัมราลิขิต เป็นนายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคมที่ได้รับการรับเลือกให้ดำรงตำแหน่งจากชาวเมืองพนัสนิคมถึง 8 สมัย

[3] ได้รับเลือกโดยองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2553

[4] ข้อมูลจากเว็ปไซต์ เทศบาลเมืองพนัสนิคยม สืบค้นเมื่อ 24/06/2562 เข้าถึงจาก: http://www.phanatnikhomcity.go.th/

[5] ข้อมูลจากเว็ปไซต์ กรมส่งเสริมสุขภาพสิ่งแวดล้อม สืบค้นเมื่อ 24/06/2562 เข้าถึงจาก: https://www.deqp.go.th/

 

 

• AUTHOR

 


มณฑิภรณ์  ปัญญา

ศิลปศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 



Related Posts