PHUKET Smart City ภูเก็ต ต้นแบบเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของไทย
จุฑามาศ พูลสวัสดิ์
หากจะกล่าวถึงเมืองใดเมืองหนึ่งในประเทศไทยที่ปัจจุบันมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาสู่การเป็น “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) มากที่สุด “ภูเก็ต” คงเป็นชื่อที่ถูกนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ ทั้งนี้ ด้วยความเป็นเมืองขนาดเล็กที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงจากการท่องเที่ยวและการลงทุน โดยเฉพาะจากต่างชาติ ประกอบกับการมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นค่อนข้างสมบูรณ์ ใน พ.ศ. 2558 จังหวัดภูเก็ตจึงได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองนำร่องแห่งแรกในโครงการพัฒนา Smart City ภายใต้นโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล ทั้งยังเป็นกลไกสำคัญที่จะรองรับแผนพัฒนาตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0 ที่กำลังจะเกิดขึ้น
Phuket Smart City หรือ โครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล ถือกำเนิดขึ้นจากการริเริ่มของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในระยะแรก ได้วางเป้าหมายในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ เขตเทศบาลเมืองป่าตอง และเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต ซึ่งนับเป็นสองพื้นที่ที่มีความเป็นเมืองสูง
ทำไมต้อง “ภูเก็ต”
สังคมปัจจุบันอยู่ในยุค Internet of Things ที่เทคโนโลยีล้ำสมัย ทำให้โลกกายภาพ ตลอดไปถึงชีวิตประจำวันของผู้คนและกิจกรรมต่างๆ แนบชิดกับระบบคอมพิวเตอร์อย่างแยกไม่ออก ดังนั้น เมืองอัจฉริยะที่แท้จริงจึงต้องมีศักยภาพในการเชื่อมโยงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้ได้มากที่สุดด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ โดยครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของความปลอดภัย การพักอาศัย การคมนาคม ไปจนถึงการพัฒนาธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนเมือง สำหรับประเทศไทย เมื่อจะเริ่มกระบวนการสร้างเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้น จึงควรเริ่มจากเมืองขนาดเล็ก ที่มีความเจริญในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการและต่อยอดการพัฒนา ซึ่งภูเก็ตเป็นเมืองที่มีคุณสมบัติดังกล่าว เป็นเมืองที่ไม่ใหญ่จนเกินไป มีขนาด 543.03 ตร.กม. แต่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติด้านการท่องเที่ยวที่โดดเด่น มีประชากรราว 3.86 แสนคน (กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย 2558) แต่กลับมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนตลอด พ.ศ. 2558 มากถึง 13.2 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติถึงร้อยละ 70 สร้างรายได้เข้าจังหวัดกว่า 3.13 แสนล้านบาท (กรมการท่องเที่ยว 2559) ทำให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน ภูเก็ตกลายมาเป็นเมืองเล็กที่มีการเติบโตและความเจริญสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และติดอันดับเมืองท่องเที่ยวชั้นนำอันดับที่ 15 ของโลก ขณะ เดียวกัน ภูเก็ตยังเป็นเมืองที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ICT เช่น โครงข่ายด้านการสื่อสารที่ทั่วถึง รวดเร็ว มีความเสถียรสูง อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในเมืองที่ถูกกำหนดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคตสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นได้ทั้งระบบ
เมืองอัจฉริยะ จุดหมายปลายทางแห่งการพัฒนา
จังหวัดภูเก็ตได้วางเป้าหมายสำหรับการพัฒนาสู่ความเป็น Smart City อย่างสมบูรณ์ภายใน พ.ศ. 2563 ไว้ด้วยกัน 2 ประเด็น คือ Smart Economy และ Smart Living Community ทั้งยังได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ภูเก็ตเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืนบนฐานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพื่อความสุขของทุกคน
1. Smart Economy การสร้าง Smart Economy หรือเศรษฐกิจอัจฉริยะของเมืองภูเก็ตนั้น จะเน้นส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่ 2 คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล ขึ้นมารองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตขยายตัวได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขาเดียวมาโดยตลอด จึงต้องแสวงหาอุตสาหกรรมใหม่ที่จะช่วยให้เมืองเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี ตั้งแต่การสร้างแหล่งรวบรวมองค์ ความรู้ในลักษณะของสถาบันวิจัย (Research Center) หรือศูนย์นวัตกรรม (Innovation Center) ไปจนถึงการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหันมาใช้ Smart Technology เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาตั้งและดำเนินกิจการ ด้วยมาตรการยกเว้นภาษี 8 ปี กระบวนการสร้าง Smart Economy เหล่านี้ ท้ายที่สุดจะทำให้เมืองภูเก็ตยกระดับเป็นศูนย์กลางแห่งความรู้และการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าและบริการของเมืองได้รับการสร้างสรรค์และต่อยอดจนมีคุณภาพและมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
ปัจจุบัน แผนพัฒนา Smart Economyเริ่มเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีบริษัทต่างๆ เข้ามายื่นขอร่วมโครงการ Phuket Smart City แล้วประมาณ 20-30 บริษัท อย่างไรก็ดี จะต้องมีการแสวงหากลไกเพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากภาคธุรกิจต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนสู่ท้องถิ่นเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจขับเคลื่อนเข้าสู่การสร้างการเติบโตของธุรกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนในอนาคต
2. Smart Living Community แนวทางการสร้าง Smart Living Community เพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในเมืองภูเก็ต แบ่งได้เป็น 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างแอพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว การสร้างระบบเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยครอบคลุมทั่วทั้งเมือง และการสร้างกลไก IoT ดูแลสิ่งแวดล้อมของเมือง
ด้านการสร้างระบบเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยของเมือง ได้มีการวางแผนนำระบบ CCTV ทำงานร่วมกับโซลูชันตรวจจับใบหน้า เพื่อเฝ้าระวัง ตรวจสอบและติดตามผู้กระทำผิด ด้านการคมนาคมทางน้ำ ได้มีการวางระบบรักษาความปลอดภัยโดยการนำ Vessel Tracking Management System (VTMS) และกลไก Smart Band ซึ่งเป็นระบบติดตามเรือเพื่อรักษาความปลอดภัยทางน้ำให้แก่นักท่องเที่ยว ขณะที่แนวทางการสร้างกลไกดูแลสิ่งแวดล้อมของเมืองได้มีความริเริ่มนำ Smart Sensor ที่ผสมผสานเทคโนโลยี IoT มาตรวจสอบสภาพภูมิอากาศ ตรวจสภาพของน้ำทะเล และตรวจสอบความผิดปกติ ของสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นเพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Smart Economy และ Smart Living Community เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันเมืองภูเก็ตยังมีนโยบายในการเร่งขยายโอกาสการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตฟรีให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงภายใต้โครงการ Public High Speed City Internet ที่เน้นการติดตั้ง Public Free Wi-Fi ความเร็วแบบ Hi-Speed อย่างน้อย 20Mbps บริเวณพื้นที่สาธารณะ โดยเริ่มจาก 2 พื้นที่นำร่อง คือ เขตเทศบาลเมืองป่าตองและเทศบาลเมืองภูเก็ตก่อนเป็นอันดับแรก