
Workshop : การใช้จิตวิญญาณและอัตลักษณ์เมือง เพื่อสร้างสังคมและเศรษฐกิจเมืองแบบเกื้อกูลและยั่งยืน
ศตวรรษที่ 21 กล่าวได้ว่าเป็นศตวรรษของเมืองกับความเป็นเมือง จากข้อมูลของสำนักงานประชากรแห่งสหประชาชาติในปี 2010 รายงานว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จำนวนประชากรของโลกอาศัยในเมืองเกินกว่าที่อาศัยในเขตชนบทแล้ว เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทยที่ปัจจุบันได้กลายเป็นเมืองมากกว่า 50% หากเมืองได้รับการจัดการที่ดี เมืองสามารถสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการจ้างงาน และการพัฒนาทางสังคม
ในขณะเดียวกัน เมืองของไทยกลับมีการพัฒนาตามสภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเมือง ที่ยังเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบการลงทุนขนาดใหญ่ การลงทุนทางอุตสาหกรรม โดยยังไม่สามารถใช้จุดเด่นทางวัฒนธรรม อันเป็นรากฐานของแต่ละเมืองต่อยอดพัฒนาเป็นเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้เมืองส่วนใหญ่ยังพัฒนาโดยขาดการมีส่วนร่วมของคนในเมือง ต่างคนต่างพัฒนาตามแนวคิดของตนเอง ทำทีละส่วน ไม่มีการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งเป็นผลทำให้เมืองพัฒนาแบบขาดอัตลักษณ์ ขาดจิตวิญญาณของเมือง
ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง จึงออกแบบหลักสูตรอบรมผู้สร้างบ้านแปงเมือง เรื่อง การใช้จิตวิญญาณและอัตลักษณ์เมือง เพื่อสร้างสังคมและเศรษฐกิจเมืองแบบเกื้อกูลและยั่งยืน เพื่อให้แนวคิดพัฒนาเมือง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจจากรากฐานวัฒนธรรมของเมือง เน้นการพัฒนาที่ให้ประโยชน์เกิดกับคนหลายกลุ่มเกื้อกูลรับผลประโยชน์ร่วมกัน
วัตถุประสงค์
การอบรมครั้งนี้มุ่งมั่นว่า ผู้เข้าร่วมอบรมได้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของเมืองทั้งในระดับโลกและเมืองในประเทศไทย ได้รับแนวคิดและความรู้ใหม่ในการพัฒนาเมือง และที่สำคัญได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาเมืองกับนักคิดและผู้มีประสบการณ์ในด้านการพัฒนาเมือง เห็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อยอดจากต้นทุนของเมือง เพื่อที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะสามารถนำความรู้ไปต่อยอดพัฒนาเมืองของตนเองได้ นอกจากนี้หลักสูตรดังกล่าวคาดหวังว่าจะสามารถทำให้เกิดเครือข่ายผู้ทำงานเรื่องเมืองได้ด้วย
รูปแบบการเรียนรู้
รูปแบบการเรียนรู้ ประกอบด้วย
- การบรรยาย (Lecture) จากประสบการณ์นักคิดและผู้เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาเมือง
- การแลกเปลี่ยน (Discussion) ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถแลกเปลี่ยนตลอดการอบรม กับวิทยากรที่ทำงานความรู้ในเรื่องเมือง
- การปฏิบัติการ (Workshop) มีการระดมสมอง และนำเสนอเกี่ยวกับพื้นที่เมืองของตนเอง และแผนการพัฒนาพัฒนาเมือง
เนื้อหาหลักในหลักสูตร แบ่ง 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 แนวคิดและปรัชญาการพัฒนาเมือง
- แนวคิดและปรัชญาของการพัฒนาเมือง (เมืองพึ่งตัวเอง ไม่พึงส่วนกลาง การฟื้นฟูจิตวิญญาณของเมือง ผู้สร้างบ้านแปงเมือง การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ ภูมิใจในเมืองของตนเอง ฯลฯ)
- การสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง ด้วยแนวคิดการค้นหาการผูกขาดทางธรรมชาติ (Natural Monopoly) บนฐานทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ทำได้อย่างไร การพัฒนาสินค้าท้องถิ่น ตัวอย่างเมืองที่พัฒนาสินค้าท้องถิ่น วิธีการทำงานในการพัฒนาสินค้า ฯลฯ)
ส่วนที่ 2 แนวทางและเครื่องมือการพัฒนาเมือง
แนวทางและเครื่องมือการพัฒนาเศรษฐกิจเมือง ด้วยแนวคิดและวิธีการใหม่ เช่น แนวคิดการทำธุรกิจเกื้อกูลรับผลประโยชน์ร่วมกัน (Inclusive business) แนวคิดกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) การเปลี่ยนพื้นที่ให้มีมูลค่า สร้างสรรค์ มีความหมายและมีความสุข (Place making) พร้อมด้วยตัวอย่างและประสบการณ์จากเมืองต่างๆ ที่ปฏิบัติจริงหลากหลายเมือง
ผู้ทรงคุณวุฒิ/วิทยากร
- ศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต
- คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง
- อ.อรอนงค์ นิธิภาคย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- อ.ธิป ศรีสกุลไชยรัก อาจารย์ประจำสถาบันอาศรมศิลป์
- ผศ.ดร.พิชัย เอื้อมธุรพจน์ ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์การประกอบการเพื่อสังคม (Selab)
- คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ เจ้าของธุรกิจโฮลเทลเพื่อชุมชน
- คุณสุพจน์ กรประสิทธิ์วัฒน์ ผู้นำวิสาหกิจชุมชน Gong Coffee
- คุณอภิชญา โออินทร์ นักวิจัย ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง
เมืองที่เข้าร่วม
มีเมืองที่นำโดยนำโดยภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน กว่า 10 เมือง ได้แก่ (เมืองสายบุรี ปัตตานี) (เมืองปราจีนบุรี) (เมืองวงเวียนใหญ่ กรุงเทพ) (เมืองอยุธยา) (เมืองระนอง) (เมืองอุดรธานี) (เมืองตรัง) (เมืองทุ่งสง นครศรีธรรมราช) (เมืองแม่มอก ลำปาง) (เมืองสมุทรปราการ)