Workshops

สุมหัวคุยเรื่องเมืองกับคนตรัง 3 : ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะยั่งยืนไปด้วยกันได้จริงหรือ

 

 

 

 

นิยามของธุรกิจเพื่อสังคม

 

การจัดการ supply chain ให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน

(อนุกูล FolkRice): ธุรกิจเพื่อสังคมคืออะไร มันก็มีหลายนิยาม เอาที่บริษัทเราใช้แล้วกัน Folk Rice คือ ธุรกิจขายข้าวอินทรีย์อยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ ยึดมั่นในการประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม คือ การที่เราได้ทำธุรกิจและรับผิดชอบต่อห่วงโซธุรกิจ (supply chains) ของเราซึ่งคือเกษตรกร เราอยากจะเข้ามาแก้ปัญหาความยากจนในกลุ่มคนภาคเกษตร ที่อยากทำเรื่องนี้เพราะผมเป็นลูกเกษตรกร ที่ได้เข้าไปเรียนก็เพราะพ่อแม่ทำเกษตรส่งเราเรียน ขายนาไปบางส่วนก็มี วันที่ออกจากบริษัทแล้วคิดว่าจะกลับไปทำอะไร สิ่งหนึ่งที่คิดว่าทำได้เลยคือการกลับไปแก้ปัญหาสิ่งที่เราเจอมาในอดีต หรือสิ่งที่เราเข้าใจในปัญหานั้นอยู่แล้ว ผมทำกิจการเพื่อสังคมมา 5–6 กิจการก่อนที่จะมาเป็น Folk Rice ตอนเรียนหนังสือก็เคยทำกิจการรับจ้างสร้างบ้านดินให้กับ อบต. ในภาคเหนือ เพื่อให้เป็นศูนย์พัฒนาเด็กและเยาวชน พอขึ้นปี 3 ก็ทำโปรเจคเกี่ยวกับขยะ ทำเตาเผาขยะ ได้แบบมาจากญี่ปุ่นและก็มาทำให้กับชุมชน สุดท้ายแล้วก็พบว่าปัญหาจริงๆ เลยที่เราสามารถทำได้และอยู่กับมันไปในระยะยาวหรือจนตายคือเรื่องเกษตร เพราะตัวเราเองโตมาจากสิ่งนี้

 

 

ดังนั้นธุรกิจเพื่อสังคมของเราคือ การจัดการให้ supply chain ให้รับผิดชอบกันและกันให้ได้ ส่วนเรื่องหุ้นหรือปันผลต่าง ๆ เราพยายามออกแบบให้มันปันผลกลับไปที่ตัวเกษตรกร อันนี้เป็นแนวคิดง่ายๆ ยุคแรกเราเน้นที่ Social Impact แล้วก็มาเน้นยอดขาย เพื่อที่จะแก้ปัญหาความยากจนและรายได้ของเกษตรกร เวลาเราจะทำธุรกิจอะไรนั้น ปรัชญาสำคัญที่สุด เราตอบคำถามของเราได้ไหมว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร เราอยากตื่นมาทำธุรกิจนี้ พร้อมกัดฟันสู้เมื่อมีปัญหา ถามซ้ำๆ จนตกผลึกทางความคิด ไม่ว่าเราจะกำลังสวมหมวกใบไหน การแก้ปัญหาความยากจนให้เกษตรกรก็เป็นสิ่งที่เราอยากทำ นี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมยังทำธุรกิจนี้อยู่

เวลาเราจะทำธุรกิจอะไรนั้น ปรัชญาสำคัญที่สุด เราตอบคำถามของเราได้ไหมว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร เราอยากตื่นมาทำธุรกิจนี้ พร้อมกัดฟันสู้เมื่อมีปัญหา ถามซ้ำๆ จนตกผลึกทางความคิด
ธุรกิจที่ต้องการแก้ปัญหาสังคม และมี Social Impact ที่วัดได้

(นรินทร์ A-Chieve): A-chieveทำเกี่ยวกับเรื่องแนะแนวให้กับเด็กมัธยม ทำอย่างไรให้เด็กรู้ตัวเอง ในการเลือกสายการเรียนหรือเลือกคณะ ถ้าถามว่าธุรกิจเพื่อสังคมคืออะไร ตอบง่ายๆ เลย คือ ธุรกิจที่เป้าหมายสูงสุดคือการแก้ปัญหาอะไรบ้างอย่างที่สนใจและอยากจะแก้มันให้ได้จริงๆ สิ่งที่มันต่างจากธุรกิจทั่วไป คือ ธุรกิจทั่วไปจะไม่มานั่งถามว่าสิ่งที่จะแก้คืออะไร ปัญหาที่แก้ไปแก้ได้จริงรึเปล่า ซึ่งธุรกิจเพื่อสังคมจะทำให้คนที่มาซื้อสินค้าหรือบริการเรารู้ว่าเขามาแล้ว สังคมมันดีขึ้นยังไง อันนี้คือนิยามของเรา

ถ้าถามว่าธุรกิจเพื่อสังคมคืออะไร ตอบง่ายๆ เลย คือธุรกิจที่เป้าหมายสูงสุดคือการแก้ปัญหาอะไรบ้างอย่างที่สนใจและอยากจะแก้มันให้ได้จริงๆ
 

 

จุดเริ่มต้นมาทำ A-Chieve หลังจากจบพร้อมเพื่อน 3 คน คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มาแล้วไม่อยากไปทำงานประจำที่ไม่รู้ว่ามันจะไปสร้างประโยชน์ให้กับใคร ก็เลยไม่สมัครงานแต่มามองหาว่าเราจะแก้ปัญหาอะไรกันดี ประเด็นที่ A-chieve ทำมาจากคนใกล้ตัวคือน้องชายของผู้ร่วมก่อตั้ง กำลังจะขึ้น ม.4 แต่เลือกไม่ได้ว่าจะเรียนอะไร มันก็เลยเป็นจุดเริ่มว่าอันนี้คือปัญหาที่เมื่อเรามองย้อนกลับไปตอนเราอยู่ ม.ปลาย เราก็ยังไม่รู้ว่าเศรษฐศาสตร์คืออะไร เรียนอะไรบ้าง จบแล้วทำอะไร มันคือปัญหาที่ใหญ่มากของประเทศ แต่มันไม่มีใครทำเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เรื่องการเรียนแนะแนวทุกคนเจอปัญหาเหมือนกันคือ การทำแบบทดสอบว่าเราเหมาะกับคณะอะไรและเอาผลคะแนน entrance ปีก่อน ๆ มาให้ดู เทียบว่าคะแนนอยู่ประมาณนี้จะเข้าคณะนี้ได้ ซึ่งมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย ปัญหานี้มันเป็นสิบปีแล้ว เราควรจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหานี้ เรารู้สึกว่าถ้าแก้ปัญหานี้ได้มันจะไปแก้ปัญหาได้หลายอย่าง ที่มันจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต หรือน้องๆ จะได้ไม่เจอปัญหาว่าจบมาแล้วทำอะไรดี

 

เป้าหมายสูงสุดคือแก้ปัญหาสังคม แต่ใช้ business model เพื่อความยั่งยืน

(ศานนท์ Trawell): ธุรกิจเพื่อสังคมในมุมมองผมคือ ธุรกิจเพื่อสังคมมีเป้าหมายสูงสุดคือการแก้ปัญหาสังคมแต่ใช้โมเดลของธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร เพื่อที่จะแก้ปัญหาสังคมให้บรรลุได้ บางคนจะมองว่าธุรกิจเพื่อสังคมมันคือธุรกิจที่ hybrid คือทำหน้าที่ของตัวเองด้วย ทำให้คนอื่นด้วย ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราไม่ทำแบบนั้น เราก็จะไม่รู้ว่าเป้าหมายสูงสุดมันคืออะไร ของผมมันคือการแก้ปัญหาสังคมซึ่งมันค่อนข้างชัด

 

ธุรกิจเพื่อสังคมในมุมมองผมคือ ธุรกิจเพื่อสังคมมีเป้าหมายสูงสุดคือการแก้ปัญหาสังคมแต่ใช้โมเดลของธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร เพื่อที่จะแก้ปัญหาสังคมให้บรรลุได้
 

 

ผมทำธุรกิจเพื่อสังคมชื่อ Trawell ก็คือพยายามจะสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายหนึ่งคือการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน ผมไม่ได้เริ่มทำ Trawellเป็นบริษัทแรก ผมทำธุรกิจ Hostel มาก่อน ชื่อ Once Again เราทำงานกับชุมชนที่อยู่ในเขตพระนคร เพราะมีชุมชนโบราณ เช่น ชุมชนทำจีวรพระ ชุมชนทำดินสองพอง ชุมชนที่ทำงานหัตถกรรม มีช่างศิลป์จำนวนมาก เราก็เลยทำที่พักที่สามารถเชื่อมโยงกับชุมชนรอบๆ อยากจะให้เศรษฐกิจมันกระจายไปที่ชุมชน

แต่พอทำไปมันก็ไม่ได้กระจายไปจริงๆ มันก็แค่เขามาพักกับเราและก็เดินไปเที่ยว ก็เลยเกิดบริษัทชื่อ Trawell เพิ่มขึ้น เป็นโครงการช่วยชาวบ้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน สนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากและการสร้างเมืองที่ยั่งยืน พอทำไปได้ประมาณ 6 เดือน มีชุมชนใกล้บ้านจะโดนยุบ เราจะรวมพลังเศรษฐกิจของชุมชน มีกลุ่มหนึ่งมาช่วยพัฒนาชุมชนให้ชาวบ้านแต่ก็สุดท้ายชุมชนก็โดนยุบ เพราะฉะนั้น ก็เลยได้ทำทั้งสองบริษัทเลยก็คือ Hostel กับ Trawell แรงบันดาลใจก็คือผมอยู่ในบ้านที่โดนไล่ที่มาตั้งแต่เด็ก เป็นที่ทรัพย์สิน ต้องย้ายบ้านไป เคยไปทำงานช่วยชุมชนที่ถูกไล่ที่แล้วรู้จักกับประธานชุมชน เขารู้จักกับพ่อผมเพราะเคยต่อสู้ในช่วงตอนโดนไล่ที่มาด้วยกัน ก็เลยรู้สึกอินและคิดว่า การพัฒนาเมืองนั้นทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้

 

ความสมดุลระหว่างการบรรลุผลทางกำไรของธุรกิจ และการบรรลุผลทางสังคม

 

การคุยกันให้เห็นเป้าหมายร่วม ต้องเข้าใจและเดินไปด้วยกัน

(ศานนท์ Trawell): ผมว่ายากที่สุดของธุรกิจคือการดูแลคนให้ทำงานบรรลุเป้าหมายของธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่ทีมผมพยายามจะทำ ธุรกิจเพื่อสังคมมันมีเป้าที่จะบรรลุ มันก็จะชี้ว่าเราจะแก้ปัญหาอะไร สิ่งที่ Trawell พยายามทำคือพยายามจะพูดถึงเศรษฐกิจฐานราก ผมเริ่มที่พระนคร สิ่งที่ทำอันดับแรกคือมันมีกี่ครัวเรือนที่อยู่ในพระนคร มีชุมชนอะไรบ้าง คนที่เราอยากจะช่วยสนับสนุนธุรกิจของเขาคือใครบ้าง เราก็เลยแตกมาเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มผู้พักอาศัยที่เป็นชุมชนกับกลุ่มผู้ประกอบการ แล้วเราก็วัดออกมาว่าทั้งหมดมี 50,000 ครัวเรือน เราจะทำยังไงให้ทุกครัวเรือนที่เป็นคนพื้นที่ดั้งเดิมสามารถอยู่ต่อได้ มันเป็นเรื่องของการชี้วัดที่ว่าจะสนับสนุนยังไง ฐานเงินเดือนเท่าไหร่ที่ถือว่าเราสนับสนุนเขาแล้ว อันนี้คือเป้าหมายทางสังคม อีกเป้าหมายหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญคือเป้าหมายของธุรกิจ ที่ว่าจะต้องเดินยังไง ผมทำ Hostel ก็มีเป้าทางธุรกิจ ต้องกำหนดอัตราการเข้าพักในแต่ละช่วงเวลาของโรงแรม (occupancy rate) ว่ามีเท่าไหร่ ต้องมีนักท่องเที่ยวประมาณไหน มันมีสองเป้าหมายคือเป้าหมายทางสังคมและเป้าหมายทางธุรกิจ ซึ่งมันจะต้องเดินไปได้ด้วยกัน สิ่งที่ทีมผมใช้คือเราจะมากำหนดเป้าหมายนี้ร่วมกัน ทุกอย่างไม่ใช่เพราะเรา มันไม่ได้เกิดจากเราเท่านั้นที่ตั้งมันขึ้นมา

ฉะนั้นผมจะคุยกัน สมมติปีที่แล้ว occupancy rate 85 เปอร์เซ็นต์ ปีนี้อยากได้ 90 เปอร์เซ็นต์กันไหม incentive sharing จะเป็นเท่าไหร่ bonus ของแต่ละคนจะเป็นยังไง เรื่องของสังคมก็เช่นกัน เรามาพูดคุยกันว่าตั้งเป้าไว้ที่เท่าไหร่ มันมีตำแหน่งหนึ่งที่เพิ่งมีปีนี้ คือตำแหน่ง purpose monitoring เพราะว่าธุรกิจเพื่อสังคมมันขับเคลื่อนไปได้ด้วยเป้าหมายว่าเราทำไปทำไม ผมมีธุรกิจเพื่อสังคมก่อนหน้านี้ 2–3 ทำเรื่องเด็กทำเรื่องขยะอะไรพวกนี้ แล้วเราก็ปิดไป เพราะว่ามันไม่มีเป้าหมายที่จะทำต่อ แต่ว่า Trawell ยังมีเป้าหมายที่จะทำอยู่ และเป้าที่เรามีร่วมกัน ถ้ามันยังไม่สำเร็จเราก็ไม่ควรจะทำต่อ ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่เป้าหมายของผมเพียงคนเดียว มันกลายเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกัน มันกลายเป็นงานกลุ่ม ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือทำยังไงให้ทุกคนผูกติดกัน เหมือนแชร์เป้าหมายนี้ไปด้วยกัน มากกว่าที่เราตั้งขึ้นมาแล้ว ทุกคนทำตามสิ น่าจะเป็นสิ่งที่คิดว่าสำคัญกว่า เราไม่ได้เดินคนเดียว แต่เดินร่วมกับคนอื่นที่มาช่วยกัน

 

Stakeholders ต้องเข้าใจปรัชญาของธุรกิจ ต้องหาจุดร่วมเข้าใจตรงกันให้ได้

(อนุกูล FolkRice): ธุรกิจผมทำงานกับ stakeholders หลายระดับมาก ตั้งแต่เกษตรกร ที่ไม่รู้ว่าการดีลธุรกิจมันเป็นยังไง ดังนั้น โมเดลเราต้องคิดเผื่อเลย ไม่ใช่คิดให้ เพราะว่ากลัวว่าเค้าจะไม่ได้กำไร ดังนั้น เป็นสิ่งที่เราชวนเกษตรกรมาคิดเรื่องต้นทุน คือเกษตรกรต้องเข้าใจวิสัยทัศน์ของธุรกิจเราก่อน เราถึงจะรับซื้อข้าว ไม่เช่นนั้นทุกคนจะคิดแค่ว่าปีนี้จะปลูกอะไรดี ปีนี้จะซื้อราคาเท่าไหร่ ซึ่งเราไม่ตอบคำถามนี้ ถ้าไม่เข้าใจปรัชญาเราเลย ผมทำงานส่งเสริมเกษตรกรมา 5–6 ปี เดินทางไปคุยกับผู้คนที่เป็นเกษตรกรหลายกลุ่ม ว่าจะทำและขายไม่สนใจใครไม่ได้ เรากำลังสร้าง supply chain ร่วมกันอยู่ ถ้าคุณทำของมาไม่ดี เราก็ได้รับผลกระทบ อันนี้คือ stakeholder ที่เป็นเกษตรกร

ส่วนพนักงานในบริษัทเอง คือทุกคนต้องเข้าใจว่าเราธุรกิจนี้ได้กำไรจากอะไร แล้วต้นทุนเราคืออะไร เราจะแก้ปัญหาเรื่องอะไร เอาให้ชัด ๆ เลย ถ้าไม่ชัดพนักงานก็จะกลายเป็นแค่พนักงานที่มานั่งอยู่ในออฟฟิศ รอผมสั่งงาน ผมเรียนรู้เรื่องนี้ว่าผมจะรำคาญตัวเองมากที่ตอนเช้าตื่นมาต้องสั่งงานคน เราทุกคนต้องช่วยกันคิด แต่มันก็มีเป้าหมายอยู่ว่าคิดเพื่อเกษตรกรด้วย ในขณะเดียวกันเราต้องมีกำไร ต้องคิดโมเดลขึ้นมา ไม่ใช่ให้ผมคิดให้ ในขณะเดียวกันเราต้องรักษาทั้งผลประโยชน์เขา ผลประโยชน์เรา ผลประโยชน์ลูกค้า ทำให้ Supply Chain มันไม่เอาเปรียบใคร

ในขณะเดียวกันก็ต้องสื่อสารกับลูกค้าอีกว่าของที่เราทำมันออร์แกนิคอย่างไร มันมีประโยชน์อย่างไร มันรับผิดชอบพวกคุณอย่างไร อันนี้ในประเทศ พวกร้านอาหาร นอกประเทศ เราทำได้อย่างเดียวคือทำตามกฎการค้าของโลก ตามระเบียบโลกปกติ ทำให้มันเป็น fair trade แม้กระทั่งลูกค้าจีนที่บอกว่าไม่แฟร์ เราจะให้ข้อมูลเขาซึ่งคนจีนรุ่นใหม่ทำธุรกิจแฟร์มาก นี่คือสิ่งที่ผมค้นพบมา แล้วนักธุรกิจจีนรุ่นใหม่ ๆ ไม่ชอบพฤติกรรมของนักธุรกิจรุ่นเก่าด้วย ที่แบบเอากำไรได้เอา โกงได้โกง เด็กจีนรุ่นใหม่ ๆ ก็ไม่ทำ อันนี้คือที่เราดีลกับเพื่อนที่เป็น partner จีน เราก็เห็นว่าจีนเอง สิงคโปร์เอง ฮ่องกงเองก็มีการปรับตัวของ generation

ดังนั้นถามว่าทำอย่างไรให้สมดุล ตั้งแต่แหล่งผลิต ตั้งแต่ supply chain แล้วก็ทั้งในบริษัทตัวเองด้วย ผมใช้วิธีการเข้าใจ ก็คือคุย มันจะมีข้อมูลอยู่ชุดหนึ่งที่ทุกคนได้รับข้อมูลชุดเดียวกัน ซึ่งทำให้ไม่เข้าใจผิด ทำงานง่าย อันนี้เป็นมาตรฐานเลย เช่น ข้อมูลที่เราคุยกันในบริษัท ทั้งข้อมูลของการรับซื้อ จะไม่มีการเอาไปคุยอีกแบบหนึ่งเลย ก็คือคุยกัน ตกลงกัน ทุกคนก็ต้องยึดสิ่งนี้ แม้กระทั่งกับลูกค้า เราก็ต้องเปิดเผยข้อมูลที่มันจำเป็น เช่น ลูกค้าต้องการใบเสนอราคา ลูกค้าอยากรู้แหล่งผลิต เราจะเพิ่มมูลค่ากับของที่เรามีอยู่แค่นี้อย่างไรต่างหาก อันนี้คือสไตล์การทำธุรกิจของผม

CSV (Creating Shared Value) คือพยายามเอาสังคมไปสอดแทรกในกระบวนการธุรกิจ ไม่ต้องเริ่มอะไรใหม่

(ศานนท์ Trawell): ผมว่ามันค่อนข้างยาก เรื่องความสมดุล เพราะว่าจุดเริ่มต้นธุรกิจไม่เหมือนกัน ของผมมันเริ่มจากเอาปัญหามาแล้วเราก็มาออกแบบกัน แต่ธุรกิจปกติก็จะหาช่องว่างทางตลาด แล้วก็หากำไรได้มากสุด แล้วมาดูที่หลังว่าจะตอบแทนสังคมอย่างไร จริง ๆ มันมีอีกไอเดียหนึ่งที่หลายคนเริ่มใช้ เรียกว่า CSV (Creating Shared Value) คือพยายามเอาสังคมไปสอดแทรกในกระบวนการธุรกิจที่มันดีอยู่แล้ว ผมว่าเริ่มง่ายมาก อย่างเช่น ผมทำโรงแรม ผมก็เปลี่ยน sourcing ที่รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น พนักงานก็เอาคนท้องถิ่นมากทำมากขึ้น เอาคนในเมืองมากขึ้นมันก็เป็นอีกวิธีที่เมื่อธุรกิจโตแล้วและสามารถทำเพื่อสังคมได้ง่ายที่สุดผ่านโมเดลเดิม โดยที่ไม่ต้องไปสร้างอะไรใหม่ ก็ทำได้เหมือนกัน

 

การทำธุรกิจเพื่อสังคม ความเชื่อมโยงกับภาครัฐ

 

องค์กรต้องเข้าใจปรัชญาของตัวเอง จับคู่ทำงานกับชุมชนที่ต้องการจริงๆ

(ศานนท์ Trawell): ผมมีประสบการณ์ชุมชนเมือง ไม่ได้มีประสบการณ์ชุมชนต่างจังหวัดเท่าไหร่ ชุมชนเมืองตอนนี้เหลือน้อยมากเพราะว่าเปลี่ยนรูปแบบเป็นเหมือนเมืองไปแล้ว ตึกแถวที่ไม่รู้จักกัน วัฒนธรรมที่อยู่ด้วยกันมันหายไปแล้ว มีเหลือยู่บ้าง มันก็เลยเป็นที่ที่ได้รับความนิยมมาก คนก็จะไปแต่ที่เดิมๆ ยกตัวอย่าง มหาลัย เช่น สังคมสงเคราะห์ มธ. ก็ต้องหาพื้นที่ชุมชนให้เด็กฝึกงาน เรียนดีไซน์อยากให้เด็กชุมชน ผังเมืองก็อยากให้เด็กลงชุมชน ชุมชนจะค่อนข้างบอบช้ำจากการเข้ามาของหลายๆ องค์กร นักวิชาการก็เหมือนกัน หลังๆ ธุรกิจเพื่อสังคมก็เป็นเทรนด์ใหม่ที่ทุกคนก็ลงไปเหมือนกัน แล้วพอมันอยู่ในเมือง คนรุ่นใหม่ก็ลงไปกันเยอะ ผมคิดว่าชุมชนที่คนลงไปกันเยอะจะค่อนข้างมีกำแพงที่สูงกับคนที่เข้ามา

ผมคิดว่าทุกองค์กรควรจะมีปรัชญา ยกตัวอย่าง มีงานหัตถกรรมที่เป็นงาน craft ถ้ามีบางชุมชนที่เค้ารู้สึกว่าเค้าต้องการ มัน match พอดี มันก็จะทำงานกันได้ แต่มันเป็นไปไม่ได้ที่ทุกชุมชนจะทำงาน craft ทั้งหมด ที่ผมกำลังจะบอกก็คือว่า คุณค่าที่แท้จริงของตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นรัฐ SE นักวิชาการ หรืออะไรก็ตาม มันจะต้องมีพื้นที่ที่ตามหาคุณค่านั้นอยู่ ผมเองก็มีเหมือนกันที่พยายามจะเข้าไปช่วยแต่จริงๆ แล้วเขาเก่งกันอยู่แล้ว มันไม่ได้มีปัญหาที่ผมจะทำ คือเขาสามารถทำของเขาได้เอง สิ่งที่เราต้องทำก็คือเราต้องปล่อย เรามีคุณค่าอะไรที่เราจะแก้ปัญหานั้น แล้วช่องว่างของปัญหานั้นมันขาดตรงนี้จริง ๆ มันก็จะจบ

 

ปัญหาของการเชื่อมโยง คือรัฐและประชาชนมีความเชื่อในโมเดลการแก้ไขปัญหาที่ต่างกัน รูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมเป็นทางเลือกใหม่ในการอุดช่องว่างการทำงานของภาครัฐ

(อนุกูล FolkRice): มีคนเชื่อและหลายคนก็เชื่อว่ามันเชื่อมโยงกับรัฐได้ มีคนพยายามเชื่อมในหลายพื้นที่ แต่ด้วยความที่โมเดลมันถูกขับเคลื่อนด้วยโมเดลราชการ ระบบราชการมีพระราชบัญญัติสหกรณ์ในการขับเคลื่อนประเทศนี้อยู่ มีความเชื่อกันว่าระบบสหกรณ์จะช่วยแก้ปัญหาเกษตรกร และแก้ปัญหาระบบฐานรากได้ แต่ระบบนี้ถูกควบคุมด้วยกระทรวงเกษตร ผู้ตรวจสอบเป็นข้าราชการกระทรวงเกษตร ที่มันเชื่อมไม่ได้เพราะภาครัฐเชื่ออีกโมเดล แต่ธุรกิจเพื่อสังคมเป็นโมเดลที่กึ่งเอกชนกึ่งประชาสังคม ภาคประชาสังคมก็จะเชื่อว่างานที่เขาทำรัฐทำไม่ได้ เป็นสิ่งรัฐยื่นมือเข้าไปทำไม่ถึง ในขณะที่ธุรกิจก็จะแสวงหากำไรไปเรื่อยๆ แต่ธุรกิจเพื่อสังคมเป็นระบบที่คิดว่าเราจะทำธุรกิจที่ดี ที่ไม่ต้องใช้ระบบอุปถัมภ์หรือระบบผูกขาดได้ ในขณะที่เป็นธุรกิจที่ดูแลสังคมแบบที่ธุรกิจปกติเชื่อได้

อันที่จริงธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามาในฐานะธุรกิจปกติ แล้วก็รับผิดชอบสังคม ในขณะที่เราเชื่อว่าการทำธุรกิจที่แสวงหากำไรโดยที่ตอบแทนรัฐด้วยภาษี แล้วภาษีจะกลับมาพัฒนาประเทศ มันไม่กลับ มันมีครอบครัวอย่างผมที่เค้าต้องขายนาส่งผมเรียน คือทุกคนคิดไปเองว่าภาษีมันจะกลับไปบ้านนอกของผม ทำไมมันถึงมีคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นแก้ปัญหาแก้ปมตรงนี้ เราอยู่ต่างจังหวัดเรารู้ดีว่าเราเข้าไม่ถึงสิทธิพิเศษที่กรุงเทพมี เช่น BOI (การยกเว้นภาษี) ส่วนใหญ่นะ ธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นภาษีก็จะเป็นธุรกิจในกรุงเทพ ที่มาบตาพุด ที่ระยอง หรือที่อะไร แต่เราเป็นธุรกิจแม้ทำดีมากเลย เลี้ยงคนแทบจะทั้งจังหวัดอยู่แล้ว กลับไม่ได้ BOI ทำให้แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมจึงเกิดขึ้นมาเพราะเราเห็นpain point จริงๆ เห็นปัญหาจริงๆ ที่จะทำให้ธุรกิจมันรับใช้จังหวัดนั้นๆ ได้จริงๆ สุรินทร์เป็นจังหวัดที่ส่งออกข้าวเป็นที่ 1 ของประเทศ แต่สุรินทร์เป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศมาก่อน ความเหลื่อมล้ำของสุรินทร์สูงมาก วันนี้บุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปมากที่สุดในภาคอีสาน แต่บุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่เกษตรกรและคนยากจนมากที่สุด นี่คือสิ่งที่คนทำธุรกิจเพื่อสังคมอยากเข้ามาแก้

แล้วทำไมถึงเชื่อมกับภาครัฐไม่ได้ซะที ก็เพราะว่ารัฐไม่รู้ว่าจะหาโมเดลอะไรมาจัดการเรื่องภาษีกับเรา ตอนนี้ยังไม่มี พ.ร.บ. ดูเราเหมือนบริษัทจำกัดเหมือนเดิม ประเด็นที่ 2 คือ รัฐพยายามทำธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบของรัฐเอง เป็นรูปแบบของประชารัฐ แปลว่ารัฐกำลังลอกโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมไปเป็นโมเดลของรัฐเอง แล้วก็ทำผ่านบริษัทใหญ่ ทำไมมันถึงรวมกันไม่ได้ซักที ในฐานะที่เราเป็นคนไทยและอยากทำธุรกิจเพื่อสังคม คิดว่ารัฐทำไม่ไหวหรอก รัฐเองแบกไว้คนเดียวไม่ได้หรอก ต้องกระจายออกมาช่วยกันทำ ตั้งแต่เราปฏิวัติอุตสาหกรรมปี 2530 จนถึงปีนี้ 2561 ภาษีมันไม่เคยกลับมาหาเราเลย ยังมีเด็กหลายคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษา ยังต้องเข้าถึงสินเชื่อนอกระบบ เข้าไม่ถึงทรัพยากรอีกหลายอย่าง ถ้าเศรษฐกิจท้องถิ่นมันโต เค้าสามารถที่จะดูแลกันเองได้ สิ่งที่รัฐทำนโยบายสาธารณะมามันไม่เพียงพอ แต่ถ้ามันมีธุรกิจเพื่อสังคมเกิดขึ้นในทุกจังหวัด ยังไงก็มีคนได้รับประโยชน์มากกว่ารัฐทำธุรกิจผูกขาด แล้วคนตรัง ยินดีที่จะเชื่อมกับรัฐในรูปแบบไหนที่ไม่ใช่รูปแบบประชารัฐ รูปแบบประชารัฐก็เป็นรูปแบบหนึ่ง ควรมองหารูปแบบอื่นๆ ด้วย

 

คนรุ่นเก่ากับการทำธุรกิจเพื่อสังคม

 

ธุรกิจเดิมปรับได้

(นรินทร์ A-Chieve): คนรุ่นใหม่เขามีโอกาสในการทำธุรกิจมากกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา เพราะต้องหาเช้ากินค่ำ แต่ยุคผมมันคือการไปหาโอกาสที่มันลอยไปหมดเลย ซึ่ง SE ก็เป็นอันหนึ่งที่เราเห็นโอกาส แล้วมันก็มีโอกาสให้เราได้ทำมากขึ้น เลยไม่แปลกที่เราจะเห็นคนรุ่นใหม่มาทำอะไรแบบนี้มากกว่า แต่ถามว่ารุ่นก่อน ๆ สนใจไหม ผมว่ามี แล้วถ้าเค้าจะเอาธุรกิจที่เค้าทำอยู่แล้วมาทำเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ผมว่าเป็นไปได้ อาจจะไม่ต้องมองถึง SE ก็ได้ แต่มองว่าธุรกิจที่ทำอยู่มันไปสร้างปัญหาอะไรรึเปล่า แค่นี้มันก็ช่วยแก้อะไรบางอย่างแล้ว ลองปรับก่อน แถมความยากของ SE คือ พอเราบอกว่าเราอินกับเรื่องนี้ เราต้องไปขลุกอยู่กับปัญหานั้นเยอะๆ การที่เราจะเข้าใจถึงปัญหาจริง แล้วแก้ได้ มันต้องใช้เวลา ผมทำ A-chieve ผมบอกว่าจะทำยังอย่างไรให้เด็กเลือกสายการเรียนหรือคณะได้ คำถามคือมันอยู่กับเรามาตั้ง 20 กว่าปี เรารู้ปัญหาจริงๆ ไหมว่าปัญหาที่เราจะแก้ มันใช่หรือไม่ใช่ ต้องใช้เวลาถึง 2–3 ปีกว่าจะเข้าใจปัญหา ไม่ใช่แค่เข้าใจปัญหาของเด็กใน กทม. อย่างเดียว ปัญหาของเด็กในต่างจังหวัด มันก็ต่างกันอีก

 

หลากหลายประเด็นจากคนตรัง

 

SE พยายามสร้างเงื่อนไขให้ตัวเองมากไป ควรเป็นธรรมชาติ และเรียนรู้ต่อยอดจากประวัติศาสตร์ให้มากขึ้น

(คนตรัง): ผมชื่อกอล์ฟ ทำร้านทับเที่ยง Old Town ในตรัง เมื่อ 3–4 ปีที่แล้ว เราเป็นสถาปนิก มีโอกาสได้ไป symposium ว่าด้วยเรื่องของการอนุรักษ์เมืองเก่า เราก็เริ่มทำกระบวนการนั้นมา เราเห็นว่ามันมีสารเร่งที่จะเร่งให้มันเป็นไปในทางที่เราอยากได้ ซึ่งก็คือภาครัฐ เขาจะจบด้วยตัวชี้วัดเสมอ ซึ่งมันไม่เคยสอดคล้องกับชีวิตคน สิ่งนี้เป็นปัญหาที่มันจูนกันไม่ได้ เพราะเราไปคิดที่ปลายทาง เราไม่เคยคิดที่ต้นทาง เพราะฉะนั้นนโยบายที่ผมทำร้านทับเที่ยง Old Town เกิดจากมาจากน้องคนหนึ่งที่ทำขนมท้องถิ่น แล้วไม่รู้จะขายใคร เพราะไม่มีคนกินแล้ว ผมก็เลยเปิดร้าน ผมก็ศึกษาธุรกิจเพื่อสังคมนะ แต่ผมว่ามันพยายามสร้างเงื่อนไขให้ตัวเองมากไป ผมเชื่อในทฤษฎีธรรมชาติ เพราะฉะนั้นผมก็จะใช้ชีวิตตามธรรมชาติ โดยผมเริ่มตามหาทรัพยากรที่อยู่ตามบ้าน ขนมเปี๊ยะร้านนี้ ขนมดั้งเดิมร้านนี้ ผมไม่ได้เพิ่มมูลค่าให้มันเพราะผมไม่ชอบคำนี้ เพราะผมเชื่อว่าถ้าผมทำให้มูลค่าเพิ่มโดยที่คุณค่าไม่เพิ่ม นั่นก็คือคุณโกงเค้า อย่างแรกที่คุณสมควรทำคือทำคุณค่าให้มันเพิ่มก่อน แล้วมูลค่ามันจะตามมาเอง นั่นคือ fair trade

เพราะฉะนั้นทุกคนต้องสร้างคุณค่าให้ตัวเองก่อน แล้วถัดจากนี้เราจะแบ่งปันคุณค่าให้เมืองยังไง และสิ่งที่ธุรกิจเพื่อสังคมสมควรที่จะทำมากที่สุด คือ การสร้างแรงบันดาลใจ มันตอบคำถามได้ที่ว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงทำ เพราะว่ามันเป็นเรื่องของมิติประวัติศาสตร์ การเรียนรู้ทุนนิยมแบบ maximum profit มันอยู่กับโลกนี้มา 40–50 ปี แล้ว แต่ของเรายังมีกินแบ่ง ผมเชื่อในทฤษฎีกินแบ่งเพราะมันเป็นวิธีของเอเชีย ชาวนาตรังทำนาจะแบ่งข้าวเป็น 3 กอง กองหนึ่งไว้แลกกับเพื่อนเพื่อเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าว กองสองเก็บไว้กินเอง กองสามถวายวัด ลงบุโร คือเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติเค้าจะมีข้าวกิน ซึ่งผมคิดว่ารูปแบบนี้ก็เป็นธุรกิจเพื่อสังคมในแบบฉบับโบราณ แต่เราไม่เคยจะค้นหาว่าเราจะเอายังไงต่อกับมัน เราพยายามหาโมเดลใหม่ๆ แต่เราลืมประวัติศาสตร์ ถ้าเราจะอยู่กับปัจจุบันโดยที่เราจะนำพาอดีตไปยังอนาคตให้กับคนอีกรุ่นหนึ่ง เราจะประคองมันอย่างไร เพราะเชื่อว่ามันคงไม่ไปสู่ยูโทเปียในยุคเราหรอก มันต้องมีการส่งต่อ เราก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดก็พอ

 

การทำธุรกิจที่ยุติธรรมกับทุกคนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำเพื่อสังคมแล้ว

(คนตรัง): ผมทำโรงไม้ คำถามที่ว่าจำเป็นไหมต้องเริ่มธุรกิจใหม่ในการทำธุรกิจเพื่อสังคม จากที่ฟังมาและประสบการณ์ตรง การทำธุรกิจให้มันยุติธรรม (Fair) กับทุกคน มันก็เข้าใกล้ธุรกิจเพื่อสังคมแล้ว ซึ่งผมก็ทำอย่างนั้น โรงไม้ที่ผมรับสืบทอดมาจากคุณพ่อตั้งแต่ปี 2558 ผมก็เปลี่ยนให้มันเป็น happy work place ทันทีเลย ซึ่งก็เริ่มทำมาตั้งแต่ ปี 2554 แต่เพิ่งมาจริงจังในปี 2558 และผลประกอบการก็ดีขึ้นด้วย ผมรับแรงงานไทย 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนในชุมชนด้วย ทำให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผมไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม ไม่ต้องคิดธุรกิจใหม่เลย

 

 

หลากหลายกลุ่มในตรัง กำลังคิดและเริ่มต้นทำอะไรเพื่อสังคม

(คนตรัง): ตอนนี้ผมกำลังเลี้ยงแพะ อยู่ที่ห้วยยอด ติดข้างหลังเป็นป่าเป็นเขาใกล้อุทยาน ในช่วงเดือนเมษายนจะมีการไปจับผึ้งของชาวบ้าน ผมมองเห็นศักยภาพว่าถ้าผมช่วยชาวบ้านแถวนั้นให้มีรายได้นอกเหนือจากการตัดยางทุกวัน ตัดปาล์มทุกวัน มันไม่ได้อะไรเลย ผมอยากจะใช้ที่ที่ผมมีและความรู้ที่บอกกับชาวบ้านได้ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเข้าหาชาวบ้านอย่างไร และทำอย่างไรให้เขาเชื่อเรา

(คนตรัง): ผมกำลังทำช่องทาง PR เชื่อมต่อเมือง เป็น application จริงๆ ทำไมเราถึงมาเดินเส้นทางนี้ เรามองว่าการที่เราเป็นนักธุรกิจที่อยากทำธุรกิจกับพื้นที่ในบ้านของเรา มันจะทำต่อได้อีกนานเท่าไหร่ เมื่อเศรษฐกิจฐานรากมันไม่สามารถโตไปได้อีกแล้ว จะมีเครื่องมือตัวไหนไหมที่จะกระจายรายได้ไปสู่ชาวบ้าน อยากจะมาช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากมันโตต่อไปได้ ก่อนที่เราจะหารายได้หรือจะเอาอะไรจากสังคม เราต้องทำให้สังคมโตให้ได้ก่อน หรือจะให้มันยั่งยืนไปได้อย่างไร

(คนตรัง): ผมเคยชวนน้องๆ ให้ทำบางเรื่องเล็กๆ ที่มันใกล้ธุรกิจเพื่อสังคม มันก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่า ไม่ใช่ ถ้าทำแค่นี้มันไม่ใช่ธุรกิจเพื่อสังคม อย่าเรียกตัวเองว่าธุรกิจเพื่อสังคม เช่น ร้านเล็ก ๆ อยากรับผักจากเกษตรในตรัง อยากซื้อปลา ซื้อปู จากชุมชน เราเอากฎหมายไปบอกว่าอย่าจับปูตัวเล็กนะ อย่าจับสัตว์น้ำตัวเล็กนะ อย่าจับตัวมีไข่นะ เราจะไม่รับซื้อ ถ้าทำตามเรา จากปกติกิโลละ 100 บาท เราให้ 110 บาท ชาวบ้านมีความสุข ร้านค้าจ่ายไหว แล้วกฎหมายไม่ต้องใช้เลย ชาวบ้านเชื่อกัน กลายเป็นว่าธุรกิจสอนชาวบ้านได้ดีกว่ากฎหมายซะอีก ฝรั่งทำร้านอาหารใช้คนในพื้นที่เค้าบอกเป็นธุรกิจเพื่อสังคมแล้ว คือเค้าทำบางมุมก่อน ผมคิดว่าที่ตรังหลาย ๆ คน คิดอยากจะทำ แต่มันเจอกับดักตรงที่เรื่องการยอมรับ

(คนตรัง): พี่เปิดร้านน้ำชา เป็นร้านน้ำชาจริงๆ เลย พี่เป็นเด็กย่านตาขาว ห่างจากเมือง 20 กิโล พี่มาอยู่ในเมืองนานมากแล้ว พอมีโอกาสที่กลับไปอยู่ย่านตาขาว ข้างหน้ามีสนามแข่งนกกรงหัวจุก สิ่งที่เปลี่ยนไปในครึ่งปีหลังนี้คือเริ่มมีไม้มาให้ไก่สวยงามมาเกาะ เลยมาคุยที่ร้านว่าเราจะเอาอะไรยังไงดี มันอาจจะไม่ใช่เชิงธุรกิจ หนึ่งอย่างที่พี่บอกไป 3–4 คน ที่นั่งกัน พี่อยากให้เราหาสิ่งที่ชุมชนเรามีจริง ๆ ไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นมา ถ้าเราหาสิ่งที่มันซ่อนอยู่ในหลืบต่าง ๆ เจอ ก็น่าจะยั่งยืนกว่า เอาที่เค้าเป็นเค้า อย่าพยายามให้เค้าเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น เรามองกันแบบนั้นนะคะแต่ว่ายังไม่ได้เริ่ม

(คนตรัง): เป็นคนทำอาหารค่ะ แล้วก็ช่วงนี้ปิดร้านเพราะขายไม่ค่อยดี เป็นอาหารที่ค่อนข้างพิเศษหน่อย เป็นอาหารจากชาติพันธุ์โดยตรง เพราะฉะนั้น อาหารเลยต้องใช้วัตถุดิบพื้นถิ่นเป็นสำคัญ บุคคลที่จะมาทานต้องทำการบ้านเล็กน้อย พอเราได้เดินทาง ได้เจอพวกกลุ่มชุมชน เราทำเรื่องเกี่ยวกับชุมชนมา ทำ Trang Positive กับกอล์ฟมา เราก็เริ่มลงชุมชนแรกๆ เห็นทุกอย่าง คือเราจะต้องดูว่าอะไรที่เข้าปากแล้วกินได้ เราถามหมดเกี่ยวกับกระบวนการผลิต เราต้องมีข้อมูลทั้งหมด แล้วทีนี้ทางกลุ่มเชฟเอง พี่เป็นตัวแทนภาคใต้ที่มีกลุ่มเชฟ ทุกภาคมีกลุ่มเชฟอยู่ ทุกภาคมีวัตถุดิบทุกที แต่ว่ามันมีปัญหาตรงที่ว่าภาคใต้หาวัตถุดิบยากที่สุด เพราะว่า 1.คือมรสุม 2.คนใต้ไม่ค่อยปลูกผัก ตอนนี้โชคดีว่าเราทำงานกับ ททท. แล้วก็เลยเจอทุกชุมชนในตรัง ก็เลยรู้ว่าทำไมเค้าไม่ทำอะไรเกี่ยวกับของกิน แต่ว่าบางชุมชนเค้าก็มีหัตถกรรม มีการถนอมอาหารอยู่บ้าง มีของสดบางที่ แต่เค้ายังไม่เข้าใจ คือเสน่ห์ของอาหารคือท้องถิ่นแต่ละที่มีผลิตผลอะไรก็เอามาประกอบอาหาร เรื่องข้าวเราก็ทำ ตอนนี้พี่กินข้าวของปะกากะยอ จังหวัดเชียงราย เพราะว่าทางนี้พี่เคยติดต่อแล้วแต่ว่า 3 เดือนเป็นมอด เพราะว่าแพคเกจจิ้งทำไม่ได้ แต่ปะกากะยอนี่อยู่บนเขานะคะ พี่ซื้อข้าวจากเค้ามาจะเขียนวันเดือนปีที่ซื้อมาทุกรอบ แล้วก็ดูว่าอันไหนที่มันโอเคที่สุด ตอนนี้ปะกากะยอพี่เก็บมา 2 ปีแล้วไม่มีมอด เค้าทำด้วยมือทุกอย่าง แต่ของที่นาโยง 3 เดือนต้องทิ้งเลย กินไม่ได้ เราทำอาหารเราก็อยากชูวัตถุดิบ มันก็เลยมีปัญหา จะลงทะเลจะมีของไหม ชาวบ้านก็ไม่อธิบายว่าอะไรเป็นยังไง พี่ไปทำกับเกาะยาวใหญ่ เค้ามีกลุ่ม CBT ให้ข้อมูลพี่หมดเลย ตรงนั้นมีสาหร่าย หัวหาดตรงนี้ ตรงนี้มีปลา ตรงนี้มีแพ CBT จัดการให้หมด ภาคใต้เค้าจะมีของมาแจกเชฟทุกจังหวัดยกเว้นตรังที่ยังหาของกันอยู่

(คนตรัง :กอล์ฟ) ปีที่แล้ว Trang Positive ชวนคุณลี อายุ จือปา มานำเสวนา โดยมี YEC เป็น Sponsor ลีก็เป็นคนที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมเหมือนกัน ก่อนลีก็จะมีเชฟทั้งหลายมา พี่อุ้มเป็นหนึ่งในกลุ่ม Fucking Chef พวกเชฟเรียกเจ้อุ้มว่าคุณแม่ เพราะว่าเป็นคนที่เรียบเรียงเรื่องราวทั้งหมด เป็นคนมีประสบการณ์เยอะ ในตรังมีกลุ่มแบบนี้ แต่สิ่งที่ผมจะขยายความนิดเดียวก็คือว่าการที่จะทำให้ธุรกิจเพื่อสังคม มันยั่งยืน มันไม่ใช่อยู่กันอย่างโดดเดี่ยว และไม่ได้อยู่กันแค่ network ถ้าคุณจะสู้กับระบบทุน คุณต้องใช้ระบบ share holding เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ต้องไปเข้าตลาดหุ้น ดูอย่างสโมสรบาร์เซโลนาก็ได้ที่ประชาชนทั้งเมืองช่วยกันถือหุ้น นั่นคือโคตร megaของวิสาหกิจชุมชน นั่นแหละคือความยั่งยืนที่แท้จริง เพราะทุกบาททุกสตางค์มันอยู่ในเมือง มันไม่ได้ไปไหน สิ่งนี้ผมเปรยกับผู้ว่ามาสองคนแล้ว ว่าทำไมเราไม่มีวิสาหกิจชุมชน ที่เป็นชุมชนเมือง แต่ออกไป 20 กิโลเรามีวิสาหกิจชุมชนเป็นร้อยเลย ถามว่าเค้าเป็นแค่กลุ่มทุนเล็ก ๆ มันต้องเอากลุ่มทุนใหญ่ไป drive ก่อน เพื่อที่จะเก็บของนั้นมา

ส่วนหนึ่งของเด็กรุ่นใหม่ที่จะทำได้คือระบบ agency ผมเคยเป็นกรรมการประชารัฐ แล้วผมมองว่ามันเป็น agency แบบปาหี่ เพราะผู้ถือหุ้นไม่มีผลกำไร คือกลัวที่จะมีกำไรกัน ในขณะเดียวกันก็ใช้อำนาจรัฐเข้ามา support เข้ามาชี้โยงว่าสิ่งนี้ดี ยกตัวอย่างที่เรายอมรับได้ก็คือภูเก็ต ประชารัฐเค้าก็เริ่มแค่ที่สับปะรดอันเดียว แต่มันก็ไปจบด้วยยาที่ปลายทาง สิ่งที่เราเห็นคือมันเป็นธุรกิจเพื่อสังคมแบบกลายๆโดยที่เอาคนทุกวิชาชีพมาเกี่ยวข้องกับมัน ซึ่งอันนี้ผมว่ามันแข็งแรงมาก แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราพายเรือกันในอ่าง มันก็จะไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย ทุกคนมันมีคุณค่าเหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันยังไม่ได้ถูกarrangeให้มันถูกต้อง มันเลยโยงกับราชการไม่ได้เพราะระบบราชการมันมีอยู่อย่างหนึ่งคือ มันไม่มีตำแหน่ง creative อยู่ในราชการ ถ้ามันมีตำแหน่ง creative มันจะ connect ได้ทันที นั่นคือหม้อแปลงที่แปลงไฟโวลต์สูงไปหาต่ำ นี่คือสิ่งที่เราคิดกันใน Trang Positive แต่เราทำอะไรไม่ได้ ประเด็นคือว่าเมื่อไหร่ที่รัฐพอจะมีงบประมาณ มันควรจะมาถามแบบนี้ เหมือนที่เรามานั่งคุยกัน ถ้าเป็นไปได้ ก็อย่างจะให้ความคิดของผมไป driveต่อแล้วกันว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง

 

ธุรกิจเพื่อสังคมเป็นอำนาจของประชาชน โมเดลหนึ่งของการแก้ปัญหาทางสังคม

 

(อนุกูล FolkRice): ธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม มันจะเป็นสมการที่เป็นไปได้จริงหรือ มันต้องเป็นเพราะมันมีอยู่ ต้อง integrate มันไปสู่จุดสมดุลให้ได้ ปฏิเสธให้มันมีแค่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลย ถ้ามันมีอยู่ก็ต้องทำให้มันสมดุลให้ได้ อันนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายยุคสมัยของเรา ไหนจะปัญหาต่างๆ ที่เรามองไม่เห็นเข้ามากระทบกับท้องถิ่นของเรา ธุรกิจเพื่อสังคมตอนนี้เท่าที่ผมเห็น ระบบวิสาหกิจชุมชน ระบบสหกรณ์ ผมมองเห็นโอกาสของธุรกิจเพื่อสังคมว่า น่าจะเป็นโมเดลที่รัฐยังงงๆ อยู่ เป็นภาคประชาชนเองที่สร้างขึ้นมาได้ก่อน โมเดลนี้น่าจะทำให้ท้องถิ่นดึงทรัพยากรกระจายออกมาได้เร็วกว่าระบบสหกรณ์ ระบบวิสาหกิจ ถ้าอยากให้อำนาจกลับมาที่ท้องถิ่น ควรใช้โมเดลนี้ เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของมันจริงๆ แล้วให้ประชาชนคนธรรมดารีบทำมันให้สำเร็จ ถ้าชาวบ้านเค้ายังไม่เข้าใจ อธิบายไม่เคลียร์ก็ต้องให้เวลาเขา โดยที่เรายังคงรักษาเป้าหมายสูงสุดไปด้วยกัน

(นรินทร์ A-chieve)ธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม มันก็ไปด้วยกันได้ มนุษย์เป็นคนขับเคลื่อนทุกอย่าง อะไรที่แย่ก็เป็นเพราะพวกเราทำ อะไรที่ดีก็เป็นเพราะพวกเราทำ ทำให้ดีขึ้นและแก้ปัญหามันให้ได้ ธุรกิจเพื่อสังคมมันเป็นแค่โมเดล อย่าไปยึดติดกับมัน สิ่งที่สำคัญกว่าคือเรารู้ว่าเราทำมันไปทำไม เรากำลังแก้ปัญหาอะไร และอะไรที่มันควรจะดีขึ้น ถ้ามันไม่ดีขึ้นก็ต้องทบทวนตัวเองว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เมืองหรือสังคมเมืองมันเกิดจากพี่ๆ มันเกิดขึ้นจากคนตัวเล็ก ๆ อย่างพวกเรา อย่างตัวผมเองไม่ค่อยเชื่อพลังของรัฐเท่าไหร่ ไม่ค่อยเอาชีวิตไปฝากไว้กับเขา เราคิดเสมอว่าเราทำ A-chieve เราไม่พึ่งรัฐ เราทำเองได้ ในอนาคตรัฐจะมาขอความช่วยเหลือเราเอง เรามองแบบนั้นมากกว่า และเค้าจะเป็นคนที่เอา resource มาให้เราใช้ด้วยซ้ำ เพราะว่าเค้าทำไม่ได้ ผมว่าความแข็งแรงของต่างจังหวัดคือการที่คนตัวเล็กๆ มารวมตัวกัน พยายามดึงคนธรรมดาแบบพวกเรามาให้ได้เยอะที่สุด แล้ววันหนึ่งรัฐจะเป็นคนฟังเรามากกว่า

(ศานนท์ Trawell): ทุกคนมีคำถามเดียวกันก็คือกิจการเพื่อสังคมคืออะไร แต่มองดูแล้วเรามีจุดเชื่อมโยงกันร่วมกันคือ เรายังคิดถึงอะไรบางอย่างที่มันมากกว่าตัวเรา สิ่งนี้สำคัญและมันคือเหตุผล ไม่ต้องเป็นธุรกิจเพื่อสังคมก็ได้ แต่ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ ผมว่าไม่ว่าจะตรังหรือว่าที่ไหน มันก็มีความหวัง

 
 

 

 

[1]ถอดความโดยนางสาวฐิติรัตน์ รู้เสงี่ยม 

เรียบเรียงโดย นางสาวณัฐธิดา เย็นบำรุง 

ดำเนินรายการโดย วิชญ์พล ตรีศูลยุทธ สหมิตรช้อปปิ้งมอล กันตัง

Related Posts