Events

บทเรียนการพัฒนาเมืองของเทศบาลนครเชียงราย

ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ได้รับเกียรติจากคุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์ อดีตผู้อำนวยการสำนัก สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน(สำนัก 3) สสส. มาเล่าให้พวกเราฟังเกี่ยวกับ "บทเรียนการพัฒนาเมืองของเทศบาลนครเชียงราย"  ภายใต้โครงการถอดบทเรียนเมืองสุขภาวะของไทย ที่สนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. โครงการถอดบทเรียนเมืองสุขภาวะของไทย ต้องการที่จะค้นหาต้นแบบการจัดการเมืองสุขภาวะ เพื่อนำเสนอวิธีการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนเมืองของไทย และจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับหน่วยงานท้องถิ่นต่อไป

 

 

ที่ผ่านมาเทศบาลนครเชียงราย ถือเป็นท้องถิ่นที่เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการเมืองได้ดี พวกเขามีความโดดเด่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เช่น การพัฒนามหาวิทยาลัยวัยที่สาม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้สูงอายุติดสังคม การพัฒนาศูนย์ฟูื้นฟูคนพิการ สำหรับการดูแลผู้สูงอายุติดเตียง การนำพลังผู้สูงอายุไปต่อยอดกับการพัฒนาเมืองด้านอื่นๆ เพราะเขามองว่าผู้สูงอายุคือทรัพยากรที่สำคัญของเมือง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางวัฒนธรรม การพัฒนาทางสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการศึกษาในโรงเรียน ล้วนแต่ใช้พลังผู้สูงอายุทั้งสิ้น ทั้งการเป็นวิทยากร การเป็นแรงงาน การมีส่วนร่วมกับเทศบาลกาลของเมือง เป็นต้น ตลอดจนเทศบาลฯ ยังมีการพัฒนากายภาพของเมือง ปรับปรุงสวนสาธารณะแนวยาวหลายกิโล เพื่อให้คนในเมืองได้พักผ่อน และดำเนินการพัฒนาระบบอาหารปลอดภัยในเมืองด้วย  คุณดวงพร ในฐานะที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงราย และผู้ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองสุขภาวะ ให้ประเด็นที่เป็นหัวใจของการพัฒนาเมืองของเทศบาลนครเชียงรายไว้ ดังนี้ 

1. การมีนโยบายการพัฒนาเมืองที่ชัดเจนสอดรับกับทุกกรอบการพัฒนา   เทศบาลนครเชียงรายมีนโยบายและแผนการพัฒนาเมืองที่ชัดเจน ผ่านการศึกษาข้อมูลปัญหาและโอกาสของเมือง เขียนเป็นนโยบายที่ทุกกองของเทศบาลยึดมั่น ไม่ว่าแผนการพัฒนาของโลก หรือของประเทศ เป็นอย่างไร เทศบาลนครเชียงรายก็สามารถดำเนินการแผนของตนเองสอดรับกับทุกนโยบายได้ เช่น กรอบ SDG แผนพัฒนาของประเทศไทย ตอบโจทย์ทุกกรอบการพัฒนา มีเครือข่ายการทำงาน มีงบประมาณในการทำงาน

2. การดึงศักยภาพของพลเมืองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองอย่างเต็มที่  โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ปกครองมาทำงานพัฒนาเมือง ยกตัวอย่าง การจัดงานเทศบาลของเมือง หากเป็นเมืองอื่นจะจ้างนางรำมาแสดง สำหรับเชียงราย จะขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้สูงอายุ เยาวชนของเมือง มาร่วมแสดง เพื่อให้เกิดการปลูกฝังทางวัฒนธรรม เยาวชนมีพื้นที่ในการแสดงออกทางวัฒนธรรมตามงานของเมืองตลอดทั้งปี เชียงรายใช้ทุกศักยภาพของเมืองในการสร้างคนแล้วเป็นกำลังสำคัญในการกิจกรรมสร้างสรรค์ในเมือง

3. การจัดการเครือข่าย (Networking Management) ที่ดี  เทศบาลนครเชียงรายมีพันธมิตรในการพัฒนาเมืองหลากหลายมาก หลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษาทั่วประเทศ ภาคเอกชน ไม่ว่าจะทำโครงการใด ก็มีพันธมิตรให้ความร่วมมือและเป็นเครือข่ายการทำงาน

4. การพัฒนาเมืองที่คิดบนฐานกลุ่มประชากร  เทศบาลนครเชียงรายขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองหลายเรื่อง และค่อนข้างไปได้ไกลกว่าเมืองอื่น เช่น  การพัฒนาระบบผู้ผู้สูงอายุ การพัฒนาเรื่องเด็กหรือโรงเรียน ทำให้เห็นว่าเทศบาลนครเชียงรายมีความโดดเด่นการพัฒนาเมืองบนฐานกลุ่มประชากรได้ดี ไม่ใช่เพียงผู้สูงอายุ แต่รวมถึงกลุ่มประชากรอื่นๆ ด้วย เขาคิดจากปัญหาและความต้องการของประชากรกลุ่มนั้น และคิดบริการสาธารณะให้ตรงเป้าหมาย รวมไปถึงมีการให้แต่ละกลุ่มประชากรทำงานร่วมกัน เช่น การพัฒนาผู้สูงอายุ จะดึงประชากรกลุ่มเด็กและเยาวชนเข้ามาร่วมด้วย 

 

ไม่ว่าจะทำโครงการพัฒนาเมืองแบบใด เทศบาลนครเชียงราย จะวิเคราะห์ impact ที่จะเกิดกับเมืองก่อนที่มีการขับเคลื่อนโครงการ  ปัญหาของแต่ละกลุ่มประชากรอาจมี 10 ปัญหา เทศบาลนครเชียงรายจะเลือกดำเนินโครงการพัฒนา 2 เรื่อง ซึ่ง 2 เรื่องนี้อาจจะแก้ไขปัญหาทั้ง 8 เรื่องที่มีไปพร้อมกันได้ โดยไม่ต้องพัฒนาโครงการแก้ไขทั้งหมด เป็นการคิดและเลือกพัฒนาอย่างมีกลยุทธิ์ และขยายผลไปเรื่องอื่น เทศบาลนครเชียงรายจึงมีความโดดเด่นของการทำงานพัฒนากลุ่มประชากรได้ดี เขาไม่ได้คิดจากประเด็นการพัฒนา แต่คิดจาก "คน" ความต้องการและปัญหาของคน ทำให้ประเด็นการพัฒนาสามารถเปลี่ยนไปตลอด แต่ระบบการทำงานคือบริหารจัดการคนให้ได้ 

 

 

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง   

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

 

 

Related Posts