Events

การพัฒนาเมืองลำปาง : มุมมองจากภาคประชาสังคม

ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ภายใต้โครงการวิจัย การศึกษาทบทวนนโยบายเศรษฐกิจเมืองของไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและเกื้อกูล ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. และหน่วยงาน บพท.ได้จัดเวทีเมือง เรื่อง การพัฒนาเมืองลำปาง : มุมมองจากภาคประชาสังคม  ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เวลา 14.00 - 15.00 น. ผ่านการประชุมออนไลน์  พูดคุยกับ คุณสมร สังฆะสร  กลุ่มสมาคมเครือข่ายคนรักสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมเคลื่อนเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดลำปาง

ร่วมแลกเปลี่ยนโดย

คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

ผศ.กัลยาณี พรพิเนตพงศ์ นักวิชาการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

คุณณัฐธิดา เย็นบำรุง นักวิจัยศูนย์ศึกษามหานครและเมือง 

อ.ปพิชญา แซ่ลิ่ม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

          ในการพูดคุย คุณสมร สังฆะสร  ได้ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงของเมืองลำปาง และประเด็นการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคม หลายประเด็น ดังนี้  

ประเด็นแรก การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจเมืองลำปาง ลำปางมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว มีการขยายตัวของเมืองมากตามถนนซูเปอร์ไฮเวย์  พอสร้างถนนเสร็จก็มีแหล่งธุรกิจก็เข้ามา ขยายไปทางเกาะคา ห้างฉัตร  ในบริเวณดังกล่าว มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมครัวเรือน ควบคู่ไปกับการขยายตัวของที่อยู่อาศัย รีสอร์ตต่างๆ ร้านกาแฟ ร้านค้าก็ค่อยๆ เข้ามา ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น มาทำการค้าขายในพื้นที่ เปลี่ยนจากการทำไร่ทำนา เป็นผู้ประกอบการได้มากขึ้น ลูกหลานก็มาลงทุน ก็เข้ามาเป็นแรงงานในบริษัท และแรงงานโรงงานเล็กๆ ชีวิตชาวบ้านเปลี่ยนไป และบางส่วนก็ขายที่ดิน รวยจากขายที่ดิน ชาวบ้านก็รู้สึกดีจากการเปลี่ยนแปลงชีวิต

ประเด็นที่สอง ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เมืองขยายตัวเร็ว นโยบายจากภาครัฐ  เช่น การสร้างถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ถนนมิตรภาพ นอกเหนือจากนโยบายของภาครัฐแล้ว ก็คือภาคเอกชนเข้ามาลงทุนเร็ว ทั้งทุนภายนอกและทุนพื้นที่ มาซื้อที่ดินทำโรงงาน ทำดินเผา แปรรูปไม้ ทำโรงงานเล็กๆ ในครอบครัว พอมีอาชีพ ก็มีแรงงาน มีแรงงานพื้นที่และต่างด้าว และมหาวิทยาลัยมีผลกับการขยายตัวเมืองแถวมหาวิทยาลัย ไม่ได้ส่งผลในเชิงภาพใหญ่มาก มีหอพักร้านค้า การจับจ่ายชาวบ้านก็มีรายได้เพิ่มขึ้น  ก็ส่งผลกระทบมีปัญหาเรื่องการจัดการขยะ มีหอพัก ขยะเยอะขึ้น 

ประเด็นที่สาม บทบาทของประชาสังคมต่อการพัฒนาเมือง ภาคประชาสังคมเมืองลำปางมีหลายกลุ่ม เช่น สมาคมเครือข่ายคนรักสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง สมัชชาสุขภาพจังหวัด กลุ่มอนุรักษ์เมืองเก่า เครือข่ายการท่องเที่ยว กลุ่มเกษตรกรรมอินทรีย์ เป็นต้น  ประชาสังคมเมืองลำปาง เป็นกลุ่มที่เกิดโดยอิสระ ไม่ได้จัดตั้งจากภาครัฐ  ทุกกลุ่มค่อนข้างจะรู้จักกัน ร่วมงานกัน ร่วมกิจกรรม ร่วมเป็นคณะกรรมการ ร่วมระดับจังหวัด แลกเปลี่ยนหารือกัน เป็นภาคีเครือข่ายซึ่งกันและกัน

ประเด็นที่สี่ ความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมกับภาครัฐในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเมืองลำปาง ความร่วมมือ ในเบื้องต้นประสานงานกันได้ ขอข้อมูล ชวนคิด ชวนนำเสนอได้ ไม่ได้ขัดแย้งกัน ค่อนข้างร่วมมือกันได้ดี แต่ในระดับขับเคลื่อน ประเด็นความขัดแย้ง ยังขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติไม่ได้ ทำได้แค่คุยในเวที เช่น ประเด็นการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ห้างฉัตร มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน ภาคประชาสังคมได้เสนอเข้าไปในเวทีที่เป็นกลไกกลาง แต่ไม่สามารถที่ผลักไปสู่การปฏิบัติได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเด็นของภาคประชาสังคมบางกลุ่มก็ไม่ได้เป็นโจทย์สำคัญในการขับเคลื่อนของภาครัฐ ภาครัฐมุ่งหน้าเฉพาะภารกิจขององค์กรเป็นหลัก แต่งานของภาคประชาสังคมซึ่งเป็นข้อเสนอที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาคม หลายๆ ส่วน ไม่ได้รับการขับเคลื่อนต่อ เมื่อภาคประชาสังคมเสนออะไรไป ถ้าภาคราชการไม่รับต่อ ก็ขับเคลื่อนยาก เพราะมีข้อจำกัดมากมาย

ประเด็นที่ห้า ความพยายามในการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม ในเมืองลำปาง มีกลไกหรือพื้นที่หลายเวทีที่ให้ทุกฝ่ายมาคุยกัน เช่น เวทีสมัชชาสุขภาพ แต่หากภาคราชการไม่รับขับเคลื่อนต่อก็เป็นไปได้ยาก ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับประเด็นด้วย เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นอาจจะไปยุ่งเรื่องความขัดแย้ง ใครๆ ก็ไม่อยากแตะ มันมีคนได้คนเสีย ความขัดแย้งไม่อยากทำ แนวร่วมไม่มาก แหล่งทุนสนับสนุนก็มีน้อย แต่ถ้าประเด็นเรื่องวัฒนธรรม เศรษฐกิจ ได้รับความสนใจจากภาครัฐมากกว่า ประชาชนในเมืองก็ให้ความร่วมมือมากกว่า

ประเด็นที่หก ช่องว่างและปัญหาของการพัฒนาเมือง นอกจากเหนืออุปสรรคที่ภาคราชการไม่สามารถนำข้อเสนอของภาคประชาสังคมไปปฏิบัติได้ ยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น  การเปลี่ยนแปลงของเมืองที่รวดเร็ว เกิดการเปลี่ยนมือที่ดินที่เร็ว ทำให้มีประเด็นที่ซับซ้อนของที่ดินเกิดขึ้น  ชาวบ้านขายที่ดินซึ่งไปซ้อนกับที่ดินของรัฐ  การบุกรุกพื้นที่ป่า มีสัมปทานเหมืองแร่ ชาวบ้านรู้สึกไม่ได้ประโยชน์ ก็มีการคัดค้าน และเรื่องสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ การจัดการยังมีปัญหา ชุมชนแออัดขึ้น การกระจายตัวของโรงงานมหลายแบบ โรงงานระดับครัวเรือน ยังไม่มีกฎหมายจัดการ

ประเด็นที่เจ็ด ทิศทางการพัฒนาเมืองในอนาคตของจังหวัดลำปาง จากนโยบายจังหวัดลำปางจะเห็นว่า ทิศทางที่ภาครัฐของลำปางกำลังจะไปนั้น คือ การพัฒนาแบบควบคู่ระหว่างวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เรื่องเกษตรปลอดภัย ให้เกิดความสมดุลควบคู่กันไป ภาครัฐพยายามชูเรื่องเซรามิก ให้เป็นอุตสาหกรรม การแปรรูปไม้ พวกที่พัก บ้านพักรีสอร์ท โฮมสเตย์ ท่องเที่ยวชุมชน เชื่อมกับทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาป่า

ประเด็นสุดท้าย ความคาดหวังของภาคประชาสังคมต่ออนาคตในการพัฒนาเมืองลำปาง หลังจากประชุมกันในกลุ่มภาคประชาสังคม สรุปได้ว่า ภาคประชาสังคมคาดหวังให้ลำปางเป็นเมืองน่าอยู่ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นความต้องการอยู่แล้ว แต่อยากให้สมดุลกับสิ่งแวดล้อม  มีการจัดการเชิงวัฒนธรรม อาหาร สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม รวมถึงเรื่องเรื่องคน ลำปางมีความหลากหลายชาติพันธ์ ควรอยู่ด้วยกันได้ดี  คนมีความสุขร่วมกัน ไม่มีความขัดแย้ง เป็นโจทย์หลักของคนในเมืองลำปาง

 

 

Related Posts