ประชุมหารือ โครงการ Hatyai : Healthy City Co-design กับเทศบาลนครหาดใหญ่
วันที่ 7 ธันวาคม 66 ที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง นำโดยคุณยุวดี คาดการณ์ไกล ผอ.ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง และดร.น้ำทิพย์ อักษรกุล ที่ปรึกษาศูนย์ฯ พร้อมด้วย ดร.จิฬา แก้วแพรก หัวหน้าโครงการหาดใหญ่การออกแบบเมืองสุขภาวะ (hatyai healthy city co-design) และทีมอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย เข้าร่วมประชุมหารือกับเทศบาลนครหาดใหญ่ นำโดย รศ.ดร.วิชัย รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ และคุณเลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ ที่ปรึกษาของเทศบาลนครหาดใหญ่ ในฐานะผู้ร่วมขับเคลื่อนการออกแบบเมืองสุขภาวะที่หาดใหญ่ ณ ห้องประชุมของเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ นายวิชัย กาญจนสุวรรณ ในฐานะประธานการประชุม กล่าวถึงการประชุมในวันนี้ เป็นการหารือเกี่ยวกับโครงการ Hatyai : Healthy City Co-design ซึ่งมีตัวแทนเข้าร่วมหารือระหว่าง เทศบาลนครหาดใหญ่ ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ภายใต้การสนับสนุนของสสส.สำนัก 3 และผู้แทนคณาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย
คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษามหานครแลเมือง ในฐานะผู้จัดการโครงการ การเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาสุขภาวะของชุมชนท้องถิ่นในเขตเมือง โดยการสนับสนุนของ สำนัก 3 สสส. ได้กล่าวถึงประเด็นที่จะขอปรึกษาหารือในที่ประชุมมี 2 ประเด็นสำคัญ ที่เกี่ยวกับโครงการย่อย Hatyai : Healthy City Co-design คือ 1. ประเด็นการรายงานผลการดำเนินงานของโครงการฯ เพื่อให้ผู้บริหารของเทศบาลนครหาดใหญ่ได้รับทราบ 2. ประเด็นการนำผลงานการออกแบบของโครงการฯ ไปดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมและเป็นต้นแบบในชุมชนเมืองหาดใหญ่
ดร.จิฬา แก้วแพรก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ Hatyai : Healthy City Co-design ภายใต้โครงการ การเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาสุขภาวะของชุมชนท้องถิ่นในเขตเมือง ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ตลอดที่ผ่านมา โครงการหาดใหญ่การออกแบบเมืองสุขภาวะ (hatyai healthy city codesign) กำหนดให้นักศึกษาผู้ออกแบบทำงานร่วมกับชุมชน และเทศบาลนครหาดใหญ่ ด้วยกระบวนการส่วนร่วมออกแบบพื้นที่หาดใหญ่ 6 จุด ได้แก่ สวนหย่อมตลาดใหม่, สวนหย่อมละม้ายสงเคราะห์ (ศูนย์ ICT), สวนหย่อมธรรมนูญวิถี (ข้างโรงเรียนแสงทอง), ตลาดโก้งโค้ง, สวนหย่อมศุภสารรังสรรค์ (ท่งเซียเซี่ยงตึ้ง) 6.เส้นทางเดินเท้าจากโรงแรมลีการ์เด้นท์มายังตลาดโก้งโค้ง ทั้ง 6 จุดได้รับการออกแบบให้เป็นพื้นที่สุขภาวะเรียบร้อยแล้ว
รองนายกฯ วิชัย กาญจนสุวรรณ และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ นายเลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ ให้ความสนใจผลงานการออกแบบพื้นที่สาธารณะเมืองหาดใหญ่ทั้ง 6 แบบ โดยจะนำเรียนให้นายกเทศบาลนครหาดใหญ่ได้รับทราบเพื่อบรรจุเป็นแผนและโครงการที่จะดำเนินการให้เกิดขึ้นต่อไป อย่างน้อยจะผลักดันให้ดำเนินการ 1 พื้นที่ที่เป็นพื้นที่ต้นแบบในต้นปี 2567 ที่ประชุมได้เสนอขั้นตอนดำเนินการในระยะเร่งด่วน ดังนี้
- ในระยเร่งด่วน เลือกผลงานการออกแบบ 1 แบบ คือแบบลานพื้นที่ข้างโรงเรียนแสงทอง เพื่อให้มีการดำเนินการให้เกิดขึ้นจริงเป็นพื้นที่ต้นแบบของการพัฒนา ทั้งนี้ ในระยะเร่งด่วน มอบให้เจ้าหน้าที่เทศบาลจัดประชุมชาวบ้านในชุมชนหรือทำประชาคม โดยมีทีมวิจัยเข้าร่วมเพื่ออธิบายแบบสำหรับการพัฒนาพื้นที่ข้างโรงเรียนแสงทองเป็นลำดับแรกโดยเร็ว ขณะเดียวกัน ท่านเลิศเกียรติ เสนอให้จัดทำแบบเป็นโปสเตอร์ขนาดใหญ่หรือ cut out ติดไว้ในชุมชนที่ประชาชนมองเห็นได้ง่ายเพื่อประชาสัมพันธ์ก่อนการทำประชาคม เมื่อผ่านความเห็นชอบจากชาวบ้านในชุมชนแล้ว จึงนำมาสู่การเสนอและขออนุมัติงบประมาณดำเนินการในต้นปี 2567
- สำหรับผลงานการออกแบบอีก 5 แบบที่เหลือ (ไม่รวมแบบบริเวณสวนหย่อมเซี่ยงตึ้ง ซึ่งเทศบาลนครหาดใหญ่มีแผนที่จะให้ภาคเอกชนมาพัฒนาอยู่แล้ว) ก็ให้ดำเนินงานตามขั้นตอนการทำประชาคมเช่นเดียวกัน โดยให้เจ้าหน้าที่เทศบาลจัดประชุมชาวบ้านในชุมชน มีทีมวิจัยเข้าร่วมเพื่ออธิบายแบบสำหรับการพัฒนาแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ ให้จัดทำแบบเป็นโปสเตอร์ขนาดใหญ่ติดในชุมชนเพื่อประชาสัมพันธ์ก่อนประชุมด้วย เมื่อผ่านความเห็นชอบจากประชาคม รองนายกฯ วิชัย เสนอว่า หากเป็นไปได้ให้เสนออนุมัติปรับเปลี่ยนงบประมาณมาสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะทั้ง 5 แบบนี้ได้ พยายามดำเนินการให้เกิดผลก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2567 จะทำให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์โดยเร็ว
- การจัดงานนำเสนอผลงานการออกแบบต่อสาธารณะให้กับชาวเมืองหาดใหญ่ โดยเน้นธีมสร้างสรรค์เมืองสุขภาวะ เน้นการเรียนรู้ระหว่างเยาวชนและชาวเมืองหาดใหญ่ ในเรื่องการออกแบบเมืองสุขภาวะแบบ DIY ซึ่งคาดว่าจะจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 อย่างไรก็ตาม นายเลิศเกียรติ เสนอให้ทางศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ปรึกษากับสำนัก 3 สสส. และตัวแทนศูนย์ประสานงานระดับภาคของพื้นที่ภาคใต้ ประจำหาดใหญ่ เพื่อหารือการประสานจัดงานร่วมกันกับโครงการอื่นที่สสส.ให้การสนับสนุนและกำลังเตรียมจัดงานในหาดใหญ่ด้วย ทั้งนี้ ให้วางแผนการจัดงานในช่วงเดียวกันจะทำให้เกิดพลังการขับเคลื่อนและก่อให้เกิด impact ต่อพื้นที่มากที่สุด